ดาวฤกษ์ชนิดแคระแดง TRAPPIST-1 เป็นที่อยู่ของดาวเคราะห์ขนาดพอๆ กับโลกกลุ่มใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในระบบดาวเคราะห์แห่งเดียว ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 40 ปีแสง พิภพหินทั้งเจ็ดได้ให้ตัวอย่างหนึ่งในความหลากหลายของระบบดาวเคราะห์ที่น่าจะพบได้ในเอกภพ
การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ใน Planetary
Science Journal ได้แสดงว่าดาวเคราะห์ใน
TRAPPIST-1 มีความหนาแน่นที่ใกล้เคียงกันอย่างน่าประทับใจ
นี่อาจจะหมายความว่าพวกมันทั้งหมดมีอัตราส่วนวัสดุสารที่คิดว่าประกอบอยู่ในดาวเคราะห์หินเกือบทั้งหมด
เช่น เหล็ก, ออกซิเจน, มักนีเซียม และซิลิกอน เท่าๆ กัน และถ้าเป็นกรณีนี้
อัตราส่วนนี้ก็จะต้องแตกต่างจากอัตราส่วนของโลกอย่างเห็นได้ชัด ดาวเคราะห์ของ TRAPPIST-1
มีความหนาแน่นต่ำกว่าองค์ประกอบในโลกประมาณ
8% จากข้อสรุปนี้
ผู้เขียนรายงานตั้งสมมุติฐานว่าคงมีองค์ประกอบที่ผสมในอัตราส่วนที่ต่างกันเล็กน้อยซึ่งทำให้ดาวเคราะห์ของ
TRAPPIST-1 มีความหนาแน่นอย่างที่ตรวจสอบได้
ดาวเคราะห์เหล่านี้บางส่วนถูกพบตั้งแต่ปี 2016
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศว่าพวกเขาได้พบดาวเคราะห์
3 ดวงรอบ TRAPPIST-1
โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ TRAPPIST(Transiting
Planets and Planetesimals Small Telescope) ในชิลี
การสำรวจต่อมาโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซาที่ปลดเกษียณแล้ว
ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน ได้ยืนยันดาวเคราะห์สองในสามดวง
และพบดาวเคราะห์เพิ่มอีก 5 ดวง
สปิตเซอร์ซึ่งดำเนินงานโดยห้องทดลองไอพ่นขับดัน(JPL) ของนาซาในพาซาดีนา ได้สำรวจระบบนี้กว่า 1000
ชั่วโมงก่อนที่จะปลดประจำการในเดือนมกราคม
2020 กล้องฮับเบิลและกล้องเคปเลอร์ซึ่งเกษียณแล้วเช่นกัน
ก็ได้ศึกษาระบบแห่งนี้
ดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดดวงของ TRAPPIST-1
ทั้งหมดอยู่ใกล้ชิดดาวฤกษ์แม่อย่างมากจนพวกมันน่าจะแออัดอยู่ในวงโคจรดาวพุธได้ทั้งหมด
ก็ถูกพบผ่านวิธีการผ่านหน้า(transit method) เมื่อนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเห็นดาวเคราะห์ได้โดยตรง(พวกมันมีขนาดเล็กเกินปและสลัวเกินไปเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์แม่)
ดังนั้น พวกเขาจึงมองหาการมืดหรี่ลงในแสงสว่างจากดาวฤกษ์แม่
ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีดาวเคราะห์เคลื่อนที่ผ่านหน้ามัน
การสำรวจแสงดาวฤกษ์ที่หรี่ลงซ้ำๆ
ร่วมกับการตรวจสอบช่วงเวลาการโคจรของดาวเคราะห์
ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ประเมินมวลและเส้นผ่าศูนย์กลางของดาวเคราะห์ได้
ซึ่งก็จะใช้เพื่อคำนวณความหนาแน่นของพวกมันได้
การคำนวณก่อนหน้านี้บอกว่าดาวเคราะห์มีขนาดและมวลพอๆ กับโลก และจึงจะต้องเป็นหิน(terrestrial)
แทนที่จะเป็นดาวเคราะห์ที่อุดมไปด้วยก๊าซอย่างดาวพฤหัสฯ
และดาวเสาร์
รายงานฉบับใหม่ได้ให้การตรวจสอบความหนาแน่นที่แม่นยำที่สุดเท่าที่ทำกับดาวเคราะห์นอกระบบกลุ่มใดๆ
มา
ยิ่งนักวิทยาศาสตร์ทราบความหนาแน่นของดาวเคราะห์แม่นยำมากขึ้นเพียงใด ก็จะสามารถกำหนดองค์ประกอบของพวกมันได้แคบลงเท่านั้น
ความหนาแน่นของดาวเคราะห์ทั้งแปดในระบบของเรานั้นแตกต่างอย่างกว้างขวาง
ดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่ปุกปุยคือ ดาวพฤหัสฯ, ดาวเสาร์, ยูเรนัส และเนปจูน
มีขนาดใหญ่กว่าและหนาแน่นน้อยกว่า ดาวเคราะห์หินทั้งสี่ เนื่องจากพวกมันประกอบด้วยธาตุเบาเช่น
ไฮโดรเจนและฮีเลียมเกือบทั้งหมด
