Monday 9 September 2019

Perseus constellation

เพอร์เซอุสและหัวของเมดูซ่า จากแผนที่ดาวยูราเนีย มิลเล่อร์, 1825 [ภาพจากวิกิ]

กลุ่มดาวหน้าหนาวที่คุ้นเคยกันดี มีนิทานซ่อนอยู่มากมาย บทความชุดนี้จะแนะนำกลุ่มดาวและออบเจคที่น่าสนใจที่ดูได้จากกล้องสองตาหรือตาเปล่าเป็นหลัก อาจจะมีบ้างที่ต้องดูจากกล้องดูดาวขนาดเล็ก ขอให้สนุกกับการเที่ยวชมท้องฟ้ายามราตรีครับ

ดวงดาวบนฟ้านั้นเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตของเราแล้วคล้ายว่าอยู่กับที่ไม่ได้ขยับไปไหน แต่เราผู้เฝ้ามองท้องฟ้าอยู่บนโลกที่กำลังหมุน จะเห็นดวงดาวบนฟ้าเคลื่อนที่ข้ามท้องฟ้าจากตะวันออกไปตะวันตกตลอดเวลา

นอกจากหมุนรอบตัวเองแล้ว โลกเรายังหมุนรอบดวงอาทิตย์อีกด้วย ทุกเย็นดาวฤกษ์ดวงเดียวกันเปลี่ยนตำแหน่งสูงจากขอบฟ้าตะวันออกมากขึ้นทุกวันทีละน้อย ทำให้แต่ละเดือนแต่ละฤดูในเวลาเดียวกันกลุ่มดาวบนท้องฟ้าจะแตกต่างกัน สำหรับผู้ที่เข้าใจ ดวงดาวและท้องฟ้าก็คือปฎิทินและนาฬิกาชั้นดี

กลุ่มดาวที่จดจำและบันทึกสืบทอดกันมายาวนานมักจะมีนิทานเคียงข้าง ต่างวัฒนธรรมต่างชนชาติชื่อตัวละครอาจต่างกันบ้าง กลุ่มดาวหน้าหนาวในชุดนิทานเพอร์เซอุสกลุ่มแรกที่จะแนะนำให้รู้จักเป็นพระเอกของเรื่องนั่นคือ “เพอร์เซอุส” เชื่อว่าเป็นที่รู้จักกันมาอย่างน้อย 2000-3000 ปี เป็นกลุ่มดาวเก่าแก่ที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ในอียิปต์โบราณกลุ่มดาวที่มีรูปร่างคล้ายคนมีสองขานี้คือเทพเจ้า Khem หรือ Khnum เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในเปอร์เซียคือพระมิถราของศาสนาผู้นับถือดวงอาทิตย์ ในไบเบิ้ลคือเดวิดกำลังหิ้วหัวของโกไลแอท หรือเป็นนักบุญจอร์จผู้ฆ่ามังกรในยุคกลาง สำหรับแขกมัวร์หมายถึงอัลมิราซกูล (Almirazgual) คนหิ้วหัวปีศาจ ฯลฯ ทั้งหมดถ้าไม่ใช่เทพเจ้าก็จะเป็นวีรบุรุษ

แต่เรื่องที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันเป็นของกรีก นั่นคือเรื่องของ “เพอร์เซอุส” ที่มีชื่อกลุ่มดาวเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องถึง 6 กลุ่มคือ เพอร์เซอุส เปกาซัส แอนดรอมีด้า ซีตัส คาสสิโอเปียและเซฟิอุส

กลุ่มดาวเพอร์เซอุสในหนังสือ The Book of Fixed Star โดยAbd al-Rahman al-Sufi ปี 964
อาจจะเป็นเป็นภาพ "อัลมิราชกูล" ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art 

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นที่ชายหาดของเกาะเซรีฟอสในทะเลอีเจียน

ลังไม้ขนาดใหญ่ลอยมาติดชายหาดที่เกาะเซรีฟอส ดิกเทสชายชาวประมงผู้ถือสันโดษเปิดออกดูพบว่าภายในมีหญิงสาวผิวพรรณงามเครื่องแต่งกายดูสูงศักดิ์กับทารกน้อยในอ้อมกอด ดิกเทสรับหญิงสาวกับทารกน้อยมาเป็นภรรยาและบุตร ทารกน้อยได้รับนามว่า “เพอร์เซอุส” ส่วนหญิงสาวนั้นมีชื่อว่า “ดาเน่”

