การลุกจ้ายักษ์จากพื้นผิวของดาวนิวตรอนที่มีความเป็นแม่เหล็กสุดขั้วอาจจะอธิบายการปะทุรังสีแกมมาบางส่วนที่พบในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
การระเบิดในอวกาศอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเสมอไป
การระเบิดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2020 ได้แสดงว่า การปะทุรังสีแกมมาแบบสั้น
ไม่ใช่ทุกเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจากการชนกันของดาวนิวตรอนอย่างที่นักดาราศษสตร์เคยคิดไว้
แท้จริงแล้วบางส่วนอาจจะเป็นการลุกจ้ายักษ์(giant flares) ที่ทรงพลังน้อยกว่าจากดาวนิวตรอนที่มีความเป็นแม่เหล็กสูงที่เรียกว่า
มักนีตาร์(magnetars) ซึ่งอยู่ใกล้โลกมากกว่า
มักนีตาร์นั้นเป็นดาวนิวตรอนที่มีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยพบมา
โดยมีความแรงเป็นหนึ่งพันเท่าของดาวนิวตรอนปกติและมีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงกว่าสนามแม่เหล็กของโลกได้ถึง
1 ร้อยล้านล้านเท่า
นักดาราศาสตร์ได้พบดาวนิวตรอนที่เป็นแม่เหล็กรุนแรงมากและหมุนรอบตัวค่อนข้างช้าราว
30 ดวงในทางช้างเผือกของเรา
เกือบทั้งหมดสร้างการปะทุรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาพลังงานสูงแบบช่วงๆ
ซึ่งเรียกกันว่า แหล่งสร้างแกมมาแบบอ่อนซ้ำๆ(soft gamma repeater) และระหว่างปี 1979 จนถึง 2004 มีมักนีตาร์สองดวงในทางช้างเผือก(และอีกดวงในเมฆมาเจลลันใหญ่ซึ่งเป็นกาแลคซีบริวารของทางชางเผือก)
ได้สร้างการลุกจ้ายักษ์
ซึ่งเป็นการปะทุรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาพลังงานสูงมากแต่เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ
สว่างเจิดจ้าบนท้องฟ้า เหตุการณ์ล่าสุดที่พบในวันที่ 27 ธันวาคม 2004 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ในชั้นบรรยากาศส่วนบนของโลก
รบกวนเครือข่ายการสื่อสาร แม้ว่าจะเป็นการปะทุจากมักนีตาร์ที่อยู่ไกลออกไป 28000
ปีแสง
การลุกจ้ายักษ์ที่เกิดขึ้นใกล้ๆ 3 ครั้งนี้ทำให้เครื่องตรวจจับรังสีแกมมาบนดาวเทียมอิ่มตัวด้วยรังสี
Victoria Kaspi จากมหาวิทยาลัยแมกกิลล์
กล่าว
การลุกจ้ายักษ์เป็นที่เข้าใจน้อยแต่นักดาราศาสตร์ก็คิดว่าพวกมันเป็นผลจากการจัดเรียงตัวของสนามแม่เหล็กใหม่อย่างฉับพลัน
ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือสนามที่อยู่สูงเหนือพื้นผิวมักนีตาร์อาจจะบิดตัวมากเกินไปจนขาดและปลดปล่อยพลังงานออกมาในทันที
เมื่อมันเรียงตัวสู่สภาพที่เสถียรมากขึ้น อีกทางหนึ่ง
เปลือกของมักนีตาร์ที่มีความเครียดทางกลสูงจนแตก หรือ ดาวไหว(starquake) อาจจะทำให้เกิดการเรียงตัวอย่างฉับพลันได้
แต่ที่ไม่ได้พูดถึงก็คือพวกมันมีพลังงานสูงมาก การปะทุที่เพิ่งสำรวจพบ GRB
200415A ปล่อยพลังงานออกมามากกว่าการชนที่หลุมอุกกาบาตชิคซูลูป(Chicxulub)
