Wednesday, 17 March 2021

NGC1851

 


NGC1851, Mewlon 210 @ 320x, Sketch by Chol


ท้องฟ้าที่บางพลีตอนนี้ค่อนข้างแย่ ขุ่นขาวด้วยฝุ่นควันและเมฆจนแทบมองไม่เห็นดาว ซิริอัสที่ปกติสว่างเจิดจ้าก็หม่นสลัว ไม่ต้องพูดถึงดวงอื่น หวังว่าที่อื่นๆจะดีกว่านะครับ

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนมีนาถึงฟ้าแย่เหมือนกันแต่ก็ยังดีกว่าตอนนี้มาก ผมเห็นคาโนปุสสว่างโดดเดี่ยวอยู่เหนือหลังคาบ้านตรงข้าม ดูในแผนที่มีกระจุกดาวทรงกลมตัวหนึ่งห่างไปทางตะวันตกและที่ตอนนี้อยู่สูงกว่าคาโนปุสพอประมาณ

สูงพอที่จะลองแวะไปชม...

ผมขยับกล้องดูดาวไปที่เป้าหมาย แสงสว่างฟุ้งของบอลจิ๋วปรากฏในเลนส์ตา ผมไม่ได้คิดว่า NGC1851 จะสว่างขนาดนี้ สว่างกว่า M79 ในกลุ่มดาวกระต่ายป่าที่อยู่เหนือขึ้นไปเสียอีก น่าแปลกที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก

จาก Mewlon ผมย้ายไปดูที่ Borg101ED ที่วางอยู่คู่กัน ที่กำลังขยายต่ำท้องฟ้าเป็นสีขาวมองไม่เห็นอะไรแม้แต่ดาวสักดวง เรียกว่าคราวนี้ต้องยกให้ Mewlon 210 ขนาดใหญ่กว่า ความยาวโฟกัสมากกว่า ช่วยให้คอนทราสดีกว่าหลายเท่า

กลับมาที่มิวล่อนผมเพิ่มกำลังขยายไปได้ถึง 320 เท่า ภาพยังดีอยู่ NGC1851 มีใจกลางที่สว่างมากแล้วค่อยๆจางจนกลืนไปกับพื้นสีดำด้านหลัง ลองมองเหลือบพบว่าขอบเขตของแสงสว่างกว้างใหญ่มากขึ้นและมองเห็นดาวราวสิบดวงใกล้ใจกลาง

ข้อมูลจาก SkySafari บอกว่า NGC1851 มีขนาดขอบเขตของ Halo ราว 11 อาร์คมินิต ใหญ่พอๆกับขอบเขตการมองเห็นของภาพสเก็ทช์ภาพนี้ทีเดียว แต่ฟ้าที่บางพลีกลืนทุกอย่างไปกับแสงไฟและหมอกควัน เหลือแต่ส่วนใจกลางให้ชื่นชม

เป็นอีกตัวที่เซอร์ไพรส์และต้องเก็บเข้าไปใน re-observing list ครับ น่าจะได้เห็นอะไรดีๆหากฟ้าดีพอ


คลิกภาพเพื่อขยาย



ข้อมูลเบื้องต้น 
กลุ่มดาว: Columba 
Catalog No.: NGC 1851, Caldwell 73
ประเภท: Globular Cluster
Visual Magnitude: +7.13 
dia: 12 arcmin 
ระยะทางจากโลก: 3900 ly 
R.A.: 5h 14m 47.28s 
Dec.: -40° 01’ 25.3”

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...