Wednesday 9 October 2019

NGC6520 and Barnard 86



ภาพสเก็ทช์ NGC6520 กับ Barnard 86 - Inkspot โดยผู้เขียน

NGC6520 กระจุกดาวขนาดเล็กบนใจกลางทางช้างเผือกที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ห่างจากปลายพวยกาน้ำชาหรือดาวแกมม่าซาจิทารี่ (γ Sgt หรือ Alnasl) ไปทางเหนือแค่สององศาครึ่ง

จุดสังเกตของ NGC6520 คืออยู่ระหว่างดาวสามดวงเรียงเป็นเส้นตรงตามแนวทิศ SE-NW ใกล้กันมีฝ้ากลมอีกตัวมองเห็นได้จากกล้องเล็งในฟิลด์เดียวกัน ซึ่งอาจเป็นกระจุกดาวทรงกลม Djorgovski2 

ในกระจุกดาว NGC6520 มีดาวสว่าง ประกายสีแดงเด่นอยู่สองดวง มีอีกราว15-20 ดวงล้อมรอบ และมีดาวในกระจุกอีกจำนวนมากที่แยกออกมาเป็นเม็ดดาวไม่ได้มองเห็นเป็นแสงฟุ้งที่กลมสมมาตรดี

สีของท้องฟ้าในเลนส์ตาสว่างกว่าปกติและไม่ได้เนียนเสมอกัน เพราะพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยดาวคล้ายเม็ดทรายบนชายหาดอันกว้างใหญ่ แต่ดาวพวกนั้นจางเกินกว่าที่ตาของเราจะแยกภาพออกมาเป็นเม็ด จึงทำให้มองเห็นเป็นแสงสว่างจางเต็มพื้นที่

ระหว่าง NGC6520 และดาวสว่างแมกนิจูด 7 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หากสังเกตให้ดีจะเห็นพื้นที่สีเข้มแตกต่างจากจุดอื่น ออบเจคนี้เป็นกลุ่มกาซกับฝุ่นที่เย็นและทึบแสงเรียกกันว่า “Dark Nebula” หรือเนบูล่ามืด

ค้นพบโดย E.E.Barnard เนบูล่ามืดตัวนี้มีชื่อว่า Barnard 86 หรือ Inkspot เราจะเห็นเนบูล่ามืดได้ก็ต่อเมื่อมีเนบูล่ามืดอยู่ด้านหน้าบังวัตถุที่มีแสงในตัว

ผมคิดว่าเนบูล่ามืดหรือ Dark Nebula เป็นออบเจคที่ดูยากเพราะไวต่อมลภาวะทั้งหมอกควันและแสงที่เกินพอดีจากเมือง แม้ท้องฟ้าที่มืดระดับที่พอมองเห็นทางช้างเผือกอย่างบ้านหมี่ ก็ยังไม่ดีพอที่จะเห็น Dark Nebula ได้ง่าย

ดาวในกระจุก NGC6520 มีดาวสีฟ้าขาวจำนวนมากเป็นเครื่องหมายว่าเป็นกระจุกดาวอายุน้อย ปกติกระจุกดาวเกิดใหม่จะมีดาวราวสองถึงสามพันดวง แต่การศึกษาทำได้ยากเพราะอยู่ในบริเวณที่มีดาวหนาแน่น คาดว่าตัวกระจุกดาวมีอายุราว 150 ล้านปี และทั้ง NGC6520 และ B86 น่าจะห่างจากเราประมาณ 6000ปีแสง

ดาว γ Sgt มีชื่อในแผนที่ว่า Alnasl
คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Inkspot
Catalog number: Barnard86
Type: Dark Nebula
Constellation: Sagittarius
Apparent Size: 5’x3’
Distance: ~6000 ly
R.A. 18h 04m 11.46s
Dec. -27° 52’ 

Catalog number: NGC6520
Type: Star Cluster
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +7.6
Apparent Size: 2’
Distance: ~6000 ly
R.A. 18h 04m 37.47s
Dec. -27° 52’ 51.7”


อ้างอิง
Stephen O’mera, Hidden Treasure

SkySafari

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...