Saturday 31 July 2021

ดาวแคระขาวที่เล็กกว่าดวงจันทร์ของโลก

 

ภาพจากศิลปินเปรียบเทียบดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยพบกับดวงจันทร์ของโลก(แม้ว่าในความเป็นจริงวัตถุทั้งสองจะไม่มีทางอยู่ใกล้กันได้แบบนี้) ดาวแคระขาวมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์เล็กน้อย 


     นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กที่สุดและมีมวลสูงที่สุดเท่าที่เคยพบมา เถ้าที่ยังคุไฟดวงนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อดาวแคระขาวที่เล็กกว่าสองดวงมาควบรวมกัน จึงมีมวลสูง บีบอัดมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ในวัตถุที่มีขนาดพอๆ กับดวงจันทร์ของโลก Ilaria Caiazzo นักวิจัยหลังปริญญาเอกสาขาดาราศาสตร์ฟิสิกส์ทฤษฎีที่สถาบันเทคโนโลจีแห่งคาลิฟอร์เนีย(Caltech) และผู้เขียนนำการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ใน Nature ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม กล่าว มันอาจจะดูค้านกับสามัญสำนึก แต่ดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กกว่าดูจะมีมวลสูงกว่า นั้นก็เป็นเพราะความจริงที่ว่าดาวแคระขาวขาดแคลนการเผาไหม้นิวเคลียร์ที่ช่วยให้ดาวฤกษ์ปกติต้านทานแรงโน้มถ่วงในตัวมันเอง และขนาดของพวกมันจึงถูกกำกับด้วยกลศาสตร์ควอนตัมแทน

           ดาวแคระขาวเป็นซากที่ยุบตัวลงของดาวฤกษ์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีมวลจนถึง 8 เท่ามวลดวงอาทิตย์หรือเบากว่า ดวงอาทิตย์ของเราเอง หลังจากที่มันพองตัวออกกลายเป็นดาวยักษ์แดง(red giant) ในอีกประมาณ 5 พันล้านปี ก็จะผลักเปลือกก๊าซชั้นนอกๆ ออกมาและหดตัวกลายเป็นดาวแคระขาวที่มีขนาดกะทัดรัด ดาวฤกษ์ทั้งหมดมีประมาณ 97% ที่จะกลายเป็นดาวแคระขาว

     การค้นพบนี้ทำโดย ZTF(Zwicky Transient Facility) ซึ่งดำเนินงานที่หอสังเกตการณ์พาโลมาร์ ของคาลเทค, กล้องโทรทรรศน์ในฮาวาย 2 ตัวคือ กล้องโทรทรรศน์เคกบนยอดเมานาคี และกล้อง Pan-STARRS ของสถาบันเพื่อดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย บนยอดฮาลีคาลา ได้ช่วยแจกแจงคุณสมบัติของดาวที่ตายแล้วดวงนี้ ไปพร้อมกับกล้องโทรทรรศน์เฮลขนาด 200 นิ้วที่พาโลมาร์, หอสังเกตการณ์อวกาศไกอา(Gaia) ขององค์กรอวกาศยุโรป และหอสังเกตการณ์สวิฟท์(Swift) ของนาซา


วัฏจักรชีวิตของดวงอาทิตย์(และดาวฤกษ์อื่นๆ อีกราว 90%)

     ดาวแคระขาวดวงนี้ถูกพบโดย Kevin Burdge เพื่อนร่วมงานของ Caiazzo นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่คาลเทค หลังจากสำรวจภาพทั่วท้องฟ้าของ ZTF ดาวแคระขาวเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับข้อมูลจากไกอา ปรากฏว่ามีมวลสูงมากและมีการหมุนรอบตัวที่เร็ว ไม่เคยมีการศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดในเวลาอันสั้นอย่างเป็นระบบในระดับนี้มาก่อน ผลจากความพยายามจึงน่าตื่นเต้น Burdge กล่าว ในปี 2019 เขานำทีมที่พบดาวแคระขาวคู่หนึ่งที่โคจรรอบกันและกันทุกๆ 7 นาที

    ในขณะที่ดวงอาทิตย์ของเราอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่มีคู่หู แต่ดาวฤกษ์อื่นอีกมากมายจะโคจรอยู่รอบอีกดวงเป็นคู่ ดาวซึ่งแก่เฒ่าไปพร้อมกัน และถ้าพวกมันทั้งคู่มีมวลไม่ถึง 8 เท่าดวงอาทิตย์ พวกมันทั้งคู่ก็จะกลายเป็นดาวแคระขาว การค้นพบใหม่ได้ให้ตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากสถานะนี้ คู่ของดาวแคระขาวซึ่งหมุนวนเข้าหากันและกัน สูญเสียพลังงานในรูปของคลื่นความโน้มถ่วง และสุดท้ายก็ควบรวมกัน ถ้าดาวที่ได้มีมวลสูงเกินค่าวิกฤติ(ขีดจำกัดจันทรเสกขา; Chandrasekhar limit) ก็จะระเบิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า ซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่งเอ(Type Ia supernova)

     แต่ถ้าพวกมันมีมวลต่ำกว่าค่าวิกฤตินี้ ก็จะรวมกันกลายเป็นดาวแคระขาวดวงใหม่ที่หนักกว่าดาวแคระขาวต้นกำเนิด กระบวนการควบรวมนี้น่าจะเร่งความแรงสนามแม่เหล็กของดาวดวงนั้นและทำให้มันหมุนรอบตัวเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับดาวแคระขาวต้นกำเนิด

