Wednesday 13 November 2019

NGC7662 : Blue Snowball


 


ฟ้าจะดีหรือไม่ดีนอกเหนือการควบควบคุมของมนุษย์ สิ่งที่นักดูดาวพอจะทำได้ยามฟ้าปกคลุมด้วยหมอกควันและมลภาวะทางแสงคือเลือกออบเจคที่เหมาะสม

หากยังจำกันได้ปลายกันยายน 2562 มีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาสองสามวันแล้วถอยกลับไป คืนวันที่ 28 ต่อ 29 กันยายน 2562 เป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงถอยกลับไปได้วันสองวัน ผลที่ตามมาคือท้องฟ้าขุ่นเต็มไปด้วยหมอกควัน ดาวที่เคยเต็มฟ้าเหลือแค่กลางศรีษะ มีน้อยดวงจนนับได้

ฟ้าแบบนี้ตัวเลือกก็คือกระจุกดาวที่สว่างและเนบูล่าดาวเคราะห์ที่มักจะเล็กแต่สว่างมากจนดูได้แม้กระทั่งจากในเมือง ผมเลือกลูกบอลสีฟ้า Blue snowball หรือ NGC7662 เนบูล่าดาวเคราะห์ที่พอดูได้ยามฟ้าเป็นแบบนี้

NGC7662 อยู่ตรงปลายแขนแอนโดรเมด้าฝั่งที่ถูกล่ามโซ่ ท้องฟ้าชานเมืองในคืนฟ้าใส เราน่าจะพอมองเห็นโอมิครอน (ο And) และอิโอต้าแอนโดรเมเด (ι And) ที่สว่างประมาณแมกนิจูดที่สี่ (ดาวทั้งสองเรียงเป็นโซ่ตรึงแขนแอนโดรเมด้าเอาไว้) NGC7662 อยู่ระหว่างดาวสองดวงนี้ แต่หากฟ้าแย่จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ต้อง Hop ไกลหน่อย จุดเริ่มอาจเป็นกาแลกซี่แอนโดรเมด้าก็ได้

ในกล้องเล็ง Blue snowball ดูเหมือนดาวแต่มีสีฟ้า กล้องดูดาวขนาด 8” ที่กำลังขยาย 33เท่าก็ยังเป็นจุดแสงสีฟ้า มีดาวสว่างใกล้เคียงกันอยู่ไม่ห่าง เริ่มมองเห็นว่าเป็นแผ่นดิสก์สีเทาอมฟ้าขนาดจิ๋วที่ 56เท่า เพิ่มกำลังขยายไปจนถึง 200 เท่า แผ่นดิสก์กลมมีขนาดใหญ่ขึ้นมองไม่เห็นสีฟ้ากลายเป็นสีเทาแทน คืนนั้นผมได้ลองเพิ่มกำลังขยายอีกแต่ภาพค่อนข้างมืดและไม่มีดาวอื่นใดใน FOV เลย

เมื่อมาสืบค้นทีหลังพบว่าเราสามารถมองเห็น Dark spot หรือพื้นที่สีเข้มใจกลางเนบูล่าได้หากใช้กำลังขยาย 250เท่าขึ้นไป ซึ่งคืนนั้นท้องฟ้าไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก ทำให้ Blue snowball เป็นอีกออบเจคที่อยู่ในรายการที่ต้องกลับไปดูใหม่อีกรอบ

ผู้ค้นพบ NGC7662 คือวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์ เมื่อ 6 ตุลาคม 1784 ระยะห่างจากเราไม่ชัดเจนนักคาดว่าประมาณ 3,600 ปีแสง ทำให้ขนาดไม่แน่นอนไปด้วยคาดว่าอยู่ราว 0.35-0.7ปีแสง


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: blue snowball
Catalog number: NGC7662
Type: Planetary Nebula
Constellation: Andromeda
Visual Magnitude: +8.3
Apparent Size: 0.5’x0.5’
Distance: 3,600 ly
R.A. 23h 126m 50.25s
Dec. +42° 38’ 32.7”


อ้างอิง
SkySafari
https://freestarcharts.com/ngc-7662

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...