Thursday, 26 December 2019

NGC869, NGC884 : Perseus Double Cluster




“ …the color, the winding patterns as the dense cores of the cluster thin out slowly to merge finally into the star-rich background of the galaxy itself.”
“…สีและลวดลายที่สลับซับซ้อน จากใจกลางกระจุกดาวที่เปี่ยมล้น แล้วละลายหายไปกับดาวนับล้านในทางช้างเผือก” 
Walter Scott Houston, Deep-Sky Wonder, Sky&Telescope Publishing 1999

บนทางช้างเผือกระหว่างกลุ่มดาวแคสสิโอเปียกับกลุ่มดาวเพอร์เซอุส ท่ามกลางดาวระยิบ มีรอยฟุ้งเด่นชัดที่สุดอยู่จุดหนึ่ง นี่คือ “กระจุกดาวคู่เพอร์เซอุส” หรือ “Perseus Double Cluster” กระจุกดาวที่เป็นที่รู้จักดีคู่หนึ่งบนท้องฟ้า

กระจุกดาวคู่เพอร์เซอุสประกอบด้วยกระจุกดาวเปิดสองตัวคือ NGC869 และ NGC884 เป็นที่รู้จักอย่างน้อยก็ตั้งแต่ 130 ปีก่อนคริสตศักราช  Hipparchus และ Ptoleme อธิบายว่าคือ Nebula ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่าเมฆหมอก เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงไม่ถูกรวมเข้าไปใน Messier catalog ทั้งที่เป็นที่รู้จักแล้วในยุคนั้น

ทั้งสองห่างจากโลกประมาณ 7500 ปีแสง และอายุยังน้อย NGC884 อายุประมาณ 5.6ล้านปี ขณะที่ NGC869 ผู้พี่อายุราว 8ล้านปี ดาวส่วนมากในกระจุกจะเป็นดาวยักษ์น้ำเงิน - Blue-white super giant แต่ก็มีบางดวงที่เป็นดาวยักษ์แดง - Red super giant

ถ้ามีโอกาสดูกระจุกดาวคู่ผ่านกล้องดูดาว ลองสังเกตว่ามีดาวสีแดงอยู่กี่ดวงและอยู่บริเวณไหน วิธีดูสีของดาวนั้นใช้วิธีมองตรงๆไม่ต้องมองเหลือบเพราะเซลล์ที่ไวต่อสีจะอยู่หนาแน่นกลางเรติน่า และลอง de-focus เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ดูสีของดาวได้ง่ายขึ้น

หากฟ้าไม่มืดพอที่จะมองเห็นกระจุกดาวคู่ด้วยตาเปล่า เราสามารถอาศัยกลุ่มดาวแคสสืโอเปียหรือค้างคาวนำทาง ให้ลากเส้นสมมติจากดาว “เนวี” หรือแกมม่าแคสสิโอปี -γ Cas ผ่านดาว “รัคบา” หรือเดลต้าแคสสิโอปี -δ Cas กระจุกดาวคู่จะห่างออกไปตามทิศทางนี้อีกสามเท่า

ภาพกระจุกดาวคู่จากกล้องสองตาหรือกล้องดูดาวขนาดเล็กที่ให้มุมกว้าง จะสวยกว่ากล้องตัวใหญ่ที่ให้มุมแคบ ทั้งคู่อยู่ห่างกันราวครึ่งองศา NGC884 จะดูแน่นกว่า มีดาวสองดวงอยู่เกือบกลางกระจุก ส่วน NGC869 จะมีแถบมืดพาดผ่านตรงกลางทำให้มองดูเหมือนโดนแยกเป็นสองส่วน


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Double Cluster
Catalog number: NGC869
Type: Star cluster
Constellation: Perseus
Visual Magnitude: +5.3
Apparent Size: 18’
Distance: 6,800 ly
R.A. 02h 20m 23.54s
Dec. +57° 12’ 20.5”

Name: Double Cluster
Catalog number: NGC884
Type: Star cluster
Constellation: Perseus
Visual Magnitude: +6.1
Apparent Size: 18’
Distance: 9,600 ly
R.A. 02h 23m 47.02s
Dec. +57° 12’ 17.2”

อ้างอิง
SkySafari
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
http://www.messier.seds.org
https://www.wikipedia.org

Thursday, 19 December 2019

NGC2264 : Christmas Tree Cluster




บนทางช้างเผือกจางๆระหว่างเท้าของพอลลักซ์หรือดาวซาย เจอมิโนรุมกับเขายูนิคอร์นหรือดาว 13 โมโนเซโรติส มีกระจุกดาวที่สว่างจนมองเห็นด้วยตาเปล่า ด้วยกล้องสองตาจะพบว่ามีรูปร่างเหมือนต้นคริสต์มาสหรือหัวลูกศร นี่คือกระจุกดาว NGC2264 หรือ Christmas tree cluster ค้นพบโดยวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์เมื่อปี 1784

ในยุคปัจจุบันพบว่า NGC2264 มีทั้งกระจุกดาวขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่ากระจุกดาวต้นคริสต์มาส มีเนบูล่าขนจิ้งจอกหรือ Fox Fur และเนบูล่ารูปกรวยที่มีชื่อเสียง Cone Nebula เนบูล่ามืดรูปกรวยอยู่บนยอดของต้นคริสต์มาสพอดี วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์บันทึกไว้ในปี 1785 เมื่อกลับมาสังเกต NGC2264 อีกครั้ง พบว่ามีเนบูล่าจางมากสีน้ำนม

ผมเคยดูผ่านกล้องดูดาวหักเหแสง 5" TOA130 ตัวเนบูล่าต้องใช้ฟิลเตอร์ UHC เป็นตัวช่วยและมองเห็นแค่แสงฟุ้งรอบดาวแบบในภาพสเก็ตช์ แต่ก็เป็นไปได้ว่าหากกล้องดูดาวตัวใหญ่พอและท้องฟ้่าเป็นใจ เราอาจมองเห็นทั้ง Fox Fur และ Cone ได้ด้วยกล้องดูดาวขนาด 13 นิ้วและฟิลเตอร์ UHC เหมือนรายงานบนเวบไซด์ Cloudynight (คลิก)

ในการศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดพบว่า NGC2264 เป็นแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์จำนวนมาก ภาพจากกล้องสปริตเซอร์พบกระจุกดาวเกิดใหม่รูปวงล้อซ่อนอยู่หลังฝุ่นและเนบูล่าใกล้บริเวณยอดโคน กระจุกดาวตัวนี้มีชื่อเรียกว่า Snowflake Cluster

Christmas tree ห่างจากโลกออกไปราว 2500 ปีแสง มีอายุแค่ 3-30 ล้านปี น้อยกว่าโลกที่ 4,500ล้านปีมาก 


ภาพถ่าย NGC2264 เทียบกับภาพสเก็ทช์ที่เราจะมองเห็นจากกล้องดูดาว
ในภาพถ่ายจะเห็นเนบูล่าฟุ้งกระจายทั่ว โคนเนบูล่าจะอยู่ด้านบน ส่วน Fox fur จะอยู่ทางซ้ายมือ
ของดาวสว่างชื่อ 15 Monocerotis ด้านล่างของภาพ ตัวกระจุกดาวมองเห็นเป็นต้นคริสต์มาสจาก
กล้องสองตาหรือกล้องดูดาวง่ายกว่า, ภาพถ่ายโดยกีรติ คำคงอยู่ ภาพสเก็ทช์โดยผู้เขียน

NGC2264 ในช่วงคลื่นอินฟราเรดโดยกล้อง Spitzer, Cr: NASA/JPL-Caltech via Wikipedia
ดาวสว่างในภาพคือดาว 15 Monocerotis กระจุกดาว Snowflake อยู่รอบดาวสว่างใกล้กลางภาพ
เทียบกับภาพช่วงแสงปกติคือบริเวณเนบูล่าสีฟ้า จะเห็นว่ากระจุกดาวโดนเนบูล่าบังไว้เกือบทั้งหมด