     นักดาราศาสตร์บอกว่าดาวแคระขาวดวงน้อยที่เพิ่งค้นพบใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า ZTF J1901+1458 ใช้เส้นทางวิวัฒนาการอันหลัง ทีมวิเคราะห์สเปคตรัมดาวดวงนี้โดยใช้ LRIS(Low Resolution Imaging Spectrometer) ของเคก ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ Caiazzo ต้องงงงันเมื่อพบสัญญาณสนามแม่เหล็กที่รุนแรงมาก เธอและทีมจึงตระหนักว่าได้พบบางสิ่งที่พิเศษมากๆ ความแรงของสนามแม่เหล็กพร้อมกับอัตราการหมุนรอบตัวเจ็ดนาทีแทนที่จะเป็นหลายชั่วโมง บ่งชี้ว่ามันเป็นผลจากดาวแคระขาวสองดวงมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ดาวต้นกำเนิดของมันควบรวมกันและสร้างดาวแคระขาวใหม่ที่หนัก 1.35 เท่ามวลดวงอาทิตย์ ดาวแคระขาวดวงนี้มีสนามแม่เหล็กที่สุดขั้วด้วยความแรงเกือบ 1 พันล้านเท่าความแรงของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ และหมุนรอบตัวครบรอบในเวลาเพียง 7 นาที(ดาวแคระขาวที่หมุนรอบตัวเร็วที่สุด EPIC 228939929 หมุนรอบตัวทุกๆ 5.3 นาที) เราได้พบวัตถุที่น่าสนใจอย่างมากซึ่งไม่ได้มีมวลสูงพอที่จะระเบิด Caiazzo กล่าว เราสามารถตรวจสอบได้จริงว่าดาวแคระขาวจะมีมวลสูงได้แค่ไหน


ดาวแคระขาวเกือบทั้งหมดจะมีขนาดพอๆ กับดาวเคราะห์ แทนที่จะพอๆ กับดวงจันทร์ ภาพนี้เปรียบเทียบโลกกับดาวแคระขาวที่เป็นที่คุ้นเคยบางดวงเช่น ซิริอัส บี(Sirius B) ซึ่งเป็นวัตถุข้างเคียงของ ซิริอัส(Sirius); โปรซีออน บี(Procyon B) และดาวของฟานมาเนน(Van Maanen’s Star) ยิ่งดาวแคระขาวมีมวลสูงขึ้นก็จะมีขนาดเล็กลง

     ข้อมูลจากสวิฟท์ซึ่งสำรวจในช่วงอุลตราไวโอเลต ได้ช่วยระบุขนาดและมวลของดาวแคระขาวดวงนี้ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4300 กิโลเมตร ZTF J1901+1458 จึงครอบครองตำแหน่งดาวแคระขาวที่มีขนาดเล็กที่สุด แทนที่ผู้ยึดครองสถิติก่อนหน้านี้ RE J0317-853 และ WD 1832+089 ซึ่งแต่ละดวงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5000 กิโลเมตร ในขณะที่มวลที่แท้จริงของ ZTF J1901+1458 ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของมัน แต่นักวิจัยประเมินว่าน่าจะหนักกว่าดวงอาทิตย์ประมาณหนึ่งในสาม คืออยู่ระหว่าง 1.327 ถึง 1.365 เท่ามวลดวงอาทิตย์ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ

     ยิ่งกว่านั้น Caiazzo และเพื่อนร่วมงานของเธอยังคิดว่าดาวแคระขาวที่ควบรวมได้อาจจะมีมวลสูงมากพอที่จะพัฒนากลายเป็นซากดาวที่อุดมด้วยนิวตรอน หรือดาวนิวตรอน(neutron star) ซึ่งโดยปกติ มักจะก่อตัวขึ้นเมื่อดาวฤกษ์ที่มีมวลสูงกว่าดวงอาทิตย์ระเบิดกลายเป็นซุปเปอร์โนวา นี่เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นไปได้ที่ดาวแคระขาวดวงนี้จะมีมวลสูงมากพอที่จะยุบตัวต่อไปเป็นดาวนิวตรอน เธอกล่าว มันมีมวลสูงและหนาแน่นสูงมาก จนในแกนกลางของมัน อิเลคตรอนถูกโปรตอนในนิวเคลียสจับไว้เพื่อก่อตัวนิวตรอน เนื่องจากแรงดันจากอิเลคตรอนที่ผลักต้านทานแรงโน้มถ่วง รักษาให้ดาวยังคงสภาพไว้ แต่เมื่ออิเลคตรอนหายไปส่วนหนึ่ง แรงดันก็หาย แกนกลางก็ยุบตัวลง

      ถ้าสมมุติฐานการก่อตัวดาวนิวตรอนนี้ถูกต้อง มันก็อาจจะหมายความว่ามีดาวนิวตรอนอีกส่วนหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นในหนทางนี้ วัตถุที่เพิ่งพบใหม่อยู่ไม่ไกล(ประมาณ 130 ปีแสง) และอายุที่น้อยของมัน(ประมาณ 1 ร้อยล้านปีเป็นอย่างมาก) บ่งชี้ว่าวัตถุคล้ายๆ กันอาจจะมีอยู่ทั่วไปในกาแลคซีมากกว่าที่เคยคิดไว้ ในอนาคต


ดาวแคระขาวคู่หนึ่งที่โคจรรอบกันและกันอยู่ใกล้ชิดเมื่อพวกมันเปล่งคลื่นความโน้มถ่วงออกมา ถ้าพวกมันไม่ได้มีมวลสูงจะให้กำเนิดดาวแคระขาวที่เสถียรขึ้นมา แทนว่าดาวแคระขาวดวงใหม่นี้อาจจะมีมวลสูงจนใกล้จะยุบตัวลงแล้ว

     ทีมหวังว่าจะใช้ ZTF เพื่อค้นหาดาวแคระขาวลักษณะนี้ได้มากขึ้น และโดยรวมก็เพื่อศึกษาประชากรวัตถุชนิดนี้โดยรวม มีคำถามอยู่มากมายที่ยังไม่ได้ตอบ เช่น อัตราการควบรวมของดาวแคระขาวในกาแลคซีมีแค่ไหน และอัตรานี้เพียงพอที่จะอธิบายจำนวนของซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอหรือไม่ สนามแม่เหล็กถูกสร้างในเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร และเพราะเหตุใดจึงมีความหลากหลายในความแรงของสนามแม่เหล็กของดาวแคระขาว การค้นหาประชากรดาวแคระขาวกลุ่มใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นจากการควบรวมจะช่วยตอบคำถามทั้งหมดนี้และคำถามอื่นๆ ได้


