ภาพจากศิลปินแสดง TOI-561 ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่เก่าแก่ที่สุดและขาดแคลนโลหะมากที่สุดในทางช้างเผือก ดาวฤกษ์มีดาวเคราะห์หินร้อนดวงหนึ่ง(กลางภาพ) เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ก๊าซอีกสองดวง(ทางซ้าย)
นักดาราศาสตร์ได้พบดาวเคราะห์สามดวงโคจรรอบดาวฤกษ์อายุมากดวงหนึ่ง
ซึ่งหนึ่งในสามนั้นเป็นพิภพหินที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก โดยวิ่งไปรอบๆ
ดาวฤกษ์แม่ในวงโคจรเพียง 10.5 ชั่วโมงเท่านั้น
ดูเหมือนว่าดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์แม่ของมันอย่างมากนั้นไม่น่าจะเอื้ออาศัยได้
แม้ว่ามันจะเป็นหินเหมือนกับโลก, ดาวศุกร์ และดาวอังคาร
พิภพหินดวงใหม่น่าจะมีอุณหภูมิราว 2500 เคลวิน
ถูกล๊อคไว้ด้วยแรงบีบฉีก(tidal lock) โดยด้านกลางวันน่าจะเป็นมหาสมุทรแมกมา
ดาวเคราะห์ที่พบรอบ TOI-561 ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 280 ปีแสง
ดาวฤกษ์แม่เป็นดาวฤกษ์แคระสีส้มซึ่งโบราณมาก โดยประเมินอายุได้ที่ 1 หมื่นล้านปี
ซึ่งเก่าแก่เป็นสองเท่าของอายุระบบสุริยะของเรา
และเก่าแก่เกือบใกล้เคียงกับอายุของเอกภพเอง
และมีหลักฐานว่าดาวเคราะห์หินสามารถดำรงอยู่อย่างเสถียรได้เป็นเวลานานมากๆ Lauren
Weiss นักดาราศาสตร์นำจากมหาวิทยาลัยฮาวาย
ที่มาเนา กล่าวว่า TOI-561b เป็นดาวเคราะห์หินที่เก่าแก่มากที่สุดดวงหนึ่งเท่าที่เคยพบมา
การมีอยู่ของมันได้แสดงว่าเอกภพได้ก่อตัวดาวเคราะห์หินไม่นานหลังจากที่มันอุบัติขึ้นเมื่อเกือบ
14 พันล้านปีก่อน
ดาวเคราะห์ทั้งสาม ซึ่งมีชื่อว่า TOI-561
b, TOI-561 c และ TOI-561
d ถูกพบโดยดาวเทียม TESS(Transiting
Exoplanet Survey Satellite) ของนาซา TESS
จะจับจ้องไปที่พื้นที่บนท้องฟ้า
เพื่อมองหาความสว่างจากดาวฤกษ์ที่ลดลงเล็กน้อยอย่างเป็นคาบเวลา นี่คือการผ่านหน้า(transit)
เมื่อดาวเคราะห์เดินทางตัดระหว่างเรากับดาวฤกษ์
TOI-561 เป็นประชากรดาวฤกษ์กลุ่มที่พบได้ยากที่เรียกว่า
ดิสก์หนาของกาแลคซี(galactic thick disk) ดาวในพื้นที่นี้มีคุณลักษณะทางเคมีที่โดดเด่น
โดยมีธาตุหนักเช่น เหล็กหรือมักนีเซียมที่ใช้ในการสร้างดาวเคราะห์อยู่น้อยกว่า
จากข้อมูลนี้ และการสำรวจติดตามผล
นักดาราศาสตร์ก็สามารถตรวจสอบคาบการโคจรและขนาดของดาวเคราะห์ทั้งสามได้ TOI-561
d ซึ่งเป็นดาวเคราะห์วงนอกสุด
มีขนาดราว 2.3 เท่าเส้นผ่าศูนย์กลางโลก
คาบการโคจร 16.3 วัน
ส่วนดวงถัดเข้ามา TOI-561 c มีขนาด
2.9 เท่าโลก
คาบการโคจร 10.8 วัน
และดาวเคราะห์วงในสุด TOI-561 b มีขนาด
1.4 เท่าโลก
คาบการโคจรเพียง 10.5 ชั่วโมงเท่านั้น
ทีมยังทำการตรวจสอบความเร็วแนวสายตา(radial
velocity) ด้วย
เมื่อดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ ดาวฤกษ์ก็จะไม่ได้หมุนอยู่นิ่งๆ
ดาวเคราะห์แต่ละดวงจะส่งแรงดึงโน้มถ่วงของมันเองต่อดาวฤกษ์แม่
เป็นผลให้เกิดการเต้นรำอันซับซ้อนเล็กน้อยซึ่งปรากฏบีบและยืดแสงของดาวฤกษ์ออก
เมื่อมันเคลื่อนที่เข้าหาและออกห่างจากเราเมื่อสังเกตการณ์
ถ้าเราทราบมวลของดาวฤกษ์
เราก็สามารถสำรวจว่าดาวฤกษ์ขยับไปมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์แต่ละดวง
และคำนวณมวลของดาวเคราะห์ได้ จากค่าเหล่านี้ นักวิจัยก็สามารถคำนวณได้ว่า TOI-561
b มีมวลราว 3 เท่ามวลโลก แต่ความหนาแน่นของมันใกล้เคียงกับโลก
