กาแลคซีแคระบางส่วนที่พบใกล้กับทางช้างเผือก
ข้อมูลจากปฏิบัติการไกอา ได้เขียนประวัติความเป็นมาของทางช้างเผือกขึ้นใหม่ สิ่งที่ดูจะเป็นแนวคิดดั้งเดิมว่าเป็นกาแลคซีบริวารของทางช้างเผือก ขณะนี้ดูเหมือนจะเผยออกมาว่าเกือบทั้งหมดเป็นพวกที่เพิ่งย้ายมาใหม่ในละแวกของเรา
กาแลคซีแคระ(dwarf galaxies) เป็นกลุ่มของดาวตั้งแต่หลายพันจนถึงหลายพันล้านดวง
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่เชื่อกันโดยกว้างขวางว่ากาแลคซีแคระที่ล้อมรอบทางช้างเผือกเป็นบริวาร(satellite)
ซึ่งหมายความว่า
พวกมันถูกจับไว้ในวงโคจรรอบกาแลคซีของเรา
และเป็นเพื่อนบ้านของเรามานานนับพันล้านปี ขณะนี้ เมื่อมีการคำนวณการเคลื่อนที่ของแคระเหล่านี้
ด้วยความแม่นยำสูงมาก ต้องขอบคุณข้อมูลจากการเผยแพร่ข้อมูลครั้งที่สามตอนต้น(early
third data release) ของไกอา
และผลสรุปที่ได้ก็ชวนประหลาดใจ
Francois Hammer จากหอสังเกตการณ์แห่งปารีส PSL(Paris
Sciences et Lettres University) และเพื่อนร่วมงานจากทั่วยุโรปและจีน
ได้ใช้ข้อมูลไกอาเพื่อคำนวณการเคลื่อนที่ของกาแลคซีแคระ 40 แห่งรอบๆ ทางช้างเผือก
พวกเขาทำเช่นนั้นได้โดยการคำนวณค่าชุดหนึ่งที่เรียกว่า
ความเร็วสามมิติของกาแลคซีแต่ละแห่ง
และจากนั้นก็ใช้ค่าเหล่านั้นเพื่อคำนวณพลังงานการโคจรและโมเมนตัมเชิงมุมของแต่ละกาแลคซี
พวกเขาพบว่ากาแลคซีเหล่านั้นกำลังเคลื่อนที่เร็วกว่าดาวฤกษ์และกระจุกดาวที่โคจรรอบทางช้างเผือก
เร็วมากๆ จนพวกมันไม่น่าจะอยู่ในวงโคจรรอบทางช้างเผือกเลย
ซึ่งปฏิสัมพันธ์กับกาแลคซีของเราและองค์ประกอบของทางช้างเผือก จะต้องขโมยพลังงานการโคจรและโมเมนตัมเชิงมุมบางส่วนไป
กาแลคซีของเราได้ฉีกทึ้งกาแลคซีแคระจำนวนหนึ่งไปในอดีต ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อ 8 ถึง 10 พันล้านปีก่อน
มีกาแลคซีแคระแห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า ไกอา-
เอนเซลาดัส(Gaia-Enceladus หรือเรียกอีกชื่อว่า
Gaia Sausage) ถูกทางช้างเผือกกลืนไป
ข้อมูลจากไกอา
สามารถจำแนกดาวของมันได้
เนื่องจากวงโคจรที่รีและระดับพลังงานที่พวกมันมี ซึ่งแตกต่างออกไป
และเมื่อเร็วกว่านั้น คือ 4 ถึง 5
พันล้านปีก่อน แคระคนยิงธนู(Sagittarius
dwarf spheroidal) ก็ถูกทางช้างเผือกจับไว้
และกำลังอยู่ในกระบวนการที่ฉีกออกเป็นชิ้นๆ และดูดกลืน
พลังงานของดาวของมันจะสูงกว่าดาวของไกอา-เอนเซลาดัส
ซึ่งบ่งชี้ถึงเวลาที่สั้นกว่าที่พวกมันได้รับอิทธิพลจากทางช้างเผือก
ในกรณ๊ของแคระในการศึกษาใหม่นี้
ซึ่งเป็นกาแลคซีแคระส่วนใหญ่ที่พบรอบๆ ทางช้างเผือก พลังงานของพวกมันก็สูงขึ้นไปอีก
พลังงานที่สูงบอกว่าพวกมันเพิ่งเข้ามาในละแวกใกล้เคียงทางช้างเผือกเมื่อไม่กี่พันล้านปีหลังนี้เอง
การค้นพบนี้ถอดแบบจากการค้นพบเกี่ยวกับเมฆมาเจลลันใหญ่และเล็ก(Large
and Small Magellanic Clouds; LMC& SMC) ซึ่งเป็นแคระที่มีขนาดใหญ่กว่าและอยู่ใกล้กับทางช้างเผือกอย่างมาก