แหล่งข่าว spaceref.com : a white dwarf living on the edge
                skyandtelescope.com : Moon-size white dwarf is the smallest ever found

Wednesday 28 July 2021

การล่มสลายของระบบ HR 8799

     การศึกษาใหม่ที่เจาะไปในอนาคตได้บอกว่า ดาวเคราะห์สี่ดวงที่อยู่ในจังหวะพร้อมเพรียงรอบๆ ดาวฤกษ์ใกล้ดวงหนึ่ง มีชะตากรรมที่จะถูกกระทบชิ่งเหวี่ยงไปรอบๆ ระบบของพวกมันเมื่อดวงอาทิตย์ของพวกมันจะตายลง

ภาพจากศิลปินแสดงดาวเคราะห์ทั้งสี่ในระบบ HR 8799

     นักดาราศาสตร์ได้ทำแบบจำลองว่าการเปลี่ยนแปลงแรงโน้มถ่วงในระบบแห่งนี้อันเป็นผลจากดาวฤกษ์ได้กลายเป็นดาวแคระขาว จะเป็นสาเหตุให้ดาวเคราะห์ทั้งสี่ของมันปลิวหลุดออกจากวงโคจรและกระแทกกันและกันเหมือนกับเกมส์พินบอล ในกระบวนการนี้ พวกมันจะผลักเศษซากที่อยู่ใกล้ๆ เข้าสู่ดวงอาทิตย์ที่กำลังตาย ได้ให้แง่มุมใหม่แก่นักวิทยาศาสตร์ว่าดาวแคระขาวจะมีชั้นบรรยากาศที่ปนเปื้อนอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มีกำเนิดอย่างไร บทสรุปมาจากนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอกซ์เตอร์ และมหาวิทยาลัยวอร์วิค เผยแพร่ใน Monthly Notices of the Royal Astronomical Society วันที่ 14 พฤษภาคม

     ระบบ HR 8799 อยู่ห่างออกไป 135 ปีแสงในกลุ่มดาวม้ามีปีก(Pegasus) และประกอบด้วยดาวฤกษ์ชนิดเอ(A-type star) อายุ 30 ถึง 40 ล้านปี และดาวเคราะห์ยักษ์ใหญ่แบบไม่ปกติอีก 4 ดวง ทั้งหมดมีมวลเกินห้าเท่ามวลดาวพฤหัสฯ โคจรอยู่ใกล้กันและกันอย่างมาก ระบบยังมีดิสก์เศษซากอีก 2 วง อยู่ภายในวงโคจรของดาวเคราะห์วงในสุด และอีกวงอยู่เลยวงโคจรดาวเคราะห์วงนอกสุดออกมา งานวิจัยล่าสุดได้แสดงว่าดาวเคราะห์ทั้งสี่ถูกล๊อคในจังหวะที่เหมาะเจาะที่เรียกว่ากำทอน(resonance)  2:1 ดังนั้น ในทุกๆ รอบที่ดาวเคราะห์วงนอกสุดโคจรครบไป, เพื่อนบ้านดวงต่อมาจะโคจรไปครบ 2, อีกดวงก็ครบ 4 และดวงในสุดก็โคจรไปครบ 8 รอบ

     ทีมจากเอกซ์เตอร์และวอร์วิคตัดสินใจศึกษาชะตากรรมสุดท้ายของระบบแห่งนี้ โดยการสร้างแบบจำลองที่ช่วยให้พวกเขาได้เล่นเกมส์พินบอลดาวเคราะห์ โดยสืบสวนว่าอะไรที่จะเป็นสาเหตุให้ท่วงทำนองที่สมบูรณ์แบบต้องล่มสลายไปได้บ้าง พวกเขาตรวจสอบพบว่ากำทอนที่ล๊อคดาวเคราะห์ทั้งสี่ไว้ น่าจะมั่นคงไปได้อีก 3 พันล้านปีข้างหน้า แม้ว่าจะได้รับผลจากแรงโน้มถ่วงในกาแลคซี(galactic tides) และการผ่านเข้าใกล้ของดาวฤกษ์อื่น อย่างไรก็ตาม กำทอนจะแตกออกเมื่อดาวฤกษ์เข้าสู่สถานะที่กลายเป็นดาวยักษ์แดง(red giant) เมื่อมันจะขยายตัวใหญ่กว่าขนาดปัจจุบันหลายร้อยเท่า และจะผลักมวลเกือบครึ่งออกมา และจบด้วยการเป็นดาวแคระขาว(white dwarf)


ภาพจากกล้องโทรทรรศน์เคก จับภาพดาวเคราะห์ทั้งสี่ของ HR 8799 ได้โดยตรง


     การเข้าใจปฏิสัมพันธ์แรงโน้มถ่วงระหว่างวัตถุ 2 ก้อนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายเมื่อคุณทราบมวล, ความเร็วและตำแหน่งเริ่มต้นของวัตถุ แต่เมื่อเพิ่มวัตถุที่สามเข้าไป คำตอบพื้นๆ ก็จะเริ่มพังลงทันที ปฏิสัมพันธ์จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก ตามที่นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Henry Poincare ได้แสดงไว้ในปี 1899 ไม่มีสมการใดที่สามารถทำนายตำแหน่งของวัตถุทั้งสามได้ในจุดหนึ่งๆ ในอนาคต และเมื่อเพิ่มวัตถุที่สี่ และก็วัตถุที่ห้าเข้าไป อย่างที่เป็นที่ HR 8799 ปฏิสัมพันธ์ยิ่งยุ่งเหยิง ทีมได้สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้ได้เห็นวิธีต่างๆ มากมายที่ดาวเคราะห์จะกระจัดกระจายอย่างวุ่นวายหลังจากที่นักวิจัยเพียงแต่ขยับตำแหน่งเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  

