Thursday 19 December 2019

NGC2264 : Christmas Tree Cluster




บนทางช้างเผือกจางๆระหว่างเท้าของพอลลักซ์หรือดาวซาย เจอมิโนรุมกับเขายูนิคอร์นหรือดาว 13 โมโนเซโรติส มีกระจุกดาวที่สว่างจนมองเห็นด้วยตาเปล่า ด้วยกล้องสองตาจะพบว่ามีรูปร่างเหมือนต้นคริสต์มาสหรือหัวลูกศร นี่คือกระจุกดาว NGC2264 หรือ Christmas tree cluster ค้นพบโดยวิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์เมื่อปี 1784

ในยุคปัจจุบันพบว่า NGC2264 มีทั้งกระจุกดาวขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่ากระจุกดาวต้นคริสต์มาส มีเนบูล่าขนจิ้งจอกหรือ Fox Fur และเนบูล่ารูปกรวยที่มีชื่อเสียง Cone Nebula เนบูล่ามืดรูปกรวยอยู่บนยอดของต้นคริสต์มาสพอดี วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์บันทึกไว้ในปี 1785 เมื่อกลับมาสังเกต NGC2264 อีกครั้ง พบว่ามีเนบูล่าจางมากสีน้ำนม

ผมเคยดูผ่านกล้องดูดาวหักเหแสง 5" TOA130 ตัวเนบูล่าต้องใช้ฟิลเตอร์ UHC เป็นตัวช่วยและมองเห็นแค่แสงฟุ้งรอบดาวแบบในภาพสเก็ตช์ แต่ก็เป็นไปได้ว่าหากกล้องดูดาวตัวใหญ่พอและท้องฟ้่าเป็นใจ เราอาจมองเห็นทั้ง Fox Fur และ Cone ได้ด้วยกล้องดูดาวขนาด 13 นิ้วและฟิลเตอร์ UHC เหมือนรายงานบนเวบไซด์ Cloudynight (คลิก)

ในการศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดพบว่า NGC2264 เป็นแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์จำนวนมาก ภาพจากกล้องสปริตเซอร์พบกระจุกดาวเกิดใหม่รูปวงล้อซ่อนอยู่หลังฝุ่นและเนบูล่าใกล้บริเวณยอดโคน กระจุกดาวตัวนี้มีชื่อเรียกว่า Snowflake Cluster

Christmas tree ห่างจากโลกออกไปราว 2500 ปีแสง มีอายุแค่ 3-30 ล้านปี น้อยกว่าโลกที่ 4,500ล้านปีมาก 


ภาพถ่าย NGC2264 เทียบกับภาพสเก็ทช์ที่เราจะมองเห็นจากกล้องดูดาว
ในภาพถ่ายจะเห็นเนบูล่าฟุ้งกระจายทั่ว โคนเนบูล่าจะอยู่ด้านบน ส่วน Fox fur จะอยู่ทางซ้ายมือ
ของดาวสว่างชื่อ 15 Monocerotis ด้านล่างของภาพ ตัวกระจุกดาวมองเห็นเป็นต้นคริสต์มาสจาก
กล้องสองตาหรือกล้องดูดาวง่ายกว่า, ภาพถ่ายโดยกีรติ คำคงอยู่ ภาพสเก็ทช์โดยผู้เขียน

NGC2264 ในช่วงคลื่นอินฟราเรดโดยกล้อง Spitzer, Cr: NASA/JPL-Caltech via Wikipedia
ดาวสว่างในภาพคือดาว 15 Monocerotis กระจุกดาว Snowflake อยู่รอบดาวสว่างใกล้กลางภาพ
เทียบกับภาพช่วงแสงปกติคือบริเวณเนบูล่าสีฟ้า จะเห็นว่ากระจุกดาวโดนเนบูล่าบังไว้เกือบทั้งหมด

คลิกภาพเพื่อขยาย



Name: Christmas TreeClusterCatalog number: NGC2264
Type: Star cluster with Nebula
Constellation: Monoceros
Visual Magnitude: +3.9
Apparent Size: 60’x30’
Distance: 2500 ly
R.A. 06h 42m 11.14s
Dec. +09° 51’ 47.2”

อ้างอิง

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...