ภาพจากศิลปินแสดง J0313-1806 ซึ่งเป็นเควซาร์ที่อยู่ห่างไกลมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา โดยพบมันเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 670 ล้านปีหลังจากบิ๊กแบงเท่านั้น
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติได้พบเควซาร์ที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เคยพบมา
เป็นปีศาจที่อยู่ห่างจากโลก 13.03 พันล้านปีแสง
ซึ่งได้รับพลังจากหลุมดำมวลมหาศาลแห่งหนึ่งที่มีมวล 1.6 พันล้านเท่ามวลดวงอิทตย์
และสว่างกว่ากาแลคซีทางช้างเผือกของเรามากกว่าหนึ่งพันเท่า
เควซาร์(quasar) ซึ่งมีชื่อว่า J0313-1806 ถูกพบเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 670 ล้านปีเท่านั้น(หรือเรดชิพท์ 7.64)
และกำลังบอกเล่าเรื่องราวมีค่าแก่นักดาราศาสตร์ว่ากาแลคซีมวลสูงและหลุมดำมวลมหาศาลในแกนกลางของพวกมัน
ก่อตัวได้อย่างไรในเอกภพยุคต้น
นักวิทยาศาสตร์นำเสนอการค้นพบในการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 237
แบบเสมือนจริง
และเผยแพร่เป็นรายงานใน Astrophysical Journal Letters
เควซาร์(quasar ย่อมาจาก quasi-stellar radio sources) เกิดขึ้นเมื่อแรงโน้มถ่วงรุนแรงของหลุมดำมวลมหาศาล
(supermassive
black hole) ในแกนกลางของกาแลคซีแห่งหนึ่งๆ
ดึงวัสดุสารจากรอบข้างมาก่อตัวเป็นดิสก์มวลสารที่ร้อนยิ่งยวดและหมุนไปรอบๆ หลุมดำ
กิจกรรมนี้ปลดปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลทำให้เควซาร์สว่างเจิดจ้าอย่างมากซึ่งมักจะกลบกาแลคซีส่วนที่เหลือไปเลย
แต่มันก็อยู่ห่างไกลมากๆ
จนต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีจึงจะสามารถตรวจจับมันเป็นจุดอินฟราเรดจุดหนึ่งในช่วงรุ่งอรุณของเอกภพ
J0313-1806 เบียดเอาชนะผู้ครอบครองสถิติเควซาร์ที่ห่างไกลที่สุดซึ่งพบเมื่อสามปีที่แล้ว
J1342+0928 ไป 20 ล้านปี การสำรวจด้วย ALMA(Atacama Large
Millimeter/submillimeter Array) ในชิลีได้ยืนยันการตรวจสอบระยะทางด้วยความแม่นยำสูง
หลุมดำของเควซาร์นี้มีมวลสูงเป็นสองเท่าของผู้ยึดครองสถิติก่อนหน้านี้
และความจริงนี้ก็ให้แง่มุมอันมีค่าเกี่ยวกับหลุมดำและผลกระทบของพวกมันต่อกาแลคซีต้นสังกัด
Feige Wang นักวิจัยฮับเบิลที่หอสังเกตการณ์สจ๊วต
มหาวิทยาลัยอริโซนา และผู้นำทีมวิจัย กล่าวว่า
นี่เป็นตัวอย่างแรกที่สุดว่าหลุมดำมวลมหาศาลกำลังสร้างผลกระทบต่อกาแลคซีต้นสังกัดของมันอย่างไรบ้าง
จากการสำรวจกาแลคซีที่ห่างไกลน้อยกว่านี้ เราทราบว่าสิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้น
แต่เราไม่เคยได้เห็นมันเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกในเอกภพ มวลมหาศาลของหลุมดำใน J0313-1806
ตั้งแต่ในช่วงแรกๆ