      ดาวเคราะห์จะเริ่มกระแทกกันไปมาและกลายเป็นระบบที่มีความยุ่งเหยิงสูงมากเมื่อการเคลื่อนที่ของพวกมันมีความไม่แน่นอนอย่างมาก แม้การเปลี่ยนตำแหน่งของดาวเคราะห์เพียงแค่ 1 เซนติเมตรในช่วงเริ่มกระบวนการ ก็สามารถเปลี่ยนผลที่ได้อย่างรุนแรง Sasha Hinkley ศาสตราจารย์จากเอกซ์เตอร์ ผู้เขียนร่วม กล่าวว่า ระบบ HR 8799 นั้นมีเอกลักษณ์อย่างมากนับตั้งแต่ที่ถูกค้นพบเมื่อเกือบ 13 ปีก่อน และด้วยเหตุนี้ จึงน่ามหัศจรรย์ที่ได้มองไปในอนาคต และเฝ้าดูมันพัฒนาจากดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่อย่างพร้อมเพรียง ไปสู่ความวุ่นวายยุ่งเหยิง

     Dimitri Veras จากมหาวิทยาลัยวอร์วิค ผู้เขียนนำ กล่าวว่า ดาวเคราะห์จะทำให้เพื่อนบ้านดวงอื่นๆ ของมันแตกกระสานซ่านเซ็น ในกรณีหนึ่ง ดาวเคราะห์วงในสุดน่าจะถูกผลักออกจากระบบไปอย่างสิ้นเชิง หรือในกรณีอื่นๆ ดาวเคราะห์ดวงที่สามก็อาจจะถูกผลักออกไปแทน หรือดวงที่สองและดวงที่สี่ อาจจะสลับตำแหน่งกัน รูปแบบใดๆ ก็เป็นไปได้แค่ขยับตัวเพียงเล็กน้อย พวกมันมีขนาดใหญ่มากและอยู่ใกล้กันและกันอย่างมาก สิ่งเดียวที่กำลังรักษาให้พวกมันอยู่ในท่วงทำนองที่สมบูรณ์แบบตอนนี้ก็คือตำแหน่งวงโคจรของพวกมัน ทั้งสี่เชื่อมโยงในสายโซ่นี้ ทันทีที่ดาวฤกษ์สูญเสียมวล ตำแหน่งวงโคจรก็จะรวน จากนั้น สองในสี่ก็จะผลักกันและกัน เป็นสาเหตุให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่กับทั้งสี่ดวง



     นอกจากการเคลื่อนที่ที่แม่นยำของดาวเคราะห์ทั้งสี่ อีกหนึ่งสิ่งที่ทีมแน่ใจก็คือดาวเคราะห์จะเคลื่อนที่ไปรอบๆ จนฉีกวัสดุสารจากดิสก์เศษซากในระบบ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาว นี่เป็นเศษซากชนิดที่นักดาราศาสตร์กำลังวิเคราะห์เพื่อค้นหาประวัติความเป็นมาของระบบรอบดาวแคระขาวแห่งอื่น ในปัจจุบัน ดาวเคราะห์เหล่านี้เคลื่อนที่ไปรอบๆ ดาวแคระขาวในตำแหน่งที่แตกต่างกันและสามารถผลักเศษซากไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ยังอยู่ที่นั้นเข้าใส่ดาวแคระขาว สร้างมลทินให้กับดาวแคระขาวได้ Veras กล่าวเสริม ระบบดาวเคราะห์ HR 8799 เป็นตัวแทนสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับระบบรอบดาวแคระขาวที่มีมลทินที่เราได้พบในปัจจุบัน มันเป็นการแสดงตัวอย่างคุณค่าของการคำนวณชะตากรรมของระบบดาวเคราะห์ แทนที่จะมองเพียงแค่การก่อตัวของพวกมันเท่านั้น

 

แหล่งข่าว phys.org : Star’s death will play a mean pinball with rhythmic planets
                space.com : when this star blows, its planets will be turned into enormous pinballs

Tuesday 27 July 2021

ดิสก์ก่อตัวดวงจันทร์รอบดาวเคราะห์นอกระบบ

 

ภาพ PDS 70 จาก ALMA ด้านขวาซูมเข้าสู่ PDS 70c และดิสก์ก๊าซฝุ่นของมันเอง จะไม่เห็น PDS 70b ในภาพนี้ จะเห็นดิสก์ล้อมรอบดาวฤกษ์ขนาดใหญ่กว่าแผ่อยู่ด้านขวามือของภาพ


     ด้วยการใช้ ALMA นักดาราศาสตร์ได้ตรวจจับการมีอยู่ของดิสก์รอบดาวเคราะห์ดวงหนึ่งนอกระบบสุริยะของเราได้เป็นครั้งแรก การสำรวจจะเปิดช่องว่าดวงจันทร์และดาวเคราะห์ในระบบดาวที่อายุน้อยก่อตัวได้อย่างไร

     Myriam Benisty นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งเกรโน้บ ฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยแห่งชิลี ซึ่งนำทีมวิจัยใหม่เผยแพร่งานวิจัยใน Astrophysical Journal Letters วันที่ 20 กรกฎาคม กล่าวว่า งานของเราได้นำเสนอการตรวจจับอย่างชัดแจ้งแสดงดิสก์ที่อาจมีดวงจันทร์บริวารกำลังก่อตัวอยู่ การสำรวจ ALMA ของเราทำด้วยความละเอียดสูงมากจนเราสามารถแยกแยะว่าดิสก์นี้มีความเกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์ และเราก็สามารถระบุขนาดของมันได้เป็นครั้งแรก เธอกล่าวเสริม

