ก่อนที่โลกและดาวเคราะห์อื่นๆ
จะก่อตัวขึ้นมา ดวงอาทิตย์ที่ยังอายุน้อยยังคงมีก๊าซและฝุ่นล้อมรอบ
คงไม่ผิดที่จะบอกว่าระบบสุริยะช่วงต้นๆ
เป็นสถานที่แห่งความวุ่นวาย
การชนที่เกิดขึ้นเป็นระลอกใหญ่ตกแต่งระบบสุริยะอายุน้อยของเราเมื่อหิน, กองหิน
และวัตถุดิบก่อตัวดาวเคราะห์(planetesimals) ชนกันซ้ำๆ การศึกษาใหม่ที่อ้างอิงจากชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยที่ชนกับโลกได้ให้ช่วงเวลาความโกลาหลนี้
นักดาราศาสตร์ทราบว่าดาวเคราะห์น้อยยังคงรักษาสภาพเดิมๆ
ไว้ตั้งแต่ที่พวกมันก่อตัวขึ้นมาในช่วงต้นของระบบสุริยะเมื่อหลายพันล้านปีก่อน
พวกมันก็เหมือนแคปซูลเวลาที่เก็บเงื่อนงำทางวิทยาศาสตร์จากช่วงเวลาที่สำคัญนั้น
เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยที่มีการแบ่งชั้นหิน(differentiated) มีชั้นแมนเทิล(mantle) ที่ปกป้องภายในไว้ จากสภาวะอวกาศ(space
weathering) แต่ก็ไม่ใช่ว่าดาวเคราะห์น้อยจะคงสภาพครบถ้วนไปซะทีเดียว
เมื่อเวลาผ่านไป การชนที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าจะฉีกชั้นแมนเทิลที่ปกคลุมออกจากแกนกลางที่เป็นเหล็ก
และจากนั้นก็กระแทกจนแกนกลางเหล่านั้นบางส่วนแตกออกเป็นชิ้น
ชิ้นส่วนเหล่านั้นบางส่วนก็ตกลงบนโลก
ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อหินที่ตกลงมาจากท้องฟ้า และเป็นทรัพยากรที่มีค่าในบางกรณี
เช่น ฟาโรห์ทุตเองก็ถูกฝังพร้อมกริชเล่มหนึ่งที่ทำจากอุกกาบาตเหล็ก
และชาวอินูอิตในกรีนแลนด์ก็สร้างเครื่องมือขึ้นจากอุกกาบาตเหล็กก้อนหนึ่งมาหลายร้อยปีแล้ว
นักวิทยาศาสตร์มีความสนใจต่ออุกกาบาตเหล็กอย่างมากเนื่องจากข้อมูลที่บรรจุไว้
การศึกษาใหม่ที่ทำกับอุกกาบาตเหล็ก
ซึ่งเป็นชิ้นส่วนจากแกนกลางของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่านั้น
ได้พิจารณาไอโซโทปของพัลลาเดียม, เงิน และทองคำขาว(platinum) ด้วยการตรวจสอบปริมาณของไอโซโทปเหล่านั้น
ผู้เขียนก็สามารถกำหนดช่วงเวลาบางเหตุการณ์ในระบบสุริยะช่วงต้นให้แคบลงได้
รายงาน “The Dissipation of the
solar nebula constrained by impacts and core cooling in planetesimals” เผยแพร่ในวารสาร Nature Astronomy ผู้เขียนนำคือ Alison Hunt จากสถาบันเทคโนโลจีกลางแห่งสหพันธรัฐสวิสที่ซือริค(ETH
Zurich) และศูนย์เพื่อความรอบรู้ในการวิจัยแห่งชาติ(NCCR)
PlanetS การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้ได้แสดงว่าดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะยังคงไม่ค่อยเปลี่ยนไปนับตั้งแต่พวกมันก่อตัวขึ้นเมื่อหลายพันล้านปีก่อน
Hunt กล่าว ดังนั้น
พวกมันจึงเป็นดั่งคลังที่เก็บงำสภาวะระบบสุริยะช่วงต้นไว้
ชาวอิยิปต์โบราณและชนเผ่าอินูอิตไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับธาตุหรือไอโซโทป
และปฏิกิริยาลูกโซ่การสลายตัว
แต่เราเข้าใจว่าธาตุที่แตกต่างกันสลายตัวในปฏิกิริยาลูกโซ่กลายเป็นธาตุอื่นอย่างไร