เวลาผ่านไป โพลีเดกเทสกษัตริย์ผู้ครองเกาะเซรีฟอสและน้องชายของดิกเทส ต้องการตัวพี่สะใภ้ดาเน่มาเป็นชายา แต่เพอร์เซอุสที่ตอนนี้โตเป็นหนุ่มคอยขัดขวาง ราชาโพลีเดกเทสไม่สามารถจัดการเสี้ยนหนามอย่างเพอร์เซอุสได้ จึงออกอุบายให้เพอร์เซอุสไปนำหัวเมดูซ่ามาเป็นของกำนัล เพราะเชื่อว่าอย่างไรเพอร์เซอุสต้องจบชีวิตจากงานนี้แน่นอน

ความผิดพลาดของโพลีเดกเทสก็คือไม่ทราบว่าเพอร์เซอุสเป็นบุตรของเซอุสผู้เป็นใหญ่เหนือเทพทั้งปวง ความช่วยเหลือถูกส่งเข้ามา อธีน่ามอบโล่บรอนซ์ขัดเงาและให้คำแนะนำ ไฮเฟสเตสมอบดาบเพชรที่แกร่งกว่าโลหะใดๆ หมวกแห่งความมืดจากฮาเดสทำให้ล่องหนไม่มีใครมองเห็น และรองเท้าติดปีกช่วยให้บินได้จากเฮอร์เมส

เพอร์เซอุสไปพบแกรอี แม่มดแก่ อัปลักษณ์และตาบอด 3พี่น้องและเป็นพี่น้องกับกอร์กอนเช่นกัน ที่เชิงเขาแอทลาส ทั้ง 3 ผลัดกันใช้ลูกตาที่มีอยู่ลูกเดียวเพื่อให้มองเห็น เพอร์ซิอุสต้องแย่งลูกตาและขู่เพื่อให้บอกที่อยู่ของเมดูซ่าและพี่น้องกอร์กอนที่แม้แต่เทพยังไม่ทราบว่าพวกนางอยู่ที่ไหนแน่นอน

สามพี่น้องกอร์กอน “ยูไรอลี” “สธีโน” และ “เมดูซ่า” เป็นธิดาของเจ้าทะเลฟอซีสและซีโต มีรูปลักษณ์ที่น่ากลัว ผิวเป็นเกล็ดมังกร จมูกเหมือนหมูป่า แขนเป็นทองเหลืองและปีกเป็นทอง พี่น้องกอร์กอนหันไปมองใคร คนผู้นั้นจะกลายเป็นหิน

เมดูซ่าเป็นผู้เดียวที่มีหน้าเป็นสาวสวย มีผมเป็นงูแแต่ไม่มีชีวิตเป็นอมตะเหมือนพี่สาวอีกสองคน เล่ากันว่าในอดีตเมดูซ่าเกิดมาเป็นหญิงสาวที่มีความฉลาดเฉียวและมีความงามเป็นที่เลื่องลือ จนกระทั่งโดนโพเซดอนฉุดไปข่มขืนในวิหารของอธีน่า เป็นเหตุให้อธีน่าสาปให้นางมีรูปที่อัปลักษณ์เช่นนี้

เมื่อไปถึงที่อยู่ของพี่น้องกอร์กอน เพอร์ซิอุสอาศัยหมวกแห่งความมืดล่องหนหายตัวเดินตามเส้นทางที่มีรูปปั้นหินของคนที่แข็งเป็นหินไปด้านในของเกาะ รอจนกระทั่งเมดูซ่าหลับสนิท เพอร์ซิอุสเดินถอยหลังโดยอาศัยการมองจากภาพสะท้อนที่เห็นในโล่ขัดเงาเพื่อเลี่ยงการมองหน้าเมดูซ่าโดยตรง เมื่อถึงระยะก็ฟันคอนางด้วยดาบเพชร หัวเมดูซ่าขาดหล่นลงพื้นด้วยดาบเดียว


ซ้าย: เมดูซ่า - Caravaggio (1595) [ภาพจากวิกิ]
ขวา: เพอร์เซอุสกับหัวเมดูซ่า- Benvenulo Cellini (1554) [ภาพจากวิกิ] 

เพอร์เซอุสคว้าหัวเมดูซ่าใส่ถุงหนัง พร้อมกับมองเห็นม้าเปกาซัสและนักรบไครเซเออร์พุ่งออกมาจากคอของเมดูซ่า ทั้งคู่เป็นบุตรของนางกับโพเซดอนตั้งแต่ครั้งที่โดนข่มขืน เพอร์เซอุสรีบบินกลับไปก่อนที่พี่น้องกอร์กอนอีกสองคนจะตื่นขึ้นมา ระหว่างทางกลับ เพอร์เซอุสผ่านเอธิโอเปีย ต้องช่วยแอนดรอมีด้าที่โดนตรึงด้วยโซ่ที่หน้าผาริมทะเลจากคมเขี้ยวของอสูรร้ายจากท้องทะเลซีตัส ตอนนี้จะขอแยกไปเล่าในเรื่องแอนดรอมีด้า