     ดิสก์ที่ตรวจสอบซึ่งเรียกว่า ดิสก์ล้อมรอบดาวเคราะห์(circumplanetary disk) ล้อมรอบดาวเคราะห์นอกระบบ PDS 70c ซึ่งเป็นหนึ่งในสองดาวเคราะห์ยักษ์ที่คล้ายดาวพฤหัสฯ ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง นักดาราศาสตร์ได้พบร่องรอยดิสก์ “ที่กำลังก่อตัวดวงจันทร์” รอบดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้มาก่อน แต่พวกเขาไม่สามารถแยกแยะดิสก์นี้ออกจากสภาพแวดล้อมรอบมันได้อย่างชัดเจน จึงไม่สามารถยืนยันการตรวจจับได้ จนกระทั่งครั้งนี้ นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือของ ALMA Benistry และทีมของเธอยังพบว่าดิสก์มีเส้นผ่าศูนย์กลางพอๆ กับระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ มีขนาดใหญ่กว่าวงแหวนดาวเสาร์ประมาณ 500 เท่าและมีมวลมากพอที่จะก่อตัวดวงจันทร์บริวารขนาดพอๆ กับดวงจันทร์ของโลกได้ 3 ดวง


ภาพระบบ PDS 70 จาก ALMA แสดงวงแหวนฝุ่นขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบดาวฤกษ์ เช่นเดียวกับการเรืองจากฝุ่นรอบๆ ดาวเคราะห์ PDS 70c ซึ่งปรากฏเป็นจุดสว่างในช่องว่างขนาดใหญ่

     แต่ผลสรุปนี้ไม่เพียงแต่เน้นว่าดวงจันทร์ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร Jaehan Bae นักวิจัยจากห้องทดลองโลกและดาวเคราะห์ จากสถาบันคาร์เนกี้เพื่อวิทยาศาสตร์ และผู้เขียนการศึกษา กล่าวว่า การสำรวจใหม่เหล่านี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ได้ตรวจสอบทฤษฎีการก่อตัวดาวเคราะห์ ซึ่งไม่อาจทดสอบได้จนกระทั่งบัดนี้ ดาวเคราะห์ก่อตัวในดิสก์ฝุ่นรอบๆ ดาวฤกษ์อายุน้อย เจาะถางช่องว่างเมื่อพวกมันกลืนวัสดุสารจากดิสก์รอบดาวฤกษ์เพื่อเจริญเติบโตขึ้น ในกระบวนการนี้ ดาวเคราะห์ก็อาจได้ดิสก์รอบตัวมันเอง ซึ่งนำไปสู่การเจริญของดาวเคราะห์โดยกำกับปริมาณวัสดุสารที่ตกลงมาหาดาวเคราะห์ ในเวลาเดียวกัน ก๊าซและฝุ่นในดิสก์รอบดาวเคราะห์ก็สามารถเกาะกันจนเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการชนหลายต่อหลายครั้ง และสุดท้ายก็นำไปสู่การกำเนิดของดวงจันทร์

     แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่เข้าใจรายละเอียดของกระบวนการเหล่านี้อย่างถ่องแท้นัก พูดให้สั้นก็คือ ยังคงไม่ชัดเจนว่าดาวเคราะห์และดวงจันทร์ก่อตัวเมื่อใด, ที่ไหน และอย่างไร Stefano Facchini นักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ทางใต้ของยุโรป(European Southern Observatory; ESO) ซึ่งมีส่วนกับงานวิจัยนี้ กล่าว

     ดาวเคราะห์นอกระบบมากกว่าสี่พันดวงที่ถูกพบจนถึงตอนนี้ ทั้งหมดถูกพบในระบบที่เต็มวัยแล้ว PDS 70b และ PDS 70c ซึ่งก่อตัวเป็นระบบที่คล้ายคู่ของดาวพฤหัสฯ-ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์นอกระบบเพียง 2 ดวงที่ถูกพบในขณะที่ยังคงอยู่ในกระบวนการก่อตัว Miriam Keppler นักวิจัยที่สถาบันมักซ์พลังค์เพื่อดาราศาสตร์ ในเจอรมนี และหนึ่งในผู้เขียนร่วมการศึกษา อธิบาย ระบบนี้จึงให้โอกาสอันเป็นอัตลักษณ์แก่เราในการสำรวจและศึกษากระบวนการก่อตัวดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวาร Facchini กล่าวเสริม

     ดาวฤกษ์แม่ PDS 70 ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบ 400 ปีแสงในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า(Centaurus) ก็มีดิสก์ล้อมรอบ มีอายุเพียง 6 ล้านปี มีมวลราวสามในสี่ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ทั้งสองในระบบ PDS 70b และ PDS 70c ถูกพบครั้งแรกโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก(VLT) ของ ESO ในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ ดาวเคราะห์ทารกเหล่านี้อยู่ในช่องว่างแห่งหนึ่งที่อยู่ระหว่างวงแหวนฝุ่น 2 วง และธรรมชาติอันเป็นอัตลักษณ์ของพวกมันก็ทำให้พวกมันถูกสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์อื่นๆ หลายครั้งนับแต่นั้นมา




     การสำรวจความละเอียดสูงครั้งล่าสุดจาก ALMA ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้แง่มุมเพิ่มเติมสู่ระบบแห่งนี้ นอกเหนือจากการยืนยันการตรวจจับดิสก์รอบดาวเคราะห์ รอบๆ PDS 70c และศึกษาขนาดและมวลของมันแล้ว พวกเขายังพบว่า PDS 70b ไม่ได้แสดงสัญญาณของดิสก์ลักษณะคล้ายๆ กันอย่างชัดเจน