แม้แต่พิภพหินวงในทั้งสี่ก็มีความหนาแน่นที่แตกต่างกันด้วย
ซึ่งกำหนดโดยทั้งองค์ประกอบและการบีบตัวของดาวเคราะห์อันเนื่องจากแรงโน้มถ่วง
เมื่อตัดผลจากแรงโน้มถ่วงออกไป นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถคำนวณสิ่งที่เรียกว่าเป็นความหนาแน่นแบบไม่บีบอัด(uncompressed
density) ของดาวเคราะห์
และน่าจะเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของดาวเคราะห์ได้มากขึ้น
ดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดของ TRAPPIST-1 มีความหนาแน่นใกล้เคียงกัน
ในระดับที่แตกต่างกันไม่เกิน 3% นี่ทำให้ระบบแห่งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากระบบสุริยะของเรา
ความแตกต่างของความหนาแน่นระหว่างดาวเคราะห์ใน TRAPPIST-1 กับโลกและดาวศุกร์ อาจจะดูเล็กน้อย คือราว 8%
แต่ก็พอสมควรในระดับดาวเคราะห์
ยกตัวอย่างเช่น ทางหนึ่งที่จะอธิบายว่าเพราะเหตุใดดาวเคราะห์ของ TRAPPIST-1
จึงมีความหนาแน่นน้อยกว่า ก็คือ พวกมันมีองค์ประกอบเหมือนกับโลกแต่มีสัดส่วนเหล็กที่ต่ำกว่า
ประมาณ 21% เมื่อเทียบกับโลกที่ระดับ
32% อีกทางก็คือ
เหล็กในดาวเคราะห์ของ TRAPPIST-1 อาจจะมีออกซิเจนปนอยู่ในระดับสูง
ซึ่งจะสร้างเหล็กออกไซด์หรือสนิมขึ้น
การมีออกซิเจนเพิ่มน่าจะลดความหนาแน่นของดาวเคราะห์ลงมา
พื้นผิวของดาวอังคารก็มีสีแดงจากสนิมเหล็กนี้ แต่ก็เช่นเดียวกับพิภพหินพี่ๆ
ทั้งสาม มันเองก็มีแกนกลางที่ประกอบด้วยเหล็กที่ไม่มีออกซิเจนปน เมื่อเทียบแล้ว
ถ้าความหนาแน่นที่ต่ำกว่าของดาวเคราะห์ใน TRAPPIST-1 เกิดขึ้นจากการมีออกซิเจนปนอยู่กับเหล็ก ดาวเคราะห์ก็น่าจะเป็นสนิมไปทั่วและไม่น่าจะมีแกนกลางเหล็กแข็งได้
Eric Agol นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน
และผู้เขียนนำการศึกษาใหม่ บอกว่าคำตอบอาจจะเป็นสองทั้งกรณี คือ
โดยรวมแล้วมีเหล็กอยู่น้อยกว่า และเหล็กก็ยังมีออกซิเจนปนด้วย ทีมยังพิจารณาว่าพื้นผิวของดาวเคราะห์แต่ละดวงอาจจะปกคลุมด้วยน้ำซึ่งก็ยิ่งเบากว่าสนิมเหล็กหรือไม่
ซึ่งจะเปลี่ยนความหนาแน่นโดยรวมของดาวเคราะห์ไป ถ้าเป็นกรณีนี้ ก็น่าจะมีน้ำประมาณ
5% ของมวลรวมดาวเคราะห์วงนอกสี่ดวง
เมื่อเทียบแล้ว บนโลก มีน้ำไม่ถึง 0.1% จากมวลโลก
เนื่องจากพวกมันอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์แม่อย่างมากจนไม่น่ามีน้ำในสถานะของเหลวอยู่ได้
ดาวเคราะห์วงในทั้งสามของ TRAPPIST-1 น่าจะต้องมีชั้นบรรยากาศที่หนาทึบและร้อนเหมือนกับชั้นบรรยากาศดาวศุกร์
เพื่อที่น้ำจะต้องยังอยู่กับดาวเคราะห์ได้ในสถานะไอน้ำ แต่ Agol บอกว่าคำอธิบายนี้ดูเป็นไปได้น้อยกว่า
เนื่องจากมันน่าจะต้องเป็นเรื่องที่บังเอิญที่ดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดจะมีน้ำเพียงพอที่จะมีความหนาแน่นที่ใกล้เคียงกันมากอย่างนี้
ท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้นเต็มไปด้วยดาวเคราะห์
และก็เพิ่งเมื่อ 30 ปีหลังนี่ที่เราสามารถเผยปริศนาของพวกมันได้
Caroline Dorn นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยซือริค
และผู้เขียนร่วมรายงาน กล่าว ระบบ TRAPPIST-1 นั้นน่าทึ่งเนื่องจากรอบดาวฤกษ์นี้เพียงดวงเดียวเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของดาวเคราะห์หินได้ในระบบเดียว
และจริงๆ แล้วเราจึงสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์ได้มากขึ้น
โดยการศึกษาเพื่อนบ้านของมันด้วย
ดังนั้นระบบนี้จึงเป็นสถานที่ที่ดีเยี่ยมในการศึกษา
ifscience.com : TRAPPIST-1’s seven Earth-sized planets are likely all made of the same stuff
No comments:
Post a Comment