เมื่อกลับไปถึงเกาะเซรีฟอส เพอร์เซอุสชูหัวของเมดูซ่าเป็นอาวุธจัดการกษัตริย์โพลีเดกเทสและกองทหารที่ไล่ล่าตน แม่และพ่อบุญธรรมให้กลายเป็นหิน สถาปนาดิกเทสพ่อบุญธรรมของตนขึ้นเป็นกษัตริย์ ส่วนหัวของเมดูซ่า อธีน่าได้ฝังลงไปในโล่ของตน และกลายเป็นเครื่องรางใช้ป้องกันภูตผีปีศาจสืบต่อกันมา

ดาเน่หญิงผู้เป็นแม่ของเพอร์เซอุสนี้แท้จริงคือเจ้าหญิงดาเน่ราชธิดาของกษัตริย์อครีซิอัสแห่งอาร์กอส ราชาอครีซิอัสได้รับคำนายว่าจะถูกหลายชายคนโตปลงพระชนม์ จึงได้คุมขังเจ้าหญิงดาเน่ไว้ในคุกใต้ดินพร้อมกองกำลังอารักขาแน่นหนา เพื่อกันไม่ให้มีชายคนใดเข้าไปหานางได้ แต่ไม่ว่าแน่นหนาแค่ไหนก็หยุดราชาแห่งเทพอย่างซุสที่ลักลอบเข้าไปในรูปสายฝนสีทองไม่ได้

เมื่อราชาอครีซิอัสพบว่าดาเน่คลอดทารกชายออกมา จึงได้จับใส่หีบไม้ขนาดใหญ่ปล่อยออกไปลอยทะเล แล้วก็ไปติดที่ชายหาดเกาะเซรีฟอสที่เล่ามาเมื่อต้นเรื่อง และสุดท้ายในการแข่งขันกรีฑา พระราชาอครีซิอัสโดนจักรของเพอร์เซอุสที่กระเด็นผิดทิศทางระหว่างทอดพระเนตรการแข่งขันถึงแก่ความตาย คำทำนายกลายเป็นจริงฉะนี้

กลุ่มดาวเพอร์เซอุส

กลับมาที่ท้องฟ้า กลุ่มดาวเพอร์เซอุสอยู่บนทางช้างเผือกในซีกฟ้าเหนือ มองเห็นได้ตลอดหน้าหนาวเวลาหัวค่ำ มือข้างหนึ่งหิ้วหัวเมดูซ่า อีกข้างหนึ่งถือดาบชูขึ้นเหนือหัว สังเกตได้ง่ายเพราะตามหลังกลุ่มดาวคาสสิโอเปียและนำหน้าสารถี

กลุ่มดาวเพอร์ซิอุส จาก IAU 

ใจกลางกลุ่มดาว มีดาวสว่าง มีค่าความสว่างแมกนิจูดที่ 2 เป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่ม มองเห็นได้จากชานเมืองใหญ่ เรียกชื่อตามระบบของเบเยอร์ว่า “อัลฟ่า เปอร์เซอิด” ชื่อสามัญคือ “เมอร์เฟค” (Mirfek) หรือตามแผนที่ดาวเก่าบางฉบับจะเรียกว่า “อัลเจนิบ” (Algenib) คำว่าเมอร์เฟคมาจากภาษาอาหรับหมายถึง “ข้อศอก”

เมอร์เฟคอยู่ห่างออกไป 590 ปีแสง สเปคตรัม F5 lb Supergiant อุณหภูมิที่พื้นผิว 6180 องศาเคลวิน ทำให้มีสีขาวอมเหลือง มีความสว่าง 5000 เท่าของดวงอาทิตย์ และมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 62 เท่า
เมอร์เฟคเป็นดาวที่อยู่ในกระจุกดาวขนาดใหญ่ “เมลล๊อตเต้ 20” เป็นกระจุกดาวเปิดที่ห่างออกไป 575 ปีแสง เมลล๊อตเต้ 20 มองเห็นด้วยตาเปล่าและจะสวยที่สุดเมื่อดูด้วยกล้องสองตาเพราะมองเห็นดาวดวงเล็กจำนวนมากรอบดาวเมอร์เฟค 

เบต้า เปอร์เซอิดหรือ “อัลกอล” (Algol) ดาวสว่างลำดับที่สองในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส แต่เป็นดาวที่มีคนรู้จักมากที่สุดดวงหนึ่ง มีความสว่าง 2.1 แมกนิจูด สเปคตรัม B8V เป็นดาวลำดับหลัก อุณหภูมิพื้นผิว 11400 องศาเคลวิน มองเห็นเป็นสีขาว ไกลจากโลก 90 ปีแสง เป็นดาวคู่คราสที่รู้จักกันมากที่สุด และใกล้โลกที่สุด

