ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์
ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล
คนยิงธนู เอ สตาร์(Sagittarius A*; Sgr A*) ของทางช้างเผือก
เมื่อตรวจสอบผ่านแสงโพลาไรซ์เป็นครั้งแรก
ภาพหลุมดำในใจกลางทางช้างเผือกได้เผยให้เห็นโครงสร้างสนามแม่เหล็กที่ดูคล้ายกับสนามแม่เหล็กของหลุมดำที่ใจกลางกาแลคซี
M87 อย่างมาก
ซึ่งบอกว่าสนามแม่เหล็กที่รุนแรงอาจจะเป็นเรื่องปกติสำหรับหลุมดำทุกแห่ง
ความคล้ายคลึงนี้ยังบอกใบ้ถึงไอพ่นที่ซ่อนอยู่ใน Sgr A* ด้วย ผลสรุปเผยแพร่ใน Astrophysical
Journal Letters
ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยภาพแรกของ Sgr A*
ซึ่งอยู่ห่างจากโลกออกไปราว 27000
ปีแสง
ได้เผยให้เห็นว่าในขณะที่หลุมดำมวลมหาศาลของทางช้างเผือกมีขนาดเล็กและมวลน้อยกว่าหลุมดำของ
M87 พันกว่าเท่า
แต่พวกมันก็ยังดูคล้ายกันอยู่ นี่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องฉงนว่าหลุมดำทั้งสองยังมีความคล้ายอื่นนอกเหนือจากลักษณะปรากฏที่ได้เห็นหรือไม่
เพื่อหาคำตอบ ทีมตัดสินใจศึกษา Sgr
A* ในแสงโพลาไรซ์(polarized
light; แสงซึ่งเดินทางในทิศทางเดียว)
การศึกษาแสงโพลาไรซ์รอบ M87* ก่อนหน้านี้ได้เผยให้เห็นถึงสนามแม่เหล็กรอบหลุมดำยักษ์แห่งนี้
ซึ่งช่วยให้มันยิงไอพ่นวัสดุสารได้อย่างทรงพลังออกสู่สภาพแวดล้อม จากงานนี้
ภาพใหม่ก็ได้เผยว่าสิ่งเดียวกันก็น่าจะเกิดกับ Sgr A* ด้วย
สิ่งที่เรากำลังได้เห็นตอนนี้ก็คือ
สนามแม่เหล็กที่รุนแรง,
บิดตัวและเรียงตัวเป็นระเบียบใกล้หลุมดำในใจกลางทางช้างเผือก Sara Issaoun นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์สมิธโซเนียน(SAO)
และผู้นำร่วมโครงการนี้ กล่าว
นอกจากที่ Sgr A* จะมีโครงสร้างโพลาไรเซชั่นที่คล้ายคลึงอย่างมากกับที่พบรอบ
M87* ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามากและทรงพลังกว่าอย่างมาก
เราได้เรียนรู้ว่าสนามแม่เหล็กที่เป็นระเบียบและรุนแรงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งบอกถึงว่าหลุมดำมีปฏิสัมพันธ์กับก๊าซและวัสดุสารรอบๆ
มันอย่างไร
สภาพสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบน่าจะสามารถควบคุมและกระทั่งกำกับก๊าซที่ไหลลงสู่หลุมดำ
ควบคุมปริมาณอาหารของหลุมดำได้
และยังอาจทำหน้าที่เป็นท่อประปาให้กับไอพ่นพลาสมาที่จะไหลออก
สภาพแวดล้อมการสะสมมวลสาร(accretion) แบบนี้ถูกเรียกว่า
ดิสก์จับด้วยแม่เหล็ก(magnetically arrested disk; MAD) การวิเคราะห์ภาพ Sgr A* ภาพแรกได้บอกว่ามันอาจเป็น MAD แต่ทีมต้องการข้อมูลโพลาไรซ์เพื่อยืนยัน
แสงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีการเคลื่อนที่หรือการสั่น
ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นวัตถุได้ บางครั้ง แสงก็สั่นในทิศทางที่จำเพาะ
และเราเรียกมันว่าเกิดโพลาไรซ์ แม้ว่าสายตามนุษย์จะแยกแยะแสงโพลาไรซ์รอบๆ
ตัวเราออกจากแสงปกติไม่ได้ ในก๊าซร้อนมีประจุหรือพลาสมารอบหลุมดำเหล่านี้