คลิกภาพเพื่อขยาย



Name: Christmas TreeClusterCatalog number: NGC2264
Type: Star cluster with Nebula
Constellation: Monoceros
Visual Magnitude: +3.9
Apparent Size: 60’x30’
Distance: 2500 ly
R.A. 06h 42m 11.14s
Dec. +09° 51’ 47.2”

อ้างอิง

Thursday, 12 December 2019

Messier 78 : Ghost Nebula




เนบูล่าเป็นกลุ่มกาซและฝุ่นในอวกาศ เราจะมองเห็นต่อเมื่อมีแหล่งกำเนิดแสงอย่างดาวฤกษ์อยู่ใกล้เคียง หากพลังงานมีความเข้มข้นมากพอจะสามารถกระตุ้นให้อะตอมของกาซแตกตัวและเรืองแสงขึ้นได้ เราเรียกเนบูล่าแบบนี้ว่า "เนบูล่าเรืองแสง" เนบูล่ากลุ่มนี้มักจะมีสีออกไปทางแดงเพราะกลุ่มกาซมักมีไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก

หากพลังงานไม่พอที่จะกระตุ้นให้กาซเรืองแสง แสงก็จะกระเจิงหรือสะท้อนออกมา เนบูล่ากลุ่มนี้จะจางกว่าแบบแรกและมักจะมีสีโทนฟ้า เรียกว่า "เนบูล่าสะท้อนแสง" กระบวนการกระเจิงของแสงนี้จะคล้ายกับที่เรามองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า

แต่ถ้าไม่มีแหล่งกำเนิดแสงอยู่ใกล้เคียง ก็เป็นกลุ่มกาซกับฝุ่นที่มืดและทึบแสง กระจายตัวในอวกาศเรียกกันว่า "เนบูล่ามืด" ซึ่งบดบังแสงจากดาวฤกษ์หรือเนบูล่าที่อยู่ด้านหลัง เนบูล่ามืดมีกระจายอยู่ทั่วไปเต็มทางช้างเผือกของเรา

แมสซายเออร์ 78 เป็นเนบูล่าชนิดสะท้อนแสงที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ค้นพบโดยปิแอร์เมอร์แชนท์ในปี 1780 ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าเอ็ม 78 เป็นส่วนหนึ่งของ Orion Nebula Complex ที่อยู่ห่างออกไปจากเราประมาณ 1600ปีแสงหรือ 1.51368454 × 10^16 กิโลเมตร ตำแหน่งอยู่ไม่ไกลนักจากเข็มขัดของนายพรานหรือดาวไถที่เรารู้จัก

ที่จริงเอ็ม78 ห่างจากดาวซีต้าโอไรออนนิส (ζ Ori)หรืออัลนิทัคแค่สององศาครึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เนื่องจากขนาดเล็ก มองไม่เห็นในกล้องเล็งและไม่มีดาวสว่างใกล้เคียงให้อ้างอิงทำให้เพิ่มระดับความยากในการฮอบขึ้นมา

วิธีการฮอบนั้นให้ใช้เลนส์ตาที่ให้มุมกว้างที่สุดที่มี เริ่มจากอัลนิทัคจากนั้นไปที่ดาวสว่างแมกนิจูด 5 ที่ห่างออกไปเกือบ 1 องศาทางทิศเหนือ ฮอบครั้งที่สองไปที่ดาวสว่างแมกนิจูด 6 ที่ห่างไปในทิศเดียวกันอีกหนึ่งองศาครึ่ง สุดท้ายเอ็ม78 จะอยู่ห่างออกไปหนึ่งองศาครึ่งทางทิศตะวันออกของดาวดวงนี้

เมื่อดูด้วยกล้องดูดาวจะเห็นเป็นฝ้าจางครึ่งวงกลม มีดาวสองอยู่ภายใน ทำให้เป็นที่มาของชื่อ Ghost Nebula เพราะดูเหมือนผีในการ์ตูน บันทึกของ William Herschel ได้บรรยายไว้ว่ามีดาวอีกดวงที่จางกว่ามาก ซึ่งผมก็ไม่เห็น และ Stephen O’meara ที่ใช้กล้องดูดาวขนาดสี่นิ้วเช่นกันกล่าวไว้ว่ามีโครงสร้างที่คล้ายกับดาวหางอยู่ข้างในเนบูล่าซึ่งผมก็ไม่เห็นเช่นกัน ดังนั้นจะต้องกลับมาเยือนอีกครั้งเมื่อโอกาส

ตาผีคู่นี้ยังชี้ไปที่เนบูล่าอีกตัวหนึ่งใกล้ๆคือ NGC2071 สามารถเห็นได้ด้วยการมองเหลือบ จะเห็นเป็นรอยแต้มจางๆอยู่รอบดาวแมกนิจูด 9 ชื่อ V1380 Ori ดาวดวงนี้เป็นดาวแปรแสงชนิดคู่คราสที่ยังไม่ทราบคาบการโคจร

มีรายงานว่าสามารถมองเห็น M78 ได้ด้วยกล้องสองตาถ้าฟ้าดี ผมเชื่อว่าจะเห็นได้ฟ้าต้องดีจริงและกล้องสองตาก็ต้องมีเลนส์ที่ดีเช่นกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย

Name: Ghost Nebula
Catalog number: Messier 78, NGC2068
Type: Nebula
Constellation: Orion
Visual Magnitude: +8.3
Apparent Size: 8’x6’
Distance: 1600 ly
R.A. 05h 47m 42.20s
Dec. +00° 03’ 20.0”




อ้างอิง
SkySafari
http://www.messier.seds.org/
Stephen O’Mera, Messier Objects

Thursday, 5 December 2019

Messier 77 : Cetus A




ซีตัสเป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ที่พาดผ่านเส้นศูนย์สูตรฟ้า ดาวในกลุ่มพอเห็นแต่ไม่ค่อยเด่นทำให้ต้องใช้เวลามองหา ซีตัสเป็นสัตว์ประหลาดลูกผสมที่มีหัวเป็นสัตว์บกและลำตัวกับหางเป็นปลา รูปร่างของกลุ่มดาวมีส่วนหัวและลำตัวแยกจากกันและมีคอที่ออกจะยาวสักหน่อย

บริเวณคอของซีตัสมีดาวสว่างแมกนิจูด 4 ชื่อเดลต้าเซติ (δ Ceti) เด่นอยู่หนึ่งดวง ห่างออกไปแค่หนึ่งองศาทางตะวันออกของเดลต้าเซติก็คือกาแลกซี่ที่แมสซายเออร์ให้หมายเลข 77 ถูกค้นพบเมื่อปี 1780 โดยปิแอร์ เมอร์แชนท์ผู้ช่วยของแมสซายเออร์ ได้รับคำอธิบายที่ยังเป็นข้อกังขาทั้งจากแมสซายเออร์และเฮอร์เชลล์ว่าเป็นกระจุกดาวที่มีเนบูล่า จนกระทั่งในปี 1850 ลอร์ดโรสได้ระบุว่าเป็นกาแลกซี่แบบกังหัน

ลักษณะพิเศษของเอ็ม 77 คือเป็นกาแลกซี่แบบก้นหอยที่มีใจกลางสว่างกว่าปกติประมาณ 100 เท่า นักดาราศาสตร์เรียกกาแลกซี่แบบนี้ว่ากาแลกซี่เซเฟิร์ต ที่เป็นแบบนี้เพราะเอ็ม 77 มีหลุมดำยักษ์เป็นใจกลาง ยืนยันได้จากที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุกำลังค่อนข้างแรง ทำให้เอ็ม 77 รู้จักกันอีกชื่อว่า “ซีตัส เอ” หรือแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุ 3C71

เอ็ม 77 อยู่ใกล้กับเดลต้าเซติทำให้หาตำแหน่งได้ง่าย ในกล้องเล็งจะดูคล้ายดาวที่มีแสงฟุ้งโดยรอบ ภาพที่เห็นทำให้ผมคิดถึงกาแลกซี่เอ็ม 51 หรือ Wirlpool มากเพราะมีดาวอีกดวงหนึ่งอยู่เคียงกัน แต่เมื่อดูผ่านกล้องดูดาวเอ็ม 77 เป็นแสงฟุ้งกลมมีจุดสว่างเหมือนดาวอยู่ตรงกลาง จุดสว่างตรงนิวเคลียสนี้เป็นลักษณะเด่นที่สำคัญพราะมีกาแลกซี่ไม่กี่ตัวที่เห็นจุดสว่างแบบนี้ตรงกลาง อาจเป็นควอซ่าหรือหลุมดำก็ได้

