Tuesday, 24 September 2019

Lyra the Harp

Lacerta, Cygnus, Lyra, Vu;pecula and Anser : Sydney Hall (1788-1831)
Cr: Wiki Commons Click

"ไลรา" หรือ "พิณ" กลุ่มดาวที่ขนาดพอดีกับฟิลด์กล้องสองตา แม้จะเล็กแต่หาง่ายเพราะมีดาว “วีก้า” เปล่งประกายสีขาวใสสุกสกาว

ตำนานของไลร้าเป็นหนึ่งในนิทานกรีกที่รู้จักกันดี ไลร้าเป็นพิณอันแรกที่สร้างขึ้นมาในโลก ทำมาจากกระดองเต่าและขึงด้วยเอ็น 7เส้น โดยเฮอร์แมสบุตรแห่งซุสกับมีอาหนึ่งในเจ็ดพี่น้องพรีอาเดสหรือดาวลูกไก่ แต่ภายหลังเจ้าของคือนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ “ออฟิอัส”

ครั้งหนึ่งเฮอแมสไปขโมยฝูงวัวของอพอลโล่ แต่เมื่อได้ยินเสียงพิณ อพอลโล่เลยขอพิณจากเฮอแมสแลกกับการรับโทษ ต่อมาอพอลโล่ก็มอบพิณอันนี้ให้กับออฟิอัส

นักดนตรีและกวีผู้ยิ่งใหญ่ "ออฟิอัส" เชียวชาญการร้องเพลงและดีดพิณยิ่ง ว่ากันว่าเมื่อใดที่ได้ยินเสียงพิณของออฟิอัส สายน้ำก็หยุดไหล สัตว์ร้ายกลับเชื่อง เหล่านิมฟ์หลงไหล แม้แต่ก้อนหินยังกลับมีชีวิตชีวา

ออฟิอัสเป็นหนึ่งในลูกเรื่ออาร์โกที่ช่วยเจสันตามหาขนแกะทองคำ เขาบรรเลงเพลงช่วยลูกเรือทุกคนให้รอดพ้นจากบทเพลงของไซเรนที่นำลูกเรืออาร์โกร์ไปสู่ความตาย



Orpheus and Eurydice : Oil on canvas, Peter Paul Rubens (1577-1640)
ภาพออร์ฟิอัสกำลังแบกพิณจูงมือยูริไดซี ขณะที่เทพฮาเดสและเทวีเพอร์เซปโฟเน่นั่งบนบันลัก์
Cr: Wiki Commons [link ]

แต่ชีวิตรักของนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่กลับเป็นเรื่องเศร้า ออร์ฟิอัสรักกับนิมฟ์ตนหนึ่งชื่อยูริไดซี หลังจากแต่งงานยูริไดซีโดนงูกัดตาย นำความเศร้าโศกมาให้นักดนตรีของเราอย่างมากจนถึงขนาดลงไปขอร้องต่อเจ้าบาดาลฮาเดสให้คืนชีวิตแก่นาง

ระหว่างการเดินทางไปโลกบาดาลออฟิอัสได้ใช้พิณบรรเลงขับกล่อมเหล่าปีศาจและสัตว์ร้ายตลอดทาง จนในที่สุดฮาเดสและเทวีก็ยอมแพ้ต่อเสียงพิณของออร์ฟิอัสจนยอมรับปาก แต่มีข้อแม้ว่าระหว่างทางกลับห้ามหันหลังกลับมาดูคนรักเด็ดขาด

เมื่อใกล้จะถึงทางออกเขาดีใจจนลืมตัวหันกลับไปมองภรรยาที่รัก ผลก็คือยูริไดซีโดนดูดกลับลงไปโลกบาดาลอีกครั้ง ออร์ฟิอัสเสียใจมากจนไม่เล่นพิณอีกต่อไป เขาเดินไปอย่างไร้จุดหมายจนกระทั่งโดนทุบตี ฉีกทึ้ง จนตายที่ดินแดนห่างไกลของชนป่าถื่อนกลุ่มหนึ่ง

