ภาพจากศิลปินเปรียบเทียบดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยพบกับดวงจันทร์ของโลก(แม้ว่าในความเป็นจริงวัตถุทั้งสองจะไม่มีทางอยู่ใกล้กันได้แบบนี้)
ดาวแคระขาวมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์เล็กน้อย
นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กที่สุดและมีมวลสูงที่สุดเท่าที่เคยพบมา
เถ้าที่ยังคุไฟดวงนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อดาวแคระขาวที่เล็กกว่าสองดวงมาควบรวมกัน
จึงมีมวลสูง บีบอัดมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ในวัตถุที่มีขนาดพอๆ กับดวงจันทร์ของโลก Ilaria
Caiazzo นักวิจัยหลังปริญญาเอกสาขาดาราศาสตร์ฟิสิกส์ทฤษฎีที่สถาบันเทคโนโลจีแห่งคาลิฟอร์เนีย(Caltech) และผู้เขียนนำการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ใน Nature
ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม กล่าว มันอาจจะดูค้านกับสามัญสำนึก
แต่ดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กกว่าดูจะมีมวลสูงกว่า นั้นก็เป็นเพราะความจริงที่ว่าดาวแคระขาวขาดแคลนการเผาไหม้นิวเคลียร์ที่ช่วยให้ดาวฤกษ์ปกติต้านทานแรงโน้มถ่วงในตัวมันเอง
และขนาดของพวกมันจึงถูกกำกับด้วยกลศาสตร์ควอนตัมแทน
ดาวแคระขาวเป็นซากที่ยุบตัวลงของดาวฤกษ์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีมวลจนถึง
8 เท่ามวลดวงอาทิตย์หรือเบากว่า
ดวงอาทิตย์ของเราเอง หลังจากที่มันพองตัวออกกลายเป็นดาวยักษ์แดง(red giant)
ในอีกประมาณ 5 พันล้านปี ก็จะผลักเปลือกก๊าซชั้นนอกๆ
ออกมาและหดตัวกลายเป็นดาวแคระขาวที่มีขนาดกะทัดรัด ดาวฤกษ์ทั้งหมดมีประมาณ 97%
ที่จะกลายเป็นดาวแคระขาว
การค้นพบนี้ทำโดย ZTF(Zwicky Transient
Facility) ซึ่งดำเนินงานที่หอสังเกตการณ์พาโลมาร์
ของคาลเทค, กล้องโทรทรรศน์ในฮาวาย 2 ตัวคือ
กล้องโทรทรรศน์เคกบนยอดเมานาคี และกล้อง Pan-STARRS ของสถาบันเพื่อดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย
บนยอดฮาลีคาลา ได้ช่วยแจกแจงคุณสมบัติของดาวที่ตายแล้วดวงนี้ ไปพร้อมกับกล้องโทรทรรศน์เฮลขนาด
200 นิ้วที่พาโลมาร์,
หอสังเกตการณ์อวกาศไกอา(Gaia) ขององค์กรอวกาศยุโรป
และหอสังเกตการณ์สวิฟท์(Swift) ของนาซา
ดาวแคระขาวดวงนี้ถูกพบโดย Kevin Burdge เพื่อนร่วมงานของ Caiazzo นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่คาลเทค หลังจากสำรวจภาพทั่วท้องฟ้าของ ZTF ดาวแคระขาวเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับข้อมูลจากไกอา ปรากฏว่ามีมวลสูงมากและมีการหมุนรอบตัวที่เร็ว ไม่เคยมีการศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดในเวลาอันสั้นอย่างเป็นระบบในระดับนี้มาก่อน ผลจากความพยายามจึงน่าตื่นเต้น Burdge กล่าว ในปี 2019 เขานำทีมที่พบดาวแคระขาวคู่หนึ่งที่โคจรรอบกันและกันทุกๆ 7 นาที
ในขณะที่ดวงอาทิตย์ของเราอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่มีคู่หู
แต่ดาวฤกษ์อื่นอีกมากมายจะโคจรอยู่รอบอีกดวงเป็นคู่ ดาวซึ่งแก่เฒ่าไปพร้อมกัน
และถ้าพวกมันทั้งคู่มีมวลไม่ถึง 8 เท่าดวงอาทิตย์
พวกมันทั้งคู่ก็จะกลายเป็นดาวแคระขาว
การค้นพบใหม่ได้ให้ตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากสถานะนี้
คู่ของดาวแคระขาวซึ่งหมุนวนเข้าหากันและกัน
สูญเสียพลังงานในรูปของคลื่นความโน้มถ่วง และสุดท้ายก็ควบรวมกัน
ถ้าดาวที่ได้มีมวลสูงเกินค่าวิกฤติ(ขีดจำกัดจันทรเสกขา; Chandrasekhar
limit) ก็จะระเบิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า
ซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่งเอ(Type Ia supernova)
แต่ถ้าพวกมันมีมวลต่ำกว่าค่าวิกฤตินี้
ก็จะรวมกันกลายเป็นดาวแคระขาวดวงใหม่ที่หนักกว่าดาวแคระขาวต้นกำเนิด
กระบวนการควบรวมนี้น่าจะเร่งความแรงสนามแม่เหล็กของดาวดวงนั้นและทำให้มันหมุนรอบตัวเร็วขึ้น
เมื่อเทียบกับดาวแคระขาวต้นกำเนิด
นักดาราศาสตร์บอกว่าดาวแคระขาวดวงน้อยที่เพิ่งค้นพบใหม่