ที่กวาดล้างไดโนซอร์จากโลกเมื่อ 66
ล้านปีก่อน ถึง 10 พันล้านล้านเท่า Roberto Turolla จากมหาวิทยาลัยปาโดวา อิตาลี
ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้
ให้ความเห็นว่าเคยมีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปะทุรังสีแกมมาแบบสั้นกลุ่มย่อย
ที่เกี่ยวข้องกับการลุกจ้ายักษ์จากมักนีตาร์มานานแล้ว
และการตรวจจับครั้งนี้ก็เป็นกุญแจที่พิสูจน์ได้ว่าคิดถูก
นักดาราศาสตร์เคยคิดว่าพวกเขารู้จักการปะทุรังสีแกมมา(gamma-ray
burst; GRB) อย่างปรุโปร่ง
พวกที่เกิดการปะทุนานกว่า 2 วินาทีมาจากซุปเปอร์โนวาแบบแกนกลางยุบตัว(core-collapse
supernovae) ของดาวฤกษ์มวลสูงที่หมุนรอบตัวรวดเร็ว
ในขณะที่พวกที่สั้นกว่า 2 วินาทีนั้นมาจากการชนกันของดาวนิวตรอน
นักดาราศาสตร์ยืนยันลำดับเหตุการณ์นี้ได้จาก GRBs แบบสั้นบางส่วนที่เกิดในปี 2017 เมื่อการปะทุเกิดขึ้นตามหลังการมาถึงของคลื่นความโน้มถ่วง(gravitational
waves) ซึ่งเป็นระลอกในกาลอวกาศ
ที่เกิดขึ้นเมื่อดาวนิวตรอนควบรวมกันห่างจากโลกออกไป 130 ล้านปีแสง ทั้งสองแบบพบได้ยากมากๆ
และการปะทุรังสีแกมมาเกือบทั้งหมดก็พบเห็นจากระยะไกลหลายร้อยล้านจนถึงหลายพันล้านปีแสง
เมื่อเทียบแล้ว GRB 200415A มีกำเนิดในกาแลคซีกังหัน NGC 253 หรือกาแลคซีช่างแกะสลัก(Sculptor galaxy) ซึ่งเป็นกาแลคซีที่มีกิจกรรมก่อตัวดาวอย่างคึกคัก(starburst)
ในละแวกใกล้ๆ เพียง 11.4 ล้านปีแสงเท่านั้น
การปะทุนี้มีพฤติกรรมคล้ายกับการลุกจ้ายักษ์บนมักนีตาร์ในทางช้างเผือกของเราอย่างมาก
Kevin Hurley จากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย
เบิร์กลีย์ กล่าวว่า มันเป็นมักนีตาร์แปลงกายมา เราได้เปิดโปงมัน
การลุกจ้ายักษ์ของมักนีตาร์เปล่งพลังงานออกมาน้อยกว่า GRB แบบสั้นที่เกิดจากการควบรวมของดาวนิวตรอนประมาณ 1
ล้านเท่า
แต่เมื่อมองจากระยะค่อนข้างใกล้ ทั้งคู่จึงดูคล้ายกันมากขึ้น
ก็เหมือนกับประทัดที่ระเบิดใกล้ๆ อาจจะดังพอๆ กับการระเบิดจากที่ไกล
ผลสรุปใหม่นี้นำเสนอในการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 237 แบบเสมือนจริง และเป็นรายงานสามฉบับ สองฉบับใน Nature
และอีกฉบับใน Nature
Astronomy
แม้ว่า GRBs แบบสั้นส่วนใหญ่จะมาจากการควบรวมของดาวนิวตรอน
แต่นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ก็มักจะตระหนักว่าการลุกจ้าจากมักนีตาร์ใกล้ๆ
ที่มีพลังน้อยกว่า ก็น่าจะสร้าง GRB บางส่วนขึ้นได้
Hurley อธิบาย นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ
1970 เป็นต้นมา Hurley
ได้ดำเนินงาน InterPlanetary
Network(IPN) ซึ่งเป็นความพยายามเจาะข้อมูลที่เก็บได้จากยานต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันมี 5 ลำ
ได้พบการปะทุรังสีแกมมาราว 325 เหตุการณ์ต่อปี