อนุภาคไหลเวียนไปรอบๆ เส้นแรงสนามแม่เหล็กสร้างรูปแบบการเกิดโพลาไรซ์ที่ตั้งฉากกับสนามแม่เหล็ก
นี่ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นรายละเอียดที่สูงขึ้นกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่รอบหลุมดำและทำแผนที่เส้นแรงสนามแม่เหล็กที่บิดไปรอบหลุมดำได้
ด้วยการถ่ายภาพแสงโพลาไรซ์จากก๊าซร้อนที่สว่างใกล้กับหลุมดำ
เราก็สามารถบอกได้โดยตรงถึงโครงสร้างและความแรงของสนามแม่เหล็กที่กำกับการไหลของก๊าซและสสารที่จะตกลงสู่หลุมดำและอาจถูกผลักออกมา
Angelo Ricarte ผู้นำร่วมโครงการ
กล่าว แสงโพลาไรซ์สอนเราได้มากเกี่ยวกับดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ตั้งแต่
คุณสมบัติของก๊าซ และกลไกที่เกิดขึ้นเมื่อหลุมดำได้รับก๊าซ
แต่การถ่ายภาพหลุมดำในแสงโพลาไรซ์
ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับการสวมแว่นกันแดดโพลาไรซ์
และนี่เป็นยากเป็นพิเศษสำหรับ Sgr A* เนื่องจากมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก
และไม่ได้อยู่นิ่งๆ ให้ถ่ายภาพ
การถ่ายภาพหลุมดำมวลมหาศาลต้องการเครื่องมือที่เหนือชั้นกว่าที่เคยใช้กับ M87*
ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นิ่งกว่ามาก
Paul Tiede นักดาราศาสตร์ SAO นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ CfA กล่าวว่า
นี่น่าตื่นเต้นที่เราสามารถสร้างภาพโพลาไรซ์ของ Sgr A* ได้ในที่สุด
ภาพแรกใช้เวลาวิเคราะห์อย่างหมกมุ่นหลายเดือนเพื่อจะให้เข้าใจธรรมชาติอันเปี่ยมด้วยพลวัตและเผยให้เห็นโครงสร้างโดยเฉลี่ยของหลุมดำนี้
การสร้างภาพโพลาไรซ์ที่เพิ่มเติมความท้าทายจากพลวัตของสนามแม่เหล็กรอบหลุมดำ
แบบจำลองมักจะทำนายสนามแม่เหล็กที่ปั่นป่วนอย่างรุนแรง ทำให้สร้างภาพโพลาไรซ์น่าจะยากอย่างสุดขั้ว
แต่โชคดีที่หลุมดำของทางช้างเผือกสงบพอสมควร จึงได้ภาพแรกออกมา
นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นที่ได้เห็นภาพจากหลุมดำมวลมหาศาลทั้งสองในแสงโพลาไรซ์
เนื่องจากภาพเหล่านี้และข้อมูลที่มาพร้อมมัน
ได้ให้หนทางใหม่ในการเปรียบเทียบและเปรียบต่างหลุมดำที่มีขนาดและมวลที่แตกต่างกัน
เมื่อเทคโนโลจีพัฒนาขึ้น
ภาพก็น่าจะเผยให้เห็นความลับของหลุมดำและความคล้ายคลึงหรือความแตกต่างได้มากขึ้น
Michi Bauböck นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์
เออร์บานา-แชมเปญ
กล่าวว่า M87* และ Sgr
A* มีความแตกต่างในด้านสำคัญๆ
สองสามอย่าง M87* ใหญ่กว่าอย่างมากและมันกำลังดึงวัสดุสารจากรอบข้างด้วยอัตราที่เร็วกว่าอย่างมาก
ดังนั้น เราอาจจะคาดว่าสนามแม่เหล็กของมันก็ควรจะดูแตกต่างออกไปอย่างมาก
แต่ในกรณีนี้ กลับกลายเป็นว่าพวกมันดูค่อนข้างคล้ายกัน ซึ่งอาจจะหมายถึงว่าโครงสร้างนี้เป็นรายละเอียดพื้นฐานสากลในหลุมดำทุกๆ แห่ง
ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กใกล้หลุมดำช่วยเราให้ตอบคำถามได้หลายข้อ