ภาพจากกล้อง 8 นิ้วมองไม่เห็นแขนกังหันทั้ง 3 แขนที่เป็นลักษณะเด่น ต้องอาศัยกล้องดูดาวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ก็ฟ้าต้องดีกว่านี้ บริเวณที่เห็นได้ในเลนส์ตาจะเป็นชั้นในของกาแลกซี่ที่สว่างเป็นพิเศษ และเป็นดาวเกิดใหม่มีแสงสีฟ้า ส่วนด้านนอกที่เลยออกไปมองไม่เห็นจากกล้องดูดาวจะเป็นดาวที่อายุมากกว่า มีขอบเขตกว้างมาก คาดว่าราว 170,000 ปีแสงทีเดียว


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Cetus A
Catalog number: Messier 77, NGC1068
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Cetus
Visual Magnitude: +9
Apparent Size: 6.2’x5.6’
Distance: 33 Mly
R.A. 02h 43m 40.58s
Dec. +00° 04’ 06.3”

อ้างอิง
SkySafari

http://www.messier.seds.org/m/m077.html

Monday, 18 November 2019

Messier 33 : Triangulum Galaxy




ขอบเขตการมองเห็นดาวของมนุษย์โดยทั่วไปจะอยู่ที่ราว 6 แมกนิจูด กาแลกซี่ Triangulum หรือกาแลกซี่ Pinwheel ที่แปลว่ากังหันลมในกลุ่มดาวไทรแองกูลั่มหรือสามเหลี่ยม มีความสว่าง 5.8 แมกนิจูด ดูเหมือนจะสว่างจนมองเห็นได้แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นการยากที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า เพราะวิธีการคำนวณความสว่างนั้นจะมีพื้นที่ผิวมาเกี่ยวข้องด้วย

เอ็ม 33 หรือกาแลกซี่ไทรแองกูลั่มมีขนาดใหญ่พอสมควรทำให้ค่าความสว่างที่ 6 แมกนิจูดถูกกระจายออกไปทั้งพื้นที่ผิวของกาแลกซี่ ความสว่างพื้นผิวหรือ Surface Brightness ก็เลยต่ำ เป็นการยากที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็เป็นไปได้ในคืนที่ฟ้าใส มืด และคนสังเกตมีทักษะการดูที่ดี

เมื่อปลายเดือนตุลาคมระหว่างรอชมดาวอัลกอลหรี่แสงที่อำเภอบ้านหมี่ ผมใช้กล้องสองตาขนาด 8x40 กวาดจากกาแลกซี่แอนโดรเมด้าผ่านดาวเบต้าแอนโดรเมเดไปอีกราวเท่าตัว ครั้งแรกมองข้ามไปไม่พบอะไรแต่เมื่อสายตาเริ่มชินก็มองเห็นฝ้าวงรีจางมาก ขนาดใหญ่พอสมควร

เมื่อดูด้วยกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้ว เอ็ม33มีใจกลางสว่างฟุ้งเป็นรูปวงรี เมื่อดูไปนานๆจะเริ่มจับแขนกังหันสองฝั่งตรงข้ามกันได้ด้วยการมองเหลือบ ฝั่งทางทิศเหนือจะใหญ่และสว่างกว่าทางทิศใต้ กล้องดูดาว 8 นิ้วที่กำลังขยาย 56เท่า ภาพแขนกังหันจางมากจต้องใช้ผ้าคลุมศรีษะเพื่อกันแสงจากรอบข้าง แต่ก็รักษาภาพไว้ได้ไม่นาน หากใช้กล้องดูดาวขนาด 12 นิ้วจะทำให้ดูได้ง่ายขึ้นและเป็นไปได้ที่จะมองเห็นเนบูล่าสว่างที่แขนของกังหันด้วย

ผู้ที่ค้นพบอาจเป็น Giovanni Batista Hodiema ก่อนปี 1654 หลังจากนั้น Messier ก็มาเจออีกครั้งแล้วบรรจุลงไปในรายการลับดับที่ 33 ในวันที่ 25 สิงหาคม 1764 Messier บันทึกไว้ว่า

August 25, 1764. 33.
1h 40m 37s (20d 09' 17") +29d 32' 25"

Nebula discovered between the head of the Northern Fish [of Pisces] & the great Triangle, a bit distant from a star of 6th magnitude: The nebula is of a whitish light of almost even density [of brightness],
however a little brighter along two-third of its diameter, & contains no star. One sees it with difficulty with an ordinary telescope of 1-foot [FL].
Its position was determined from Alpha Trianguli. Seen again September 27, 1780. (diam. 15’)

เอ็ม 33 เป็นกาแลกซี่แบบกังหันอยู่ห่างจากเราราวสามล้านปีแสงและมีเส้นผ่านศูนย์กลางราวห้าหมื่นปีแสงหรือครึ่งหนึ่งของกาแลกซี่ทางช้างเผือก คาดว่ามีดาวอยู่ราว 30-40 พันล้านดวงเทียบกับ 200-400พันล้านดวงของทางช้างเผือกและหนึ่งหมื่นล้านดวงของแอนโดรเมด้า ทำให้กาแลกซี่ไทรแองกูลั่มมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในกลุ่มกาแลกซีท้องถิ่นของเรา

มีความเป็นไปได้ที่เอ็ม 33 จะโคจรรอบกาแลกซี่แอนโดรมีด้า จากการคำนวณการเคลื่อนที่ทำให้ต่อไปข้างหน้าทางช้างเผือก แอนโดรเมด้าและไทรแองกูลั่ม จะชน ควบรวมหรือเฉี่ยวกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Triangulum Galaxy, Pinwheel Galaxy
Catalog number: M33, NGC598
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Trianulum
Visual Magnitude: +5.8
Apparent Size: 61.7’x31.3’
Distance: 3000 kly
R.A. 01h 34m 57.2s
Dec. +30° 45’ 32.9”

อ้างอิง
SkySafari
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook

Thursday, 14 November 2019

Messier 15


ภาพสเก็ทช์เอ็ม 15 จากกล้องสะท้อนแสง 8" ที่กำลังขยาย 133 เท่า


หนึ่งในห้ากระจุกดาวทรงกลมในแมสซายเออร์แคตตาลอคที่สว่างกว่าแมกนิจูด 7 เอ็ม15 สว่างคาบเส้นกับขอบเขตที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าพอดีคือแมกนิจูด 6 ตำแหน่งหาไม่ยากอยู่ใกล้หัวม้าเปกาซัส ให้ลากเส้นจากดาว Theta Pegasi (θ Peg)ไปที่ Epsilon Pegasi (ε Peg), เอ็ม 15 จะอยู่เลยออกไป 4 องศา

หากฟ้ามืดพอบางคนก็เห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องเล็งจะคล้ายดาวแต่ไม่สว่างคมเป็นปลายเข็ม เอ็ม 15เป็นวัตถุที่ดูได้สนุกเพราะมองเห็นต่างกันเมื่อใช้กล้องดูดาวต่างขนาดต่างกำลังขยาย ทำให้เหมาะมากสำหรับงาน Star Party

ผมเคยดูด้วย Borg 4 นิ้วที่กำลังขยาย 35เท่ามองเห็นเป็นลูกบอลฝ้าทรงกลมขนาดเล็ก ที่ 85เท่าขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะไม่สมมาตร ฝั่งทางทิศเหนือจะใหญ่และสว่างกว่าทางทิศใต้ มองเหลือบจะเห็นแถบมืดพาดยาวตามแนวตะวันออกะวันตกทำให้ดูเหมือนมีแขนยืดออกไปสองข้าง ใจกลางสว่างมาก แยกดาวออกเป็นเม็ดได้บริเวณใจกลางด้วยการมองเหลือบราว 10-20 ดวง