และเราทราบว่ามันต้องใช้เวลานานแค่ไหน
หนึ่งในปฏิกิริยาลูกโซ่การสลายตัวเป็นหัวใจในการศึกษานี้คือ
การสลายตัวของพัลลาเดียม-107 เป็น
เงิน-107(107Pd-107Ag decay) ซึ่งมีอายุสั้น ปฏิกิริยามีค่าครึ่งชีวิต(half-life;
การสลายตัวเป็นธาตุใหม่จนเหลือธาตุเดิมเพียงครึ่งเดียว)
ที่ประมาณ 6.5 ล้านปี
และถูกใช้เพื่อตรวจจับการมีอยู่ของนิวคลีไอด์อายุสั้นจากระบบสุริยะช่วงต้น
นักวิจัยรวบรวมตัวอย่างจากอุกกาบาตเหล็กที่แตกต่างกัน 18 ก้อน
ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแกนกลางโลหะของดาวเคราะห์น้อย
จากนั้น พวกเขาแยกพัลลาเดียม, เงิน
และทองคำขาวในตัวอย่างออกมา
และใช้สเปคโตรมิเตอร์มวลเพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของไอโซโทปต่างๆ ของธาตุทั้งสาม
โดยเฉพาะไอโซโทปพิเศษชนิดหนึ่งของเงิน
ในช่วงไม่กี่ล้านปีแรกของความเป็นมาของระบบสุริยะ
ไอโซโทปกัมมันตรังสีที่สลายตัว ได้ให้ความร้อนแก่แกนกลางเหล็กของดาวเคราะห์น้อย
เมื่อพวกมันเย็นตัวลงและมีไอโซโทปที่สลายตัวมากขึ้น ไอโซโทปของเงิน-107 จะสะสมอยู่ในแกนกลาง
นักวิจัยตรวจสอบอัตราส่วนเงิน-107 ต่อไอโซโทปอื่นๆ
และตรวจสอบว่าแกนกลางดาวเคราะห์น้อยเย็นตัวเร็วแค่ไหนและเมื่อใด
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิจัยได้ศึกษาดาวเคราะห์น้อยและไอโซโทปในลักษณะนี้
แต่การศึกษาก่อนหน้านี้ไม่ได้นับรวมผลจากรังสีคอสมิคในกาแลคซี(galactic
cosmic rays; GCRs) ที่มีต่ออัตราส่วนไอโซโทปด้วย
รังสีคอสมิคในกาแลคซีสามารถรบกวนกระบวนการยึดจับนิวตรอนในระหว่างการสลายตัว
และสามารถลดปริมาณของเงิน-107 และ
เงิน-109 ได้
ผลสรุปใหม่ปรับการรบกวนจาก GCRs โดยนับไอโซโทปทองคำขาวด้วย
การตรวจสอบไอโซโทปทองคำขาวเพิ่มเติมเข้ามาช่วยให้เราได้ปรับการตรวจสอบไอโซโทปเงินให้ถูกต้อง
จากการรบกวนของรังสีคอสมิคในตัวอย่างในอวกาศ
ดังนั้นเราจึงสามารถหาช่วงเวลาที่เกิดการชนได้แม่นยำกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ Hunt
รายงาน
และเราก็ต้องประหลาดใจเมื่อแกนกลางดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดที่เราตรวจสอบนั้นได้ถูกเปลื้องออกในคราวเดียวกัน
ภายในกรอบเวลา 7.8 ถึง 11.7
ล้านปีหลังจากที่ระบบสุริยะก่อตัวขึ้นมา
เขากล่าว
ช่วงเวลาประมาณ 4 ล้านปีนั้นในทางดาราศาสตร์ถือว่าสั้น
ในช่วงเวลาสั้นๆ ดังกล่าว
ดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดที่ตรวจสอบก็ถูกเปลื้องจนเหลือแกนกลาง
ซึ่งหมายความว่าการชนกับวัตถุอื่นอย่างรุนแรง ได้ฉีกแมนเทิลของพวกมันออกไปจนหมด
เมื่อไม่มีแมนเทิลที่มาปิดป้อง แกนกลางทั้งก้อนก็เย็นตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกันในความหนาวเย็นของอวกาศ
การศึกษาอื่นก็แสดงว่าการเย็นตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่ชัดเจน
สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่ทีมได้ตรวจสอบอัตราส่วนไอโซโทป
ระบบสุริยะจะต้องเป็นสถานที่ที่วุ่นวายอย่างมาก
โดยมีคาบเวลาที่มีการชนเกิดขึ้นถี่ครั้งมากจนฉีกชั้นแมนเทิลออกจากดาวเคราะห์น้อย
ทุกๆ อย่างดูจะชนกันมั่วไปหมด Hunt กล่าว
และเราก็อยากรู้ว่าเพราะอะไร
รายงานบอกว่ามีความเป็นไปได้สองสามอย่าง
ความเป็นไปได้ข้อแรกก็คือ ดาวเคราะห์ยักษ์ของระบบสุริยะ
ถ้าพวกมันอพยพหรือเริ่มไม่เสถียรขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว
พวกมันก็อาจจะจัดเรียงระบบสุริยะส่วนในเสียใหม่หมด
รบกวนวัตถุขนาดเล็กอย่างดาวเคราะห์น้อย
และเหนี่ยวนำให้เกิดช่วงเวลาที่มีการชนถี่ขึ้น ลำดับเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า
แบบจำลองนีซ(Nice model)
ความเป็นไปได้อีกทางก็คือ การลากของก๊าซ(gas
drag) ในเนบิวลาก่อตัวดวงอาทิตย์(solar
nebula) เมื่อดวงอาทิตย์ยังเป็นเพียงดาวฤกษ์ทารก(protostar)
มันยังถูกล้อมรอบด้วยเมฆก๊าซและฝุ่นที่เรียกว่า
เนบิวลาก่อตัวดวงอาทิตย์ เฉกเช่นเดียวกับดาวฤกษ์อื่นๆ
ดิสก์จะมีดาวเคราะห์น้อยและต่อมาก็น่าจะก่อตัวดาวเคราะห์ภายในนั้นด้วยเช่นกัน
แต่ดิสก์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ล้านปีแรกของระบบสุริยะ ในตอนแรก
ก๊าซยังหนาแน่นซึ่งจะช่วยชะลอการเคลื่อนที่ของสรรพสิ่งอย่างดาวเคราะห์น้อยและวัตถุดิบก่อตัวดาวเคราะห์
ด้วยการดึงของก๊าซ แต่เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มต้นขึ้น
มันจะสร้างลมสุริยะและการแผ่รังสีมากขึ้น เนบิวลาก่อตัวดวงอาทิตย์ก็ยังคงอยู่
แต่ลมสุริยะและการแผ่รังสีได้ผลักและทำให้เนบิวลากระจายไป
ซึ่งทำให้มันหนาแน่นน้อยลง และมีแรงดึงวัตถุอื่นๆ น้อยลง
เมื่อปราศจากแรงดึงของก๊าซที่หนาทึบ
ดาวเคราะห์น้อยก็มีความเร็วสูงขึ้นและชนกันเองถี่ขึ้น Hunt และเพื่อนร่วมงานของเธอบอกว่า
แรงดึงก๊าซที่ลดลงเป็นตัวการ Maria Schönbächer ผู้เขียนร่วมการศึกษา อธิบายว่า
ทฤษฎีนี้อธิบายสภาวะช่วงแรกที่ทรงพลังของระบบสุริยะได้
โดยบ่งชี้ว่ามันมีสาเหตุหลักมาจากการสลายไปของเนบิวลาก่อตัวดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นก๊าซที่เหลืออยู่จากเมฆที่ดวงอาทิตย์ก่อตัวขึ้นมา
ดวงอาทิตย์อายุน้อยจะเป่าก๊าซเหล่านี้หายไปด้วยลมสุริยะและการแผ่รังสีในเวลาเพียงไม่กี่ล้านปี
งานของเราได้แสดงว่าเทคนิคการตรวจสอบในห้องทดลองที่พัฒนาไปจะช่วยให้เราได้ทราบกระบวนการหลักที่เกิดในระบบสุริยะช่วงต้น
ได้อย่างไร สุดท้าย มันจะช่วยให้เราเข้าใจว่าดาวเคราะห์ของเราเองก่อตัวอย่างไรได้ดีขึ้น
และยังให้แง่มุมแก่เราสู่สิ่งอื่นๆ นอกระบบสุริยะของเราด้วย Schönbächer กล่าวสรุป
แหล่งข่าว sciencealert.com
: ancient asteroids reveal that the early solar system was more chaotic than we
thought
spaceref.com : the
chaotic early phase of the solar system
No comments:
Post a Comment