เพื่อหวังที่จะพบการลุกจ้ายักษ์และเครือข่ายก็จับการลุกจ้าได้ในวันที่ 15 เมษายน
ในวันที่ 15 เมษายน 2020 ก่อนเวลา 4.42 นาฬิกาตามเวลาฝั่งตะวันออก
มีการปะทุรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาเป็นเวลาสั้นๆ กวาดผ่านดาวอังคาร
ทำให้อุปกรณ์ตรวจจับนิวตรอนพลังงานสูงของรัสเซียบนยาน มาร์ส โอดิสซี(Mars
Odyssey) ของนาซาซึ่งอยู่ในวงโคจรรอบดาวอังคารมาตั้งแต่
2001 เกิดปฏิกิริยา
หลังจากนั้น 6.6 นาที
การปะทุก็มาถึงเครื่องมือ Konus ของรัสเซียบนดาวเทียมวินด์ของนาซา
ซึ่งโคจรที่จุดหนึ่งที่อยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ห่างออกไปราว 1.5 ล้านกิโลเมตร และอีก 4.5 วินาทีต่อมา การแผ่รังสีก็มาถึงโลก
ทำให้เครื่องมือบนกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีแกมมาเฟอร์มีของนาซา
เช่นเดียวกับดาวเทียม INTEGRAL ขององค์กรอวกาศยุโรป
และอุปกรณ์ ASIM(Atmosphere-Space Interactions Monitors) บนสถานีอวกาศนานาชาติ ได้บันทึกเหตุการณ์
การตรวจจับ GRB 200415A โดยปฏิบัติการเฟอร์มี่, วินด์, มาร์ส โอดิสซี และสวิฟท์ ได้สร้างแถบตำแหน่งที่เป็นไปได้ และแถบเหล่านี้ก็ไปตัดกันในพื้นที่ใจกลางของกาแลคซีช่างแกะสลัก(NGC 253)
การวิเคราะห์ข้อมูลจาก BAT(Burst Alert
Telescope) บนดาวเทียมสวิฟท์ได้ให้เงื่อนงำเพิ่มเติมจากเหตุการณ์
ข้อมูลแสดงว่าจังหวะการแผ่รังสีคงอยู่เพียง 140 มิลลิวินาทีเท่านั้น เร็วพอๆ กับที่กระพริบตา 1
ครั้ง ปฏิบัติการเฟอร์มี่, สวิฟท์,
วินด์, มาร์ส โอดิสซี และ INTEGRAL ได้ร่วมระบุตำแหน่ง
GRB 200415A ในพื้นที่ใจกลางของ
NGC 253 ซึ่งเป็นกาแลคซีกังหันสว่างแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป
11.4 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวช่างแกะสลัก(Sculptor)
นี่เป็นการระบุตำแหน่งบนท้องฟ้าที่แม่นยำที่สุดเท่าที่เคยทำกับมักนีตาร์ที่อยู่ไกลกว่าเมฆมาเจลลันใหญ่(Large
Magellanic Cloud) ซึ่งเป็นกาแลคซีบริวารของทางช้างเผือก
และเคยเกิดการลุกจ้ายักษ์ในปี 1979 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตรวจพบด้วย
นี่เป็นการระบุตำแหน่งมักนีตาร์นอกทางช้างเผือกที่แม่นยำที่สุดเท่าที่เคยทำมา
ไม่เพียงแต่ระบุกาแลคซีได้
แต่ยังเป็นส่วนของกาแลคซีที่เราคาดว่าจะมีการก่อตัวดาวเกิดขึ้นและดาวก็ระเบิดอยู่
ซึ่งก็เป็นสถานที่ที่น่าจะเกิดซุปเปอร์โนวาและสร้างมักนีตาร์ขึ้นด้วยเช่นกัน
การปะทุยักษ์จากมักนีตาร์ในทางช้างเผือกและกาแลคซีบริวารเกิดขึ้นในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์
โดยมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตามมาด้วยการเปล่งคลื่นที่ปั่นป่วนที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอและลากยาวหลายวินาที
ซึ่งความปั่นป่วนนี้เป็นผลจากการหมุนรอบตัวของมักนีตาร์