     ทีมของ Benistry มีทฤษฎีสองสามอันที่อธิบายว่าเพราะเหตุใด PDS 70b จึงไม่มีดิสก์อยู่ เนื่องจากมันอยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่มากกว่า บางทีเขตอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของมันจึงน้อยกว่ามากซึ่งหมายความว่า ฝุ่นใดๆ ที่อาจจะโคจรรอบ PDS 70b ก็จะถูกดึงเข้าสู่ดาวฤกษ์แทน คำอธิบายอีกทางก็คือ PDS 70c ดึงฝุ่นออกจาก b ฝุ่นที่ล้อมรอบดาวเคราะห์จะต้องมาจากวงแหวนส่วนนอกที่เย็นกว่า และเนื่องจาก 70c อยู่ใกล้พื้นที่ดังกล่าวมากกว่า มันอาจจะจับไว้เกือบทั้งหมดและยอมให้อนุภาคฝุ่นเพียงน้อยนิดหลุดไปสู่ 70b ได้

      ความเข้าใจระบบดาวเคราะห์น่าจะลึกมากขึ้นไปอีกด้วยกล้องโทรทรรศน์ใหญ่สุดขั้ว(Extremely Large Telescope; ELT) ซึ่งกำลังก่อสร้างบนเซร์โร อาร์มาซอเนส ในทะเลทรายอะตาคามา ของชิลี Richard Teague ผู้เขียนร่วม นักวิจัยที่ศูนย์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์ กล่าวว่า ELT จะเป็นส่วนสำคัญในงานวิจัยนี้ เมื่อมันมีความละเอียดสูงกว่ามาก เราก็จะสามารถทำแผนที่ระบบนี้ในรายละเอียดที่สุดยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ METIS(Mid-infrared ELT Imager and Spectrograph) ของ ELT ทีมก็จะสามารถตรวจสอบการเคลื่อนที่ของก๊าซรอบๆ PDS 70c เพื่อให้ได้ภาพระบบในแบบสามมิติเต็มที่


แผนผังกลุ่มดาวแสดงกลุ่มดาวคนครึ่งม้า(Centaurus) โดยดาวแคระสีส้ม PDS 70 ระบุด้วยวงกลมสีแดง   



แหล่งข่าว eso.org : astronomers make first clear detection of a moon-forming disc around an exoplanet
                skyandtelescope.com : astronomers detect potential moon-forming disk around an exoplanet
                space.com : astronomers spot 1st moon-forming disk around an alien world
                iflscience.com : first confirmation of a moon-forming disk around a planet  

Friday 23 July 2021

ความเป็นไปได้ของชีวิตบนดาวศุกร์

 



      นักวิทยาศาสตร์อ้างในการศึกษาใหม่ว่าถ้ามีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์ มันจะไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่เราเคยพบบนโลก เมื่อปลายปี 2020 มีคำถามว่าดาวศุกร์อาจจะมีความสามารถในการเอื้ออาศัยได้ผุดขึ้นมา ต้องขอบคุณการตรวจพบฟอสฟีน(phosphine) ในชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่าบอกจะเป็นหลักฐานของชีวสัญญาณ(biosignature)

     ในขณะที่ก็มีการโต้เถียงกันไปมาในหมู่นักวิจัยเกี่ยวข้องฟอสฟีนนี้ การค้นพบได้จุดประกายแนวคิดที่ว่าดาวศุกร์ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะดาวเคราะห์ที่มีสภาพแวดล้อมราวกับนรกและเป็นพิษ ก็อาจจะสามารถค้ำจุนชีวิตได้ โดยบังเอิญที่นาซากำลังส่งปฏิบัติการใหม่เพื่อสำรวจดาวศุกร์ เป็นการย้อนกลับไปครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งน่าจะช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ดีที่สุดเท่าที่ควรจะมีว่าพิภพที่แลดูโหดร้ายนี้จริงๆ แล้วอาจจะเอื้ออาศัยได้ หรือไม่

      การค้นพบในอนาคตเหล่านั้นยังคงรอไปอีกหลายปี อย่างไรก็ตาม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์งานใหม่ที่เผยแพร่ได้บอกว่าบางทีเราคงไม่ต้องรอเจอสัญญาณสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์เลย จากการวิเคราะห์ใหม่ที่นำโดย John Hallsworth นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์ เบลฟาสต์ ผู้เขียนนำรายงาน บอกว่าสภาพที่ไม่มีน้ำในเมฆของดาวศุกร์ ทำให้ชีวิตไม่อาจอยู่บนนั้นได้ หรืออย่างน้อย ก็ชีวิตในแบบที่เรารู้จัก คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ ไม่มีน้ำมากพอให้สิ่งมีชีวิตใช้ทำงาน  

     การศึกษาใหม่พิจารณาการตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 จากยาน 7 ลำของสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตที่บินผ่านทะลุชั้นบรรยากาศดาวศุกร์และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ, ความชื้น และความดันในเมฆกรดกำมะถันหนาที่ห่อหุ้มดาวเคราะห์ไว้ และปฏิบัติการยานโคจร(orbiter) อีก 1 ลำ จากค่าเหล่านั้นนักวิทยาศาสตร์ก็คำนวณสิ่งที่เรียกว่า กิจกรรมน้ำ(water activity) ซึ่งเป็นปัจจัยทางเทอร์โมไดนามิกที่เทียบเท่ากับ ความชื้นสัมพัทธ์(relative humidity) ในชั้นบรรยากาศ นักวิจัยได้พบว่าชั้นบรรยากาศดาวศุกร์นั้นแห้งเกินกว่าที่สิ่งมีชิวิตที่คล้ายกับที่พบบนโลกจะอยู่รอดได้ กิจกรรมน้ำเป็นการตรวจสอบในระดับตั้งแต่ศูนย์(ต่ำสุด) จนถึง หนึ่ง(สูงสุด หรือคือความชื้น 100%) ตราบเท่าที่นักวิทยาศาสตร์ทราบ การทำงานทางชีววิทยาในสิ่งมีชีวิตจะหยุดลงใต้ระดับกิจกรรมน้ำที่ 0.585 โดยมีสิ่งมีชีวิตที่ชอบความแห้งแล้ง(xerophiles) เป็นราพันธุ์อึด Aspergillus penicilliodes มีระดับขีดจำกัดที่ต่ำที่สุด โชคร้ายที่ เมฆแห้งแล้งของดาวศุกร์ซึ่งประกอบขึ้นด้วยหยดกรดกำมะถันขนาดเล็กเกือบทั้งหมด ไม่ได้ใกล้เคียงค่า 0.585 เลย โดยอยู่ที่ราว 0.004 เท่านั้น


