Friday, 31 December 2021

ดาวเคราะห์ยักษ์โตเต็มวัยเร็วกว่าที่คิด

 

ภาพจากศิลปินแสดงระบบดาวเคราะห์ V1298 Tau


   ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติซึ่งมีนักวิจัยจากสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งคานารี(IAC) รวมอยู่ด้วยพร้อมกับสถาบันอื่นๆ จากสเปน, อิตาลี, เจอรมนี, เบลเจียม, สหราชอาณาจักร และเมกซิโก สามารถตรวจสอบมวลของดาวเคราะห์ยักษ์ในระบบ V1298 Tau ว่ามีอายุเพียง 20 ล้านปีเท่านั้น

     ไม่เคยมีการตรวจสอบมวลของดาวเคราะห์ยักษ์อายุน้อยลักษณะนี้มาก่อนเลย และนี่เป็นหลักฐานแรกที่บอกว่าวัตถุเหล่านี้มีขนาดขึ้นถึงระดับสุดท้ายแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของวิวัฒนาการดาวเคราะห์ สำหรับการศึกษานี้ พวกเขาใช้การตรวจสอบความเร็วแนวสายตา(radial velocity) จากสเปคโตรกราฟ HARPS-N ที่หอสังเกตการณ์โรเก้ เดอ ลอส มูชาโชส(ORM) และ สเปคโตรกราฟ CARMENES ที่หอสังเกตการณ์คายาร์ อัลโต ผลสรุปเผยแพร่ในวารสาร Nature Astronomy

     การศึกษาซึ่งนำโดย Alejandro Suarez Mascareno นักวิจัยจาก IAC รายงานการตรวจสอบมวลของดาวเคราะห์ยักษ์สองดวงที่โคจรในระบบดาวชนิดเดียวกับดวงอาทิตย์ V1298 Tau อายุน้อย พวกมันถูกพบในปี 2019 โดยทีมที่นำโดย Trevor David จากห้องทดลองไอพ่นขับดัน(JPL) โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซา ซึ่งช่วยให้มีการตรวจสอบขนาดว่า มีขนาดเล็กกว่าดาวพฤหัสฯ เล็กน้อย และคาบการโคจรที่ 24 และ 40 วัน สำหรับ V1298 Tau b และ e ตามลำดับ

      การตรวจสอบคุณลักษณะของดาวเคราะห์ที่อายุน้อยมากเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากเป็นพิเศษ Alejandro Saurez Mascareno ผู้เขียนคนแรกของรายงานนี้ กล่าว ดาวฤกษ์แม่มีระดับกิจกรรมที่สูงมากและทีมก็ไม่แม้แต่จะคิดพยายาม จนเพิ่งไม่นานมานี้เอง เขากล่าว ต้องขอบคุณการรวมการตรวจจับที่ทำโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ร่วมกับโครงงานตรวจสอบความเร็วแนวสายตาจากหอสังเกตการณ์ภาคพื้นดิน และการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ที่ก้าวหน้าที่สุด ก็เป็นไปได้ที่จะเริ่มเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงต้นๆ ของวิวัฒนาการระบบดาวเคราะห์เช่นนั้น ในความเป็นจริง การตรวจสอบมวลของดาวเคราะห์ครั้งใหม่นี้ มีความจำเป็นที่ต้องแยกแยะสัญญาณที่เกิดจากดาวเคราะห์เหล่านี้ออกจากสัญญาณที่สร้างโดยกิจกรรมของดาวฤกษ์เองซึ่งขนาดใหญ่กว่าเกือบสิบเท่า


การเปรียบเทียบเวลาในการหดตัวที่คาดไว้ กับที่สำรวจพบจริง ในดาวเคราะห์ในระบบ V1298 Tau

     การศึกษาได้แสดงว่ามวลและรัศมีของดาวเคราะห์ V1298 Tau b และ c นั้นใกล้เคียงอย่างน่าประหลาดใจกับดาวเคราะห์ยักษ์ในระบบสุริยะของเรา หรือในระบบดาวเคราะห์ต่างด้าวอื่นๆ ที่เก่าแก่ การตรวจสอบซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำกับดาวเคราะห์ยักษ์อายุน้อยเช่นนี้ ช่วยให้เราได้ทดสอบแนวคิดปัจจุบันเกี่ยวกับการก่อตัวของระบบดาวเคราะห์ Victor J. Sanchez Bejar นักวิจัยที่ IAC และผู้เขียนร่วมการศึกษานี้ อธิบายว่า เป็นเวลาหลายปีที่แบบจำลองทฤษฎีได้บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์ยักษ์เริ่มต้นวิวัฒนาการของพวกมัน เป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า และต่อมาก็หดตัวลงตลอดช่วงหลายร้อยล้านจนถึงระดับหลายพันล้านปี ขณะนี้เราทราบแล้วว่า จริงๆ แล้วพวกมันบรรลุถึงขนาดพอๆ กับดาวเคราะห์ในระบบของเราในเวลาที่สั้นมากๆ

     การศึกษาระบบที่อายุน้อยให้เงื่อนงำแก่นักวิจัยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเยาว์วัยของระบบสุริยะของเรา เรายังคงไม่ทราบว่า V1298 Tau เป็นกรณีปกติ และวิวัฒนาการของมันก็คล้ายกับดาวเคราะห์เกือบทั้งหมด หรือว่า เรากำลังเจอกับกรณียกเว้น กันแน่ ถ้ามันเป็นลำดับเหตุการณ์ปกติ มันก็น่าจะหมายความว่าวิวัฒนาการของดาวเคราะห์อย่างดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์ ก็น่าจะแตกต่างอย่างมากจากสิ่งที่เราคิดไว้ Nicolas Lodieu นักวิจัยที่ IAC และผู้เขียนร่วมอีกงานของงานวิจัยนี้ ให้ความเห็น ผลสรุปจากงานนี้จึงช่วยในการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการช่วงต้นของระบบดาวเคราะห์อย่างระบบของเราเอง ที่เข้มแข็งมากขึ้น

