การสำรวจกาแลคซีหลายพันแห่งที่ทำโดย Sloan Digital Sky Survey(ในภาพ) ช่วยเผยให้เห็นกาแลคซีเกาะกลุ่มกันเป็นวงโค้งขนาดมหึมาด้วยความยาวมากกว่า 3 พันล้านปีแสง
เอกภพนั้นเป็นสถานที่ที่ใหญ่โต และก็มีของใหญ่ๆ
อยู่จำนวนมาก ไม่เพียงแต่กาแลคซี แต่ยังมีกลุ่มของกาแลคซี และเส้นใยเอกภพ(cosmic
web) ที่เชื่อมกลุ่มของกาแลคซีเข้าไว้ด้วยกัน
นักวิทยาศาสตร์เพิ่งได้ค้นพบสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในกลุ่มก้อนเหล่านั้น
และมันก็อาจจะส่งผลอย่างน่าห่วงต่อความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการเอกภพได้
มันเป็นโครงสร้างวงโค้งของกาแลคซีที่แทบจะสมมาตร ที่ระยะทาง 9.2 พันล้านปีแสง และมีความกว้าง 3.3 พันล้านปีแสง
เป็นหนึ่งในโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่เคยจำแนกมา
นักดาราศาสตร์ได้เรียกมันว่า วงโค้งยักษ์(the Giant Arc) และถ้ายืนยัน
มันก็จะไปรวมอยู่กับโครงสร้างยักษ์อื่นๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้น
จำนวนของวัตถุเหล่านี้ได้สร้างความลำบากให้กับแบบจำลองเอกภพวิทยา
จำนวนที่เพิ่มขึ้นของโครงสร้างขนาดใหญ่เกินขีดจำกัดขนาดที่ควรจะเป็นในทางทฤษฎี
ทำให้ยากมากขึ้นที่จะเพิกเฉย Alexia Lopez จากมหาวิทยาลัยเซนทรัลแลงคาเชียร์
สหราชอาณาจักร กล่าว จากที่นักเอกภพวิทยาบอกไว้
ขีดจำกัดทางทฤษฎีปัจจุบันคำนวณได้ที่ 1.2 พันล้านปีแสง
ซึ่งทำให้วงโค้งยักษ์นี้ใหญ่กว่าเกือบสามเท่าตัว
แล้วแบบจำลองเอกภพวิทยามาตรฐานจะบอกว่าโครงสร้างมหึมาในเอกภพเหล่านี้เป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น
หรือน่าจะมีเพิ่มเติมอีก
แบบจำลองเอกภพวิทยามาตรฐานก่อตั้งขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า กฎเอกภพวิทยา(cosmological
principle) สิ่งนี้ได้บอกว่า
ในโครงสร้างขนาดใหญ่(มากพอ) เอกภพจะดูราบเรียบ เป็นเนื้อเดียวกัน(homogeneous)
ในทุกทิศทาง
เอกภพแต่ละส่วนน่าจะดูเหมือนๆ กับส่วนอื่นๆ ในเอกภพไปเสียหมด
โดยไม่มีความไม่สอดคล้องหรือความขรุขระใหญ่ใดๆ แต่โครงสร้างขนาดใหญ่กว่า 1.2
พันล้านปีแสง น่าจะคือความขรุขระนั้น
ความขรุขระเพียงหนึ่งหรือสองแหล่งก็อาจจะมองเป็นเรื่องบังเอิญได้
แต่กลับยิ่งโผล่มาจากข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่น กำแพงใหญ่สโลน(Sloan Great
Wall) ซึ่งมีความกว้างราว
1.5 พันล้านปีแสง
การค้นพบโครงสร้างที่คล้ายๆ กันที่เรียกว่า กำแพงขั้วใต้(South Pole Wall) ซึ่งมีความกว้างราว 1.37 พันล้านปีแสง
ก็เพิ่งประกาศการค้นพบเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มกาแลคซี โคลว์-กัมปูซาโน แอลคิวจี(Clowes-Campusano LQG
group) มีความกว้าง 2
พันล้านปีแสง และ
กลุ่มเควซาร์ใหญ่มหึมา(Huge Large Quasar Group) ก็มีความกว้าง 4 พันล้านปีแสง และกำแพงใหญ่เฮอร์คิวลิส-มงกุฏเหนือ(Hercules-Corona Borealis