ของความเป็นมาของเอกภพได้กำจัดแบบจำลองทางทฤษฎี 2 งานว่าวัตถุเหล่านี้ก่อตัวอย่างไร ทิ้งไปได้
แบบจำลองที่ตัดทิ้งไปงานแรกบอกว่า
ดาวฤกษ์มวลสูงมากในระดับหลายร้อยเท่ามวลดวงอาทิตย์(ดาวฤกษ์รุ่นแรกสุดที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมล้วนๆ
เรียกว่า ประชากรดาวกลุ่ม 3; Population III stars) แต่ละดวงมีชีวิตที่สั้นมาก ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาและยุบตัวเป็นหลุมดำซึ่งต่อมาก็เกาะกลุ่มกันเป็นหลุมดำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
แบบที่สองบอกว่า กระจุกดาวที่หนาแน่นสูงยุบตัวกลายเป็นหลุมดำมวลสูง อย่างไรก็ตาม
ในกรณีทั้งสองนี้กระบวนการจะใช้เวลานานเกินกว่าที่จะสร้างหลุมดำที่มีขนาดใหญ่อย่างที่พบใน
J0313-1806 ในช่วงเวลาที่เราพบมันได้
นี่กำลังบอกเราว่าไม่ว่าเราจะทำยังไง
เมล็ดพันธุ์ของหลุมดำนี้ก็จะต้องก่อตัวขึ้นจากกลไกที่แตกต่างออกไป Xiaohui
Fan จากมหาวิทยาลัยอริโซนา เช่นกัน กล่าว
ในกรณีนี้ มันเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับก๊าซไฮโดรเจนเย็นดั่งเดิมปริมาณมหาศาลได้ยุบตัวลงโดยตรงกลายเป็นเมล็ดพันธุ์หลุมดำ
Mitch Begelman จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด
ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ กล่าวว่า ผมคิดว่า(หลุมดำ)
มวลสูงที่เรดชิพท์มากกว่า 7 เหล่านี้ได้สร้างความกดดันให้กับแบบจำลองที่บอกว่าประชากรดาวฤกษ์กลุ่มสามเป็นเมล็ดพันธุ์
แม้ว่าจะยุบตัวกลายเป็นหลุมดำเมล็ดพันธุ์ที่มีมวลระดับหมื่นเท่าดวงอาทิตย์ตั้งแต่ช่วงหนึ่งร้อยล้านปีแรกหลังจากบิ๊กแบง
แต่ก็จะต้องเติบโตขึ้นด้วยอัตราที่สูงที่สุดเพื่อที่จะถึง 1.6 พันล้านเท่า
การสำรวจ J0313-1806 ของ ALMA ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกาแลคซีต้นสังกัดของเควซาร์
ซึ่งกำลังก่อตัวดาวใหม่ๆ ด้วยอัตราประมาณ 200 เท่าของอัตราก่อตัวในทางช้างเผือก
นี่เป็นอัตราการก่อตัวดาวที่ค่อนข้างสูงในกาแลคซีที่มีอายุใกล้เคียงกัน
และมันก็บ่งชี้ว่ากาแลคซีต้นสังกัดของเควซาร์กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ Jinyi
Yang ผู้เขียนคนที่สองในรายงานนี้
จากมหาวิทยาลัยอริโซนา เช่นกัน กล่าว
ความสว่างของเควซาร์บ่งชี้ว่าหลุมดำกำลังกลืนกินมวลสารเทียบเท่ากับ 25
เท่าดวงอาทิตย์ต่อปี
นักดาราศาสตร์บอกว่าพลังงานที่ปลดปล่อยออกจากการป้อนมวลสารที่รวดเร็วอาจจะส่งพลังให้กับกระแสก๊าซมีประจุ(หรือพลาสมา)
ที่ไหลออกมาอย่างทรงพลังที่พบว่าเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 20% ความเร็วแสง การไหลออกที่ทรงพลังเช่นนั้นกำลังดึงก๊าซเย็นที่ใช้ในการก่อตัวดาวออกจากกาแลคซี
และคิดกันว่าสุดท้ายแล้วจะหยุดการก่อตัวดาวในกาแลคซีลง
