Friday, 15 January 2021

เหตุใดจึงมีซุปเปอร์โนวาในทางช้างเผือกน้อยกว่าที่ควร

กาแลคซีของเรามีการระเบิดซุปเปอร์โนวาเพียงสองสามครั้งในทุกๆ ร้อยปี และก็นานหลายร้อยปีแล้วตั้งแต่ที่สำรวจการระเบิดครั้งล่าสุดได้ งานวิจัยใหม่อธิบายว่าเป็นเพราะเหตุใด สาเหตุจากฝุ่น, ระยะทาง และความโชคดีแบบบังเอิญมาก




      ซุปเปอร์โนวาเหตุการณ์สุดท้ายที่บันทึกไว้ในเอกสารใดๆ ที่น่าเชื่อถือได้นั้น เกิดขึ้นในปี 1604 ตามที่บันทึกไว้โดยนักดาราศาสตร์มากมายรอบโลก รวมถึง Johannes Kepler ซึ่งทำให้ซุปเปอร์โนวาได้ชื่อตามเคปเลอร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีใครมีแนวคิดว่า “ดาวดวงใหม่” เหล่านี้ปรากฏบนท้องฟ้า(แล้วหายไป) เพราะเหตุใดหรือเกิดได้อย่างไร แต่ทุกวันนี้เราทราบคำตอบแล้วว่า พวกมันเป็นผลจาก การตายของดาวฤกษ์มวลสูง หรือไม่ก็ เหตุการณ์ปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบกู่ไม่กลับบนดาวแคระขาวดวงหนึ่ง

     นักดาราศาสตร์ยังสามารถคำนวณอัตราการเกิดซุปเปอร์โนวาทั่วไปในกาแลคซีแห่งหนึ่งที่คล้ายกาแลคซีของเรา และก็ได้ผลที่จะมีการระเบิดลักษณะนี้ราวสองหรือสามครั้งในทุกๆ ร้อยปี แต่ในช่วงสี่ร้อยปีนับตั้งแต่เหตุการณ์เคปเลอร์มา ยังไม่พบการปรากฏของดาวดวงใหม่ใดๆ บนท้องฟ้าเลย แม้ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ความสามารถด้านเทคโนโลจีเพื่อจับตาท้องฟ้าของเราจะขยายตัวอย่างระเบิดระเบ้อก็ตาม




      จากบทความงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ใน arXiv เวบก่อนตีพิมพ์บอกว่า ทางช้างเผือกไม่ได้หยุดสร้างซุปเปอร์โนวา ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เนบิวลาคาสสิโอเปีย เอ(Cassiopeia A) เป็นซากของซุปเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นเมื่อราว 325 ปีก่อน และก็ไม่มีใครได้เห็นมัน แล้วเกิดอะไรขึ้น เพราะเหตุใดเราจึงไม่ได้เห็นซุปเปอร์โนวามากขึ้น จากงานวิจัยใหม่ ทุกๆ อย่างเป็นเรื่องของตำแหน่ง เมื่อซุปเปอร์โนวาเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในดิสก์กาแลคซีบางๆ ที่เต็มไปด้วยดาว และที่เดียวกันนี้ก็เป็นที่อยู่ของฝุ่นเกือบทั้งหมดด้วย ฝุ่นเหล่านี้ปกปิดสัญญาณแสงได้อย่างดีเยี่ยม และในทางคล้ายๆ กัน แกนกลางของทางช้างเผือกเองก็มีซุปเปอร์โนวามากกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็มีฝุ่นมากมายด้วยเช่นกัน

     เพื่อที่จะสำรวจได้ด้วยตาเปล่า ซุปเปอร์โนวาจะต้องเกิดในตำแหน่งที่เหมาะสมในทางช้างเผือกคือ ใกล้มากพอและเห็นได้ชัดพอ เมื่อรวมผลเหล่านี้กับอัตราการเกิดซุปเปอร์โนวาที่ประเมินไว้ ก็จะให้อัตราซุปเปอร์โนวาที่สำรวจพบได้ตามที่บันทึกทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีพอดี

Cassiopeia A 

     แต่ก็ยังมีข้อแม้ แบบจำลองของนักดาราศาสตร์ทำนายว่าซุปเปอร์โนวาที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าเกือบทั้งหมดควรจะเกิดขึ้นใกล้กับทิศทางสู่ใจกลางกาแลคซี แต่ซุปเปอร์โนวาที่บันทึกไว้ได้เกือบทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นใกล้ทิศทางเหล่านั้นเลย นี่อาจเป็นผลจากแขนกังหันซึ่งสามารถหน่วงนำการก่อตัวดาวระลอกใหม่และซุปเปอร์โนวาที่เกี่ยวข้องขึ้นได้เอง แสดงบทบาทสำคัญแต่ก็ยังต้องการการสืบสวนต่อๆ ไป

     แล้วเราจะได้เห็นการแสดงแสงสีครั้งหน้าเมื่อไหร่ นักวิจัยประเมินว่าเรามีโอกาส 33% ที่จะสำรวจการตายครั้งต่อไปของดาวมวลสูง และโอกาส 50% ที่จะเห็นการระเบิดทำลายตัวเองของดาวแคระขาว แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น เป็นเรื่องของความบังเอิญล้วนๆ

 

แหล่งข่าว phys.org : why have so few Milky Way supernovae been observed over the last millennium?  


No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...