Monday, 2 March 2020

Ikeya-Seiki, The Great Comet of 1965






“ชาวบ้านบางคนเรียกว่าดาวไม้กวาด เพราะมีด้ามยาวและปลายบานหน่อยๆ...หลังจากนั้นไม่เห็นว่ามีดาวหางดวงไหนเป็นดาวหางอีกเลย แม้แต่ฮัลเลย์ก็ยังผิดหวัง”


คุณภูมิภาค เส็งสายเล่าให้ผมฟังในค่ำคืนหนึ่งที่ไร่เขาน้อยสุวณา ใกล้เขาใหญ่ แม้เวลาผ่านมา 55 ปีแต่ดาวหางอิเคยะ-เซกิยังชัดเจนในความทรงจำ

ดาวหางอิเคยะเซกิเป็นดาวหางคาบยาว 877 ปี ค้นพบโดยชาวญี่ปุ่นสองคนคือคาโอรุ อิเคยะและซึโตมิเซกิในเช้าวันที่ 18 กันยายน 1965 และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1965 เป็นดาวหางในกลุ่มที่เรียกว่า Sun-Grazing Comet

Sun grazing Comet เป็นดาวหางประเภทที่โคจรเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากจนน้ำแข็งและฝุ่นบนก้อนดาวหางโดนเป่าออกมาสว่างเป็นเป็นทางยาว ดาวหางกลุ่มนี้หลายดวงจะสลายแตกตัวไปเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เพราะทนแรงเค้นไม่ไหว มีไม่มากที่สามารถรอดออกไปได้ เพราะเหตุนี้ดาวหางสว่างเด่นมีหางยาวในอดีตเกือบทั้งหมดจะอยู่ในกลุ่มนี้

85%ของ Sungrazing comet จะวิ่งอยู่บนวงโคจรเดียวกัน เราเรียกดาวหางกลุ่มนี้ว่า Kreutz Sungrazers นักดาราศาสตร์คาดว่าในอดีตมีดาวหางขนาดใหญ่ดวงหนึ่งผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์แล้วแตกตัวออกเป็นก้อนดาวหางขนาดเล็กจำนวนมาก

“คืนนั้นอากาศร้อนผมออกมานอนที่ระเบียงบ้านทางทิศตะวันออก แม่ผมปลุกให้ตื่นมาดูดาวเห็นว่ามันสวยดี เป็นครั้งแรกที่รู้จักดาวหาง สว่างมาก หัวดาวหางอยู่ใกล้ขอบฟ้า หางยาวชี้ขึ้นไปบนฟ้าเกือบ 45 องศา ด้านบนส่วนปลายโค้งไปทางทิศเหนือหน่อยๆ” คุณภูมิภาคเล่าให้ฟัง

คุณภูมิภาคจำไม่ได้แน่ว่าเดือนอะไร แต่ผมคาดว่าน่าจะเป็นราวกลางเดือนถึงปลายเดือนตุลาคม 2508 เพราะอิเคยะเซกิเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือ 21 ตุลาคม แรกที่เห็นดาวหางจะอยู่สูงแล้วค่อยๆต่ำลงไปทางขอบฟ้าตามวันเวลาที่ผ่านไป

“มองเห็นอยู่เป็นเดือนๆด้วยตาเปล่า นานไปหัวหายไปแล้ว เหลือแต่หางที่ยังโผล่ให้เห็นจากขอบฟ้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น...” ผมเปิดแผนที่ดาวให้ย้อนเวลากลับไปพบว่า ทางทิศตะวันออกเวลานั้นมีกลุ่มดาวสิงโตขึ้นจากขอบฟ้าตามมาด้วยโคม่าเบเรนิซ หากได้เห็นด้วยตาตัวเองคงจะประทับอยู่ในใจเหมือนกับคุณภูมิภาคแน่นอน

เมื่อไหร่ถึงจะมี “The Great Comet” เช่นนี้กลับมาอีก เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบครับ



คุณภูมิภาค เป็นผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป Deep Sky Object
และเป็นคนไทยคนแรกที่ถ่ายรูปแมสซายเออร์ออบเจคครบทั้ง 110 ตัว


No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...