ชั้นเมฆบนดาวศุกร์มีความชื้นต่ำเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตที่ทนทานที่สุดบนโลกจะใช้ชีวิตได้

     พูดอีกอย่างว่า ชั้นบรรยากาศดาวศุกร์นั้นแห้งแล้งกว่า ขีดจำกัดของชีวิตในทางทฤษฎีเกินร้อยเท่า หนึ่งร้อยเท่าใต้ระดับขีดจำกัด 0.585 ของสิ่งมีชีวิตที่ทนแล้งได้ดีที่สุด บนโลก จุลชีพสามารถอยู่รอดและขยายพันธุ์ในหยดน้ำจิ๋วในชั้นบรรยากาศได้เมื่ออุณหภูมิเอื้อ อย่างไรก็ตาม การค้นพบใหม่ทำให้โอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตในเมฆดาวศุกร์นั้นเหลือแค่ศูนย์ Hallsworth กล่าวว่า ระบบสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงจุลชีพนั้นประกอบด้วยน้ำเป็นหลัก และในสภาพขาดน้ำ พวกมันก็จะอยู่นิ่งและไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ Chris McKay นักดาราศาสตร์ชีววิทยาที่เอมส์ของนาซา หนึ่งในผู้เขียนร่วม กล่าวว่า การค้นพบจากการศึกษานี้เป็นที่แน่ชัดแล้ว ข้อสรุปของเรามีพื้นฐานโดยตรงมาจากการตรวจสอบค่า มันไม่ใช่แบบจำลอง ไม่ใช่การสันนิษฐาน ปฏิบัติการที่นาซาเพิ่งคัดเลือกให้บินไปดาวศุกร์ก็จะทำการตรวจสอบเดียวกันนี้(อุณหภูมิ ความดัน) อีกครั้ง และพวกมันก็จะมาถึงข้อสรุปเดียวกันนี้เพราะว่าดาวศุกร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในเวลาเพียงแค่นี้

     ในการตรวจสอบเดียวกัน เมฆในชั้นบรรยากาศดาวอังคารก็อาจจะแห้งเกินไปที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ แม้ว่าระดับกิจกรรมน้ำจะอยู่ที่ 0.537 ซึ่งก็ต่ำกว่าระดับเอื้ออาศัยได้ไปเล็กน้อย ใกล้เคียงกับชั้นสตราโตสเฟียร์(stratosphere) ของโลก ในแง่ของกิจกรรมน้ำ เมฆของดาวพฤหัสฯ เองก็แสดงระดับกิจกรรมน้ำที่พอไหว ข้อมูลที่รวบรวมโดยยานกาลิเลโอที่ระดับความสูงระหว่าง 42 ถึง 68 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวบอกว่า ค่ากิจกรรมน้ำทอยู่ที่ 0.585 พอดี อุณหภูมิในพื้นที่เหล่านี้ก็ผ่านเกณฑ์พอดี(-40 องศาเซลเซียส)

     เมฆของดาวพฤหัสฯ ผ่านทั้งกิจกรรมน้ำและอุณหภูมิที่เอื้อต่อชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกมันจะมีองค์ประกอบสำคัญทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตพัฒนาและอยู่รอดได้ นักวิจัยบอกว่านี่ยังเป็นขั้นแรกสุดในการประเมินความสามารถในการเอื้ออาศัยได้ของเมฆเท่านั้น ซึ่งองค์ประกอบเคมีอื่นๆ ในเมฆก็อาจส่งผลด้วยเช่นกัน คล้ายๆ กับในชั้นบรรยากาศโลกซึ่งมีกิจกรรมน้ำที่เหมาะสมสำหรับชีวิต แต่เฉพาะที่ชั้นโทรโพสเฟียร์(troposphere) ส่วนล่างเท่านั้น โดยโทรโพสเฟียร์ส่วนบนและ มีโซสเฟียร์(mesosphere) นั้นก็แห้งเกินกว่าจะเอื้ออาศัยได้




      สำหรับดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะ ซึ่งรวมถึงดาวเสาร์, ยูเรนัส และเนปจูน ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชั้นบรรยากาศของพวกมันมากเพียงพอที่จะทำการวิเคราะห์ลักษณะนี้ได้ แม้ว่าสิ่งนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ กำลังจะถูกส่งออกไปทำงาน

     แน่นอนว่า แค่เพราะชั้นบรรยากาศดาวศุกร์และดาวอังคารแห้งแล้งเกินกว่าขีดจำกัดความสามารถในการเอื้ออาศัยที่พบในสิ่งมีชีวิตสุดขั้ว(extremophiles) บนโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งมีชีวิตบนสถานที่เหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง ก็เพียงแค่มันอาจจะแตกต่างอย่างมากมายกับสิ่งมีชีวิตใดๆ ที่เรารู้จักเท่านั้นเอง อ้างอิงจากการศึกษาปัจจุบันนี้ เราคงต้องจินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เพื่อที่จะหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับชีวิตในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ การค้นพบนี้เผยแพร่ใน Nature Astronomy เผยแพร่วันที่ 28 มิถุนายน

