ฟองเฟอร์มี(สีแดง) และฟองอีโรสิตา(สีฟ้า)
ฟองขนาดยักษ์ 2 ชุดที่แผ่ออกไปหลายพันปีแสงเหนือและใต้ระนาบทางช้างเผือก
น่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์เดียวกัน
แม้ว่าจะมีความแตกต่างในเรื่องขนาดของพวกมันก็ตาม
ฟองทั้งสองถูกเรียกว่า ฟองเฟอร์มี(Fermi
Bubble) และ
ฟองอีโรสิตา(e ROSITA bubble) และนักดาราศาสตร์เชื่อว่าพวกมันเป็นผลจากกิจกรรมของคนยิงธนู
เอ สตาร์(Sagittarius A*) หลุมดำมวลมหาศาล(supermassive
black hole) มวล 4.3
ล้านเท่าดวงอาทิตย์ในใจกลางทางช้างเผือกแต่เนื่องจากฟองชุดหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกแห่งอย่างมาก
จึงยังไม่แน่ชัดว่าพวกมันถูกสร้างขึ้นในเวลาเดียวกัน หรือจากเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน
ฟองเฟอร์มี ซึ่งตรวจพบในปี 2010 และอุดมไปด้วยก๊าซร้อนและสนามแม่เหล็กที่เปล่งรังสีแกมมา
แผ่ออกไป 9 กิโลพาร์เซค(29354
ปีแสง) เหนือและใต้ระนาบกาแลคซี โดยมีขนาดรวมที่ 18
กิโลพาร์เซค
พวกมันยังมีการแผ่รังสีไมโครเวฟคู่เคียง(microwave counterpart) ด้วย ซึ่งเรียกว่า หมอกไมโครเวฟ(microwave
haze)
ในขณะที่ฟองอีโรสิตา ซึ่งเปล่งรังสีเอกซ์
แผ่ออกไปราว 14 กิโลพาร์เซค(45661
ปีแสง) ในแต่ละทิศทางจากใจกลางกาแลคซี โดยมีขนาดรวม 28
กิโลพาร์เซค ด้วยขนาดใหญ่แบบนี้
พวกมันจึงครอบคลุมฟองเฟอร์มีไว้ได้จนหมดสิ้น
ก่อนที่จะทราบขนาดที่แท้จริงของฟองอีโรสิตา รายงานในปี 2020 นักวิทยาศาสตร์ก็คิดแล้วว่ามันน่าจะถูกสร้างจากการปะทุเดียวกัน
ฟองทั้งสองชุดมีรูปร่างใกล้เคียงกัน ซึ่งบอกว่าพวกมันเชื่อมโยงกันในบางประการ
เนื่องจากฟองผุดขึ้นมาจากใจกลางกาแลคซี
และเนื่องจากก็พบเห็นฟองลักษณะคล้ายๆ กันนี้ในกาแลคซีอื่นด้วย
จึงดูเป็นไปได้ที่ฟองเฟอร์มีและฟองอีโรสิตา
มีความเชื่อมโยงกับหลุมดำของทางช้างเผือก แทนที่จะเกิดจากกิจกรรมการก่อตัวดาวที่คึกคักมาก(starburst)
แล้วเกิดซุปเปอร์โนวาชุดใหญ่
ทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดย Hsiang-Yi
Karen Yang จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติซิงฮวาในไต้หวัน
ได้ใช้แบบจำลองเสมือนจริงหลายอันเพื่อระบุกิจกรรมของหลุมดำยักษ์ซึ่งอาจจะสร้างฟองอย่างที่เราเห็น
ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ประหลาดที่เป็นไปได้ 2 อย่าง คือ ลมยักษ์ที่พัดพาออกจาก Sgr A*หรือไอพ่นดาราศาสตร์ฟิสิกส์ นักวิจัยได้พบว่าไอพ่นดาราศาสตร์ฟิสิกส์น่าจะสมเหตุสมผลกว่า
ก่อนการตรวจพบฟองอีโรสิตา
กำเนิดทางกายภาพของฟองเฟอร์มีและหมอกไมโครเวฟเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน
นักวิจัยเขียนไว้ในรายงาน
เราได้แสดงว่าข้อมูลอีโรสิตาใหม่ได้ให้รายละเอียดที่สำคัญที่ช่วยให้เราได้ปะติดปะต่อเรื่องราวเพิ่มเติมให้กับลำดับเหตุการณ์ทั้งสองนี้
และการรวมภาพรังสีแกมมา, รังสีเอกซ์ และไมโครเวฟ และสเปคตรัม
ก็บอกอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมไอพ่นในอดีตจากหลุมดำในใจกลางกาแลคซี น่าจะเป็นตัวการ
ขณะนี้ Sgr A* ค่อนข้างเงียบเชียบ โดยเปล่งเฉพาะการปะทุเป็นครั้งคราวเท่านั้น
นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกว่า นิวเคลียสกาแลคซีกัมมันต์(active galactic
nucleus) ซึ่งเป็นหลุมดำยักษ์ใจกลางกาแลคซีที่กลืนกินวัสดุสารจากเมฆรอบๆ
มันอย่างกระตือรือร้น นั้นเป็นกระบวนการที่ยุ่งเหยิง ซึ่งมีการทะลักออก(outflow)
ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ห้วงอวกาศรอบๆ
หลุมดำนั้นมีความซับซ้อนอย่างมาก วัสดุสารที่ป้อนลงสู่หลุมดำจากดิสก์สะสมมวลสาร(accretion
disk) ที่หมุนวนรอบๆ
หลุมดำก็ไม่ต่างจากน้ำที่หมุนไปรอบๆ ท่อระบายน้ำทิ้ง
คิดกันว่าไอพ่นเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุสารส่วนน้อยๆ ที่ถูกไขเข้ามาตามแนวเส้นแรงสนามแม่เหล็กนอกขอบฟ้าสังเกตการณ์(event
horizon) จากพื้นที่ส่วนในของดิสก์สะสมมวลสาร
เส้นแรงสนามแม่เหล็กทำหน้าที่เป็นซิงโครตรอน(synchrotron)
ที่เร่งความเร็ววัสดุสารนี้ไปถึงพื้นที่ขั้วของหลุมดำ
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่วัสดุสารถูกยิงออกสู่อวกาศในรูปของไอพ่นก๊าซที่แตกตัวเป็นประจุ(plasma)
ความเร็วสูง
ไอพ่นเหล่านี้สามารถเป่าห้วงอวกาศไปได้ไกลทั้งเหนือและใต้ระนาบกาแลคซี
แบบจำลองเสมือนจริงของ Yang และทีมของเธอสันนิษฐานว่า Sgr A* เคยมีกิจกรรมที่คึกคักเมื่อ 2.6 ล้านปีก่อน บริโภควัสดุสารประมาณ 1000 ถึง 10000 เท่าดวงอาทิตย์ภายในช่วง 1 แสนปี และได้ยิงวัสดุสารบางส่วนออกมาเป็นไอพ่นออกสู่อวกาศ
ถางเข้าสู่ตัวกลางในอวกาศระหว่างดวงดาว(interstellar medium) ในฮาโล(halo) ของทางช้างเผือก
การสันนิษฐานเหล่านี้ได้สร้างชุดฟองที่คล้ายกับที่สำรวจพบฟองเฟอร์มีและฟองอีโรสิตาขึ้นใหม่อย่างแนบเนียน
ความต่างอย่างมากระหว่างแรงดันในไอพ่นกับก๊าซในตัวกลางในอวกาศ
เป็นสาเหตุให้ไอพ่นขยายออกเป็นฟองหรือโคคูน(cocoon) คู่หนึ่ง ที่คล้ายกับฟองวิทยุ(radio
bubbles) ที่สำรวจพบในกระจุกกาแลคซี
ในตอนนี้ โคคูนเจริญและไปถึงระดับความสูงราว 7.5 กิโลพาร์เซคจากระนาบกาแลคซี
อิเลคตรอนในรังสีคอสมิคภายในโคคูนที่ถูกเคลื่อนย้ายจากใจกลางกาแลคซีมีปฏิสัมพันธ์กับสนามรังสีในอวกาศ
และเปล่งคลื่นในช่วงรังสีแกมมาออกมาตามที่สำรวจพบในฟองเฟอร์มี
นักวิจัยเขียนไว้ในรายงาน
การอัดฉีดพลังงานเดียวกันนี้จากหลุมดำและการขยายตัวของโคคูนที่เกิดขึ้นตามมา
ได้ผลักก๊าซภายในฮาโลกาแลคซีออกจากฮาโลไปด้วยความเร็วเหนือเสียง
สร้างเป็นการกระแทกที่เคลื่อนที่ออกนอก ที่หน้าคลื่นกระแทก การบีบอัดของก๊าซเป็นสาเหตุให้ความหนาแน่นก๊าซในท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น
สร้าง การเปล่งคลื่นเบรมชตราลุง(Bremsstrahlung; จากความเร่งของประจุในสนามไฟฟ้า) ความร้อนในแถบรังสีเอกซ์ปรากฏเป็นฟองอีโรสิตา
ใจกลางกาแลคซีนั้นยากที่จะเห็นได้อันเนื่องจากฝุ่นที่ปกคลุมหนาแน่นมาก
ถ้าฟองเหล่านี้ถูกสร้างโดยไอพ่นเมื่อราว 2.6 ล้านปีก่อน
ก็น่าจะให้เงื่อนงำบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นมาของมัน
แบบจำลองของทีมบอกว่าสนามแม่เหล็กและสนามรังสีถูกกดไว้ในช่วงเวลาที่ยิงไอพ่นออกมา
การสำรวจกลไกว่าเกิดขึ้นที่ใดอาจจะเป็นหัวข้อการวิเคราะห์ในอนาคต
การสำรวจในอนาคตจะยิ่งเผยให้เห็นผลกระทบต่อกลไกย้อนกลับ(feedback) ต่อประวัติวิวัฒนาการของทางช้างเผือก
นักวิจัยเขียนไว้ และบอกว่าเหตุการณ์นี้สอดคล้องกับภาพกว้างๆ
ในวิวัฒนาการร่วมระหว่างหลุมดำมวลมหาศาล-กาแลคซี
ในเอกภพอย่างไร งานวิจัยเผยแพร่ใน Nature Astronomy
แหล่งข่าว sciencealert.com
: giant bubbles expanding from the Milky Way could be explained by a single
event
live-sci.com : gargantuan
“Fermi bubbles” are the result of a 100,000-year-long
black hole explosion, study suggests
No comments:
Post a Comment