     เพื่อบรรลุถึงความสำเร็จในการตรวจสอบมวล การศึกษาต้องใช้ความพยายามในการสำรวจอย่างมาก และความร่วมมือของหอสังเกตการณ์และสถาบันหลายแห่งจากหลากหลายประเทศ มีความจำเป็นต้องรวมการตรวจสอบความเร็วแนวสายตาจากเครื่องมือต่างๆ การสำรวจทำจากหอสังเกตการณ์ลาสกัมเปรส เป็นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ที่มีอยู่รอบโลก ใช้เพื่อจับตาการแปรเปลี่ยนกิจกรรมของดาวฤกษ์อย่างต่อเนื่อง


แหล่งข่าว phys.org : study reveals that giant planets could reach maturitymuch earlier than previously thought  

Wednesday, 29 December 2021

ที่มาของดาวแคระขาวที่มีมวลต่ำจนไม่ควรมีอยู่จริง

 

นักดาราศาสตร์ได้สำรวจระบบดาวคู่ชนิดนี้ซึ่งดาวแคระขาวในระบบสูญเสียมวลให้กับดาวข้างเคียงของมัน จนมีมวลที่ต่ำมากและมีรูปร่างที่แสดงถึงการถูกรบกวน


     นักดาราศาสตร์ได้สืบสวนหาคำตอบที่พึงพอใจในที่สุด ให้กับปัญหาในอวกาศข้อหนึ่งเป็นปริศนาของดาวที่ดูเหมือนจะเล็กเกินกว่าจะมีอยู่ได้

     ดาวแคระขาวที่คิดว่ามีขนาดเล็กจิ๋วเกินกว่าจะปรากฏในอายุปัจจุบันของเอกภพได้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความผิดปกติที่เกิดกับมวลของมันจะมาจากการขโมยของดาวข้างเคียง เป็นกลไกที่สงสัยมานานซึ่งน่าจะอธิบายขนาดของพวกมันได้ แต่ไม่เคยพิสูจน์พบจริง ระบบดาวคู่ที่หายไปเหล่านี้เรียกว่า คู่แปรแสงหายนะที่พัฒนาแล้ว(evolved cataclysmic variables) และการค้นพบได้ช่วยให้เราได้เข้าใจหนึ่งในขั้นตอนเส้นทางวิวัฒนาการดาวที่ตายแล้ว

     Kareem El-Badry นักดาราศาสตร์ที่ศูนย์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์ กล่าวว่า เราได้สำรวจพบหลักฐานทางกายภาพอันแรกของประชากรระบบดาวคู่ที่แปรสภาพกลุ่มใหม่ นี่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น มันเป็นส่วนเชื่อมที่หายไปในแบบจำลองวิวัฒนาการการก่อตัวระบบดาวคู่ที่เรากำลังมองหาอยู่

     ดาวแคระขาวเป็นบั้นปลายชีวิตของดาวฤกษ์ที่มีมวลต่ำกว่า 8 เท่ามวลดวงอาทิตย์(ราว 97% ของดาวทั้งหมด) เมื่อมันหมดเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในกระบวนการหลอมนิวเคลียส(nuclear fusion) ดาวที่ตายแล้วนี้จะผลักมวลเกือบทั้งหมดของมันออกมา เหลือแต่แกนกลางซึ่งยุบตัวลงกลายเป็นวัตถุที่มีความหนาแน่นสูง โดยมีมวลสูงได้ถึง 1.4 เท่าดวงอาทิตย์ อัดแน่นในทรงกลมที่มีขนาดพอๆ กับโลก


วัฎจักรชีวิตของดวงอาทิตย์(และดาวฤกษ์มวลต่ำอื่นๆ อีกราว 97% ของประชากรดาวทั้งหมดในทางช้างเผือก) จะจบชีวิตด้วยการเป็นดาวแคระขาว แต่ระยะเวลาของการเปลี่ยนจากดาวที่หลอมไฮโดรเจน(เรียกว่าวิถีหลัก) จนกลายเป็นดาวแคระขาวแปรผกผันกับมวลของพวกมัน ดาวที่มีมวลต่ำมากๆ จะหลอมไฮโดรเจนอย่างช้าๆ 

     อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่พบได้ยาก พวกมันก็อาจมีมวลที่ต่ำมากๆ ซึ่งจากแบบจำลองวิวัฒนาการดาวฤกษ์ของเราบอกว่าไม่ควรจะมีอยู่ ดาวแคระขาวที่มวลต่ำสุดขั้ว(extremely low-mass white dwarfs, ELMs) เหล่านี้มีมวลเพียงหนึ่งในสามของดวงอาทิตย์เท่านั้น การสูญเสียมวลเช่นนั้นใช้เวลายาวนานกว่าอายุปัจจุบันของเอกภพซึ่งมีอายุเพียง 13.8 พันล้านปีเท่านั้น เอกภพก็แค่ไม่ได้มีอายุมากพอที่จะสร้างดาวเหล่านี้โดยวิวัฒนาการปกติได้ El-Badry กล่าว

     แต่นั่นก็คือกรณีที่ดาวอยู่อย่างโดดเดี่ยว ถ้ามีสิ่งอื่น เช่น ดาวข้างเคียงในระบบคู่ แทะมวลของดาวแคระขาวไปก็น่าจะเร่งกระบวนการสูญเสียมวลได้มากจนอธิบายการมีอยู่ของ ELMs ในเอกภพได้อย่างเหมาะเจาะ แต่ปัญหาเดียวที่มีก็คือไม่เคยสำรวจพบกระบวนการนี้จริงๆ เลย ตามทฤษฎีบอกว่ากระบวนการน่าจะเกิดขึ้นหลังจากขั้นตอนที่เรียกว่า การแปรแสงหายนะ(cataclysmic variable) เมื่อดาวแคระขาวในระบบดาวคู่กับดาวฤกษ์อื่น อยู่ใกล้กันอย่างมากจนดาวแคระขาวสะสมมวลสารจากดาวข้างเคียงของมัน

