Thursday, 11 February 2021

NGC2261 Hubble Variable Nebula

 





ระหว่างกลุ่มดาวนายพราน คนคู่ หมาเล็ก และหมาใหญ่ เป็นเหมือนที่ว่างเพราะไม่มีดาวสว่างให้เป็นจุดสังเกต ตรงนี้มีกลุ่มดาวจางกลุ่มหนึ่งที่มองยากแม้จากฟ้าชานเมืองขนาดเล็กอย่างบ้านหมี่ กลุ่มดาวโมโนเซรอสหรือม้ายูนิคอร์น

โมโนเซรอสที่แม้จะจาง แต่มีเนบูล่าเล็กจิ๋วที่ไม่ค่อยเด่นดังเหมือนเพื่อนบ้านอย่างกระจุกดาวต้นคริสตมาส เนบูล่ารูปกรวย และเนบูล่าดอกกุหลาบ แต่ก็มีความน่าสนใจที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตลอดเวลา

NGC2261 เป็นเนบูล่าสะท้อนแสงที่ดูคล้ายดาวหาง ตรงจุดสว่างที่คล้ายหัวดาวหางคือดาวแปรแสงความสว่าง 12-14 แมกนิจูด ชื่อ R Monocerotis เนบูล่าตัวนี้อยู่ห่างจากกระจุกดาวต้นคริสมาสแค่องศาเศษทางทิศใต้ แต่มีขนาดเล็กมากทำให้พลาดได้ง่ายหากไม่รู้จักหรือไม่ตั้งใจไปเยี่ยม

ผู้ที่พบคนแรกคือเซอร์วิลเลี่ยม เฮอร์เชลล์เมื่อปี 1783 ต่อมาในปี 1861 นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวเอเธนส์พบว่า R Mon เป็นดาวแปรแสงที่มีความสว่างต่างกัน 2 แมกนิจูด

เฮ็ดวิน ฮับเบิ้ล ตรวจเจอว่าตัวเนบูล่าเปลี่ยนแปลงได้ในปี 1916 ไม่ใช่แค่รูปร่างและความสว่าง แม้แต่รายละเอียดภายในเนบูล่าก็เปลี่ยนไป เนบูล่าตัวนี้นักดาราศาสตร์ทำการศึกษากันมายาวนาน จนสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงของเนบูล่าเป็นเงาของอนุภาคฝุ่นที่พัดออกมาจากดาว R Mon


ภาพเคลื่อนไหวแสดงการเปลี่ยนแปลงของ NGC2261
Cr: Glenlea Astronomical Obs., University of Manitoba

ที่หอดูดาว TJ เมื่อต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้กลางวันจะใสไร้เมฆแต่พอตะวันตกดิน เห็นชัดว่าที่นี่ก็มีปัญหาเหมือนในกรุงเทพมหานครเช่นกัน แนวหมอกสีเทาหนาตาสูงราว 60 องศาจากขอบฟ้า ทำให้คืนนี้มองเห็นแค่กลุ่มดาว นายพราน คนคู่ หมาใหญ่ ที่อยู่แถวกลางฟ้าเป็นบริเวณแคบๆ กลุ่มดาวแม่น้ำและโมโนเซรอสที่จางกว่า เลือนหายไปกับหมอกควัน

ตำแหน่งของ NGC2261 อยู่ประมาณตรงกลางระหว่างดาว 13 Mon กับ 15 Mon (เป็นส่วนหนึ่งในกระจุกดาวต้นคริสตมาสหรือ NGC2264) เส้นทางฮอบที่ง่ายที่สุดคือเริ่มจากดาวปลายเท้าของแฝดพอลลักซ์ที่ชื่อดาว ซาย เจมิโนรุม (ξ Gem) แล้วไปที่ 15 mon จากนั้นวางให้ 15 กับ 13 Mon ไว้กลางกล้องเล็ง เราควรจะมองเห็น NGC 2261 ในเลนส์ตาของกล้องดูดาว (ดูแผนที่ด้านล่าง)

ที่กำลังขยาย 33 เท่าของกล้องดูดาวสะท้อนแสงขนาด 8” ผมมองเห็นฝ้าขนาดเล็กด้วยการมองเหลือบและระหว่างการเคลื่อนภาพไปมา เปลี่ยนเลนส์ตาเพิ่มกำลังขยายไปเรื่อยจนพบว่าคืนนั้นที่ 111 เท่าให้ภาพดีที่สุดและไม่ต้องมองเหลือบ ตัวเนบูล่าดูคล้ายดาวหาง เป็นรูปสามเหลี่ยม

ที่ยอดสามเหลี่ยมทางทิศใต้สว่างนวล มีดาวดวงนึงอยู่ภายใน จากดาวตรงยอดสามเหลี่ยมตัวเนบูล่าแผ่กว้างและจางจนละลายหายไปทางทิศเหนือ มีเส้นขอบพุ่งสว่างเป็นแนวกำหนดขอบเขตทั้งทางตะวันตกและตะวันออก แนวขอบทางตะวันออกเป็นเส้นโค้งเล็กน้อย

NGC2261 เป็นอีกออบเจคที่สว่างดูง่ายแม้จะมีขนาดที่เล็กมาก แต่ก็น่าสนใจมากอีกตัวเช่นกัน
ใครอยากลงลึกในรายละเอียดแนะนำที่

http://www.umanitoba.ca/faculties/science/astronomy/cbrown/imaging/hvn/introduction.html



คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Hubble’s Variable Nebula
Catalog number: NGC2261
Type: Nebula
Constellation: Monoceros
Visual Magnitude: +9.19
Apparent Size: 14’x2’
Distance: NA

Coordinates
R.A. 6h 40m 13.64s
Dec. +8° 43’ 51”

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...