เราคิดว่าหลุมดำมวลมหาศาลเหล่านั้นเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดกาแลคซีขนาดใหญ่หลายแห่งจึงหยุดก่อตัวดาวลง
Fan กล่าว
เราสำรวจพบ “การปิด(quenching)”
นี้ในช่วงเวลาหลังจากนั้น แต่จนกระทั่งบัดนี้
เราก็ไม่เคยทราบว่ากระบวนการเกิดขึ้นเร็วแค่ไหนในเอกภพยุคต้น เควซาร์นี้จึงเป็นหลักฐานที่เร็วที่สุดว่าการปิดการก่อตัวดาวอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงต้นมากๆ
กระบวนการนี้ยังทิ้งหลุมดำให้อดอยากและหยุดการเจริญของมัน
และแสงจ้าของมันก็จะมืดลงอย่างน้อยก็จากมุมการมองของเรา Fan ระบุ
นอกเหนือจาก ALMA แล้ว
นักดาราศาสตร์ยังใช้กล้องโทรทรรศน์มาเจลลันบาดขนาด 6.5 เมตร, กล้องเจมิไนเหนือ และหอสังเกตการณ์เคก ในฮาวาย
และกล้องเจมิไนใต้ในชิลี นักดาราศาสตร์วางแผนที่จะศึกษา J0313-1806 ต่อไป
รวมทั้งเควซาร์อื่นด้วยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและในอวกาศ
การสำรวจในอนาคตด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์น่าจะเปิดงานวิจัยเควซาร์ในรายละเอียดให้ขยายกว้างขึ้น
ด้วยกล้องภาคพื้นดิน เราสามารถเห็นได้แค่เพียงแหล่งแสงเท่านั้น Wang กล่าว การสำรวจในอนาคตน่าจะแสดงให้เห็นโครงสร้างไอพ่นที่ไหลออกและบอกได้ว่าลมเควซาร์แผ่ออกไปไกลจากกาแลคซีแค่ไหน
และช่วยให้เราเข้าใจสถานะในวิวัฒนาการของมันได้ดีขึ้น
ทีมกำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และทำให้กระบวนการค้นหาเควซาร์ที่ไกลโพ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อยูคลิด(Euclid) และกล้องเวบบ์จะช่วยให้เราได้พบเควซาร์อาจจะถึงร้อยแห่งที่ระยะดังกล่าวหรือไกลกว่านั้น
ด้วยตัวอย่างทางสถิติกลุ่มใหญ่จะช่วยให้สร้างไทม์ไลน์ที่แม่นยำของยุครีไอออนไนซ์(reionization
epoch) เช่นเดียวกับเปิดช่องมากขึ้นว่าหลุมดำยักษ์เหล่านี้ก่อตัวได้อย่างไร
เควซาร์ที่ห่างไกลที่สุดสามแห่งล่าสุดที่พบในช่วงสามปีหลัง(ระบุเป็นห้าเหลี่ยมสีแดง) ต้องขอบคุณการสำรวจท้องฟ้าพื้นที่กว้างล่าสุด ความพยายามที่กำลังดำเนินไปเพื่อหาเควซาร์ที่ระยะทางที่ไกลออกไปกว่าเดิมกำลังใกล้เคียงกับยุคที่มีเควซาร์แห่งแรกๆ เกิดขึ้นประมาณ 500 ล้านปีหลังบิ๊กแบง
แหล่งข่าว sciencedaily.com
: quasar discovery sets new distance record
sciencealert.com :
astronomers detect the most distant quasar to date, over 13 billion light-years
away
skyandtelescope.com :
what the most distant quasar tells us about black hole birth
space.com : the most
distant quasar ever found is hiding a seriously supermassive black hole
phys.org : researchers discover
the earliest supermassive black hole and quasar in the universe
No comments:
Post a Comment