Monday 28 June 2021

ดาวแม่เหล็กดวงใหม่

 



     การค้นพบใหม่ได้เพิ่มจำนวนรวมของดาวแม่เหล็ก (magnetars) ที่ยืนยันแล้วเป็น 25 ดวง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน การปะทุรังสีเอกซ์ช่วงสั้นๆ ใกล้กับระนาบกาแลคซีเหตุการณ์หนึ่ง ได้ดึงดูดความสนใจของกล้องโทรทรรศน์เตือนการปะทุ(Burst Alert Telescope) ของดาวเทียมสวิฟท์ การสำรวจติดตามผลและการวิเคราะห์ดูเหมือนจะยืนยันว่ามันเปล่งออกมาจากมักนีตาร์ดวงหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งขณะนี้มีชื่อว่า Swift J1555.2-5402

     จากที่พบมักนีตาร์ภายในทางช้างเผือกเพียงไม่กี่ดวง ดวงใหม่นี้จึงมีศักยภาพที่จะเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับวัตถุปริศนานี้ได้อย่างมหาศาล

     มักนีตาร์เป็นเหมือนดาวเด่นเซเลป พวกมันเป็นดาวนิวตรอนชนิดที่พบได้ยากมากๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากแกนกลางที่ยุบตัวลงของดาวฤกษ์ที่มีมวลระหว่าง 8 ถึง 30 เท่าดวงอาทิตย์ เมื่อดาวเหล่านี้ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา และเปล่งวัสดุสารส่วนนอกออกมา แกนกลางของพวกมันจะยุบตัวลงกลายเป็นวัตถุที่มีความหนาแน่นสูงที่สุดชนิดหนึ่งในเอกภพ โดยบีบอัดมวลประมาณ 2 เท่ามวลดวงอาทิตย์ไว้ในทรงกลมที่มีความกว้างเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

     มักนีตาร์ทั้งหมดจะเป็นดาวนิวตรอนชนิดที่มีความเป็นแม่เหล็กสูงมาก ราวๆ หนึ่งพันเท่าของดาวนิวตรอนปกติ และราวๆ 1 พันล้านล้านเท่าของสนามแม่เหล็กบนโลก ดาวเหล่านี้ตรวจจับได้ยากซึ่งทำให้พวกมันมีความท้าทายในการเข้าใจ ในทางช้างเผือกพบมักนีตาร์ที่ยืนยันแล้วเพียง 24 ดวงเท่านั้น โดยมีว่าที่อีก 6 ดวงรออยู่ นี่หมายความว่า ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับพวกมัน เช่น พวกมันสร้างสนามแม่เหล็กที่รุนแรงได้อย่างไร




      การค้นพบล่าสุดจึงผลักดันให้มักนีตาร์ดวงใหม่มาอยู่ท่ามกลางแสงไฟ หนึ่งในดาวกลุ่มปริศนานี้ถูกพบว่ามีการระเบิดสัญญาณวิทยุที่ทรงพลังชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การปะทุคลื่นวิทยุเร็ว(fast radio burst) ออกมา ซึ่งก่อนหน้านี้พบการปะทุลักษณะนี้จากแหล่งที่อยู่นอกทางช้างเผือกเท่านั้น ก็สมเหตุสมผลเมื่อมักนีตาร์เป็นปีศาจอารมณ์ปรวนแปร เมื่อแรงโน้มถ่วงพยายามจะรักษาให้ดาวอยู่เป็นดวง(ยุบตัว) สนามแม่เหล็กที่รุนแรงมากจะส่งแรงผลักออกมา รบกวนรูปร่างของดาว นี่ทำให้เกิดความเครียดระหว่างแรงทั้งสอง ซึ่งบางครั้งก็สร้างดาวไหว(starquakes) ครั้งใหญ่ยักษ์ และการลุกจ้าอย่างรุนแรง

     Swift J1555.2-5402 ก็เปิดเผยตัวตนของมันออกมาผ่านการปะทุรังสีเอกซ์ การสำรวจติดตามผลซึ่งทำโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ NICER(Neutron star Interior Composition Explorer) บนสถานีอวกาศนานาชาติ และกล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์สวิฟท์ ซึ่งอยู่ในวงโคจรรอบโลกทั้งคู่ สวิฟท์จำแนกแหล่งรังสีเอกซ์แห่งหนึ่งที่พิกัดการปะทุ และ NICER ก็ตรวจจับการหดพอง(pulsation) อันเป็นคุณลักษณะของมักนีตาร์ ซึ่งยืนยันว่าการปะทุรังสีเอกซ์สั้นๆ ที่พบนั้นแท้จริงแล้วเปล่งออกจากมักนีตาร์ดวงใหม่นี้เอง

     ยังคงต้องรอการวิเคราะห์ฉบับเต็ม และเราก็ยังรอคอยที่จะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุที่เพิ่งค้นพบใหม่ดวงนี้ และเผื่อมันจะบอกอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับมักนีตาร์โดยรวมได้

 

แหล่งข่าว sciencealert.com : astronomers may have just detected a new magnetar!

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...