ต่อมาซุสได้นำพิณของออร์ฟิอัสไปไว้บนฟ้าเป็นกลุ่มดาวพิณเพื่อระลึกถึงความยอดเยี่ยมทางดนตรีและเรื่องราวความรักอันแสนเศร้าของเขา



กลุ่มดาวพิณหรือ Lyra [คลิกภาพเพื่อขยาย]
Star Chart Credit: Cartes Du Ciel

“วีก้า” ดาวสีฟ้า-ขาว คลาส A0 เป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่ใกล้โลกห่างออกไป 25 ปีแสง ค่าความสว่างที่ 0.03 แมกนิจูด สว่างลำดับที่ 5 บนท้องฟ้า เป็นหนึ่งในสามมุมของสามเหลี่ยมฤดูร้อน คำว่า “วีก้า” มาจากภาษาอารบิค “Waqi” หมายถึงนกอินทรีหรืออีแร้ง

ในอียิปต์ อาหรับไปจนถึงอินเดีย กลุ่มดาวกลุ่มนี้คือนกอินทรีหรืออีแร้ง แผนที่ดาวยุคเก่าก็จะวาดเป็นรูปพิณที่มีอีแร้งอยู่ด้านหลัง วีก้ายังเป็นดาวสาวทอผ้าในตำนานคลาสสิคความรักระหว่างสาวทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวในจีนอีกด้วย ในอีกราว 14,500 ปี วีก้าจะกลายมาเป็นดาวเหนือแทนโพลาริสตามการหมุนส่ายของแกนโลก


ซ้ายมือ ดาววีก้า ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธ์
ขวามือ M56 ภาพโดยคุณกีรติ คำคงอยู่

ซ้ายมือ แอพซิลอนไลเร ภาพจาก Sky Safari
ขวามือภาพสเก็ทช์ M57 โดยผู้เขียน

แอพซิลอน ไลเร หรือ Double-Double ดาวสว่างที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวีก้า มองด้วยตาเปล่าจะเห็นจุดสว่างดวงเดียว หากใช้กล้องสองตาส่องดูจะเห็นว่าเป็นมีสองดวงเคียงกัน สีขาวสว่างใกล้เคียงกันมาก และเมื่อดูด้วยกล้องดูดาวจะพบว่าแต่ละดวงก็มีคู่ของตัวเอง ทั้งหมดกลายเป็นสี่ดวง จึงเป็นที่มาของชื่อ Double-Double เป็นดาวคู่ที่รู้จักกันดีคู่หนึ่ง อยู่ห่างออกไป 162ปีแสง ไกลกว่าวีก้าหลายเท่า

ระหว่างดาวเบต้าไลเรกับแกมม่าไลเร เป็นตำแหน่งของเนบูล่าดาวเคราะห์ที่มีชื่อเสียงมากตัวหนึ่งคือ เอ็ม 57 หรือเนบูล่าวงแหวน เนฐูล่าดาวเคราะห์เป็นซากที่เหลือจากการหมดอายุขัยของดาวฤกษ์ที่คล้ายกับพระอาทิตย์ของเรา ภาพจากกล้องดูดาวจะเป็นวงแหวนสีเทาขนาดจิ๋วแปลกตา เอ็ม 57 อยู่ห่างจากเรา 1400 ปีแสง

สุดท้ายเป็นเอ็ม 56 กระจุกดาวทรงกลมขนาดเล็ก ตำแหน่งประมาณตรงกลางระหว่างดาวแกมม่าไลเรกับอัลบริโอหรือหัวหงส์ ลูกบอลดาวตัวนี้อยู่ไกลออกไปจากเรา 32000 ปีแสง ค้นพบโดยชาร์ล แมสซายเออร์ในปี 1779



อ้างอิง
http://www.ianridpath.com/startales/lyra.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Orpheus
SkySafari


No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...