     ดาวแคระขาวจะปะทุแสงออกมาเป็นคาบเวลา เมื่อมีวัสดุสารสะสมเหนี่ยวนำให้เกิดการหลอมไฮโดรเจนแบบกู่ไม่กลับ(runaway hydrogen fusion) ในชั้นบรรยากาศ หายนะเหล่านี้ทำให้เกิดการแปรแสง(variation) จึงเป็นที่มาของชื่อ แต่บางครั้ง ดาวแคระขาวก็สะสมมวลสารไว้มากเกินไปจนมันเริ่มไม่เสถียร ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่งเอ(Type Ia supernova) แต่ก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าสมดุลเปลี่ยนด้านจนดาวอีกดวงเริ่มขโมยมวลจาดาวแคระขาว แทน

     El-Badry และเพื่อนร่วมงานใช้ข้อมูลจากการสำรวจทางดาราศาสตร์จากปฏิบัติการไกอาและโครงการ Zwicky Transient เลือก 50 ดวงจากนับพันล้านที่น่าจะอยู่ในสถานะรอยต่อ จากนั้นพวกเขาก็ใช้กล้องโทรทรรศน์เชน ที่หอสังเกตการณ์ลิค เพื่อทำการสำรวจระบบดาวคู่ 21 แห่งจากกลุ่มตัวอย่างในรายละเอียด แล้วก็เจอตอ ว่าที่ที่เราเลือกออกมา 100% เป็นดาวแคระขาวก่อนจะมีมวลต่ำแบบสุดขั้ว(pre-ELMs) ที่เรากำลังมองหาอยู่ พวกมันพองบวมออกมากกว่า ELMs พวกมันยังมีรูปไข่เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดาวอีกดวงที่รบกวนรูปร่างกลมดิกของพวกมัน El-Badry กล่าว เราได้พบวิวัฒนาการที่หายไประหว่างระบบคู่ 2 ชนิดคือ แปรแสงหายนะ กับดาวแคระขาว ELM เขากล่าวเสริม

ระบบคู่แปรแสงหายนะ(cataclysmic variable binary) แบบปกติ 

     ระบบคู่เกือบทั้งหมดประกอบด้วยดาวแคระขาวที่มีมวลราว 0.15 เท่ามวลดวงอาทิตย์ โดยดาวข้างเคียงมีมวลราว 0.8 เท่ามวลดวงอาทิตย์ ดาวแคระขาวทั้งหมดแสดงสัญญาณการสูญเสียมวลให้กับดาวข้างเคียงของพวกมัน ในจำนวนนี้มี 13 ดวงที่กำลังเกิดกระบวนการ(สูญเสียมวล) อยู่ ในขณะที่ที่เหลืออีก 8 ดวงไม่มีการสูญเสียมวลแล้ว แต่ก็พองบวมราวกับว่าการสูญเสียมวลเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ทั้ง 21 ดวงร้อนกว่าและสว่างกว่าดาวแคระขาวปกติในระบบคู่แปรแสงหายนะ

     ยังมีงานอีกมากเพื่อที่จะเข้าใจประชากรแปรแสงหายนะที่พัฒนาไปแล้วนี้ ซึ่งรวมถึงการสำรวจระบบคู่ทั้ง 21 คู่ในรายละเอียดที่เพิ่มเติม ทีมยังหวังว่าจะได้ย้อนกลับไปและพิจารณาอีก 29 ดวงจากว่าที่เดิม 50 ดวงให้ถี่ถ้วนมากขึ้น ก็เหมือนกับงานของนักมานุษยวิทยา(anthropologist) ในยุคปัจจุบันซึ่งกำลังเติมช่องว่างในวิวัฒนาการมนุษย์ El-Badry เองก็ประหลาดใจกับความหลากหลายรุ่มรวยของดาวที่เกิดขึ้นได้จากวิทยาศาสตร์พื้นๆ งานวิจัยเผยแพร่ใน Monthly Notices of the Royal Astronomical Journal


แหล่งข่าว sciencealert.com : scientists said these stars were too small to exist, but we finally know their secret
                phys.org : astronomers observe a new type of binary star long predicted to exist

Monday, 27 December 2021

ดาวเคราะห์ยักษ์รอบคู่ดาวฤกษ์ยักษ์

ภาพจากศิลปินแสดง b Centauri และดาวเคราะห์ของมัน b Centauri b


      นักดาราศาสตร์ได้ถ่ายภาพดาวเคราะห์ยักษ์ดวงหนึ่งที่พบรอบดาวฤกษ์มวลสูงคู่หนึ่ง b Centauri ซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในขณะที่วงโคจรของดาวพฤหัสฯ รอบดวงอาทิตย์นั้นใหญ่กว่าวงโคจรโลกประมาณ 5 เท่า แต่ดาวเคราะห์นี้อยู่ไกลออกไปอีก 100 เท่า โดยโคจรรอบดาวฤกษ์ของมันที่ระยะทางเฉลี่ย 560 เท่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ การค้นพบเผยแพร่ใน Nature วันที่ 9 ธันวาคม ได้ท้าทายแนวคิดของเราเกี่ยวกับการก่อตัวของดาวเคราะห์

