นักดาราศาสตร์ได้พบหลักฐานที่ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าเหตุการณ์การควบรวมระหว่างหลุมดำ
สามารถสร้างแรงผลักที่รุนแรงพอที่จะส่งหลุมดำที่ได้หมุนหลุดออกนอกกาแลคซีไป
ทีมซึ่งมี Vijay Varma นักฟิสิกส์ที่สถาบันมักซ์พลังค์เพื่อฟิสิกส์ความโน้มถ่วง,
สถาบันอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในเจอรมนี
ได้ตรวจสอบคลื่นความโน้มถ่วงจากเหตุการณ์การควบรวมที่เรียกว่า GW200129 ซึ่งรวบรวมโดยเครื่องตรวจจับ LIGO และ Virgo ในยุโรป จากการวิเคราะห์
นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าหลุมดำที่เกิดขึ้นในการชนและควบรวมนี้
ถูกส่งวิ่งผ่านอวกาศด้วยความเร็ว 4.8 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง
สมาชิกทีมคนหนึ่งได้อธิบายการค้นพบนี้ว่า
ทั้งน่าประหลาดใจและตกใจ เมื่อหลุมดำสองแห่งชนกัน
พวกมันจะเหลือหลุมดำที่มีมวลสูงขึ้นทิ้งไว้เพียงหนึ่งเดียว
กระบวนการนี้สามารถสร้างแรงดีดกลับ(recoil) ใหกับหลุมดำที่เกิดใหม่ Varma ผู้เขียนนำในรายงานที่อธิบายงานของทีม กล่าว
ถ้าหลุมดำโคจรรอบกันและกัน
พวกมันจะเปล่งคลื่นความโน้มถ่วงออกมา
ซึ่งนำพาพลังงานและโมเมนตัมเชิงมุมออกไปผ่านผืนอวกาศ
การเปล่งคลื่นชนิดนี้เป็นสาเหตุให้วงโคจรหลุมดำหดสั้นลงเรื่อยๆ
นำไปสู่การชนและควบรวมเพื่อก่อตัวหลุมดำมวลสูง
ถ้าหลุมดำทั้งสองมีมวลหรืออัตราการหมุนรอบตัวไม่เท่าเทียมกัน
นี่จะนำไปสู่ความไม่สมมาตรในการเปล่งคลื่นความโน้มถ่วง
โดยจะเปล่งออกมาหนักหน่วงในทิศทางเดียว
เนื่องจากกฎฟิสิกส์พื้นฐานต้องรักษาโมเมนตัมเชิงมุมไว้
ความไม่สมมาตรนี้จึงสร้างผลเป็นแรงผลักที่ทำให้หลุมดำที่ได้กระดอนถอยออกมาในทิศทางตรงกันข้าม
การควบรวมของหลุมดำเปล่งคลื่นความโน้มถ่วงซึ่งคล้ายกับกระบวนการทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่เปล่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย
Varma กล่าวต่อ
คาดว่าจะเกิดแรงผลักรุนแรงเหล่านี้เมื่อระนาบการโคจรในการควบรวมมีการควงส่าย(precesses/wobbles)
การควงส่ายของวงโคจรสามารถสำรวจได้จากความสูง(amplitude)
ขนาดเล็กที่ปรากฏในสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วง
Scott Field นักคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์
ดาร์ทเมาธ์ กล่าวว่า
ระบบหลุมดำคู่แห่งนี้ยังเป็นคู่แรกที่แสดงสัญญาณการควงส่ายของวงโคจร
Varma กล่าวเสริมว่าด้วยการวิเคราะห์คลื่นความโน้มถ่วง
นักดาราศาสตร์และนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ก็สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการควบรวมของหลุมดำได้
นอกจากนี้ เนื่องจากหลุมดำส่งอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของกาแลคซี
การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้ให้มากขึ้นก็น่าจะเผยให้เห็นว่ากลุ่มก้อนของดาวอย่างทางช้างเผือกพัฒนาได้อย่างไร
นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ได้รวบรวมหลักฐานที่ชัดเจนว่าการควบรวมลักษณะดังกล่าวสามารถผลักหลุมดำที่ได้
หนีออกจากกาแลคซีของมัน
ไม่เหมือนกับเหตุการณ์การควบรวของหลุมดำที่สำรวจพบก่อนหน้านี้ นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้หลักฐานชัดเจนแสดงความเร็วการกระดอนกลับที่มาก
