นักดาราศาสตร์กำลังใช้วงปีต้นไม้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์แสดงกิจกรรมสุริยะ
และพวกเขาพบว่าดวงอาทิตย์ในอดีตเคยเปี่ยมด้วยกิจกรรมมากกว่านี้
ดวงอาทิตย์ของเราไม่ได้เป็นแหล่งแสงที่ซื่อตรงคงที่อย่างที่มันแสดงให้เห็น
กิจกรรมสุริยะแปรเปลี่ยนด้วยวัฏจักรสุริยะซึ่งเกิดขึ้นในประมาณ 11 ปี
ซึ่งสังเกตได้ง่ายที่สุดจากจำนวนจุดดับดวงอาทิตย์(sunspots) ที่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างเป็นคาบเวลาแน่นอน
ยิ่งมีจุดดับมากเท่าใด ก็มีความปั่นป่วนภายในดวงอาทิตย์มากขึ้นตามไปด้วย
แม้ว่านักดาราศาสตร์ชาวเจอรมัน Samuel
Heinrich Schwabe ได้ค้นพบวัฏจักรสุริยะในศตวรรษที่
19 แต่การสำรวจจุดดับดวงอาทิตย์ก็มีมาตั้งแต่เมื่อประมาณ
400 ปีก่อนโดย
กาลิเอโอ กาลิเลอิ
และสามารถตามรอยวัฏจักรสุริยะย้อนกลับไปได้จนถึงการสำรวจในช่วงแรก
จุดดับดวงอาทิตย์ในช่วงที่ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมต่ำสุด(minima)
เทียบกับช่วงที่มีกิจกรรมสูงสุด(maxima)
ในภาพช่วงตาเห็นจากหอสังเกตการณ์
Solar Dynamics Observatory ของนาซา
เน้นความแตกต่างจำนวนจุดดับ
ขณะนี้
ทีมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีฐานที่สวิตเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการสร้างบันทึกวัฏจักรชวาเบที่นาน
11 ปีขึ้นได้ใหม่ย้อนกลับไปได้ถึงปี
คศ 969 โดยใช้ร่องรอยดวงอาทิตย์ที่บันทึกไว้ในต้นไม้โบราณบนโลก
แม้วัฏจักรชวาเบ 11 ปีจะเป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรที่ยาวนานกว่านั้น
รายงานของทีมที่นำโดย Hans-Arno Synal และ Lukas
Wacker จากห้องทดลองฟิสิกส์ลำแสงไอออน
สถาบันเทคโนโลจีกลางแห่งสมาพันธรัฐสวิสที่ซือริค(ETH Zürich) รวมทั้งนักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยระบบสุริยะในเกิตทิงเงน
และมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดน ปรากฏใน Nature Geoscience
วงปีต้นไม้ได้ให้บันทึกสภาพแวดล้อมในอดีตที่ผ่านมาของโลก
ต้นไม้สร้างวงใหม่ทุกๆ ปี ความหนาของวงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและสภาพภูมิอากาศโดยรวม
ด้วยการระบุวงปีเข้ากับปีที่จำเพาะ
นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถศึกษาว่าภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร Nocolas
Brehm จาก ETH
Zürich และเพื่อนร่วมงานได้ใช้ตัวอย่างต้นไม้ที่ตัด
บางส่วนก็พบเป็นวัสดุก่อสร้างในตึกเก่าแก่ในอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์
เพื่อสร้างผลกระทบที่แปรเปลี่ยนจากดวงอาทิตย์ที่มีต่อดาวเคราะห์ของเรา
โดยการตรวจสอบองค์ประกอบคาร์บอน-14 ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสี
บนโลกมีต้นไม้ที่อายุยืนมากๆ
หนึ่งในนั้นก็คือต้นสนบริสเติลโคน(bristlecone pinetree) ในคาลิฟอร์เนียต้นหนึ่งที่มีชื่อว่า เมธูเซลาห์(Methuselah)
ซึ่งคิดกันว่ามีอายุถึง 5000 ปี แต่สำหรับการศึกษานี้
ไม่จำเป็นต้องไปโค่นต้นไม้โบราณที่ยังมีชีวิตเหล่านั้น แต่นักวิจัยตรวจสอบแผ่นไม้โบราณที่ใช้ในอาคารอย่างโบสถ์แอบบี้แห่งเซนต์อัลบาน(Abbey
Church of St Alban) เฮิร์ตฟอร์ดไชร์
สหราชอาณาจักร ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 11 ทีมได้ใช้แผ่นไม้ที่แตกต่างกัน 13 แผ่นจากอาคาร 11 แห่งในสหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์