     Markus Janson จากมหาวิทยาลัยสต๊อคโฮล์ม สวีเดน และเพื่อนร่วมงานได้พบดาวเคราะห์นี้ในการสำรวจที่ทำในปี 2019 ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการศึกษา BEAST(B-star Exoplanet Abundance Study) โดยใช้เครื่องมือ SPHERE บนกล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก(VLT) ในชิลี การติดตามผลในปี 2021 ได้ยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจก็คือ การสำรวจงานหนึ่งที่ทำเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้าในโครงการอื่น ก็เห็นดาวเคราะห์นี้แล้วแต่ก็คิดว่าไม่ใช่เนื่องจากมันสลัวเกินไป เมื่อรวมการสำรวจก่อนหน้านี้จึงช่วยให้นักวิจัยได้ตามรอยวงโคจรของดาวเคราะห์ และยืนยันว่ามันไม่เพียงแต่เคลื่อนที่ไปกับระบบ b Centauri แต่จริงๆ แล้วมันยังโคจรรอบดาวฤกษ์คู่ที่ใจกลางด้วย

     b Centauri หรือ HIP 71865 อยู่ห่างออกไปราว 325 ปีแสงในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า(Centaurus) มันเป็นระบบดาวคู่ ซึ่งมีมวลอย่างน้อย 6 เท่าดวงอาทิตย์ ทำให้มันกลายเป็นระบบที่มีมวลสูงที่สุดที่มีการยืนยันดาวเคราะห์ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีการค้นพบดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่า 3 เท่าดวงอาทิตย์เลย ดาวมวลสูงก็จะร้อนมากด้วย และระบบนี้ก็ไม่ได้รับการยกเว้น ดาวฤกษ์หลักของมันเป็นดาวชนิด B(B-type) สีฟ้าร้อนจัดซึ่งร้อนกว่าดวงอาทิตย์เกินสามเท่า มันเปล่งรังสีอุลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์รุนแรง ระบบแห่งนี้ยังอายุน้อยเพียง 15 ล้านปี เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ที่มีอายุ 4.6 พันล้านปีแล้ว


ตำแหน่งของ b Centauri ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า(Centaurus)

     การค้นพบใหม่ได้แสดงว่าในความเป็นจริง ดาวเคราะห์สามารถก่อตัวในระบบดาวที่มีสภาพสาหัสได้ Gayathri Viswanath นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสต๊อคโฮล์ม ผู้เขียนร่วม อธิบายว่า ดาวเคราะห์ใน b Centauri นั้นเป็นพิภพต่างด้าวในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เราได้พบบนโลกและในระบบสุริยะของเรา มันมีสภาพแวดล้อมที่ทารุณเต็มไปด้วยรังสีรุนแรง ในขณะที่ทุกๆ สิ่งก็เป็นพวกใหญ่ยักษ์ ดาวฤกษ์ก็ใหญ่กว่าและดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่า ระยะทางก็ไกลกว่า

     มวลของดาวเคราะห์ ซึ่งมาจากการตรวจสอบการเรืองความร้อนที่เหลืออยู่หลังจากที่ดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน จากความคลาดเคลื่อนในวิวัฒนาการดาวเคราะห์ยักษ์อายุน้อย ก็เป็นไปได้ที่จะมีมวลประมาณ 10.9 เท่าดาวพฤหัสฯ(ช่วงมวล 9.3 ถึง 12.5 ดาวพฤหัสฯ) ใกล้เคียงขอบเขตเส้นแบ่งระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์แท้ง(failed stars) ที่เรียกว่า ดาวแคระน้ำตาล(brown dwarfs) ทำให้มันกลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลสูงที่สุดเท่าที่เคยพบมา

     ดาวเคราะห์ซึ่งมีชื่อว่า b Centauri(AB) b บอกถึงว่ามันโคจรรอบดาวฤกษ์ยักษ์ทั้งสอง นอกจากมวลและวงโคจรซึ่งกว้างที่สุดเท่าที่เคยพบมา เทียบเท่ากับเซดนา(Sedna) ในระบบสุริยะส่วนนอก แต่ดาวเคราะห์นี้มีมวลสูงกว่าวัตถุในแถบไคเปอร์(Kuiper Belt Object) ถึงล้านเท่า ทำให้ต้องกลับมาประเมินลำดับเหตุการณ์การก่อตัวดาวเคราะห์เสียใหม่

     นักดาราศาสตร์คิดว่าดาวเคราะห์เกือบทั้งหมดก่อตัวขึ้นผ่านการสะสมแกนกลาง(core accretion) เริ่มต้นเมื่อฝุ่นให้กำเนิดดาวเคราะห์(protoplanetary disk) ซึ่งประกอบด้วยก๊าซและฝุ่นล้อมรอบดาวฤกษ์ เม็ดฝุ่นเกาะติดเข้าด้วยกันและชนกัน ควบรวมจนมีขนาดพอๆ กับดาวเคราะห์ พวกดวงใหญ่ๆ จะก่อตัวขึ้นเลยจากเส้นหิมะ(snow lines) ของระบบ เมื่อก๊าซเย็นและกลายเป็นน้ำแข็ง ดึงชั้นก๊าซส่วนนอกเข้ามา

ภาพถ่ายระบบดาวคู่มวลสูงที่สุดที่เคยพบดาวเคราะห์มาจนบัดนี้

     แต่ถ้าดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นไกลเกินไป พวกมันก็จะไม่มีก๊าซเหลือให้ดึงเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบๆ ดาวฤกษ์มวลสูง ซึ่งมีการแผ่รังสีที่ร้อนแรงที่สลายก๊าซได้เร็วกว่า รอบๆ ดาวฤกษ์ขนาดเล็ก แต่บางทีก็มีช่องโหว่ เมื่อดิสก์เหล่านั้นสลายจากข้างในออกนอก ดาวเคราะห์ใดๆ ที่อยู่ในวงโคจรที่กว้างที่สุดก็ยังมีเวลาให้เจริญเติบโตอีก เป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์นี้จะก่อตัวจากการสะสมแกนกลางแต่เกิดขึ้นใกล้กว่า ก่อนที่ปฏิสัมพันธ์แรงโน้มถ่วงจะผลักมันออกไปข้างนอก แต่วงโคจรที่ค่อนข้างกลมของดาวเคราะห์(eccentricity น้อยกว่า 0.4) ก็มีความเป็นไปได้น้อย