ที่ประมาณ 5 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
นี่เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจเนื่องจากคาดว่าความหนาแน่นจะสูงกว่านี้
Stephen Kane นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ดาวเคราะห์
จากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ กล่าว
นี่สอดคล้องกับแนวคิดว่าดาวเคราะห์นี้โบราณมากๆ ยิ่งดาวเคราะห์เก่าแก่มากแค่ไหน
มันก็น่าจะมีความหนาแน่นต่ำลงด้วย
เนื่องจากไม่ได้มีธาตุหนักอยู่มากนักเมื่อก่อตัวดาวเคราะห์หินขึ้นมา
นั้นเป็นเพราะธาตุหนักในเอกภพซึ่งเป็นโลหะที่หนักกว่าเหล็ก
จะถูกหลอมขึ้นในใจกลางดาวฤกษ์, ในซุปเปอร์โนวาที่เป็นจุดจบของดาวฤกษ์มวลสูง
และการชนของซากดาวมวลสูง จะมีเมื่อเพียงดาวตายลงและกระจายธาตุเหล่านี้ออกสู่อวกาศเท่านั้น
ที่พวกมันจะกระจายออกมาเพื่อสร้างดาวฤกษ์และดาวเคราะห์รุ่นใหม่ได้
ดังนั้นดาวที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในเอกภพจึงขาดแคลนโลหะอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น
TOI-561 ก็มีความเป็นโลหะ(metallicity)
ที่ต่ำ และดาวเคราะห์ใดๆ
ที่ก่อตัวขึ้นในเอกภพยุคต้นกว่านี้ก็น่าจะมีความเป็นโลหะที่ต่ำ ด้วยเช่นกัน
งานวิจัยก่อนหน้านี้ได้บอกว่าความเป็นโลหะที่ต่ำจะเป็นข้อจำกัดในการก่อตัวดาวเคราะห์หิน
เนื่องจากธาตุหนักน่าจะระเหยไปน้อยกว่าเมื่อพบกับการแผ่รังสีจากดาว
เม็ดมวลสารที่เหลือรอดอยู่ได้นานพอในดิสก์รอบดาวฤกษ์
จะเกาะกุมกันและก่อตัวดาวเคราะห์ขึ้นมา การพบดาวเคราะห์อย่าง TOI-561 b จึงสามารถช่วยระบุแบบจำลองเหล่านั้น
ซึ่งจะช่วยเราให้หาดาวเคราะห์หินนอกระบบอายุเก่าแก่ได้เพิ่มขึ้น
แม้ว่าดาวเคราะห์พิเศษดวงนี้ไม่น่าจะเอื้ออาศัยได้ในปัจจุบัน Kane กล่าว
แต่มันก็อาจจะเป็นเพียงข้อยกเว้นในบรรดาดาวเคราะห์หินมากมายที่เรายังไม่พบรอบๆ
ดาวฤกษ์โบราณที่สุดในกาแลคซีของเรา และนี่ช่วยเราในการสำรวจหาพิภพที่เอื้ออาศัยได้
โลกซึ่งมีอายุราว 4.5 พันล้านปีนั้น
สัญญาณชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นที่ราว 3.5 พันล้านปีก่อน และสัตว์มีกระดูกสันหลัง(vertebrate)
ก็ยังไม่ปรากฏในบันทึกฟอสซิลจนกระทั่งเมื่อ
5 ร้อยล้านปีก่อน
สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนอย่างที่เรารู้จักต้องใช้เวลาเพื่ออุบัติขึ้น
ดังนั้นถ้าเราต้องการหาชีวิตที่ซับซ้อนมากกว่าจุลชีพหรืออาร์เคีย(archea; จุลชีพโบราณกลุ่มหนึ่ง) ดาวเคราะห์ที่ดำรงอยู่มานานและค่อนข้างเสถียรก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะค้ำจุนชีวิตได้
ดังนั้น แม้ว่า TOI-561 b อาจจะไม่ใช่สถานที่ที่ดี
แต่มันก็ให้เงื่อนงำอื่นซึ่งอาจช่วยเราในการสำรวจหาสิ่งมีชีวิตในแห่งหนอื่นในเอกภพของเราได้
งานวิจัยของทีมนำเสนอในการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 237 และจะเผยแพร่ใน Astronomical Journal และในเวบไซท์ก่อนตีพิมพ์ arXiv
แหล่งข่าว sciencealert.com
: astronomers find an astonishing “super-Earth” that’s nearly as old as the universe
phys.org : “super-Earth” discovered near one of our galaxy’s
oldest stars
skyandtelescope.com :
rocky planet found around 10 billion-year-old star
No comments:
Post a Comment