Thursday 31 October 2019

Messier 57 : Ring Nebula



ภาพเสก็ทช์เอ็ม 57 เนบูล่าวงแหวนโดยผู้เขียน


“Among the curiosities of the heaven….
a nebula that has a regular concentric dark spot in the middle…
and is probably a ring of stars.”

“ ท่ามกลางสิ่งมหัศจรรย์ของสวรรค์….
เนบิวลาที่มีจุดมืดเป็นศูนย์กลางอยู่ตรงกลาง...
และอาจเป็นแหวนของดวงดาว”

-Sir William Herschel

ดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงดวงอาทิตย์ของเรา เมื่อแกนกลางใช้เชื้อเพลิงหมดจนไม่สามารถจุดปฎิกริยานิวเคลียร์ต่อไปได้ ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตขนาดของดาวจะขยายออกจนเกินกำลังที่ดาวจะยึดไว้ ผิวดาวและเนื้อสสารจะหลุดออกไปในอวกาศอันเวิ้งว้าง ทิ้งไว้แต่แกนคาร์บอนตรงกลางที่เรียกว่าดาวแคระขาว

ผิวดาวและสสารที่หลุดออกมานี้เรียกว่าเนบูล่าดาวเคราะห์หรือ Planetary Nebula ที่ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์แม้แต่น้อย ที่ได้ชื่อแบบนี้เพราะภาพที่เห็นจากกล้องดูดาวมักจะเป็นฝ้ากลมขนาดราวดาวเคราะห์ ในระยะแรกฟองกาซเนบูล่ายังเรืองแสงอยู่และจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนเย็นลงและจางหายไปในที่สุด

เอ็ม 57 หรือเนบูล่าวงแหวนเป็นตัวอย่างที่ดีของเนบูล่าดาวเคราะห์และมักเป็นออบเจคแรกๆที่นักดูดาวมือใหม่มองหา คนแรกที่พบเป็นนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Antonio Darquier ด้วยกล้องดูดาวขนาด 3 นิ้วในปี 1779 ก่อนหน้าแมสซายเออร์เพียงไม่กี่วัน วิลเลี่ยม เฮอเชลล์เป็นคนแรกที่มองเห็นเป็นวงแหวน

เนบูล่าวงแหวนอยู่ราวครึ่งทางจากดาวเบต้าไปแกมม่าไลเรในกลุ่มดาวพิณ ทั้งคู่เป็นดาวที่สว่างทำให้หาไม่ยาก กล้องดูดาวขนาด 3-4 นิ้ว ที่กำลังขยายต่ำจะมองเห็นเหมือนดาวที่ไม่ได้โฟกัส หากเพิ่มกำลังขยายจะเริ่มเห็นวงแหวนสีเทาขนาดจิ๋วที่สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนที่เห็น สำหรับกล้องสองตาถือว่าเป็น Challage object

ปลายกันยายนผมมีจังหวะได้ดูเอ็ม 57 อีกครั้งหลังในรอบหลายปี ฟ้ามีเมฆมาจากทางทิศใต้มีฟ้าแลบให้เห็นเป็นระยะ ตรงกลุ่มดาวพิณฟ้ายังเปิดอยู่ ผมมองไม่เห็นสัญญาณของเอ็ม 57 ในกล้องเล็ง ภาพจากกล้องดูดาวขนาด 8” ที่กำลังขยายต่ำเอ็ม 57 เหมือนดาวที่โฟกัสไม่ชัด

เมื่อเปลี่ยนกำลังขยายเป็น 133 เท่า เอ็ม 57 สว่างเด่นท่ามกลางหมู่ดาว เป็นวงรีที่มีขอบหนาและสว่างกว่าพื้นที่ตรงกลาง ขอบที่หนานั้นจะเปิดปลายทั้งสองข้าง ฝั่งทางเหนือจะสว่างกว่า สิ่งที่แปลกใจคือตัวเนบูล่ามีสีเทาอมเขียวนิดหน่อย ต่างกับสีขาวของดาวใกล้เคียง ได้ลองกรอกตาและขยับกล้องหลายครั้งก็ยังมองเห็นเป็นสีเทาอมเขียวเหมือนเดิม

มีบางจังหวะที่มองเห็น Central Star ด้วยการมองเหลือบ แต่ผมไม่ยืนยันว่าเป็น Central Star ของเอ็ม 57 ที่สว่างราวแมกนิจูด 15 อีกทั้งเป็น Challanging และเป็นที่ถกเถียงตามเวบบอร์ดต่างๆ ผมก็ไม่คิดว่าจะมองเห็นได้จากกล้องดูดาวตัวที่ใช้อยู่

แต่ว่าคืนนั้นผมยังสามารถเห็นสีของเนบูล่า ก็เป็นไปได้ว่า Central Star นั้นอาจจะมองเห็นจริงก็เป็นไปได้


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Ring Nebula
Catalog number: Messier57, NGC6720
Type: Planetary Nebula
Constellation: LyraVisual Magnitude: +8.8
Apparent Size: 1.4’x1.1’
Distance: 2300 ly
R.A. 18h 54m 18.95s
Dec. -33° 03’ 12.4”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
วิภู รุจิโรปการ, เอกภพ

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...