     ทางเลือกที่สามก็คือ ความไร้เสถียรภาพด้านแรงโน้มถ่วง(gravitational instability) ในทางเลือกนี้ การสะสมวัสดุสารเกิดขึ้นเฉพาะส่วนในดิสก์ แม้จะอยู่ไกลจากดาวฤกษ์ก็ยังสามารถยุบตัวกลายเป็นวัตถุได้ ความเข้าใจของเราก็คืออย่างน้อยกระบวนการนี้ก็ดูจะสร้างวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ เช่น ดาวแคระน้ำตาล หรือกระทั่งดาวฤกษ์

     กุญแจนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับมวลของวัตถุ แต่กลับเป็นมวลเปรียบเทียบกับดาวฤกษ์แม่ ในกรณีของระบบ b Centauri ดาวเคราะห์กลับมีสัดส่วนมวลพอๆ กับดาวพฤหัสฯ เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์(หนึ่งในหนึ่งพันส่วน) ซึ่งบอกว่าแบบจำลองการสะสมแกนกลางก็ยังเป็นไปได้ ดังนั้น ความไร้เสถียรภาพด้านแรงโน้มถ่วงเองก็มีปัญหา แต่ก็ยังคงเป็นลำดับเหตุการณ์ที่นักวิจัยชื่นชม

     ไม่ว่าดาวเคราะห์ยักษ์ในวงโคจรห่างไกลจะก่อตัวขึ้นรอบดาวฤกษ์มวลสูงได้อย่างไร กระบวนการนี้ก็ดูจะเกิดขึ้นเป็นปกติ การศึกษาดาวฤกษ์มวลสูงก่อนหน้านี้(แม้ว่าจะมีมวลต่ำกว่าดาวในการศึกษาใหม่นี้ก็ตาม) ได้แสดงแนวโน้มว่า ดาวขนาดใหญ่กว่าจะมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ขึ้นในวงโคจรที่กว้างมากกว่าด้วย


แบบจำลองอธิบายการก่อตัวดาวเคราะห์ ในสองทางหลัก คือ การสะสมแกนกลาง(core accretion) และความไร้เสถียรภาพแรงโน้มถ่วง(gravitational instability) 

     ผู้เขียนที่พบดาวเคราะห์ที่น่ามหัศจรรย์ดวงใหม่นี้ แม้ว่าจากรายงานเราจะยังไม่สามารถได้ข้อสรุปทั่วไปเกี่ยวกับการก่อตัวดาวเคราะห์และสภาพ(การก่อตัว) ที่ขึ้นอยู่กับมวล เนื่องจากนี่ยังเป็นเพียงการค้นพบงานเดียว Joshua Winn จากพรินซตัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ เตือนไว้ ข้อสรุปที่หนักแน่นก็ต้องการตัวอย่างดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์มวลสูงกลุ่มใหญ่กว่านี้

      การค้นพบนี้เน้นให้เห็นความหลากหลายของพิภพที่ค้นพบในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลังนี้ แม้ในสิ่งที่เรียกว่า ดาวเคราะห์ที่คล้ายดาวพฤหัสฯ(Jovian planets) เราก็ได้รู้จัก “พฤหัสร้อน” ที่โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ของพวกมันในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่ b Centauri(AB)b ใช้เวลาหลายพันปีเพื่อโคจรให้ครบรอบ ถ้าเมื่อ 30 ปีก่อนให้เด็กสักคนวาดรูปดาวเคราะห์ ก็คงได้ออกมาไม่กี่แบบ Kratter เขียนไว้ แต่ตอนนี้ ทางเลือกดูจะหลากหลายจนน่าเวียนหัว

หมายเหตุ อย่าสับสนระหว่าง b Centauri กับ Beta Centauri ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มดาว แม้ว่าพวกมันจะอยู่ไกลออกไปพอๆ กัน(คู่ b Centauri อยู่ไกล 325 ปีแสง ส่วน เบตา เซนทอไร เกือบ 400 ปีแสง) และยังไม่พบดาวเคราะห์นอกระบบรอบ เบตา เซนทอไร

      นอกจากนี้ ก็อย่าสับสนกับระบบอัลฟา เซนทอไร(Alpha Centauri) ซึ่งอยู่ไกลออกไปเพียง 4 ปีแสงโดยประมาณด้วย ซึ่งเราได้พบดาวเคราะห์แล้ว 2 ดวง(Proxima Centauri b และ c) เช่นเดียวกับว่าที่ดาวเคราะห์อีก 2 ดวง(Alpha Centauri Ab และ Alpha Centauri Bc) ซึ่งยังต้องการสำรวจเพื่อยืนยันต่อไป แนวความคิดของปฏิบัติการ TOLIMAN มุ่งเป้าที่จะสำรวจหาดาวเคราะห์ในระบบแห่งนี้


แหล่งข่าว skyandtelescope.com : giant planet imaged around massive stars
                eso.int : ESO telescope images planet around most massive star pair to date
                sciencealert.com :
Alien worldfound in giant star system challenges our thinking on planet formation     

Friday, 24 December 2021

น้ำในเอกภพยุคโบราณ

 

ภาพจากศิลปินแสดงเส้นเปล่งคลื่นจากคาร์บอนมอนอกไซด์และน้ำที่ต่อเนื่องในฝุ่นที่พบในกาแลคซีคู่หนึ่งที่เรียกว่า SPT0311-58


     องค์ประกอบที่จำเป็นต่อชีวิตบางอย่างไม่ต้องใช้เวลานานนักที่จะอุบัติขึ้นหลังจากที่เอกภพเริ่มมีอยู่ จากการวิเคราะห์กาแลคซีคู่หนึ่งในช่วงอรุณรุ่งแห่งกาลเวลา พบน้ำปรากฏในเอกภพเพียง 780 ล้านปีหลังจากบิ๊กแบงเท่านั้น เมื่อเอกภพมีอายุเพียง 5% ของอายุปัจจุบัน