ภาพเสก็ทช์จากกล้องดูดาวหักเหแสงขนาด 4" ที่กำลังขยาย 85 เท่า ลองเปรียบเทียบกับภาพบน


เมื่อดูด้วยกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้ว กำลังขยาย 33เท่าเป็นทรงกลมฝ้าขนาดเล็ก ที่ 133เท่าเมื่อใช้วิธีมองเหลือบจะห็นดาวมากกว่า 100 ดวงขึ้นไป มีแถบมืดทางทิศเหนือและตะวันออก แต่เในคืนที่ท้องฟ้ามีหมอกควันหนา ภาพที่เห็นจะคล้ายกับที่ได้จากกล้องหักเหแสง 4 นิ้วมาก

คนแรกที่พบคือ Jean-Dominique Maraldi ในปี 1746 ระหว่างมองหาดาวหาง De Chéseaux แมสซายเออร์บันทึกลงใน Messier catalog เมื่อ 3 มิถุนายน 1764 มีขนาดปรากฎในกล้องดูดาวราว 7-8 อาร์มินิท มีความสว่างแมกนิจูด 6.2 อยู่ไกลออกไป 34,000 ปีแสง เป็นตัวที่มีใจกลางที่หนาแน่นมากที่สุดตัวหนึ่งของกระจุกดาวทรงกลมในทางช้างเผือก

นอกจากนั้นเอ็ม 15 ยังพบว่ามีเนบูล่าดาวเคราะห์เป็นฟีเจอร์เสริมเพิ่มความน่าสนใจอีก แต่มีต้องใช้กล้องดูดาวขนาดอย่างน้อย 16 นิ้วและฟิลเตอร์ OIII ในการดู



คลิกภาพเพื่อขยาย



Catalog number: Messier 15, NGC 7078
Type: Globular Cluster
Constellation: Pegasus
Visual Magnitude: +6.2
Apparent Size: 18’
Distance: 34,000 ly
R.A. 21h 30m 54.80s
Dec. +12° 15’ 12.3”



อ้างอิง
SkySafari
http://www.messier.seds.org/m/m015.html

Wednesday, 13 November 2019

NGC7662 : Blue Snowball


 


ฟ้าจะดีหรือไม่ดีนอกเหนือการควบควบคุมของมนุษย์ สิ่งที่นักดูดาวพอจะทำได้ยามฟ้าปกคลุมด้วยหมอกควันและมลภาวะทางแสงคือเลือกออบเจคที่เหมาะสม

หากยังจำกันได้ปลายกันยายน 2562 มีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาสองสามวันแล้วถอยกลับไป คืนวันที่ 28 ต่อ 29 กันยายน 2562 เป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงถอยกลับไปได้วันสองวัน ผลที่ตามมาคือท้องฟ้าขุ่นเต็มไปด้วยหมอกควัน ดาวที่เคยเต็มฟ้าเหลือแค่กลางศรีษะ มีน้อยดวงจนนับได้

ฟ้าแบบนี้ตัวเลือกก็คือกระจุกดาวที่สว่างและเนบูล่าดาวเคราะห์ที่มักจะเล็กแต่สว่างมากจนดูได้แม้กระทั่งจากในเมือง ผมเลือกลูกบอลสีฟ้า Blue snowball หรือ NGC7662 เนบูล่าดาวเคราะห์ที่พอดูได้ยามฟ้าเป็นแบบนี้

NGC7662 อยู่ตรงปลายแขนแอนโดรเมด้าฝั่งที่ถูกล่ามโซ่ ท้องฟ้าชานเมืองในคืนฟ้าใส เราน่าจะพอมองเห็นโอมิครอน (ο And) และอิโอต้าแอนโดรเมเด (ι And) ที่สว่างประมาณแมกนิจูดที่สี่ (ดาวทั้งสองเรียงเป็นโซ่ตรึงแขนแอนโดรเมด้าเอาไว้) NGC7662 อยู่ระหว่างดาวสองดวงนี้ แต่หากฟ้าแย่จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ต้อง Hop ไกลหน่อย จุดเริ่มอาจเป็นกาแลกซี่แอนโดรเมด้าก็ได้

ในกล้องเล็ง Blue snowball ดูเหมือนดาวแต่มีสีฟ้า กล้องดูดาวขนาด 8” ที่กำลังขยาย 33เท่าก็ยังเป็นจุดแสงสีฟ้า มีดาวสว่างใกล้เคียงกันอยู่ไม่ห่าง เริ่มมองเห็นว่าเป็นแผ่นดิสก์สีเทาอมฟ้าขนาดจิ๋วที่ 56เท่า เพิ่มกำลังขยายไปจนถึง 200 เท่า แผ่นดิสก์กลมมีขนาดใหญ่ขึ้นมองไม่เห็นสีฟ้ากลายเป็นสีเทาแทน คืนนั้นผมได้ลองเพิ่มกำลังขยายอีกแต่ภาพค่อนข้างมืดและไม่มีดาวอื่นใดใน FOV เลย

เมื่อมาสืบค้นทีหลังพบว่าเราสามารถมองเห็น Dark spot หรือพื้นที่สีเข้มใจกลางเนบูล่าได้หากใช้กำลังขยาย 250เท่าขึ้นไป ซึ่งคืนนั้นท้องฟ้าไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก ทำให้ Blue snowball เป็นอีกออบเจคที่อยู่ในรายการที่ต้องกลับไปดูใหม่อีกรอบ

ผู้ค้นพบ NGC7662 คือวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์ เมื่อ 6 ตุลาคม 1784 ระยะห่างจากเราไม่ชัดเจนนักคาดว่าประมาณ 3,600 ปีแสง ทำให้ขนาดไม่แน่นอนไปด้วยคาดว่าอยู่ราว 0.35-0.7ปีแสง


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: blue snowball
Catalog number: NGC7662
Type: Planetary Nebula
Constellation: Andromeda
Visual Magnitude: +8.3
Apparent Size: 0.5’x0.5’
Distance: 3,600 ly
R.A. 23h 126m 50.25s
Dec. +42° 38’ 32.7”


อ้างอิง
SkySafari
https://freestarcharts.com/ngc-7662

Sunday, 3 November 2019

NGC6888 : Crescent Nebula


NGC6888 สเก็ทช์โดยผู้เขียน
WR136 คือดาวสว่างดวงทางซ้ายมือของสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด

NGC 6888 ในกลุ่มดาวหงส์ เป็น Emissions Nebula ที่อยู่ห่างออกไป 5,000 ปีแสง เกิดจากฟองกาซร้อนที่ถูกพัดออกมาจากดาวประเภทวูล์ฟ-ราเยท์ ชื่อWR136 ที่ปล่อยพลังงานออกมาเท่าๆกับดวงอาทิตย์หนึ่งดวงทุก 10,000 ปี และดาวWR136 ก็อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต คาดว่าจะระเบิดเป็นซุปเปอร์โนว่าอีกราวหนึ่งล้านปีข้างหน้า

ตำแหน่งห่างจากดาวใจกลางหงส์หรือแกมม่าซิกนี่ (γ Cygni) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 3 องศา วัดความสว่างรวมได้ 7.4 แมกนิจูด เนื่องจากมีขนาดใหญ่พอควรทำให้ความสว่างพื้นผิวต่ำมาก เนบูล่ามองเห็นเป็นรูปโค้งเกือบครึ่งวงกลมทำให้ได้ชื่อว่า Crescent ค้นพบโดยวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์ ในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 1792

การสังเกตครีสเซนท์เราต้องการกล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไป ท้องฟ้าต้องใส มืดพอและต้องมีฟิลเตอร์ OIII หรือ UHC ในคืนที่ผมดูแม้ฟ้ารอบด้านไม่ดีนัก โชคดีที่แถวหงส์ฟ้าใสพอดี ตำแหน่งแน่นอนหายากหน่อยเพราะเรามองไม่เห็นเนบูล่า ให้สังเกตดาวสว่างสี่ดวงเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด

