Thursday 17 October 2019

Messier 11 : Wild duck cluster




บ้านเราอยู่ในเขตร้อนชื้น การชื่นชมทางช้างเผือกช่วงปลายฤดูฝนอย่างเดือนกันยายนถือเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ปีนี้โชคดีที่มีจังหวะท้องฟ้าเปิด แถมใกล้เดือนมืดไร้แสงจันทร์กวน 

ในกลุ่มดาวโล่หรือสคูตัมที่วางอยู่บนทางช้างเผือกติดกับกลุ่มดาวคนยิงธนูทางทิศเหนือ มีกระจุกดาวกระทัดรัดที่อัดแน่นไปด้วยดาวตัวหนึ่งคือแมสซายเออร์ 11 มีชื่อเรียกกันว่ากระจุกดาวเป็ดป่า (Wild Duck Cluster) ที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะมีดาวในกระจุกเรียงตัวเป็นตัวอักษร “V” เหมือนฝูงบินของเป็ดป่าหรือห่านป่าอพยพ ผู้ที่ตั้งชื่อคือนายพลเรือนักดาราศาสตร์แห่งราชนาวีอังกฤษ “วิลเลี่ยม สมิธ”

การมองหาเอ็ม11โดยอาศัยกลุ่มดาวนกอินทรีจะง่ายกว่า เพราะกลุ่มดาวโล่ค่อนข้างจาง เราจะเริ่มต้นที่ดาวที่เป็นหางนกอินทรีหรือแลมด้าอควิเล (λ Aquilae) ในฟิลด์กล้องสองตาจะเห็นดาวสว่างอีกสองดวงคือ ไอ อควิเล (i Aql) และอีต้าสคูติ ( η Sct)ทั้งสามดวงเรียงเป็นเส้นโค้ง ชี้ไปที่เอ็ม 11

ภาพในกล้องสองตากระจุกดาวเอ็ม 11 จะเป็นปื้นกลมเหมือนกระจุกดาวทรงกลม เมื่อย้ายมาที่กล้องดูดาวกำลังขยายปานกลางความงามจะถูกเผยออกมา จุดแสงละเอียดจำนวนมากเกาะตัวหนาแน่นเป็นรูปพัด ส่องประกายระยิบระยับคล้ายเกร็ดแก้วใต้ท้องทะเล

ในกระจุกดาวมีดาวสว่างสีแดงส้มโดดเด่น ทำหน้าที่คล้ายจ่าจูงเป็ดป่าท่ามกลางดาวที่จางและเล็กนับร้อย เมื่อใช้วิธีมองเหลือบจะเริ่มเห็นดาวเล็กๆจางๆเรียงตัวเป็นแนวอยู่ทางด้านแหลมของพัดเป็นตัววี ดาวดวงเล็กและจางกลุ่มนี้เองคือที่มาของชื่อเป็ดป่า เราจะมองเห็นชัดเจนเมื่อเพิ่มกำลังขยายให้สูงขึ้น

ยังมีแถบมืดที่วางอยู่ทางเหนือของดาวประธานไล่ไปทางตะวันตก ภาพที่กำลังขยายสูงกระจุกดาวจะฟิตพอดีกับฟิลด์ มองเห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้นแต่จะไม่ได้ความรู้สึกระยิบระยับเหมือนกำลังขยายปานกลาง

เอ็ม 11 ค้นพบโดยนัก ดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ก็อตฟรี่ย์ เคริชในปี 1681 ในปี 1733 วิลเลียม เดอร์แฮมได้ระบุว่าเป็นกระจุกดาวดาว และชาร์ล แมสซายเออร์เพิ่มเข้าไปในแคตตาล็อกของเขาในปี 1764 

ในกระจุกมีสมาชิกราว 3000 ดวง ในจำนวนนี้มี 500 ดวงที่สว่างกว่าแมกนิจูดที่ 14 มีขนาดปรากฎประมาณหนึ่งในสามของพระจันทร์เต็มดวง เป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่หนาแน่นและขนาดกระทัดรัดที่สุดตัวหนึ่ง จนทำให้ดูคล้ายเป็นกระจุกดาวทรงกลม

RJ Trumpler เคยคำนวณว่าถ้าโลกเราอยู่ในใจกลางกระจุกดาวเอ็ม 11 บนท้องฟ้าจะมีดาวสว่าง แมกนิจูดที่หนึ่งราว 200 ถึง 300 ดวงและอาจจะมีราว 40 ดวงหรือมากกว่าที่มีความสว่างตั้งแต่ 4 ถึง 50 เท่าของดาวซิริอุส! ท้องฟ้าแบบนั้นคงสว่างไสวน่าดู

ใครที่มีกล้องดูดาวแล้วไม่ได้ดูกระจุกดาวตัวนี้ถือว่าพลาดอย่างยิ่ง เอ็มสิบเอ็ดเป็นอัญมณีหรูหราราคาแพงบนทางช้างเผือกอีกตัวครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Wild duck cluster
Catalog number: Messier11, NGC6705
Type: Star Cluster
Constellation: ScutumVisual Magnitude: +5.8
Apparent Size: 32’
Distance: 6100 ly
R.A. 18h 52m 07.42s
Dec. -06° 14’ 31.8”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
Phillip Harrington, Cosmic Challenge
SkySafari
http://www.deepskywatch.com/Astrosketches/Wild-duck-cluster-M-11-sketch.html
Messier 11 sketch @ 111x http://www.asod.info/?p=7886

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...