ซีตัสเป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ที่พาดผ่านเส้นศูนย์สูตรฟ้า ดาวในกลุ่มพอเห็นแต่ไม่ค่อยเด่นทำให้ต้องใช้เวลามองหา ซีตัสเป็นสัตว์ประหลาดลูกผสมที่มีหัวเป็นสัตว์บกและลำตัวกับหางเป็นปลา รูปร่างของกลุ่มดาวมีส่วนหัวและลำตัวแยกจากกันและมีคอที่ออกจะยาวสักหน่อย
บริเวณคอของซีตัสมีดาวสว่างแมกนิจูด 4 ชื่อเดลต้าเซติ (δ Ceti) เด่นอยู่หนึ่งดวง ห่างออกไปแค่หนึ่งองศาทางตะวันออกของเดลต้าเซติก็คือกาแลกซี่ที่แมสซายเออร์ให้หมายเลข 77 ถูกค้นพบเมื่อปี 1780 โดยปิแอร์ เมอร์แชนท์ผู้ช่วยของแมสซายเออร์ ได้รับคำอธิบายที่ยังเป็นข้อกังขาทั้งจากแมสซายเออร์และเฮอร์เชลล์ว่าเป็นกระจุกดาวที่มีเนบูล่า จนกระทั่งในปี 1850 ลอร์ดโรสได้ระบุว่าเป็นกาแลกซี่แบบกังหัน
ลักษณะพิเศษของเอ็ม 77 คือเป็นกาแลกซี่แบบก้นหอยที่มีใจกลางสว่างกว่าปกติประมาณ 100 เท่า นักดาราศาสตร์เรียกกาแลกซี่แบบนี้ว่ากาแลกซี่เซเฟิร์ต ที่เป็นแบบนี้เพราะเอ็ม 77 มีหลุมดำยักษ์เป็นใจกลาง ยืนยันได้จากที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุกำลังค่อนข้างแรง ทำให้เอ็ม 77 รู้จักกันอีกชื่อว่า “ซีตัส เอ” หรือแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุ 3C71
เอ็ม 77 อยู่ใกล้กับเดลต้าเซติทำให้หาตำแหน่งได้ง่าย ในกล้องเล็งจะดูคล้ายดาวที่มีแสงฟุ้งโดยรอบ ภาพที่เห็นทำให้ผมคิดถึงกาแลกซี่เอ็ม 51 หรือ Wirlpool มากเพราะมีดาวอีกดวงหนึ่งอยู่เคียงกัน แต่เมื่อดูผ่านกล้องดูดาวเอ็ม 77 เป็นแสงฟุ้งกลมมีจุดสว่างเหมือนดาวอยู่ตรงกลาง จุดสว่างตรงนิวเคลียสนี้เป็นลักษณะเด่นที่สำคัญพราะมีกาแลกซี่ไม่กี่ตัวที่เห็นจุดสว่างแบบนี้ตรงกลาง อาจเป็นควอซ่าหรือหลุมดำก็ได้
ภาพจากกล้อง 8 นิ้วมองไม่เห็นแขนกังหันทั้ง 3 แขนที่เป็นลักษณะเด่น ต้องอาศัยกล้องดูดาวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ก็ฟ้าต้องดีกว่านี้ บริเวณที่เห็นได้ในเลนส์ตาจะเป็นชั้นในของกาแลกซี่ที่สว่างเป็นพิเศษ และเป็นดาวเกิดใหม่มีแสงสีฟ้า ส่วนด้านนอกที่เลยออกไปมองไม่เห็นจากกล้องดูดาวจะเป็นดาวที่อายุมากกว่า มีขอบเขตกว้างมาก คาดว่าราว 170,000 ปีแสงทีเดียว
คลิกภาพเพื่อขยาย |
Name: Cetus A
Catalog number: Messier 77, NGC1068
Type: Spiral Galaxy
Constellation: Cetus
Visual Magnitude: +9
Apparent Size: 6.2’x5.6’
Distance: 33 Mly
R.A. 02h 43m 40.58s
Dec. +00° 04’ 06.3”
อ้างอิง
SkySafari
http://www.messier.seds.org/m/m077.html
No comments:
Post a Comment