ตัวเนบูล่าดูยากมาก ฟิลเตอร์UHC ช่วยเพิ่มคอนทราสได้ดี OIII ให้ภาพมืดกว่า และถึงจะมีฟิลเตอร์ช่วยผมยังต้องใช้ผ้าคลุมหัวบังแสงจากทุกด้าน หลับตาสักพักแล้วใช้วิธีมองเหลือบจึงเห็นแสงเรืองสว่างรูปเสี้ยวจันทร์ บริเวณที่สว่างที่สุดจะอยู่ตรงดาวทิศเหนือของสี่เหลี่มข้าวหลามตัด

เป็นออบเจคที่ผมต้องดูภาพสเก็ทช์ของนักดูดาวท่านอื่นเทียบเคียงว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นถูกต้องหรือเปล่า ถือว่าดูยากที่สุดตัวหนึ่งและเป็น Challenging ของ Visual Observer ครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Crescent Nebula
Catalog number: NGC6888
Type: Nebula
Constellation: Cygnus
Visual Magnitude: +7.4
Apparent Size: 20’x10’
Distance: 5000 ly
R.A. 20h 13m 12.64s
Dec. +38° 28’ 35.2”

อ้างอิง
SkySafari
https://freestarcharts.com/ngc-6888

Thursday, 31 October 2019

Messier 57 : Ring Nebula



ภาพเสก็ทช์เอ็ม 57 เนบูล่าวงแหวนโดยผู้เขียน


“Among the curiosities of the heaven….
a nebula that has a regular concentric dark spot in the middle…
and is probably a ring of stars.”

“ ท่ามกลางสิ่งมหัศจรรย์ของสวรรค์….
เนบิวลาที่มีจุดมืดเป็นศูนย์กลางอยู่ตรงกลาง...
และอาจเป็นแหวนของดวงดาว”

-Sir William Herschel

ดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงดวงอาทิตย์ของเรา เมื่อแกนกลางใช้เชื้อเพลิงหมดจนไม่สามารถจุดปฎิกริยานิวเคลียร์ต่อไปได้ ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตขนาดของดาวจะขยายออกจนเกินกำลังที่ดาวจะยึดไว้ ผิวดาวและเนื้อสสารจะหลุดออกไปในอวกาศอันเวิ้งว้าง ทิ้งไว้แต่แกนคาร์บอนตรงกลางที่เรียกว่าดาวแคระขาว

ผิวดาวและสสารที่หลุดออกมานี้เรียกว่าเนบูล่าดาวเคราะห์หรือ Planetary Nebula ที่ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์แม้แต่น้อย ที่ได้ชื่อแบบนี้เพราะภาพที่เห็นจากกล้องดูดาวมักจะเป็นฝ้ากลมขนาดราวดาวเคราะห์ ในระยะแรกฟองกาซเนบูล่ายังเรืองแสงอยู่และจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนเย็นลงและจางหายไปในที่สุด

เอ็ม 57 หรือเนบูล่าวงแหวนเป็นตัวอย่างที่ดีของเนบูล่าดาวเคราะห์และมักเป็นออบเจคแรกๆที่นักดูดาวมือใหม่มองหา คนแรกที่พบเป็นนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Antonio Darquier ด้วยกล้องดูดาวขนาด 3 นิ้วในปี 1779 ก่อนหน้าแมสซายเออร์เพียงไม่กี่วัน วิลเลี่ยม เฮอเชลล์เป็นคนแรกที่มองเห็นเป็นวงแหวน

เนบูล่าวงแหวนอยู่ราวครึ่งทางจากดาวเบต้าไปแกมม่าไลเรในกลุ่มดาวพิณ ทั้งคู่เป็นดาวที่สว่างทำให้หาไม่ยาก กล้องดูดาวขนาด 3-4 นิ้ว ที่กำลังขยายต่ำจะมองเห็นเหมือนดาวที่ไม่ได้โฟกัส หากเพิ่มกำลังขยายจะเริ่มเห็นวงแหวนสีเทาขนาดจิ๋วที่สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนที่เห็น สำหรับกล้องสองตาถือว่าเป็น Challage object

ปลายกันยายนผมมีจังหวะได้ดูเอ็ม 57 อีกครั้งหลังในรอบหลายปี ฟ้ามีเมฆมาจากทางทิศใต้มีฟ้าแลบให้เห็นเป็นระยะ ตรงกลุ่มดาวพิณฟ้ายังเปิดอยู่ ผมมองไม่เห็นสัญญาณของเอ็ม 57 ในกล้องเล็ง ภาพจากกล้องดูดาวขนาด 8” ที่กำลังขยายต่ำเอ็ม 57 เหมือนดาวที่โฟกัสไม่ชัด

เมื่อเปลี่ยนกำลังขยายเป็น 133 เท่า เอ็ม 57 สว่างเด่นท่ามกลางหมู่ดาว เป็นวงรีที่มีขอบหนาและสว่างกว่าพื้นที่ตรงกลาง ขอบที่หนานั้นจะเปิดปลายทั้งสองข้าง ฝั่งทางเหนือจะสว่างกว่า สิ่งที่แปลกใจคือตัวเนบูล่ามีสีเทาอมเขียวนิดหน่อย ต่างกับสีขาวของดาวใกล้เคียง ได้ลองกรอกตาและขยับกล้องหลายครั้งก็ยังมองเห็นเป็นสีเทาอมเขียวเหมือนเดิม

มีบางจังหวะที่มองเห็น Central Star ด้วยการมองเหลือบ แต่ผมไม่ยืนยันว่าเป็น Central Star ของเอ็ม 57 ที่สว่างราวแมกนิจูด 15 อีกทั้งเป็น Challanging และเป็นที่ถกเถียงตามเวบบอร์ดต่างๆ ผมก็ไม่คิดว่าจะมองเห็นได้จากกล้องดูดาวตัวที่ใช้อยู่

แต่ว่าคืนนั้นผมยังสามารถเห็นสีของเนบูล่า ก็เป็นไปได้ว่า Central Star นั้นอาจจะมองเห็นจริงก็เป็นไปได้


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Ring Nebula
Catalog number: Messier57, NGC6720
Type: Planetary Nebula
Constellation: LyraVisual Magnitude: +8.8
Apparent Size: 1.4’x1.1’
Distance: 2300 ly
R.A. 18h 54m 18.95s
Dec. -33° 03’ 12.4”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
วิภู รุจิโรปการ, เอกภพ

Monday, 21 October 2019

Messier 22


ภาพสเก็ทช์เอ็ม 22 โดยผู้เขียน



“it was as if a globe had been filled with moon light
and hung before them in a net of woven of the glint of frosty stars”


“ราวกับโลกที่เปี่ยมด้วยแสงจันทร์และคลุมด้วยตาข่ายดวงดาว

ถักทอส่องประกายระยิบตา”


-J.J.R. Tolkien, The Hobbit, Ch 16, A Thief in the Night


เอ็ม22 เป็นหนึ่งในห้าราชาแห่งกระจุกดาวทรงกลมบนท้องฟ้า ด้วยความสว่างแมกนิจูดที่ 5.1 ทำให้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในที่ๆมืดดี และสว่างเป็นลำดับที่สามรองจากโอเมก้าเซนทอรี่และ 47 ทัคคาเน่ ส่วนเอ็ม13ในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิสเป็นลำดับที่สี่

ค้นพบในปี 1665 โดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันอับบราฮัม ฮิลล์ หลังจากนั้นมีนักดาราศาสตร์หลายคนได้บันทึกการสังเกตไว้ ในปี1764 แมสซายเออร์ได้บันทึกไว้ว่า “เนบูล่ากลม ไม่มีดาว ใกล้ 25 แซจิทารี”

เอ็ม22 เป็นกระจุกดาวที่มีขนาดปรากฎใหญ่กว่าพระจันทร์เต็มดวงเล็กน้อย ประกอบด้วยดาวประมาณ 500,000ดวง ทั้งหมดสว่างประมาณแม่นิจูด 11 ห่างจากเราประมาณ 10,400ปีแสง ไปในทิศทางกลุ่มดาวคนยิงธนู เป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่ใกล้โลกมากที่สุด และยังอยู่ใกล้เส้นสุริยวิถีทำให้มีดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้าบ่อยครั้ง