Great Wall) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด
โดยอาจจะกว้างได้ถึง 1 หมื่นล้านปีแสงเลยทีเดียว
วงโค้งยักษ์ถูกพบในข้อมูลจาก Sloan
Digital Sky Survey Lopez และเพื่อนร่วมงานของเธอได้ศึกษาแสงจากกาแลคซีที่เป็นเควซาร์ประมาณ
4 หมื่นแห่ง ซึ่งเป็นกาแลคซีที่สว่างที่สุดในเอกภพ
เรืองรองขึ้นจากหลุมดำมวลมหาศาล(supermassive black holes) ที่มีกิจกรรมเปี่ยมล้นที่ใจกลางกาแลคซี
เมื่อแสงจากเควซาร์เหล่านี้ผ่านทะลุก๊าซในห้วงอวกาศ
ก๊าซจะดูดกลืนแสงในบางความยาวคลื่นไว้ สามารถใช้เส้นดูดกลืนคลื่นสเปคตรัมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้เพื่อทำแผนที่การกระจายของสสารในเอกภพได้
ด้วยการใช้วิธีการนี้ นักวิจัยก็พบสัญญาณของมักนีเซียมที่สูญเสียอิเลคตรอน 1
ตัว(Mg+) ในกลุ่มของกาแลคซีหลายสิบแห่งที่ดูเหมือนจะเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกันเป็นเส้นโค้ง
แผ่ประมาณหนึ่งในสิบห้าส่วนรัศมีของเอกภพที่สังเกตการณ์ได้(0bservable
universe) โครงสร้างนี้โดยตัวมันเองแล้วสายตามนุษย์มองไม่เห็นบนท้องฟ้า
แต่ถ้าคุณเห็นมันได้ วงโค้งน่าจะแผ่ไปประมาณ 20 เท่าความกว้างจันทร์เต็มดวง
การวิเคราะห์เบื้องลึกดูแทบจะยืนยันผล
ผลสรุปของทีมมีระดับความเชื่อมั่น 99.9997% หรือ 4.5 ซิกมา
แม้ไม่มากถึงระดับมาตรฐาน 5 ซิกมา
ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการเรียงตัวโดยบังเอิญ แต่กระนั้น
การค้นพบนี้ก็ยังค่อนข้างน่าสนใจ ถ้านักดาราศาสตร์ยังคงเดินหน้าจำแนกโครงสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ในเอกภพ
มันก็อาจจะหมายถึงว่าเราต้องกลับไปใคร่ครวญกฎทางเอกภพวิทยาเสียใหม่
ท้องฟ้ายามค่ำคืนเมื่อมองในระดับที่ใหญ่มากพอ ก็ควรจะดูเหมือนกันไปหมด
ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งผู้สังเกตการณ์หรือทิศทางที่มองไป Lopez กล่าว
วงโค้งยักษ์ที่เรากำลังได้เห็นแน่นอนว่าได้สร้างคำถามขึ้นมามากกว่าคำตอบเมื่อมันอาจจะทำให้ต้องขยาย
“ความใหญ่พอ”(sufficiently large) ออกไป
คำถามหลักก็คือ แล้วอะไรล่ะที่เราจะเรียกว่า ใหญ่พอ
ทีมจะมองหาในข้อมูลอื่นๆ
เพื่อตามล่าระดับความเชื่อมั่นที่ 5 ซิกมา
และมองหาความเป็นไปได้ที่จะพบโครงสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ อีก
ซึ่งยิ่งดูความเป็นไปได้ที่นักเอกภพวิทยาจะต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีกพอสมควรด้วย
งานวิจัยนำเสนอในการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 238
แหล่งข่าว sciencealert.com
: a ginormous arc of galaxies was just detected in the distant universe
sciencenew.org : an arc
of galaxies 3 billion light-years long may challenge cosmology
No comments:
Post a Comment