Saturday, 5 October 2019

Messier 20 : Trifid Nebula


ภาพสเก็ทช์แมสซายเออร์ 20 โดยผู้เขียน

หัวค่ำปลายเดือนกันยายน ท้องฟ้าทิศใต้มีดาวพราวเต็มฟ้า แอสคลิปิอัสแบกงูเหยียบแมงป่องที่ตะแคงข้างไว้ใต้เท้าไม่ให้มีพิษสง ทางช้างเผือกพาดข้ามฟ้าผ่านระหว่างคนแบกงูและดาวเรียงรูปกาน้ำชาที่กำลังรินน้ำลงมาตรงหน้าเราพอดี

ที่ใจกลางของทางช้างเผือกบนฝาของกาน้ำชา สายตาของนักสำรวจท้องฟ้าที่ปรับดีแล้วจะเห็นกระจุกดาวและเนบูล่าเป็นปื้นสว่างน้อยใหญ่กระจายทั่วไป หนึ่งในนั้นก็คือเนบูล่าที่เป็นที่รู้จักกันดีตัวหนึ่ง “แมสซายเออร์หมายเลข 20” หรือ “ทริฟิดเนบูล่า”

เอ็ม 20 มีรายงานการค้นพบครั้งแรกในปี 1747 โดย Guillaume Le Gentil นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แมสซายเออร์เพิ่มเข้าไปในแคตตาลอคเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1764 โดยบันทึกว่าเป็นกระจุกดาว ไม่ใช่เนบูล่า ผู้ที่พบว่ามีเนบูล่าในเอ็ม 20 คือพลเรือเอกสมิธ (นายพลเรือและนักดาราศาสตร์แห่งราชนาวีอังกฤษ)

วิลเลี่ยม เฮอร์เชลเป็นผู้ที่ระบุว่ามีแถบมืดที่แบ่งเนบูล่าออกเป็นสามส่วน และจอห์น เฮอร์เชลเป็นคนแรกที่เรียกชื่อเนบูล่าตัวนี้ว่า “Trifid” ซึ่งหมายถึง “แบ่งเป็นสามส่วน” ตามลักษณะที่มองเห็น

เอ็ม 20 หาไม่ยาก ภาพในกล้องสองตาจะเป็นฝ้าฟุ้งขนาดเล็กทางทิศเหนือของลากูนเนบูล่าหรือเอ็ม 8 มีดาวคู่เด่นสว่างเด่นตรงกลาง ระวังจะสับสนกับกระจุกดาวเอ็ม 21 ที่เลยออกไปอีกหน่อย

แต่หากมองไม่เห็นเอ็ม 8 ด้วยตาเปล่า เราก็เริ่มต้นจากฝากาน้ำชาหรือดาวที่ชื่อ “เคล้าส์ โบเรียลิส”​ จากนั้น "ฮอบ" ไปทางทิศตะวันตกราว 5 องศา จะพบเอ็ม 8 สว่างฟุ้ง ห่างออกไปหน่อยเดียวทางเหนือเอ็ม 20 จะเป็นจุดแสงฟุ้งที่เล็กกว่าในฟิลด์เดียวกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย

ทริฟิดในกล้องสองตาเราจะเห็นว่าคล้ายเนบูล่าก็จริงแต่ไม่ใช่ ผมเห็นด้วยกับฟิลลิป แฮริ่งตันที่เขียนไว้ในหนังสือ Cosmic Challege ว่าสิ่งที่เห็นคือแสงฟุ้งจากกระจุกดาวในเอ็ม20 เพราะเมื่อพิจารณาให้ดีแล้วเนบูล่าของทริฟิดจางเกินกว่าจะมองเห็นได้จากกล้องสองตาหรือกล้องเล็ง และนั่นหมายความว่าเรากำลังเห็นสิ่งที่แมสซายเออร์ได้บรรยายไว้ในบันทึกของเขา

ภาพจากกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้วที่กำลังขยายต่ำ(33เท่า) เริ่มเห็นเนบูล่าเป็นฝ้ากลมรอบระบบดาวคู่ HN40 ด้วยการมองเหลือบ มองเห็นกระจุกดาวเปิดเอ็ม 21 อยู่ในฟิลด์เดียวกันได้ เป็นภาพที่สวยไปอีกแบบ

เมื่อผมเพิ่มกำลังขยายเป็น 56 เท่า เวลาที่ผ่านไปทำให้เนบูล่ารอบ HN40 เริ่มจมหายไปกับหมอกควันและแสงไฟจากตลาดบ้านหมี่ ทำให้ต้องใช้ฟิลเตอร์ UHC เป็นตัวช่วย เนบูล่าถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยแถบมืดที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเอ็ม 20

เนบูล่าทั้งสามส่วน ชิ้นทางทิศใต้สว่างที่สุด แถบมืดฝั่งนี้ก็ดูได้ง่ายกว่าทางทิศเหนือ ระบบดาวคู่ HN40 ดูไม่ชัดเจนว่าอยู่บนเนบูล่าชิ้นฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกกันแน่ ส่วนทางทิศเหนือมีเนบูล่าที่จางกว่ากระจายตัวไปรอบบริเวณดาวสว่างแมกนิจูดที่ 7 ดวงหนึ่ง

เอ็ม 20 อยู่ห่างออกไป 5,200 ปีแสง คาดว่ามีอายุราว 300,000 ปี นับว่าเป็นเนบูล่าและแหล่งอนุบาลดาวเคราะห์ที่อายุน้อยที่สุดจุดหนึ่งในทางช้างเผือก

ข้อมูลทั่วไป
Name: Trifid Nebula
Catalog number: NGC6514, Messier 20
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +6.3
Apparent Size: 29’x27’
Distance: 5200 ly
R.A. 18h 03m 46.67s
Dec. -23° 1’ 53.2”

อ้างอิง :
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
Phillip Harrington, Cosmic Challenge
SkySafari

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...