เป็นที่ทราบกันดีว่าการขยายตัวของเอกภพกำลังเกิดขึ้นด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น(มีความเร่ง)
อันเนื่องมาจากพลังงานมืด ภายใน
กาแลคซี ดาวฤกษ์เองก็พบกับความเร่ง
แม้ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากผลของสสารมืดร่วมกับความหนาแน่นของดาวเอง
ในการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ใน Astrophysical Journal Letters ขณะนี้นักวิจัยได้ทำการตรวจสอบความเร่งเฉลี่ยที่เกิดขึ้นภายในทางช้างเผือกได้โดยตรงเป็นครั้งแรก
ทีมวิจัยที่นำโดย Sukanya
Chakrabarti จากสถาบันเพื่อการศึกษาชั้นสูง
พร้อมทั้งเพื่อนร่วมงานจากสถาบันเทคโนโลจีแห่งโรเชสเตอร์, มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์
และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอคกี้
ได้ใช้ข้อมูลพัลซาร์ 14 แห่งที่ทราบคาบการหมุนรอบตัวอย่างแม่นยำ
เพื่อจับระดับความเร่งตามแนวรัศมีและแนวตั้งของดาวเหล่านี้ที่อยู่ภายในและภายนอกระนาบกาแลคซี
จากการตรวจสอบที่มีความแม่นยำในระดับสูงครั้งใหม่เหล่านี้ และปริมาณสสารที่มองเห็นได้ที่ทราบแล้วในกาแลคซี
นักวิจัยก็สามารถคำนวณความหนาแน่นของสสารมืดในทางช้างเผือก
ได้โดยไม่ต้องใช้สมมุติฐานที่ว่ากาแลคซีกำลังอยู่ในสถานะคงตัว(steady-state)
นักดาราศาสตร์เคยใช้การเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์วิถีหลัก(main
sequence stars) เพื่อคำนวณความหนาแน่นมวลเฉลี่ยในระนาบกาแลคซีตั้งแต่ปี
1932 แล้ว
แต่ผลสรุปก็ยังแตกต่างขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาใช้ดาวชนิดไหน
เมื่อการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์สเปคตรัมชนิด G(G-type stars ชนิดเดียวกับดวงอาทิตย์) ให้ค่าที่ต่ำกว่าที่ได้จากดาวฤกษ์สว่างสเปคตรัม A
เกือบ 10 เท่า จึงต้องมีบางสิ่งมาใช้ตัดสิน ยิ่งกว่านั้น
การตรวจสอบก่อนหน้าก็พึ่งพาสมมุติฐานว่ากาแลคซีอยู่ในสมดุลในขณะที่เราก็ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การวิเคราะห์ของเราไม่เพียงแต่ช่วยให้เราได้ตรวจสอบความเร่งอันน้อยนิดที่ดาวในกาแลคซีต้องเผชิญ แต่ยังเปิดความเป็นไปได้สู่การขยายงานศึกษานี้เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของสสารมืด และสุดท้ายก็พลังงานมืดในระดับที่ใหญ่ขึ้น Chakrabarti ผู้เขียนนำรายงาน ระบุในแถลงการณ์
ดาววิ่งผ่านกาแลคซีด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที
แต่การศึกษานี้บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงความเร็วของพวกมันกำลังเกิดขึ้นในระดับความเร็วของหอยทาก
คือ ไม่กี่เซนติเมตรต่อวินาที ซึ่งก็พอๆ กับความเร็วในการคลานของเด็กน้อย
เพื่อตรวจจับการเคลื่อนที่เล็กน้อยเช่นนั้น
ทีมวิจัยพึ่งพาความสามารถในการรักษาเวลาอย่างแม่นยำสูงมากของพัลซาร์ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วในระนาบกาแลคซีและฮาโล(halo)
ซึ่งเป็นพื้นที่ทรงกลมประชากรเบาบางที่ล้อมรอบกาแลคซีไว้
Philip Chang จากวิสคอนซิน-มิลวอคกี้ กล่าวว่า
ด้วยการใช้คุณสมบัติอันเป็นอัตลักษณ์ของพัลซาร์
เราก็สามารถตรวจสอบความเร่งอันน้อยนิดในกาแลคซีได้ งานของเราได้เปิดหน้าต่างบานใหม่สู่พลวัตกาแลคซี
ฮาโลหรือกลดดาว ซึ่งแผ่ออกไปราว 3 หมื่นปีแสงจากใจกลางกาแลคซี
อาจจะให้เงื่อนงำสำคัญสู่ความเข้าใจสสารมืดซึ่งมีอยู่ถึง 90% ในมวลรวมกาแลคซี
และกระจุกตัวหนาแน่นมากที่เหนือและใต้ระนาบกาแลคซีที่หนาแน่นด้วยดาว
การเคลื่อนที่ของดาวในพื้นที่พิเศษนี้ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการศึกษา
ก็น่าจะได้รับผลจากสสารมืด
การใช้การตรวจสอบความหนาแน่นท้องถิ่นที่ได้จากการศึกษานี้