ตำแหน่งหาไม่ยากเพราะอยู่ห่างจากดาวคาอัสบอเรียริสหรือฝากาน้ำชาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือสององศาครึ่ง หากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าสามารถใช้กล้องสองตาช่วยได้

ภาพในเลนส์ตาผ่านกล้องดูดาวสะท้อนแสงขนาด 8” เอ็ม22 สว่าง มีขนาดใหญ่พอสมควร ที่กำลังขยายต่ำก็สามารถแยกดาวในกระจุกเป็นเม็ดได้แล้ว ที่กำลังขยาย133เท่า สว่าง มีรายละเอียดมาก มองเห็นดาวราว 100ดวง และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหากมองเหลือบ บางดวงจะสว่างเด่นกว่าดวงอื่น มีแถบมืดทางตะวันออกและตะวันตก

เมื่อดูไปสักพักเราจะเริ่มเห็นรายละเอียดมากขึ้น กระจุกดาวมีแขนขาระโยงระยางออกมาทุกด้านจนทำให้ภาพโดยรวมมองดูคล้ายแมลงอะไรสักอย่าง นับว่าเป็นออบเจคที่ห้ามพลาดสำหรับคนที่มีกล้องดูดาวและเป็นออบเจคที่เห็นด้วยตาเราเองจะงามกว่าดูจากภาพถ่ายครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


Catalog number: Messier22, NGC6656
Type: Globular Cluster
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +5.09
Apparent Size: 32’
Distance: 10,400 ly
R.A. 18h 37m 34.32s
Dec. -23° 53’ 13.2”



อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari

Thursday, 17 October 2019

Messier 11 : Wild duck cluster




บ้านเราอยู่ในเขตร้อนชื้น การชื่นชมทางช้างเผือกช่วงปลายฤดูฝนอย่างเดือนกันยายนถือเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ปีนี้โชคดีที่มีจังหวะท้องฟ้าเปิด แถมใกล้เดือนมืดไร้แสงจันทร์กวน 

ในกลุ่มดาวโล่หรือสคูตัมที่วางอยู่บนทางช้างเผือกติดกับกลุ่มดาวคนยิงธนูทางทิศเหนือ มีกระจุกดาวกระทัดรัดที่อัดแน่นไปด้วยดาวตัวหนึ่งคือแมสซายเออร์ 11 มีชื่อเรียกกันว่ากระจุกดาวเป็ดป่า (Wild Duck Cluster) ที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะมีดาวในกระจุกเรียงตัวเป็นตัวอักษร “V” เหมือนฝูงบินของเป็ดป่าหรือห่านป่าอพยพ ผู้ที่ตั้งชื่อคือนายพลเรือนักดาราศาสตร์แห่งราชนาวีอังกฤษ “วิลเลี่ยม สมิธ”

การมองหาเอ็ม11โดยอาศัยกลุ่มดาวนกอินทรีจะง่ายกว่า เพราะกลุ่มดาวโล่ค่อนข้างจาง เราจะเริ่มต้นที่ดาวที่เป็นหางนกอินทรีหรือแลมด้าอควิเล (λ Aquilae) ในฟิลด์กล้องสองตาจะเห็นดาวสว่างอีกสองดวงคือ ไอ อควิเล (i Aql) และอีต้าสคูติ ( η Sct)ทั้งสามดวงเรียงเป็นเส้นโค้ง ชี้ไปที่เอ็ม 11

ภาพในกล้องสองตากระจุกดาวเอ็ม 11 จะเป็นปื้นกลมเหมือนกระจุกดาวทรงกลม เมื่อย้ายมาที่กล้องดูดาวกำลังขยายปานกลางความงามจะถูกเผยออกมา จุดแสงละเอียดจำนวนมากเกาะตัวหนาแน่นเป็นรูปพัด ส่องประกายระยิบระยับคล้ายเกร็ดแก้วใต้ท้องทะเล

ในกระจุกดาวมีดาวสว่างสีแดงส้มโดดเด่น ทำหน้าที่คล้ายจ่าจูงเป็ดป่าท่ามกลางดาวที่จางและเล็กนับร้อย เมื่อใช้วิธีมองเหลือบจะเริ่มเห็นดาวเล็กๆจางๆเรียงตัวเป็นแนวอยู่ทางด้านแหลมของพัดเป็นตัววี ดาวดวงเล็กและจางกลุ่มนี้เองคือที่มาของชื่อเป็ดป่า เราจะมองเห็นชัดเจนเมื่อเพิ่มกำลังขยายให้สูงขึ้น

ยังมีแถบมืดที่วางอยู่ทางเหนือของดาวประธานไล่ไปทางตะวันตก ภาพที่กำลังขยายสูงกระจุกดาวจะฟิตพอดีกับฟิลด์ มองเห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้นแต่จะไม่ได้ความรู้สึกระยิบระยับเหมือนกำลังขยายปานกลาง

เอ็ม 11 ค้นพบโดยนัก ดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ก็อตฟรี่ย์ เคริชในปี 1681 ในปี 1733 วิลเลียม เดอร์แฮมได้ระบุว่าเป็นกระจุกดาวดาว และชาร์ล แมสซายเออร์เพิ่มเข้าไปในแคตตาล็อกของเขาในปี 1764 

ในกระจุกมีสมาชิกราว 3000 ดวง ในจำนวนนี้มี 500 ดวงที่สว่างกว่าแมกนิจูดที่ 14 มีขนาดปรากฎประมาณหนึ่งในสามของพระจันทร์เต็มดวง เป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่หนาแน่นและขนาดกระทัดรัดที่สุดตัวหนึ่ง จนทำให้ดูคล้ายเป็นกระจุกดาวทรงกลม

RJ Trumpler เคยคำนวณว่าถ้าโลกเราอยู่ในใจกลางกระจุกดาวเอ็ม 11 บนท้องฟ้าจะมีดาวสว่าง แมกนิจูดที่หนึ่งราว 200 ถึง 300 ดวงและอาจจะมีราว 40 ดวงหรือมากกว่าที่มีความสว่างตั้งแต่ 4 ถึง 50 เท่าของดาวซิริอุส! ท้องฟ้าแบบนั้นคงสว่างไสวน่าดู

ใครที่มีกล้องดูดาวแล้วไม่ได้ดูกระจุกดาวตัวนี้ถือว่าพลาดอย่างยิ่ง เอ็มสิบเอ็ดเป็นอัญมณีหรูหราราคาแพงบนทางช้างเผือกอีกตัวครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Wild duck cluster
Catalog number: Messier11, NGC6705
Type: Star Cluster
Constellation: ScutumVisual Magnitude: +5.8
Apparent Size: 32’
Distance: 6100 ly
R.A. 18h 52m 07.42s
Dec. -06° 14’ 31.8”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
Phillip Harrington, Cosmic Challenge
SkySafari
http://www.deepskywatch.com/Astrosketches/Wild-duck-cluster-M-11-sketch.html
Messier 11 sketch @ 111x http://www.asod.info/?p=7886

Wednesday, 9 October 2019

NGC6520 and Barnard 86



ภาพสเก็ทช์ NGC6520 กับ Barnard 86 - Inkspot โดยผู้เขียน

NGC6520 กระจุกดาวขนาดเล็กบนใจกลางทางช้างเผือกที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ห่างจากปลายพวยกาน้ำชาหรือดาวแกมม่าซาจิทารี่ (γ Sgt หรือ Alnasl) ไปทางเหนือแค่สององศาครึ่ง

จุดสังเกตของ NGC6520 คืออยู่ระหว่างดาวสามดวงเรียงเป็นเส้นตรงตามแนวทิศ SE-NW ใกล้กันมีฝ้ากลมอีกตัวมองเห็นได้จากกล้องเล็งในฟิลด์เดียวกัน ซึ่งอาจเป็นกระจุกดาวทรงกลม Djorgovski2 