ในความเป็นจริงแล้ว มากพอที่หลุมดำที่ได้ น่าจะหนีออกจากสภาพแวดล้อมของมันได้ Field
กล่าว
ในขณะที่เราทราบว่าสัมพัทธภาพทั่วไปอนุญาตให้เกิดความเป็นไปได้ที่สุดขั้วเช่นนี้ในทางทฤษฎี
แต่เราไม่เคยทราบว่าเอกภพจะสร้างขึ้นมาได้
ความเร็วของหลุมดำผลผลิตนั้นสูงมากพอที่น่าจะเกินความเร็วหลุดพ้น(escape
velocity) ของกาแลคซีต้นสังกัดของมัน
Field ยังกล่าวเสริมว่าผลสรุปนี้จะมีนัยสำคัญต่อลำดับเหตุการณ์การก่อตัวหลุมดำคู่ด้วยเช่นกัน
นั้นเป็นเพราะหลุมดำมวลมหาศาล(supermassive black hole) อย่าง คนยิงธนู เอ สตาร์(Sagittarius A*) ที่ใจกลางทางช้างเผือกนั้น
ก่อตัวขึ้นจากการชนชุดหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า การควบรวมเป็นลำดับขั้น(hierarchical
mergers) หลุมดำที่ถูกผลักออกจากกาแลคซีก็ไม่อาจมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้
การค้นพบจากการควบรวมแบบเอียง(lopsided
merger)
ที่ทำให้หลุมดำถูกผลักอย่างรุนแรง
เป็นไปได้ก็ต้องขอบคุณเทคโนโลจีที่ช่วยให้ทำการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้แม่นยำมากขึ้น
การควบรวมของหลุมดำไม่เปล่งแสงใดๆ ออกมา
ดังนั้นคลื่นความโน้มถ่วงจึงเป็นหนทางเดียวที่จะสำรวจและเรียนรู้
เราคงไม่รู้เกี่ยวกับหลุมดำที่ถูกผลักให้พเนจรแห่งนี้
ถ้าไม่มีหอสำรวจคลื่นความโน้มถ่วง Field กล่าว
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์คลื่นความโน้มถ่วง GW 200129 เกิดขึ้นที่ใด ดังนั้น Field จึงระบุว่าทีมยังไม่แน่ใจเต็มที่ว่าหลุมดำถูกผลักออกจากกาแลคซีต้นสังกัดของมันจริงหรือไม่
แต่นี่เป็นเพียงผลที่เป็นไปได้จากที่ว่ามันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่สูงเช่นนี้
ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ขณะนี้มันคงเพ่นพล่านไปทั่วเอกภพเป็นหลุมดำพเนจร Varma กล่าว
การควบรวมที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเวอร์ชั่นขนาดเล็กของเหตุการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก
Varma กล่าว
ปรากฏการณ์ประหลาดคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นเมื่อหลุมดำมวลมหาศาลควบรวมกัน
ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่กาแลคซีควบรวมกันแล้ว
หลุมดำมวลมหาศาลสุดท้ายอาจจะเอียงหลุดออกจากใจกลางกาแลคซีที่ควบรวมได้
หรือกระทั่งถูกผลักออกมา เหลือทิ้งไว้แค่กาแลคซีที่ปราศจากหลุมดำในใจกลาง
แม้ว่าเครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงที่มีอยู่
จะไม่ได้มีพลังมากพอที่จะสำรวจการควบรวมของหลุมดำมวลมหาศาลได้
แต่ผู้เขียนบอกว่าเครื่องตรวจจับในอวกาศในอนาคตอย่าง LISA(Laser
Interferometer Space Antenna) ก็น่าจะทำได้
ดาราศาสตร์คลื่นความโน้มถ่วงได้สร้างการค้นพบที่น่าประทับใจและส่งผลอย่างรุนแรงมากมาย
ในช่วงห้าหรือหกปีที่ผ่านมานี้ Field กล่าว
ก่อนการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้เป็นครั้งแรก มนต์เสน่ห์ในสาขาของเราก็คือคลื่นความโน้มถ่วงจะเปิดหน้าต่างบานใหม่สู่เอกภพ
และนี่ก็พิสูจน์ว่าเป็นจริงในทุกๆ ครั้งที่ LIGO เดินเครื่องสำรวจครั้งใหม่
งานวิจัยอธิบายเป็นรายงานเผยแพร่วันที่ 12 พฤษภาคมในวารสาร
Physical Review Letters
แหล่งข่าว space.com
: a black hole formed by a lopsided merger may have gone rogue
No comments:
Post a Comment