      นอกจากนี้ งานวิจัยใหม่ล่าสุดจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้บอกว่าร่องรอยฟอสฟีนเล็กน้อยในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์นั้นมาจากกิจกรรมภูเขาไฟ เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์บอกว่าได้พบฟอสฟีนในปริมาณน้อยนิดในชั้นบรรยากาศส่วนบน การค้นพบนี้เป็นความเป็นไปได้น้อยๆ ที่ฟอสฟีนจะเป็นชีวสัญญาณ แต่นักวิทยาศาสตร์คอร์เนลบอกว่า ร่องรอยฟอสฟีนนี้สนับสนุนการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอีกด้าน คือ ร่องรอยทางธรณีวิทยา แสดงหลักฐานกิจกรรมภูเขาไฟโดยเฉพาะแบบระเบิด บนดาวศุกร์


ภาพเรดาร์จากปฏิบัติการมาเจลลันแสดงภูมิประเทศและกระแสวัสดุสารสว่าง การวิจัยใหม่บอกว่าดาวศุกร์อาจจะยังมีกิจกรรมภูเขาไฟอยู่ หรือภูเขาลักษณะนี้จะเป็นภูเขาไฟที่มีกิจกรรมเมื่อไม่นานนี้

     Jonathan Lunine ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ และประธานแผนกดาราศาสตร์ที่คอร์เนล กล่าวว่า ฟอสฟีไม่ได้บอกเราเกี่ยวกับชีววิทยาบนดาวศุกร์ แต่มันกำลังบอกเราเกี่ยวกับธรณีวิทยา หลักฐานชี้ว่าดาวเคราะห์มีกิจกรรมการระเบิดภูเขาไฟที่คุกรุ่นในปัจจุบัน หรือในอดีตเมื่อเร็วๆ นี้เอง Lunine และ Ngoc Truong ว่าที่นักวิจัยปริญญาเอกสาขาธรณีวิทยา ผู้เขียนการศึกษา “Volcanically Extruded Phosphides as an Abiotic Source of Venusian Phosphine” เผยแพร่วันที่ 12 กรกฎาคมใน Proceedings of the National Academy of Sciences

     Truong และ Lunine บอกว่ากิจกรรมภูเขาไฟเป็นตัวสร้างฟอสฟีนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศส่วนบนของดาวศุกร์หลังจากที่ได้ตรวจสอบการสำรวจจากภาคพื้นดินโดยกล้องโทรทรรศน์ความยาวคลื่นเสี้ยวมิลลิเมตร เจมส์เคิร์กแมกซ์เวลล์ บนยอดเมานาคี ฮาวาย และเครือข่าย ALMA(Atacama Large Millimeter/submillimeter Array) ในชิลี ซึ่งเป็นอุปกรณ์สองชนิดที่ใช้ในการประกาศการค้นพบฟอสฟีนครั้งแรก ในระดับประมาณ 20 ส่วนในหนึ่งพันล้านส่วน(ppb) แม้ต่อมาจะมีความผิดพลาดในการประมวลข้อมูลจาก ALMA ซึ่งให้ระดับฟอสฟีนต่ำลงไปอีก ในระดับเฉลี่ย 1 ถึง 4 ppb โดยบางตำแหน่งอาจจะสูงถึง 5 หรือ 10 ppb ได้

     ถ้าดาวศุกร์มีฟอสไฟด์(phosphide) ซึ่งเป็นฟอสฟอรัสรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่ในชั้นแมนเทิล(mantle) ส่วนลึกในดาวเคราะห์ และถ้ามันถูกนำขึ้นสู่พื้นผิวในการระเบิดภูเขาไฟ ก็จะถูกผลักสู่ชั้นบรรยากาศ ฟอสไฟด์จะทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ก่อตัวฟอสฟีนขึ้นได้ Truong กล่าว แบบจำลองของทั้งคู่บอกว่ากำลังมีกิจกรรมภูเขาไฟเกิดขึ้น Lunine บอก ในขณะที่ภาพเรดาร์จากยานมาเจลลันในทศวรรษ 1990 ก็แสดงถึงรายละเอียดทางธรณีวิทยาบางส่วนที่น่าจะสนับสนุนแนวคิดนี้


ซ้าย การตรวจสอบสเปคตรัมดาวศุกร์จากบนโลกโดยกล้องโทรทรรศน์เจมส์เคิร์ก แมกซ์เวลล์(JCMT) แสดงร่องรอยการดูดกลืนคลื่นที่จำเพาะซึ่งนักวิทยาศาสตร์แปลผลว่าเกิดจากฟอสฟีน อย่างไรก็ตาม กระบวนการแปรผลข้อมูลค่อนข้างซับซ้อนเมื่ออาจมีสารประกอบอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์และชั้นบรรยากาศโลก ที่ให้ผลการดูดกลืนคลื่นที่คล้ายๆ กัน หลังจากหลายทีมได้ประมวลผลข้อมูลเดียวกันนี้ใหม่(ขวา) ไม่มีการตรวจจับฟอสฟีนอย่างมีนัยสำคัญ


     ในปี 1978 ปฏิบัติการไพโอเนียร์ของนาซาซึ่งไปโคจรรอบดาวศุกร์ นักวิทยาศาสตร์ได้พบกำมะถันไดออกไซด์จำนวนมากในชั้นบรรยากาศส่วนบนของดาวศุกร์ ซึ่งบอกใบ้ถึงกิจกรรมภูเขาไฟ Truong กล่าว คล้ายกับปริมาณที่พบในการปะทุภูเขาไฟกรากาตัวที่อินโดนีเซียของโลกเมื่อปี 1883 แต่เขากล่าวว่า การยืนยันกิจกรรมภูเขาไฟบนดาวศุกร์ผ่านก๊าซฟอสฟีนนั้นเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงโดยสิ้นเชิง


แหล่งข่าว sciencealert.com : life on Venus would have to be a new type of organism, astronomers now claim  
              
space.com : no hope for life in Venus clouds, but maybe on Jupiter, study suggests
                iflscience.com : life more likely to exist in the clouds of Jupiter than Venus
                phys.org : new research suggests explosive volcanic activity on Venus
                sciencealert.com : that scandalous phosphine on Venus really could come from volcanoes, say new study     

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...