คาร์บอน-14 หรือคาร์บอนกัมมันตรังสี มีนิวตรอน 14 ตัวเป็นอะตอมคาร์บอนที่พบได้ยาก
จากอะตอมคาร์บอนปกติที่มีนิวตรอน 12 ตัว
เนื่องจากนิวตรอนที่เพิ่มขึ้นมา
นิวเคลียสที่หาได้ยากกว่าจึงสลายตัวกลายเป็นไนโตรเจนด้วยครึ่งชีวิต(half-life)
5730 ปี
คาร์บอนกัมมันตรังสีมีอยู่บนโลกก็เพราะอนุภาคทรงพลังจากดวงอาทิตย์กำลังชนกับอะตอมไนโตรเจนในชั้นบรรยากาศส่วนบนของโลกอย่างคงที่
เปลี่ยนไนโตรเจนเป็นคาร์บอนกัมมันตรังสี คาร์บอน-14 ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่จะถูกดึงมาสร้างคาร์บอนไดออกไซด์และสุดท้ายก็ถูกดูดซับโดยพืชหรือสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่
ตราบเท่าที่สิ่งมีชีวิตยังมีชีวิตอยู่ อัตราส่วนคาร์บอนกัมมันตรังสีต่อคาร์บอนปกติ
ก็จะคงที่ที่ประมาณ 1 ส่วนต่อหนึ่งพันล้านส่วน
แต่เมื่อตายลง คาร์บอนกัมมันตรังสีจะเริ่มสลายตัว ดังนั้น
นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถตรวจสอบปริมาณของมันเพื่อหาอายุสสารอินทรีย์เหล่านี้ได้
Brehm และเพื่อนร่วมงานใช้วิธีนี้จนถึงแก่น ตอนแรก
พวกเขาตรวจสอบอายุของตัวอย่างแต่ละอัน, ทีละวงแหวน โดยใช้บันทึกวงปีต้นปีที่มีอยู่
จากนั้น เมื่อทราบอายุที่แน่นอนของวงปีแต่ละปีในตัวอย่าง ก็ระบุให้ได้ว่ามีคาร์บอน-14
ในชั้นบรรยากาศที่วงปีแต่ละวงโตขึ้นมากแค่ไหน
และปริมาณของคาร์บอน-14 เปลี่ยนแปลงในแต่ละปีอย่างไร
วงปีต้นไม้ควรจะมีปริมาณคาร์บอน-14 ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของดวงอาทิตย์(โดยอ้อม)
กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมสูง สนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์และลมสุริยะ(solar
wind) ก็จะรุนแรงมากขึ้น
ซึ่งจะปกป้องโลกจากรังสีคอสมิคจากกาแลคซีซึ่งจะสร้างธาตุกัมมันตรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อกิจกรรมสุริยะลดต่ำ ก็เช่นกันกับเกราะป้องกัน
และจะมีอนุภาครังสีคอสมิคมาถึงโลกได้มากขึ้น
กิจกรรมสุริยะที่สูงขึ้น(ตามที่ตรวจสอบจากจำนวนจุดดับดวงอาทิตย์)
ก็น่าจะส่งผลให้สร้างคาร์บอน-14 ในปริมาณที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม
ผลของดวงอาทิตย์ต่อการสร้างคาร์บอน-14 นั้นเล็กน้อยมากๆ
และระดับสัญญาณกวนที่เกิดจากอากาศก็อยู่ในระดับเดียวกับสัญญาณการสร้างคาร์บอน-14
จากดวงอาทิตย์ด้วย
ความพยายามก่อนหน้านี้โดยทีมอื่นจึงได้ผลที่สรุปไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น คาร์บอน-14
ในความเข้มข้นต่ำมากๆ
ก็ต้องการตัวอย่างแก่นไม้จำนวนมาก
และปริมาณที่มากก็ต้องใช้เวลาเพื่อตรวจสอบมากตามไปด้วย
เพื่อให้ครอบคลุมช่วงเวลาสหัสวรรษ(จาก คศ 969 จนถึง 1933) ก็น่าจะต้องใช้เวลามากเกินไปถ้าทำการวิเคราะห์ในแนวทางเดิมๆ
ดังนั้น
ทีมจึงมองหาทางออกใหม่โดยแทนที่จะตรวจสอบระดับกัมมันตภาพรังสีที่คาร์บอน-14
สลายตัว
พวกเขานับอะตอมโดยตรงด้วยสเปคโตรมิเตอร์มวลเครื่องเร่งอนุภาค(accelerator mass
spectrometer) ซึ่งจะระเหยตัวอย่างเพื่อให้อะตอมแตกตัวเป็นไอออน
จากนั้นก็ใช้สนามแม่เหล็กเพื่อเร่งความเร็วอนุภาคไอออนและแยกมันออกตามมวล
คาร์บอนทั้งสองไอโซโทปมีมวลแตกต่างกันจึงหักเหด้วยองศาที่แตกต่างกัน
และจึงสามารถแยกแยะและนับได้
นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถใช้ตัวอย่างกลุ่มเล็กกว่า(จากรูที่เจาะหนาเพียงระดับมิลลิเมตร),
เร่งกระบวนการวิเคราะห์ และเข้าถึงระดับความแม่นยำที่ต้องการที่ 0.1% ผลสรุปวิเคราะห์ตัวอย่างมากเป็นสองเท่าของที่เคยทำการวิเคราะห์คาร์บอน-14