นักวิจัยก็สามารถมีมุมมองที่ดีขึ้นว่าจะมองหาสสารมืดได้อย่างไรและที่ใด
ขณะที่การศึกษาก่อนหน้านี้ได้สันนิษฐานสถานะสมดุลกาแลคซี เพื่อคำนวณความหนาแน่นมวลเฉลี่ย
งานวิจัยนี้กลับมีพื้นฐานจากสถานะที่ไม่อยู่ในสมดุลของกาแลคซีตามธรรมชาติ
ซึ่งคล้ายกับการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพื้นผิวของแอ่งน้ำก่อนและหลังจากที่ขว้างก้อนหินลงไป
ด้วยการตรวจสอบ “ระลอก” ทีมก็สามารถได้ภาพแห่งความเป็นจริง แม้ในกรณีนี้ แทนที่จะเป็นหิน
ทางช้างเผือกได้รับอิทธิพลจากความเป็นมาที่ปั่นป่วนจากการควบรวมกาแลคซี
และยังคงถูกรบกวนอย่างต่อเนื่องโดยกาแลคซีแคระที่อยู่ข้างนอกอย่างเมฆมาเจลลันใหญ่และเล็ก
ด้วยเหตุนี้ ดาวจึงไม่ได้มีวงโคจรที่แบนราบ
และดูจะมีเส้นทางที่คล้ายกับแผ่นเสียงไวนิลที่บิดงอ ผุดขึ้นและลงจากระนาบกาแลคซี
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ความพยายามในการสำรวจโดยตรงนี้สำเร็จได้ก็คือการใช้ข้อมูลพัลซาร์ที่ประมวลจากความร่วมมือนานาชาติ
ซึ่งรวมถึง NANOGrav(North American Nanohertz Observatory for
Gravitational Waves) ซึ่งเก็บข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงค์และอาเรสิโบ
รายงานชิ้นสำคัญนี้ต่อยอดมาจากงานของ Jan
H. Oort(1932); John Bahcall(1984); Kuijken & Gilmore(1989); Holmberg &
Flynn(2000); Jo Bovy & Scott Tremaine(2012) เพื่อคำนวณความหนาแน่นมวลเฉลี่ยในระนาบกาแลคซี(ขีดจำกัดออร์ต)
และความหนาแน่นสสารมืดท้องถิ่น นักวิชาการของสถาบันเพื่อการศึกษาชั้นสูง(IAS)
ซึ่งรวมถึง Oort, Bahcall,
Bovy, Tremaine และ Chakrabarti
มีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานวิจัยแขนงนี้
เป็นเวลาหลายศตวรรษที่นักดาราศาสตร์ได้ตรวจสอบตำแหน่งและความเร็วของดาว แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นเพียงชั่วคราวของพฤติกรรมพลวัตอันซับซ้อนของทางช้างเผือก
Scott Tremaine ศาสตราจารย์กิตติคุณที่
IAS กล่าว
ความเร่งที่ Chakrabarti และทีมของเธอได้ตรวจสอบ
นั้นมีสาเหตุโดยตรงมาจากแรงโน้มถ่วงจากสสารในกาแลคซี ทั้งที่ตาเห็นได้และสสารมืด
และจึงให้หน้าต่างบานใหม่ที่สำคัญต่อการกระจายและองค์ประกอบของสสารในกาแลคซีและในเอกภพ
รายงานพิเศษนี้จะช่วยให้เกิดการศึกษาในอนาคตที่หลากหลาย
การตรวจสอบความเร่งอย่างเที่ยงตรงจะสามารถทำได้ในไม่ช้าด้วยการใช้วิธีการความเร็วแนวสายตาที่
Chakrabarti ได้พัฒนาขึ้นเมื่อต้นปี
ซึ่งตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงความเร็วของดาวด้วยความแม่นยำสูง
งานนี้ยังช่วยให้เกิดการทำแบบจำลองเสมือนจริงทางช้างเผือกที่มีรายละเอียดมากขึ้น
พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับสัมพัทธภาพทั่วไป และให้เงื่อนงำสู่การสำรวจหาสสารมืด
การขยายวิธีการนี้สุดท้ายอาจจะช่วยให้เราได้ตรวจสอบความเร่งของเอกภพได้โดยตรง
ด้วยเช่นกัน
ในงานที่เกี่ยวข้องกันซึ่งเผยแพร่ในวารสารฉบับเดียวกัน
Joseph Simon จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด
โบลเดอร์ ใช้การสำรวจการเคลื่อนที่ของพัลซาร์เพื่อมองหาคลื่นความโน้มถ่วงความถี่ต่ำ
ในขณะที่ภาพของกาแลคซีบ้านของเราโดยตรง
ที่คล้ายกับภาพของโลกที่นักบินอวกาศอพอลโลได้ถ่ายไว้ อาจจะยังเป็นไปไม่ได้
แต่การศึกษานี้ก็ให้รายละเอียดใหม่ๆ
เพื่อช่วยเปิดทางสู่การจัดระเบียบพลวัตของกาแลคซีจากภายใน
แหล่งข่าว sciencedaily.com
: measurements of pulsar acceleration reveal Milky Way’s dark side
iflscience.com : pulsars could reveal the
location of the galaxy’s dark matter clumps
No comments:
Post a Comment