ซึ่งจะนำตำแหน่งที่ลุกจ้าเข้าและออกจากแนวสายตาจากโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก
เหมือนกับประภาคารอย่างไม่ผิดเพี้ยน
การสำรวจการปั่นป่วนที่เกิดขึ้นลากยาวนี้เองที่เป็นหลักฐานระบุการลุกจ้ายักษ์
เมื่อมองจากที่ไกลหลายล้านปีแสง
การเปล่งคลื่นนี้ก็มืดเกินกว่าจะตรวจจับได้ด้วยเครื่องมือในปัจจุบัน
เนื่องจากสัญญาณจะหายไป และการลุกจ้ายักษ์ในกาแลคซีใกล้ๆ
ก็อาจแลดูคล้ายกับการปะทุรังสีแกมมาที่เกิดขึ้นจากการควบรวมในระยะทางที่ไกลกว่ามาก
ได้
การสำรวจเผยให้เห็นจังหวะหลายช่วง โดยจังหวะแรกปรากฏในเวลาเพียง
77 มิลลิวินาที
ประมาณ 13 เท่าของความเร็วแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป
และเร็วเกือบร้อยเท่าของ GRBs ที่เร็วที่สุดที่เกิดจากการควบรวม
GBM ยังตรวจจับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับพลังงานตลอดการลุกจ้าอย่างที่ไม่เคยสำรวจพบมาก่อน
ในสามกรณีก่อนหน้านี้ GRBs แบบสั้นดูเหมือนจะมาจากกาแลคซีใกล้ๆ(M81,
M31 และ M83) การโต้แย้งทางสถิติได้แสดงว่ามีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่การปะทุแบบสั้นทั้งหมด
แท้จริงแล้วเป็นมักนีตาร์แปลงตัวมา แต่ขณะนี้ GRB 200415A ก็เป็นกรณีที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่สรุป
บางทีอาจจะไม่ใช่กระทั่งควันปืนเลยด้วยซ้ำ Kaspi ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ให้ความเห็น
แต่อย่างน้อยก็เป็นรอยนิ้วมือที่ชัดเจนในเหตุฆาตกรรม
นักดาราศาสตร์เองก็อยากเห็นข้อสรุปในเหตุการณ์นี้
อย่างที่ทำได้กับมักนีตาร์สามดวงที่อยู่ใกล้กว่า ซึ่งในกรณีเหล่านั้นเผยให้เห็นสัญญาณที่แผ่วลงอย่างช้าๆ
ซึ่งเปิดเผยอัตราการหมุนรอบตัวที่ค่อนข้างช้าของวัตถุ อย่างไรก็ตาม
ในระยะทางที่ข้ามกาแลคซี สัญญาณนี้จะสลัวเกินกว่าจะเห็นได้
โชคดี Ersin Gogus จากมหาวิทยาลัยซาบันชิ ตุรกี
ผู้นำร่วมทีมที่รวบรวมข้อมูลที่ไม่เคยได้จากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้
ซึ่งเป็นเพราะการลุกจ้านี้เกิดขึ้นไกลมากพอ และสลัวมากพอ จึงไม่ทำให้ GBM บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีแกมมาเฟอร์มีของนาซา
หรือ BAT บนดาวเทียมสวิฟท์
ต้องอิ่มตัวด้วยรังสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gogus บอกว่าการตรวจจับจากเฟอร์มี่เป็นโฟตอนรังสีแกมมาพลังงานสูงกว่าการปะทุเริ่มต้นที่ระหว่าง
19 วินาทีถึง 4.7
นาทีหลังจากเหตุการณ์
เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ
ข้อมูลได้แสดงหลักฐานบางอย่างของการไหวสะเทือนในระหว่างการปะทุ นักวิจัยบอกว่าดาวไหวนี้ไม่เพียงแต่ปลดปล่อยแสงวาบรังสีแกมมาออกมา แต่ยังทำให้เปลือกมักนีตาร์ร้อนจัด เมื่อดาวหมุนรอบตัว เปลือกที่ร้อนจัดก็จะปรากฏเป็นเหมือนแสงลุกจ้าสว่างซึ่งจะมืดลงเมื่อพื้นผิวเย็นตัวลง นักวิจัยบอกว่าการเปล่งคลื่นเกิดขึ้นจากกลุ่มเมฆอิเลคตรอนและโพสิตรอนที่ถูกผลักออกมาในระหว่างดาวไหวเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 99% ความเร็วแสง การเปล่งคลื่นที่เกิดเป็นเวลาสั้นและความสว่างและพลังงานที่เปลี่ยนแปลงของมันสะท้อนให้เห็นการหมุนรอบตัวของมักนีตาร์ ซึ่งเปิดปิดเหมือนกับไฟหน้ารถที่เปิดไฟเลี้ยว
LAT ของเฟอร์มี่ตรวจจับรังสีแกมมา 3 เหตุการณ์ ที่มีพลังงาน 480 Me V, 1.3 พันล้านอีวี(หรือ กิกะอิเลคตรอนโวลท์; Ge V) และ 1.7 Ge V ซึ่งเป็นแสงพลังงานสูงที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบจากการลุกจ้ายักษ์ของมักนีตาร์
สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือรังสีแกมมาทั้งหมดปรากฏยาวนานหลังจากการลุกจ้าหายไปจากการตรวจจับของเครื่องมืออื่น Nicola Omodei จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
สมาชิกทีมเฟอร์มี
บอกว่าสัญญาณเหล่านั้นอาจจะถูกสร้างขึ้นเมื่อก้อนเมฆอนุภาคมีประจุ(หรือพลาสมา)
ที่หลุดออกจากพื้นผิวมักนีตาร์ ชนเข้ากับคลื่นกระแทกรูปโบว์(bow shock) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมักนีตาร์เคลื่อนที่ผ่านห้วงอวกาศ
เมื่อเกิดดาวไหว
มักนีตาร์สร้างกระแสอนุภาคมีประจุไหลออกที่เคลื่อนที่ใกล้เคียงความเร็วแสง
เมื่อมันเคลื่อนที่ผ่านอวกาศ กระแสไหลนี้จะไถก๊าซในห้วงอวกาศที่เบาบางกว่าจะสะสมและร้อนขึ้นและถูกบีบอัด
และสร้างคลื่นกระแทกรูปโบว์ ลำดับเหตุการณ์ที่ทีม LAT เสนอก็คือ การเปล่งรังสีแกมมาเริ่มต้น จากการลุกจ้ายักษ์นี้
เดินทางออกมาด้วยความเร็วแสง
ตามมาด้วยเมฆวัสดุสารที่ถูกผลักออกมาซึ่งก็เคลื่อนที่เร็วใกล้เคียงกัน หลังจาก 4
วันผ่านไป
พวกมันทั้งคู่ก็มาถึงคลื่นกระแทกรูปโบว์ รังสีแกมมาผ่านทะลุไปได้
ในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา
กลุ่มเมฆอนุภาคซึ่งขณะนี้ขยายตัวจนเป็นเปลือกที่บางแต่มีขนาดใหญ่โต
จะชนกับก๊าซที่สะสมอยู่ที่รูปโบว์ ปฏิสัมพันธ์สร้างคลื่นกระแทกที่เร่งอนุภาค
สร้างรังสีแกมมาพลังงานสูงที่สุดหลังจากการปะทุหลักเกิดขึ้นแล้วแล้ว 19 วินาที
รังสีแกมมาจากคลื่นกระแทกนี้มีพลังงานสูงกว่ารังสีแกมมาจากการปะทุหลักด้วยซ้ำ
นับตั้งแต่เฟอร์มี่ออกสู่อวกาศในปี 2008
มันก็ไม่เคยได้เห็นถ้ามีองค์ประกอบพลังงานสูงลักษณะนี้
เกี่ยวข้องกับการลุกจ้าจากมักนีตาร์ใกล้ๆ ทั้งสามเหตุการณ์ก่อนหน้านี้
การเปล่งพลังงานระดับกิกะอีวี แน่นอนว่าจะเป็นที่จับตามองในการสำรวจการลุกจ้ายักษ์ในอนาคต
ทั้งในทางช้างเผือกและในกาแลคซีใกล้ๆ Gogus กล่าว
และถ้า GRBs แบบสั้นกลุ่มน้อยๆ
แท้จริงแล้วเป็นการลุกจ้ายักษ์จากมักนีตาร์ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ยากมากๆ