ตั้งแต่ว่า ไอพ่นก่อตัวและยิงออกมาได้อย่างไร
จนถึงอะไรส่งพลังให้กับการลุกจ้าสว่างที่เราพบเห็นในช่วงอินฟราเรดและรังสีเอกซ์
EHT ได้ทำการสำรวจมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี
2017 และมีกำหนดสำรวจ
Sgr A* อีกครั้งในเดือนเมษายนปีนี้
ในแต่ละปี ภาพที่ได้จะดีขึ้นเมื่อ EHT ได้ผนวกกล้องโทรทรรศน์ใหม่เข้ามา,
ช่องสัญญาณที่ใหญ่ขึ้น และความถี่การสำรวจใหม่ๆ
การขยายเครือข่ายที่วางแผนสำหรับทศวรรษหน้า ก็สร้างภาพยนตร์คุณภาพสูงของ Sgr
A* ซึ่งอาจจะเผยให้เห็นไอพ่นที่ซ่อนอยู่
และน่าจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้สำรวจรายละเอียดการเกิดโพลาไรซ์คล้ายๆ
กันในหลุมดำอื่นด้วย ในขณะเดียวกัน การขยาย EHT ออกสู่อวกาศจะช่วยให้ได้ภาพหลุมดำที่คมชัดมากกว่าที่เคยเป็นมา
การขยายงาน EHT ซึ่งเรียกว่า ngEHT(next-generation EHT) กำลังจะอัพเกรด EHT โดยตั้งเป้าที่จะใช้จานรับสัญญาณวิทยุใหม่ๆ
หลายตัว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสำรวจในหลายความยาวคลื่นพร้อมๆ กัน
และเพิ่มความไวโดยรวมของเครือข่าย EHT เนกซ์เจนน่าจะช่วยให้เครือข่ายสร้างภาพยนตร์ของหลุมดำมวลมหาศาลตามเวลาจริงในระดับขอบฟ้าสังเกตการณ์
ภาพยนตร์เหล่านี้จะเปิดให้เห็นโครงสร้างรายละเอียดและพลวัตใกล้กับขอบฟ้าสังเกตการณ์
เปิดรายละเอียดแรงโน้มถ่วงรุนแรงตามที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ได้ทำนายไว้
และรวมถึงปฏิสัมพันธ์ของการสะสมมวลสาร(accretion) กับการยิงไอพ่นสัมพัทธภาพ
ที่สลักเสลาโครงสร้างขนาดใหญ่ในเอกภพ
ในขณะเดียวกัน ปฏิบัติการ BHEX(Black Hole Explorer) ซึ่งมีแนวคิดขยาย EHT ออกสู่อวกาส จะสร้างภาพหลุมดำที่คมชัดที่สุดในประวัติศษสตร์ดาราศาสตร์ BHEX จะช่วยให้ตรวจจับและถ่ายภาพ “วงแหวนโฟตอน”(photon ring) ซึ่งเป็นรายละเอียดวงแหวนคมและบางที่ก่อตัวจากการเปล่งคลื่นที่ถูกบิดเบนโดยสนามแรงโน้มถ่วงรอบหลุมดำอย่างรุนแรง คุณสมบัติของหลุมดำจะบ่งบอกที่ขนาดและรูปร่างของวงแหวนโฟตอน เผยให้เห็นมวลและการหมุนรอบตัวของหลุมดำ ซึ่งก็จะแสดงให้เห็นว่าวัตถุประหลาดเหล่านี้เจริญเติบโตและมีปฏิสัมพันธ์กับกาแลคซีต้นสังกัดของพวกมันอย่างไร
ภาพมุมกว้างในช่วงแสงที่ตาเห็นได้แสดงเมฆดาวหนาแน่นในกลุ่มดาวคนยิงธนู(Sagittarius)
ในทิศทางใจกลางทางช้างเผือก
ภาพนี้เต็มไปด้วยดาวจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ซ่อนอยู่หลังเมฆฝุ่นและจะเผยตัวเมื่อสำรวจด้วยอินฟราเรดเท่านั้น
ภาพนี้มาจากการถ่ายภาพในแสงสีแดงและฟ้า และเป็นส่วนหนึ่งของ Digitized Sky
Survey 2
แหล่งข่าว phys.org
: astronomers unveil strong magnetic fields spiraling at the edge of Milky
Way’s central black hole
iflscience.com :
incredible first view of the magnetic fields around our galaxy’s supermassive
black holes
skyandtelescope.com :
strong magnetic fields swirl near Milky Way’s black hole
No comments:
Post a Comment