Thursday 3 October 2019

The Demon star : Algol

อัลกอลขณะความสว่างปกติ
ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธุ์

มีดาวอยู่ดวงหนึ่งบนฟ้าที่เดี๋ยวหรี่เดี๋ยวสว่าง นักดาราศาสตร์ช่างสังเกตมองเห็นการเปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีแล้ว ดาวดวงนั้นคืออัลกอล - Algol ตาข้างขวาของหัวเมดูซ่าที่อยู่ในมือของเพอร์เซอุสบนฟากฟ้า

อัลกอลหรือเบต้าเพอร์เซอิ (β Persei) ดาวสว่างอันดับสองในกลุ่มดาวเพอร์เซอุสเป็นดาวแปรแสงชนิดคู่คราส การแปรแสงของดาวเกิดจากดาวในระบบดาวคู่เข้าคราสหรือบังซึ่งกันและกัน มีค่าความสว่างในเวลาปกติ 2.1 แมกนิจูดและ 3.4 แมกนิจูดเวลาเกิดคราส คาบการเกิดคราสทุก 2.87 วัน นับเป็นการเกิดคราสที่ไกลมากคือ 93 ปีแสง แถมยังมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

อัลกอลเป็นระบบดาว 3 ดวง ดาวหลักคือ Algol A ดาวสว่าง สีฟ้า-ขาว ส่วนคู่คือ Algol B สีส้มแดง จางกว่า A แต่มีขนาดใหญ่กว่า ดวงสุดท้าย Alcol C จางกว่ามาก มีสีขาว โคจรรอบคู่ AB อีกทีมีคาบการโคจร 1.86ปี

Algol B โคจรรอบ Allgol A ทุก 2 วัน 20 ชั่วโมง 49 นาที และคราสจะเกิดทั้งแบบ B บัง A และ A บัง B คราสหลักจาก B บัง A ความสว่างของอัลกอลจะลดลงเหลือ 3.4 แมกนิจูด คราสรองที่เกิดจาก A บัง B ความสว่างจะลดลงเล็กน้อยแค่ 1/10 แมกนิจูด


อัลกอล เอ ดวงสีเหลือง อัลกอล บี จางกว่าโคจรรอบอัลกอลเ อ
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada
กราฟความสว่าง A B C คือตำแหน่งของอัลกอล บี
คราสหลักกินเวลาราว 10 ชั่วโมง
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada

คราสหลักของอัลกอลแต่ละครั้งกินเวลาราว 10 ชั่วโมง ขาเข้า 5 ชั่วโมง ขาออก 5 ชั่วโมง การดูอัลกอล Bob King คอลัมนิสต์ Sky & Telescope แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเฝ้าดูตลอด 10 ชั่วโมง เพราะช่วงแรกความสว่างจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ช่วง 2 ชั่วโมงก่อนและหลังเวลาเข้าคราสเต็มดวง ความสว่างของอัลกอลเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ทำให้เราสามารถสังเกตความสว่างที่ใกล้กับจุดต่ำสุดได้โดยไม่ต้องรอนาน แต่หากเราพอมีเวลาผมว่ารอดูดีกว่า


ตารางวันและเวลา 2019 Algol Minima สำหรับไทย
Cr: Algol Minima site, Sky and Telescope Magazine

แผนที่อัลกอล พร้อมดาวสำหรับเปรียบเทียบความสว่าง
[คลิกภาพเพื่อขยาย]
จากนั้นก็เลือกวัน เวลาจากตาราง การสังเกตไม่ว่าด้วยตาเปล่า กล้องสองตา หรือกล้องดูดาว ควรจดบันทึกค่าความสว่างโดยเปรียบเทียบกับดาวดวงอื่นที่ใกล้เคียงเป็นจุดอ้างอิง อีกสองสามชั่วโมงค่อยมาดูความเปลี่ยนแปลง ดาวใกล้เคียงที่ใช้เปรียบเทียบได้ก็มีดาว Almach สว่าง 2.1, ρ (rho) Persei สว่าง 3.4, ε (epsilon) Persei 2.9, κ (kappa) Persei 3.8 ดูจากในแผนที่ครับ

คำว่า Algol มาจากภาษาอารบิก “Al Ra’s Al Ghul” แปลว่า “หัวปีศาจ” ในหนังสือ Celestial Handbook บอกไว้อีกหลายชื่อจากหลายอารยธรรม เช่น Caput Gorgonis - หัวกอร์กอน(หมายถึงเมดูซ่าและพี่น้อง), Rohn ha Satan -หัวซาตาน, Caput Lavae -หัวผี แม้กระทั่งเชื่อมโยงกับ “Lilith” ลิลิธภรรยาคนแรกของอดัมที่กลายเป็นปีศาจภายหลัง

คนในยุคก่อนมองดาวดวงนี้เป็นอันตรายคาดการณ์ไม่ได้เหมือนสิ่งชั่วร้าย คงเพราะดาวดวงนี้เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างอันเนื่องมาจากธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ล่าสุดมีคนพบสมุดปาริรัสอายุ 3200ปี ในยุคอียิปต์โบราณที่มีข้อมูลการแปรแสงของอัลกอลโดยระบุว่าคาบการแปรแสงคือ 2.85 วัน แปลว่ามนุษย์เราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัลกอลมานานแล้ว


ภาพอัลกอลแสดงความแตกต่างของความสว่าง
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada
แต่ผู้ที่พบว่าดาวดวงนี้เป็นดาวแปรแสงอย่างเป็นทางการตอนนี้คือมินิอาโน่ มอนทานารี่เมื่อปี 1667 และอีก115 ปีต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 1782 จอห์น กู๊ดริคที่ขณะนั้นมีอายุได้ 18ปี เป็นคนแรกที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของอัลกอล และนำเสนอคาบการสว่างคือ 2 วัน 20 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งใกล้เคียงกับการคำนวณในยุคปัจจุบันมาก

กู๊ดริคได้บันทึกความประทับใจไว้ในสมุดบันทึกว่า

“คืนนี้ผมดูเบต้าเพอร์เซอิ(อัลกอล) ประหลาดใจมากที่เห็นความสว่างของมันเปลี่ยนแปลง ผมตั้งใจสังเกตราวหนึ่งชั่วโมง ผมไม่อยากเชื่อว่ามองเห็นความสว่างของดาวที่เปลี่ยนไป เพราะผมไม่เคยได้ยินว่ามีดาวที่มีความสว่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างนี้มาก่อน”

อยากตามรอยและสัมผัสความรู้สึกเดียวกับจอห์น กู๊ดริคกันหรือเปล่า?
ดาวปีศาจรออยู่ครับ

อ่านเรื่องกลุ่มดาวเพอร์เซอุสเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://tsg2018.blogspot.com/2019/09/perseus-constellation.html


อ้างอิง
http://www.sci-news.com/astronomy/papyrus-cairo-calendar-astrophysical-information-variable-star-algol-03533.html
https://calgary.rasc.ca/algol_minima.htm
https://www.skyandtelescope.com/astronomy-blogs/behold-algol-star-secret/
https://www.facebook.com/groups/astroforfun/permalink/1410537989098335?sfns=mo

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...