จริง จำนวนของมักนีตาร์ในเอกภพก็จะต้องสูงมากๆ Kenzie Nimmo จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม กล่าว
เธอบอกว่าบางทีการสร้างมักนีตาร์ขึ้นมาสักดวงอาจจะมีมากกว่าหนึ่งวิธี
แต่แน่นอนว่านี่ต้องขึ้นอยู่กับอัตราการลุกจ้ายักษ์ด้วยซึ่งเราก็ยังไม่ทราบ
การคาดเดาจำนวนประชากรมักนีตาร์จากการลุกจ้ายักษ์นั้นไม่ใช่เรื่องดี
เพราะมักนีตาร์ทุกดวงจะมีการลุกจ้ายักษ์หรือไม่
หรือมักนีตาร์จะมีการลุกจ้ายักษ์ได้หลายรอบหรือไม่ เราก็ยังไม่ทราบ
แต่ปริศนาประการหนึ่งที่สรุปได้ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างการลุกจ้ายักษ์ของมักนีตาร์
กับการปะทุคลื่นวิทยุเร็ว(fast radio bursts; FRBs) ในวันที่ 27 เมษายน 2020 มักนีตาร์ในทางช้างเผือกดวงหนึ่งซึ่งเรียกว่า SGR
1935+2154 ได้เกิดการปะทุคลื่นวิทยุที่สั้นเพียงระดับมิลลิวินาที
ในลักษณะที่คล้ายกับที่สำรวจพบเหตุการณ์จากทั่วท้องฟ้า Jason Hessels ผู้เชี่ยวชาญ FRBs จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า
ก็สมเหตุสมผลที่การลุกจ้ายักษ์ของมักนีตาร์ในระยะทางข้ามกาแลคซี
ก็อาจจะสร้างแสงวาบคลื่นวิทยุที่มีความสว่างใกล้เคียงกับความสว่างของ FRB มันก็คงดีถ้ากล้องวิทยุสักตัวได้มองไปที่ทิศทางของ
GRB 200415A แม้ว่า
แสงวาบวิทยุน่าจะเป็นลำและไม่ได้หันมาที่โลก
Gogus เห็นด้วยว่า (มักนีตาร์)
มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างการปะทุรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาที่ทรงพลัง
เช่นเดียวกับการปะทุคลื่นวิทยุเร็ว แต่จาก Kaspi บอกว่าการปะทุคลื่นวิทยุเร็วไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับ
“ดาวไหว” บนพื้นผิวมักนีตาร์ พวกมันน่าจะถูกสร้างขึ้นในชั้นมักนีโตสเฟียร์(magnetosphere)
ของวัตถุมากกว่า Nimmo เองก็เห็นด้วยว่าเป็นไปได้ที่กลไกที่อยู่เบื้องหลังการลุกจ้ายักษ์
และการปะทุคลื่นวิทยุเร็ว จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เมื่อยังมีความคลาดเคลื่อนมากมาย
นักวิทยาศาสตร์จึงได้แค่หวังว่าจะมีเหตุการณ์การระเบิดพลังมาให้ศึกษาได้ดีกว่านี้ด้วยเครื่องมือที่ไวมากกว่านี้
สมาชิกทีม Eric Burns จากมหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตท
เฝ้ารอปฏิบัติการรังสีแกมมา StarBurst ซึ่งเพิ่งถูกเลือกเพื่อพัฒนาแนวความคิดในโครงการใหม่ของนาซา
Astrophysics Pioneers program สำหรับปฏิบัติการขนาดเล็ก
สตาร์เบิร์สน่าจะตรวจจับการลุกจ้ายักษ์จากมักนีตาร์ได้สักสองหรือสามครั้งต่อปี
การศึกษา GRB 200415A จะกลายเป็นรากฐานสำหรับงานวิจัยในอนาคตอย่างแท้จริง
Burns กล่าว
phys.org : astronomers find signature of magnetar outbursts in nearby galaxies
space.com : powerful cosmic eruptions traced to brilliant “magnetar” in nearby galaxy
No comments:
Post a Comment