     นี่บอกว่า แม้ว่าธาตุหนักจะยังคงค่อนข้างขาดแคลน แต่ก็ไม่รั้งรอในการสร้างโมเลกุลขึ้นมา กาแลคซีคู่ดังกล่าวซึ่งเราพบเห็นพวกมันหลังจากแสงของพวกมันเดินทางมา 12.88 พันล้านปี กำลังอยู่ในกระบวนการที่ควบรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นกาแลคซีทรงรีขนาดใหญ่แห่งเดียว เรียกรวมๆ ว่า SPT0311-58 และพวกมันก็เป็นหนึ่งในกาแลคซีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบในเอกภพ ถูกพบโดย ALMA ในปี 2017 ในช่วงเวลาที่เรียกว่า ยุคแห่งการรีไอออนไนซ์(Epoch of Reionization)

     คิดกันว่าการรบกวนด้วยแรงโน้มถ่วงจากปฏิสัมพันธ์ของพวกมัน เหนี่ยวนำให้เกิดระลอกการก่อตัวดาวซึ่งใช้โมเลกุลก๊าซทั้งหมดที่มีอยู่ แต่ก็ยังคงมีก๊าซมากพอที่นักดาราศาสตร์จะต้องทะลุทะลวงผ่านไป เพื่อเก็บสัญญาณสเปคตรัมที่เผยการมีอยู่ของโมเลกุลเฉพาะได้ Sreevani Jarugula นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าวว่า ด้วยการใช้การสำรวจโมเลกุลก๊าซด้วยความละเอียดสูงของ ALMA ในกาแลคซีคู่นี้ เราก็ตรวจพบโมเลกุลทั้งน้ำและคาร์บอนมอนอกไซด์ในกาแลคซีขนาดใหญ่กว่าในคู่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออกซิเจนและคาร์บอนซึ่งเป็นธาตุรุ่นแรก และอยู่ในรูปแบบโมเลกุลคาร์บอนมอนอกไซด์และน้ำ ก็มีความสำคัญยิ่งยวดต่อชีวิตในแบบที่เรารู้จัก 

     เนื่องจากแสงจากกาแลคซีในเอกภพยุคต้นเดินทางมาไกลมากเพื่อมาถึงเรา มันจึงสลัวมาก และยากที่จะแยกแยะรายละเอียดมากกว่า เมื่อสำรวจกาแลคซีที่อยู่ค่อนข้างใกล้ อย่างไรก็ตาม ตัวกลางในห้วงอวกาศ(interstellar medium) ในกาแลคซีเหล่านี้ก็อุดมไปด้วยฝุ่น ซึ่งได้ช่วยเผยการมีอยู่ของน้ำ นักวิจัยบอกว่า ฝุ่นนี้ได้ดูดกลืนการแผ่รังสีอุลตราไวโอเลตจากดาว และเปล่งย้อนกลับออกมาในช่วงอินฟราเรดไกล การเปล่งคลื่นอินฟราเรดนี้เองที่กระตุ้นโมเลกุลน้ำในตัวกลางในห้วงอวกาศ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปล่งคลื่นซึ่งสามารถตรวจจับด้วยกล้องที่มีความไวสูงอย่าง ALMA ในชิลี


ร่องรอยของน้ำ(สีฟ้า) ที่พบเห็นในหนึ่งในกาแลคซีที่ห่างไกลที่สุด ได้พิสูจน์ว่าของเหลวซึ่งค้ำจุนชีวิตนี้ปรากฏอยู่เรียบร้อยแล้วในช่วงเริ่มแรกสุดของวิวัฒนาการกาแลคซี

     การระบุน้ำในช่วงต้นๆ ของประวัติความเป็นมาของเอกภพแบบนี้ สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจกำเนิดและวิวัฒนาการของสารตั้งต้นสำหรับชีวิตในเอกภพได้ น้ำเป็นโมเลกุลที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับสามในเอกภพ ตามหลังก๊าซไฮโดรเจน(H2) และคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) กาแลคซีแห่งนี้เป็นกาแลคซีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบที่เรดชิพท์สูงๆ หรือในช่วงเวลาที่เอกภพยังมีอายุน้อยมากๆ Jarugula อธิบาย มันมีก๊าซและฝุ่นอยู่มากกว่าในกาแลคซีอื่นๆ ในเอกภพยุคต้น ซึ่งช่วยให้เรามีโอกาสมากมายในการสำรวจโมเลกุลที่พบได้ทั่วไป และช่วยให้เข้าใจว่าธาตุที่สร้างชีวิตเหล่านั้นส่งผลต่อการพัฒนาเอกภพยุคต้นอย่างไร

     การตรวจสอบองค์ประกอบเมฆโมเลกุลก๊าซที่จะก่อตัวดาวขึ้น ยังช่วยให้เราได้เข้าใจว่ามีก๊าซอยู่มากน้อยแค่ไหนที่นั่นได้ดีขึ้น, อัตราที่มันจะถูกเปลี่ยนเป็นดาว และจะมีดาวกำลังก่อตัวในเอกภพยุคต้นมากน้อยแค่ไหน นั้นเป็นช่วงเวลาเมื่ออัตราการก่อตัวดาวเพิ่งเริ่มจะบ้าคลั่ง(furious) ซึ่งผลิตด้วยอัตราที่สูงกว่าในปัจจุบันหลายพันเท่า อันเนื่องจากมีก๊าซและฝุ่นจำนวนมากให้ดาวได้ก่อตัวขึ้น