ชื่ออัลกอลมาจากภาษาอาหรับหมายถึง “หัวปีศาจ”​ บริเวณดาวดวงนี้มีดาวเรียงเป็นหัวเมดูซ่ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูเด่นอยู่ 4 ดวง หากใช้กล้องสองตาจะชัดเจนขึ้น โดยอัลกอลเป็นตาข้างหนึ่งของนาง บางพื้นที่จะเรียกชื่อดาวดวงนี้ต่างออกไป และทั้งหมดจะเป็นตัวแทนสิ่งที่ไม่ดี เช่น “หัวกอร์กอน” “หัวซาตาน” “หัวผี” มีการเชื่อมโยงดาวดวงนี้กับลิลิธภรรยาคนแรกของอดัม แม้กระทั่งดาราศาสตร์จีนโบราณยังเรียกดาวดวงนี้ว่า “กองซากศพ”

ภาพจำลองเมื่อดูดาวอัลกอลด้วยกล้องสองตาขนาด 8x40
หัวเมดูซ่าเป็นดาวเรียงรูปสี่เหลี่ยมคางหมู

เหตุที่ดาวดวงนี้ถูกมองเป็นสิ่งชั่วร้ายอาจเป็นเพราะดาวดวงนี้บางวันก็สว่างบางวันก็หรี่แสง เชื่อว่าข้อสังเกตนี้มีมาตั้งแต่ยุคอาหรับหรือยุคกลาง แต่คนแรกที่บันทึกเรื่องการแปรแสงของดาวอัลกอลคือเจมิเนียโอ มอนทานาริ เมื่อปี 1667 และตรวจวัดคาบของความสว่างได้คนแรกคือ จอร์น กู๊ดริคเมื่อปี 1782
อัลกอลเป็นดาวดวงแรกที่เราทราบว่าเป็นดาวคู่คราส ทุก 2วัน 20ชั่วโมง 49นาที ความสว่างจะลดลงจาก 2.1 เหลือ 3.4 จะเกิดคราสราว 10 ชั่วโมงก็จะสว่างขึ้นอีกครั้ง นับเป็นดาวดวงหนึ่งที่น่าสนใจมากดวงหนึ่ง

เรียงจากซ้ายไปขวาดับเบิ้ลคลัสเตอร์ แมสซายเออร์34 แมสซายเออร์76
ภาพวาดจากที่มองเห็นจริงด้วยกล้องดูดาวโดยผู้เขียน

ดีพสกายออบเจ็คที่น่าสนใจในกลุ่มดาวเพอร์เซอุสมีหลายตัวอย่างเช่น กระจุกดาวคู่แฝด ดับเบิ้ลคลัสเตอร์ (NGC869, NGC884) อยู่ระหว่าง กลุ่มดาวเพอร์ซิอุสและคาสสืโอเปีย ประมาณครึ่งทางจากดาวอัลกอลไปที่ดาวอัลมัคในกลุ่มดาวแอนดรอมีด้า จะมีกระจุกดาวเปิดอีกตัวคือแมสซายเออร์ 34 ทั้งเอ็ม 34 และ ดับเบิ้ลคลัสเตอร์ สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเหมาะสำหรับดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องดูาวขนาดเล็ก

แมสซายเออร์ 76 หรือ Little Dumbel เป็นเนบูล่าดาวเคราะห์มีรูปร่างคล้ายดัมเบลหรือเมล็ดถั่ว อยู่บริเวณเขตติดต่อเพอร์เซอุสกับแอนดรอมีด้า ห่างจากดาวสว่างแมกนิจูด 4 ชื่อ ฟี เพอร์เซอิด (φ Perseid) ราว 1 องศาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ดูได้จากกล้องดูดาว

NGC1499 แคลิฟอร์เนียเนบูล่า เป็นเนบูล่าขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเนบูล่าที่ยากจะมองเห็นเพราะความสว่างต่และมีขนาดใหญ่กว่ามุมมองของกล้องดูดาวขนาดใหญ่ แต่เป็นออบเจคยอดนิยมของนักถ่ายรูป อยู่บริเวณขาของเพอร์เซอุส

คาลิฟอร์เนียเนบูล่าโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธ์

อ้างอิง
http://kindredsubjects.blogspot.com/2013/02/kitab-suwar-al-kawakib-al-thabita-book.html
http://www.ianridpath.com/startales/perseus.htm
Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari Software

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...