ในกระจุกดาว NGC6520 มีดาวสว่าง ประกายสีแดงเด่นอยู่สองดวง มีอีกราว15-20 ดวงล้อมรอบ และมีดาวในกระจุกอีกจำนวนมากที่แยกออกมาเป็นเม็ดดาวไม่ได้มองเห็นเป็นแสงฟุ้งที่กลมสมมาตรดี

สีของท้องฟ้าในเลนส์ตาสว่างกว่าปกติและไม่ได้เนียนเสมอกัน เพราะพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยดาวคล้ายเม็ดทรายบนชายหาดอันกว้างใหญ่ แต่ดาวพวกนั้นจางเกินกว่าที่ตาของเราจะแยกภาพออกมาเป็นเม็ด จึงทำให้มองเห็นเป็นแสงสว่างจางเต็มพื้นที่

ระหว่าง NGC6520 และดาวสว่างแมกนิจูด 7 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หากสังเกตให้ดีจะเห็นพื้นที่สีเข้มแตกต่างจากจุดอื่น ออบเจคนี้เป็นกลุ่มกาซกับฝุ่นที่เย็นและทึบแสงเรียกกันว่า “Dark Nebula” หรือเนบูล่ามืด

ค้นพบโดย E.E.Barnard เนบูล่ามืดตัวนี้มีชื่อว่า Barnard 86 หรือ Inkspot เราจะเห็นเนบูล่ามืดได้ก็ต่อเมื่อมีเนบูล่ามืดอยู่ด้านหน้าบังวัตถุที่มีแสงในตัว

ผมคิดว่าเนบูล่ามืดหรือ Dark Nebula เป็นออบเจคที่ดูยากเพราะไวต่อมลภาวะทั้งหมอกควันและแสงที่เกินพอดีจากเมือง แม้ท้องฟ้าที่มืดระดับที่พอมองเห็นทางช้างเผือกอย่างบ้านหมี่ ก็ยังไม่ดีพอที่จะเห็น Dark Nebula ได้ง่าย

ดาวในกระจุก NGC6520 มีดาวสีฟ้าขาวจำนวนมากเป็นเครื่องหมายว่าเป็นกระจุกดาวอายุน้อย ปกติกระจุกดาวเกิดใหม่จะมีดาวราวสองถึงสามพันดวง แต่การศึกษาทำได้ยากเพราะอยู่ในบริเวณที่มีดาวหนาแน่น คาดว่าตัวกระจุกดาวมีอายุราว 150 ล้านปี และทั้ง NGC6520 และ B86 น่าจะห่างจากเราประมาณ 6000ปีแสง

ดาว γ Sgt มีชื่อในแผนที่ว่า Alnasl
คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Inkspot
Catalog number: Barnard86
Type: Dark Nebula
Constellation: Sagittarius
Apparent Size: 5’x3’
Distance: ~6000 ly
R.A. 18h 04m 11.46s
Dec. -27° 52’ 

Catalog number: NGC6520
Type: Star Cluster
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +7.6
Apparent Size: 2’
Distance: ~6000 ly
R.A. 18h 04m 37.47s
Dec. -27° 52’ 51.7”


อ้างอิง
Stephen O’mera, Hidden Treasure

SkySafari

Saturday, 5 October 2019

Messier 20 : Trifid Nebula


ภาพสเก็ทช์แมสซายเออร์ 20 โดยผู้เขียน

หัวค่ำปลายเดือนกันยายน ท้องฟ้าทิศใต้มีดาวพราวเต็มฟ้า แอสคลิปิอัสแบกงูเหยียบแมงป่องที่ตะแคงข้างไว้ใต้เท้าไม่ให้มีพิษสง ทางช้างเผือกพาดข้ามฟ้าผ่านระหว่างคนแบกงูและดาวเรียงรูปกาน้ำชาที่กำลังรินน้ำลงมาตรงหน้าเราพอดี

ที่ใจกลางของทางช้างเผือกบนฝาของกาน้ำชา สายตาของนักสำรวจท้องฟ้าที่ปรับดีแล้วจะเห็นกระจุกดาวและเนบูล่าเป็นปื้นสว่างน้อยใหญ่กระจายทั่วไป หนึ่งในนั้นก็คือเนบูล่าที่เป็นที่รู้จักกันดีตัวหนึ่ง “แมสซายเออร์หมายเลข 20” หรือ “ทริฟิดเนบูล่า”

เอ็ม 20 มีรายงานการค้นพบครั้งแรกในปี 1747 โดย Guillaume Le Gentil นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แมสซายเออร์เพิ่มเข้าไปในแคตตาลอคเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1764 โดยบันทึกว่าเป็นกระจุกดาว ไม่ใช่เนบูล่า ผู้ที่พบว่ามีเนบูล่าในเอ็ม 20 คือพลเรือเอกสมิธ (นายพลเรือและนักดาราศาสตร์แห่งราชนาวีอังกฤษ)

วิลเลี่ยม เฮอร์เชลเป็นผู้ที่ระบุว่ามีแถบมืดที่แบ่งเนบูล่าออกเป็นสามส่วน และจอห์น เฮอร์เชลเป็นคนแรกที่เรียกชื่อเนบูล่าตัวนี้ว่า “Trifid” ซึ่งหมายถึง “แบ่งเป็นสามส่วน” ตามลักษณะที่มองเห็น

เอ็ม 20 หาไม่ยาก ภาพในกล้องสองตาจะเป็นฝ้าฟุ้งขนาดเล็กทางทิศเหนือของลากูนเนบูล่าหรือเอ็ม 8 มีดาวคู่เด่นสว่างเด่นตรงกลาง ระวังจะสับสนกับกระจุกดาวเอ็ม 21 ที่เลยออกไปอีกหน่อย

แต่หากมองไม่เห็นเอ็ม 8 ด้วยตาเปล่า เราก็เริ่มต้นจากฝากาน้ำชาหรือดาวที่ชื่อ “เคล้าส์ โบเรียลิส”​ จากนั้น "ฮอบ" ไปทางทิศตะวันตกราว 5 องศา จะพบเอ็ม 8 สว่างฟุ้ง ห่างออกไปหน่อยเดียวทางเหนือเอ็ม 20 จะเป็นจุดแสงฟุ้งที่เล็กกว่าในฟิลด์เดียวกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย

ทริฟิดในกล้องสองตาเราจะเห็นว่าคล้ายเนบูล่าก็จริงแต่ไม่ใช่ ผมเห็นด้วยกับฟิลลิป แฮริ่งตันที่เขียนไว้ในหนังสือ Cosmic Challege ว่าสิ่งที่เห็นคือแสงฟุ้งจากกระจุกดาวในเอ็ม20 เพราะเมื่อพิจารณาให้ดีแล้วเนบูล่าของทริฟิดจางเกินกว่าจะมองเห็นได้จากกล้องสองตาหรือกล้องเล็ง และนั่นหมายความว่าเรากำลังเห็นสิ่งที่แมสซายเออร์ได้บรรยายไว้ในบันทึกของเขา

ภาพจากกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้วที่กำลังขยายต่ำ(33เท่า) เริ่มเห็นเนบูล่าเป็นฝ้ากลมรอบระบบดาวคู่ HN40 ด้วยการมองเหลือบ มองเห็นกระจุกดาวเปิดเอ็ม 21 อยู่ในฟิลด์เดียวกันได้ เป็นภาพที่สวยไปอีกแบบ

เมื่อผมเพิ่มกำลังขยายเป็น 56 เท่า เวลาที่ผ่านไปทำให้เนบูล่ารอบ HN40 เริ่มจมหายไปกับหมอกควันและแสงไฟจากตลาดบ้านหมี่ ทำให้ต้องใช้ฟิลเตอร์ UHC เป็นตัวช่วย เนบูล่าถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยแถบมืดที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเอ็ม 20

เนบูล่าทั้งสามส่วน ชิ้นทางทิศใต้สว่างที่สุด แถบมืดฝั่งนี้ก็ดูได้ง่ายกว่าทางทิศเหนือ ระบบดาวคู่ HN40 ดูไม่ชัดเจนว่าอยู่บนเนบูล่าชิ้นฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกกันแน่ ส่วนทางทิศเหนือมีเนบูล่าที่จางกว่ากระจายตัวไปรอบบริเวณดาวสว่างแมกนิจูดที่ 7 ดวงหนึ่ง