     การศึกษานี้จึงไม่เพียงแต่ให้คำตอบว่าน้ำสามารถปรากฏในเอกภพที่ใด และย้อนไปไกลแค่ไหน แต่ยังสร้างคำถามข้อใหญ่ที่ว่า แล้วมีก๊าซและฝุ่นจำนวนมากมารวมตัวเพื่อสร้างดาวและกาแลคซี ตั้งแต่เริ่มต้นอย่างนี้ในเอกภพได้อย่างไร Jarugula กล่าว คำตอบนี้ต้องการการศึกษากาแลคซีที่กำลังก่อตัวดาวเหล่านี้และคล้ายๆ กัน เพื่อให้เข้าใจการก่อตัวและวิวัฒนาการโครงสร้างต่างๆ ในเอกภพยุคต้น

     ผลสรุปที่น่าตื่นเต้นนี้ แสดงถึงพลังของ ALMA(Atacama Large Millimeter/submillimeter Array) ซึ่งได้เพิ่มจำนวนการสำรวจเอกภพยุคต้นให้มากขึ้น Joe Pesce นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์และผู้อำนวยการโครงการ ALMA ที่มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ(NSF) กล่าวเสริม โมเลกุลเหล่านี้มีความจำเป็นต่อชีวิตบนโลก กำลังก่อตัวขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และการสำรวจก็ให้แง่มุมแก่เราสู่กระบวนการพื้นฐานของเอกภพที่แตกต่างอย่างมากกับในปัจจุบัน งานวิจัยเผยแพร่ใน Astrophysical Journal


แหล่งข่าว sciencealert.com : water detected in ancient, distant galaxy from the beginning of the universe
                sciencedaily.com : scientists detect signs of water in a galaxy far, far away
                space.com : astronomers detect water in one of the oldest known galaxies

Wednesday, 22 December 2021

ยานอวกาศ "สัมผัส" ดวงอาทิตย์

 

Parker Solar Probe


เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มียานอวกาศได้สัมผัสกับดวงอาทิตย์ เมื่อขณะนี้ยานพาร์กเกอร์ของนาซา ได้บินผ่านชั้นบรรยากาศส่วนบน หรือโคโรนา ของดวงอาทิตย์ และตรวจสอบอนุภาคและสนามแม่เหล็กที่นั่น

วันที่ 28 เมษายน 2021 เวลา 0933 นาฬิกาตามเวลาสากล ยานพาร์กเกอร์(Parker Solar Probe) ไปถึงโคโรนา(corona) และใช้เวลา 5 ชั่วโมงที่นั่น หลักชัยใหม่นี้เป็นก้าวย่างครั้งใหญ่ที่สำคัญสำหรับยาน พาร์กเกอร์ และเป็นก้าวย่างใหญ่สำหรับวิทยาศาสตร์สุริยะ เช่นเดียวกับการร่อนลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ซึ่งได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจว่าดวงจันทร์ก่อตัวอย่างไร การได้สัมผัสกับสสารองค์ประกอบของดวงอาทิตย์จะช่วยนักวิทยาศาสตร์ได้พบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด รวมทั้งอิทธิพลของมันที่มีต่อระบบสุริยะ

พาร์กเกอร์ซึ่งส่งออกสู่อวกาศในปี 2018 ในปฏิบัติการที่วางแผนไว้ 7 ปีเพื่อศึกษาปริศนาของดวงอาทิตย์โดยการเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 26 ครั้งในระยะใกล้มากกว่าที่ยานลำใดเคยทำมา ด้วยการใช้แรงโน้มถ่วงจากดาวศุกร์รวม 7 ครั้งเพื่อช่วยนำยานเข้าใกล้มากขึ้น การผ่านเข้าใกล้ในเดือนเมษายนเป็นครั้งที่ 8 ในที่สุด พาร์กเกอร์ก็ไปถึงโคโรนา

Parker Solar Probe milestones

การบินผ่านโคโรนาครั้งแรกและครั้งต่อๆ ไปที่จะตามมา จะยังคงให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ประหลาดที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะศึกษาจากที่ห่างไกล Nour Raouafi นักวิทยาศาสตร์โครงการพาร์กเกอร์ ที่ห้องทดลองฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์(JHU/APL) ในลอเรล มารีแลนด์ กล่าวว่า เมื่อบินผ่านดวงอาทิตย์ในระยะใกล้มากๆ ขณะนี้พาร์กเกอร์ก็รู้สึกถึงสภาวะในชั้นที่เต็มไปด้วยอิทธิพลแม่เหล็กของชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ หรือโคโรนา อย่างที่เราไม่เคยทำได้มาก่อน เราได้เห็นหลักฐานการเข้าถึงโคโรนาในข้อมูลสนามแม่เหล็ก, ข้อมูลลมสุริยะ และเห็นได้ในภาพต่างๆ เราได้เห็นยานบินผ่านโครงสร้างโคโรนาจริงซึ่งสามารถสำรวจในระหว่างเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง

ดวงอาทิตย์ไม่เหมือนกับโลกที่มีพื้นผิวแข็ง แต่มันเป็นชั้นบรรยากาศที่ร้อนยิ่งยวด ประกอบขึ้นจากวัสดุสารดวงอาทิตย์ที่ยึดเกาะกับดวงอาทิตย์โดยแรงโน้มถ่วงและแรงแม่เหล็ก เมื่อความร้อนและความดันที่เพิ่มขึ้นได้ผลักวัสดุสารนั้นออกจากดวงอาทิตย์ มันก็มาถึงจุดที่แรงโน้มถ่วงและสนามแม่เหล็กอ่อนแอเกินกว่าจะรักษาวัสดุสารไว้ได้ จุดดังกล่าวเรียกว่า พื้นผิววิกฤติอัลเฟียน(Alfven critical surface) กลายเป็นจุดสิ้นสุดชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ และเริ่มต้นลมสุริยะ วัสดุสารดวงอาทิตย์ที่มีพลังงานช่วยให้มันข้ามรอยต่อและกลายเป็นลมสุริยะในขณะที่ก็ลากสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ออกมากับมัน เมื่อมันวิ่งข้ามระบบสุริยะมาถึงโลก และเลยจากนั้นไป