จนมองเห็นมันเป็นก้อนแสงขมุกขมัวในท้องฟ้ายามค่ำคืนจากซีกโลกใต้ ก็คิดกันว่าเมฆมาเจลลันทั้งสองเป็นกาแลคซีบริวารของทางช้างเผือก
จนกระทั่งเมื่อปี 2006
เมื่อนักดาราศาสตร์รายงานการตรวจสอบความเร็วของมันและพบว่า มันกำลังเดินทางเร็วเกินกว่าจะมีความเชื่อมโยงทางแรงโน้มถ่วงได้
แทนที่จะเป็นบริวาร LMC กลับเพิ่งเข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งแรก
ขณะนี้เราทราบว่าสิ่งเหมือนกันนี้ก็เกิดขึ้นกับแคระเกือบทั้งหมดด้วยเช่นกัน
ดังนั้นแล้ว
พวกมาใหม่เหล่านี้จะถูกจับไว้ในวงโคจรหรือเพียงแค่ผ่านทางมาเท่านั้น
บางส่วนจะถูกทางช้างเผือกจับไว้และกลายเป็นบริวาร Hammer กล่าว
แต่การจะกล่าวให้แน่ชัดว่าแห่งใดแน่นั้นเป็นเรื่องยากเนื่องจากมันขึ้นอยู่กับมวลที่แน่นอนของทางช้างเผือก
และก็เป็นค่าที่นักดาราศาสตร์คำนวณให้เที่ยงตรงได้ยาก การประเมินมวลอาจแปรผันได้ถึงสองเท่าตัว
การค้นพบพลังงานของกาแลคซีแคระเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมันบังคับให้เราต้องประเมินธรรมชาติของกาแลคซีแคระเสียใหม่
เมื่อแคระโคจรไป แรงโน้มถ่วงของทางช้างเผือกจะพยายามฉีกมันออก ในทางฟิสิกส์สิ่งนี้เรียกว่า
tidal force ทางช้างเผือกเป็นกาแลคซีขนาดใหญ่
ดังนั้น แรงโน้มถ่วงของมันก็มโหฬารและก็ง่ายมากๆ
ที่จะทำลายกาแลคซีแคระสักแห่งหลังจากที่มันโคจรไปครบรอบหรือสองรอบ
พูดอีกอย่างก็คือ
การเป็นบริวารของทางช้างเผือกนั้นเป็นการลงโทษประหารสำหรับกาแลคซีแคระ
สิ่งเดียวที่น่าจะต้านทานการยึดจับทำลายล้างของทางช้างเผือกได้ก็คือเมื่อแคระมีสสารมืดในสัดส่วนที่สูงพอควร
สสารมืดเป็นสสารปริศนาที่นักดาราศาสตร์คิดว่ามีอยู่ในเอกภพ
ซึ่งจะให้แรงโน้มถ่วงเพิ่มเติมเพื่อรักษากาแลคซีแต่ละแห่งให้คงรูป ด้วยเหตุนี้
ในมุมมองแบบเดิมก็คือ แคระของทางช้างเผือกเป็นกาแลคซีบริวารซึ่งอยู่ในวงโคจรมานานหลายพันล้านปี
จึงสันนิษฐานว่าพวกมันจะต้องอุดมไปด้วยสสารมืดเพื่อที่จะถ่วงดุลแรงบีบฉีกของทางช้างเผือก
และรักษาพวกมันให้คงสภาพไว้ได้
ความจริงที่ว่าไกอาได้เผยให้เห็นว่าแคระเกือบทั้งหมดกำลังโคจรรอบทางช้างเผือกเป็นคร้งแรกก็หมายความว่า
พวกมันไม่จำเป็นต้องมีสสารมืดเพิ่มแต่อย่างใดเลย
และเราจะต้องประเมินว่าระบบเหล่านี้อยู่ในสมดุลหรืออยู่ในกระบวนการการทำลาย
เสียใหม่
ต้องขอบคุณไกอาซะส่วนใหญ่
ขณะนี้ที่ดูเหมือนว่าความเป็นมาของทางช้างเผือกจะมีเรื่องราวมากมายกว่าที่นักดาราศาสตร์เคยคิดว่าเข้าใจ
ด้วยการสืบสวนเงื่อนงำเหล่านี้
เราหวังว่าจะตามล่าอดีตของทางช้างเผือกในบทต่อไปที่น่าสนใจได้ Timo Prusti นักวิทยาศาสตร์โครงการไกอา องค์กรอวกาศยุโรป
กล่าว
ปฏิบัติการไกอาเป็นโครงการทำแผนที่ทางช้างเผือกด้วยความแม่นยำสูงที่สุดเท่าที่เคยทำมา
ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบตำแหน่ง, การเคลื่อนที่
และความเร็วของดาวและวัตถุอื่นในแบบสามมิติ,
sciencealert.com : the Milky Way may have just lost a whole bunch of satellite galaxies
No comments:
Post a Comment