เอ็ม 20 อยู่ห่างออกไป 5,200 ปีแสง คาดว่ามีอายุราว 300,000 ปี นับว่าเป็นเนบูล่าและแหล่งอนุบาลดาวเคราะห์ที่อายุน้อยที่สุดจุดหนึ่งในทางช้างเผือก

ข้อมูลทั่วไป
Name: Trifid Nebula
Catalog number: NGC6514, Messier 20
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +6.3
Apparent Size: 29’x27’
Distance: 5200 ly
R.A. 18h 03m 46.67s
Dec. -23° 1’ 53.2”

อ้างอิง :
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
Phillip Harrington, Cosmic Challenge
SkySafari

Thursday, 3 October 2019

The Demon star : Algol

อัลกอลขณะความสว่างปกติ
ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธุ์

มีดาวอยู่ดวงหนึ่งบนฟ้าที่เดี๋ยวหรี่เดี๋ยวสว่าง นักดาราศาสตร์ช่างสังเกตมองเห็นการเปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีแล้ว ดาวดวงนั้นคืออัลกอล - Algol ตาข้างขวาของหัวเมดูซ่าที่อยู่ในมือของเพอร์เซอุสบนฟากฟ้า

อัลกอลหรือเบต้าเพอร์เซอิ (β Persei) ดาวสว่างอันดับสองในกลุ่มดาวเพอร์เซอุสเป็นดาวแปรแสงชนิดคู่คราส การแปรแสงของดาวเกิดจากดาวในระบบดาวคู่เข้าคราสหรือบังซึ่งกันและกัน มีค่าความสว่างในเวลาปกติ 2.1 แมกนิจูดและ 3.4 แมกนิจูดเวลาเกิดคราส คาบการเกิดคราสทุก 2.87 วัน นับเป็นการเกิดคราสที่ไกลมากคือ 93 ปีแสง แถมยังมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

อัลกอลเป็นระบบดาว 3 ดวง ดาวหลักคือ Algol A ดาวสว่าง สีฟ้า-ขาว ส่วนคู่คือ Algol B สีส้มแดง จางกว่า A แต่มีขนาดใหญ่กว่า ดวงสุดท้าย Alcol C จางกว่ามาก มีสีขาว โคจรรอบคู่ AB อีกทีมีคาบการโคจร 1.86ปี

Algol B โคจรรอบ Allgol A ทุก 2 วัน 20 ชั่วโมง 49 นาที และคราสจะเกิดทั้งแบบ B บัง A และ A บัง B คราสหลักจาก B บัง A ความสว่างของอัลกอลจะลดลงเหลือ 3.4 แมกนิจูด คราสรองที่เกิดจาก A บัง B ความสว่างจะลดลงเล็กน้อยแค่ 1/10 แมกนิจูด


อัลกอล เอ ดวงสีเหลือง อัลกอล บี จางกว่าโคจรรอบอัลกอลเ อ
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada
กราฟความสว่าง A B C คือตำแหน่งของอัลกอล บี
คราสหลักกินเวลาราว 10 ชั่วโมง
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada

คราสหลักของอัลกอลแต่ละครั้งกินเวลาราว 10 ชั่วโมง ขาเข้า 5 ชั่วโมง ขาออก 5 ชั่วโมง การดูอัลกอล Bob King คอลัมนิสต์ Sky & Telescope แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเฝ้าดูตลอด 10 ชั่วโมง เพราะช่วงแรกความสว่างจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ช่วง 2 ชั่วโมงก่อนและหลังเวลาเข้าคราสเต็มดวง ความสว่างของอัลกอลเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ทำให้เราสามารถสังเกตความสว่างที่ใกล้กับจุดต่ำสุดได้โดยไม่ต้องรอนาน แต่หากเราพอมีเวลาผมว่ารอดูดีกว่า


ตารางวันและเวลา 2019 Algol Minima สำหรับไทย
Cr: Algol Minima site, Sky and Telescope Magazine

แผนที่อัลกอล พร้อมดาวสำหรับเปรียบเทียบความสว่าง
[คลิกภาพเพื่อขยาย]
จากนั้นก็เลือกวัน เวลาจากตาราง การสังเกตไม่ว่าด้วยตาเปล่า กล้องสองตา หรือกล้องดูดาว ควรจดบันทึกค่าความสว่างโดยเปรียบเทียบกับดาวดวงอื่นที่ใกล้เคียงเป็นจุดอ้างอิง อีกสองสามชั่วโมงค่อยมาดูความเปลี่ยนแปลง ดาวใกล้เคียงที่ใช้เปรียบเทียบได้ก็มีดาว Almach สว่าง 2.1, ρ (rho) Persei สว่าง 3.4, ε (epsilon) Persei 2.9, κ (kappa) Persei 3.8 ดูจากในแผนที่ครับ

คำว่า Algol มาจากภาษาอารบิก “Al Ra’s Al Ghul” แปลว่า “หัวปีศาจ” ในหนังสือ Celestial Handbook บอกไว้อีกหลายชื่อจากหลายอารยธรรม เช่น Caput Gorgonis - หัวกอร์กอน(หมายถึงเมดูซ่าและพี่น้อง), Rohn ha Satan -หัวซาตาน, Caput Lavae -หัวผี แม้กระทั่งเชื่อมโยงกับ “Lilith” ลิลิธภรรยาคนแรกของอดัมที่กลายเป็นปีศาจภายหลัง

คนในยุคก่อนมองดาวดวงนี้เป็นอันตรายคาดการณ์ไม่ได้เหมือนสิ่งชั่วร้าย คงเพราะดาวดวงนี้เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างอันเนื่องมาจากธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ล่าสุดมีคนพบสมุดปาริรัสอายุ 3200ปี ในยุคอียิปต์โบราณที่มีข้อมูลการแปรแสงของอัลกอลโดยระบุว่าคาบการแปรแสงคือ 2.85 วัน แปลว่ามนุษย์เราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัลกอลมานานแล้ว


ภาพอัลกอลแสดงความแตกต่างของความสว่าง
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada
แต่ผู้ที่พบว่าดาวดวงนี้เป็นดาวแปรแสงอย่างเป็นทางการตอนนี้คือมินิอาโน่ มอนทานารี่เมื่อปี 1667 และอีก115 ปีต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 1782 จอห์น กู๊ดริคที่ขณะนั้นมีอายุได้ 18ปี เป็นคนแรกที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของอัลกอล และนำเสนอคาบการสว่างคือ 2 วัน 20 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งใกล้เคียงกับการคำนวณในยุคปัจจุบันมาก

กู๊ดริคได้บันทึกความประทับใจไว้ในสมุดบันทึกว่า

“คืนนี้ผมดูเบต้าเพอร์เซอิ(อัลกอล) ประหลาดใจมากที่เห็นความสว่างของมันเปลี่ยนแปลง ผมตั้งใจสังเกตราวหนึ่งชั่วโมง ผมไม่อยากเชื่อว่ามองเห็นความสว่างของดาวที่เปลี่ยนไป เพราะผมไม่เคยได้ยินว่ามีดาวที่มีความสว่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างนี้มาก่อน”

อยากตามรอยและสัมผัสความรู้สึกเดียวกับจอห์น กู๊ดริคกันหรือเปล่า?
ดาวปีศาจรออยู่ครับ

อ่านเรื่องกลุ่มดาวเพอร์เซอุสเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://tsg2018.blogspot.com/2019/09/perseus-constellation.html


อ้างอิง
http://www.sci-news.com/astronomy/papyrus-cairo-calendar-astrophysical-information-variable-star-algol-03533.html
https://calgary.rasc.ca/algol_minima.htm
https://www.skyandtelescope.com/astronomy-blogs/behold-algol-star-secret/
https://www.facebook.com/groups/astroforfun/permalink/1410537989098335?sfns=mo

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...