ซึ่งมีชื่อว่า ZTF J1901+1458 ใช้เส้นทางวิวัฒนาการอันหลัง
ทีมวิเคราะห์สเปคตรัมดาวดวงนี้โดยใช้ LRIS(Low Resolution Imaging
Spectrometer) ของเคก
ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ Caiazzo ต้องงงงันเมื่อพบสัญญาณสนามแม่เหล็กที่รุนแรงมาก
เธอและทีมจึงตระหนักว่าได้พบบางสิ่งที่พิเศษมากๆ
ความแรงของสนามแม่เหล็กพร้อมกับอัตราการหมุนรอบตัวเจ็ดนาทีแทนที่จะเป็นหลายชั่วโมง
บ่งชี้ว่ามันเป็นผลจากดาวแคระขาวสองดวงมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ดาวต้นกำเนิดของมันควบรวมกันและสร้างดาวแคระขาวใหม่ที่หนัก
1.35 เท่ามวลดวงอาทิตย์
ดาวแคระขาวดวงนี้มีสนามแม่เหล็กที่สุดขั้วด้วยความแรงเกือบ 1 พันล้านเท่าความแรงของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์
และหมุนรอบตัวครบรอบในเวลาเพียง 7 นาที(ดาวแคระขาวที่หมุนรอบตัวเร็วที่สุด
EPIC 228939929 หมุนรอบตัวทุกๆ
5.3 นาที)
เราได้พบวัตถุที่น่าสนใจอย่างมากซึ่งไม่ได้มีมวลสูงพอที่จะระเบิด Caiazzo กล่าว เราสามารถตรวจสอบได้จริงว่าดาวแคระขาวจะมีมวลสูงได้แค่ไหน
ข้อมูลจากสวิฟท์ซึ่งสำรวจในช่วงอุลตราไวโอเลต
ได้ช่วยระบุขนาดและมวลของดาวแคระขาวดวงนี้ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4300
กิโลเมตร ZTF J1901+1458 จึงครอบครองตำแหน่งดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กที่สุด
แทนที่ผู้ยึดครองสถิติก่อนหน้านี้ RE J0317-853 และ WD 1832+089 ซึ่งแต่ละดวงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5000
กิโลเมตร ในขณะที่มวลที่แท้จริงของ ZTF
J1901+1458 ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของมัน
แต่นักวิจัยประเมินว่าน่าจะหนักกว่าดวงอาทิตย์ประมาณหนึ่งในสาม คืออยู่ระหว่าง 1.327
ถึง 1.365 เท่ามวลดวงอาทิตย์ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ
ยิ่งกว่านั้น Caiazzo และเพื่อนร่วมงานของเธอยังคิดว่าดาวแคระขาวที่ควบรวมได้อาจจะมีมวลสูงมากพอที่จะพัฒนากลายเป็นซากดาวที่อุดมด้วยนิวตรอน
หรือดาวนิวตรอน(neutron star) ซึ่งโดยปกติ
มักจะก่อตัวขึ้นเมื่อดาวฤกษ์ที่มีมวลสูงกว่าดวงอาทิตย์ระเบิดกลายเป็นซุปเปอร์โนวา
นี่เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นไปได้ที่ดาวแคระขาวดวงนี้จะมีมวลสูงมากพอที่จะยุบตัวต่อไปเป็นดาวนิวตรอน
เธอกล่าว มันมีมวลสูงและหนาแน่นสูงมาก จนในแกนกลางของมัน
อิเลคตรอนถูกโปรตอนในนิวเคลียสจับไว้เพื่อก่อตัวนิวตรอน
เนื่องจากแรงดันจากอิเลคตรอนที่ผลักต้านทานแรงโน้มถ่วง รักษาให้ดาวยังคงสภาพไว้ แต่เมื่ออิเลคตรอนหายไปส่วนหนึ่ง
แรงดันก็หาย แกนกลางก็ยุบตัวลง
ถ้าสมมุติฐานการก่อตัวดาวนิวตรอนนี้ถูกต้อง
มันก็อาจจะหมายความว่ามีดาวนิวตรอนอีกส่วนหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นในหนทางนี้
วัตถุที่เพิ่งพบใหม่อยู่ไม่ไกล(ประมาณ 130 ปีแสง)
และอายุที่น้อยของมัน(ประมาณ 1 ร้อยล้านปีเป็นอย่างมาก)
บ่งชี้ว่าวัตถุคล้ายๆ กันอาจจะมีอยู่ทั่วไปในกาแลคซีมากกว่าที่เคยคิดไว้ ในอนาคต
ทีมหวังว่าจะใช้ ZTF เพื่อค้นหาดาวแคระขาวลักษณะนี้ได้มากขึ้น
และโดยรวมก็เพื่อศึกษาประชากรวัตถุชนิดนี้โดยรวม มีคำถามอยู่มากมายที่ยังไม่ได้ตอบ
เช่น อัตราการควบรวมของดาวแคระขาวในกาแลคซีมีแค่ไหน
และอัตรานี้เพียงพอที่จะอธิบายจำนวนของซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอหรือไม่
สนามแม่เหล็กถูกสร้างในเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร
และเพราะเหตุใดจึงมีความหลากหลายในความแรงของสนามแม่เหล็กของดาวแคระขาว
การค้นหาประชากรดาวแคระขาวกลุ่มใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นจากการควบรวมจะช่วยตอบคำถามทั้งหมดนี้และคำถามอื่นๆ
ได้
แหล่งข่าว spaceref.com
: a white dwarf living on the edge
skyandtelescope.com : Moon-size white
dwarf is the smallest ever found
No comments:
Post a Comment