ในแต่ละปีมาทั้งหมด
ด้วยการจับอัตราการสร้างคาร์บอน-14 กับกิจกรรมสุริยะตลอดช่วง
400 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถขยายบันทึกกิจกรรมสุริยะไปถึงช่วงเวลาก่อนการคิดค้นกล้องโทรทรรศน์ได้
ในช่วงเวลาที่มีกิจกรรมสุริยะลดลงอย่างยาวนาน อัตราการสร้างคาร์บอน-14
ก็สูงขึ้นตามคาดไว้ กล่าวคือ
ช่วงเวลาที่ไม่ค่อยพบจุดดับดวงอาทิตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกิจกรรมต่ำสุด(minima)
ที่ Spörer, Maunder และ Dalton ได้สำรวจ ก็ปรากฏชัดเจนในบันทึกวงปีต้นไม้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ยังได้จำแนกพบการสร้างคาร์บอนกัมมันตรังสีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
3 ช่วง
ซึ่งพวกเขาเชื่อมโยงกับกิจกรรมการปะทุของดวงอาทิตย์ที่พิเศษในปี 993, 1052 และ 1279 ครั้งแรกนั้นถูกพบและเผยแพร่ในปี
2013 จากการวิเคราะห์วงปีต้นไม้งานอื่น
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อโปรตอนที่ดวงอาทิตย์เปล่งออกมาถูกเร่งความเร็วจนสามารถทะลุผ่านสนามแม่เหล็กของโลก
และเป็นสาเหตุให้ก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกแตกตัวเป็นไอออน เป็นครั้งแรกที่ได้พบเหตุการณ์ลักษณะนี้
และอาจจะบ่งชี้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ถี่กว่าที่คิดไว้ ขณะนี้ ด้วยเหตุการณ์ที่พบในการศึกษานี้
ก็ดูเหมือนจะมีความเป็นไปไม่ได้ในทางสถิติที่จะมีต้นเหตุเป็นสิ่งอื่นนอกเหนือจากดวงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม
ทั้งสามเหตุการณ์ดูจะมีกำเนิดจากการปะทุของดวงอาทิตย์ซึ่งรุนแรงกว่าอย่างมาก
หรืออย่างน้อยก็แตกต่างจากการปะทุครั้งใหญ่ๆ จากดวงอาทิตย์ที่สำรวจในยุคใหม่นี้
ซึ่งรวมถึงครั้งที่มีชื่อเสีย(ง) คือ เหตุการณ์คาร์ริงตัน(Carrington
event) ในปี 1859
ซึ่งการปะทุในปี 1859 กลับไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ ในบันทึกคาร์บอน-14
แทบจะดูราวกับว่าดวงอาทิตย์ของเรามีสองบุคลิกภาพ
โดยใช้เวลาเกือบทั้งหมดเป็นแบบพี่ชายใจดี
ที่ปกป้องเราจากอนุภาคทรงพลังที่วิ่งไปทั่วกาแลคซี
แต่บางครั้งก็เปลี่ยนเป็นไอ้ตัวร้าย ที่ฟาดอนุภาคของมันใส่เราในตอนที่เราเผลอ งานวิจัยนี้จึงช่วยขยายบันทึกกิจกรรมของดวงอาทิทตย์กินเวลานานกว่าที่เคยเข้าถึงได้
มันยังให้การประเมินที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ดวงอาทิตย์จะมีการปะทุที่อันตราย
สมาชิกทีม Lukas Wacker จาก ETH
Zurich บอกว่าทีมกำลังขยายขอบข่ายการวิเคราะห์ออกไปอีก
ข้อมูลวงปีต้นไม้ที่ตรวจอายุได้แล้วมีไปถึงช่วง 12000 ปี
และก็ควรจะมีหลักฐานที่สนับสนุนการปะทุจากดวงอาทิตย์ในประวัติศาสตร์อื่นๆ ด้วย นักวิจัยหวังว่าจะใช้วิธีการนี้เพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของคาร์บอน-14
ในไม้อายุหมื่นปีที่กลายเป็นฟอสซิลนั้น
ซึ่งจะช่วยพวกเขาให้สร้างประวัติกิจกรรมสุริยะย้อนกลับไปถึงยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด(last
ice age) ได้
แหล่งข่าว skyandtelescope.com
: tree rings help reconstruct a millennium of the Sun’s activity
sciencealert.com : clues
on 1000 years of the Sun’s turbulent activity are hidden in Earth’s trees
sciencedaily.com : solar
activity reconstructed over a millennium
No comments:
Post a Comment