โครงสร้างหลักของดวงอาทิตย์

จนกระทั่งบัดนี้ นักวิจัยก็ยังไม่แน่ใจว่าพื้นผิววิกฤติอัลเฟียนอยู่ที่ไหน อ้างอิงจากภาพโคโรนาจากระยะไกล ประเมินไว้ที่ระหว่าง 10 ถึง 20 เท่ารัศมีดวงอาทิตย์จากพื้นผิวดวงอาทิตย์ หรือ 6.9 ถึง 13.8 ล้านกิโลเมตร Justin Kasper ผู้เขียนนำรายงานใหม่เกี่ยวกับหลักชัยนี้เผยแพร่ใน Physical Review Letters กล่าวว่า เราคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า ไม่ช้าก็เร็ว เราน่าจะเข้าใกล้โคโรนาอย่างน้อยก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันน่าตื่นเต้นมากๆ ที่เราไปถึงมันแล้ว

ในความเป็นจริง ยานเข้าออกพื้นผิวอัลเฟียนนี้ 3 ครั้งในการบินผ่านรอบที่แปด Kasper เป็นผู้นำกลุ่มเครื่องมือตรวจจับอนุภาค SWEAP, ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยมิชิกัน และผู้ช่วยหัวหน้าเจ้าหน้าที่เทคโนโลจีที่ BWX Technologies กล่าว พื้นผิวอัลเฟียนมันย่นๆ แต่ไม่ได้ปุกปุย มันมีขอบเขตที่ชัดเจนเมื่อยานผ่านเข้าไป ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นในขณะข้าม มีแค่เพียงรอยต่อเท่านั้นที่เคลื่อนไปมา เขากล่าว

ในจุดหนึ่ง พาร์กเกอร์ได้พุ่งไปที่ระดับต่ำกว่า 15 เท่ารัศมีดวงอาทิตย์(ราว 10.4 ล้านกิโลเมตร) จากพื้นผิวดวงอาทิตย์ มันได้ผ่านรายละเอียดชนิดหนึ่งในโคโรนาที่เรียกว่า peudostreamer เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่พุ่งขึ้นเหนือพื้นผิวดวงอาทิตย์และสามารถเห็นได้จากโลกในระหว่างเกิดสุริยุปราคา การบินทะลุผ่าน pseudostreamer ก็เหมือนกับการบินเข้าสู่ตาของพายุ ภายใน pseudostreamer สภาวะสงบเงียบ, อนุภาควิ่งช้ากว่า สนามแม่เหล็กที่เป็นระเบียบมากขึ้นและจำนวนของสวิทซ์แบคก็ลดลง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากกองทัพอนุภาคที่วุ่นวายที่ยานมักจะได้พบเจอในชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์


ฟุตเทจจาก WISPR บนยานพาร์กเกอร์ถ่ายในระหว่างการบินผ่านครั้งที่ 9 เดือนสิงหาคมนี้ เมื่อยานวิ่งผ่านลมสุริยะ พื้นที่สว่างกว่ามีความหนาแน่นลมสูงกว่า ภาพชุดแสดงพาร์กเกอร์บินผ่าน coronal streamers วิ่งอยู่ด้านบน(แถวบน) และ coronal streamer วิ่งอยู่ด้านล่าง(แถวล่าง) โดยปกติจะเห็น streamer ได้จากโลกเฉพาะเมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น ภาพลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยานบินอยู่เหนือและใต้สตรีมเมอร์เท่านั้น 

เป็นครั้งแรก ที่ยานได้พบว่าตัวมันเองอยู่ในพื้นที่แห่งหนึ่งที่สนามแม่เหล็กรุนแรงมากพอที่จะกำกับการเคลื่อนที่ของอนุภาคในพื้นที่ดังกล่าว สภาวะเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่ายานได้ผ่านพื้นผิววิกฤติอัลเฟียน และเข้าสู่โคโรนาที่ซึ่งสนามแม่เหล็กควบคุมการเคลื่อนที่ของทุกสิ่งในพื้นที่ ข้อมูลจากยานบอกว่าโครงสร้างสตรีมเมอร์เหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้พื้นผิววิกฤติอัลเฟียนมีรูปร่างบิดเบี้ยว แม้ว่าจะยังไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

การผ่านทะลุโคโรนาครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง เป็นหนึ่งในหลายๆ ครั้งที่ได้วางแผนไว้ในปฏิบัติการนี้ พาร์กเกอร์จะยังคงหมุนวนรอบดวงอาทิตย์ในวงโคจรที่กระชับมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะนำมันเข้าไปใกล้ถึง 8.86 เท่ารัศมีดวงอาทิตย์(6.13 ล้านกิโลเมตร) จากพื้นผิว การบินผ่านที่จะเกิดขึ้นต่อไปซึ่งน่าจะเกิดในเดือนมกราคม 2022 น่าจะนำพาร์กเกอร์ทะลุผ่านโคโรนาอีกครั้ง

ภาพจากศิลปินแสดงพื้นผิววิกฤติอัลเฟียน(Alfven critical surface) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างโคโรนาซึ่งมีอิทธิพลสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์กำกับการเคลื่อนที่ทุกๆ สิ่ง เมื่อผ่านพื้นผิวนี้ อนุภาคที่หลุดออกมาจะกลายเป็นลมสุริยะ(solar wind) การตรวจสอบของยานพาร์กเกอร์บอกว่า พื้นผิวอัลเฟียนมีความย่นยับ ไม่ได้ราบเรียบ ดังแสดงในภาพนี้ 

ขนาดของโคโรนายังขับเคลื่อนโดยกิจกรรมสุริยะด้วย เมื่อวัฏจักรสุริยะที่กินเวลาราว 11 ปีทำให้กิจกรรมเพิ่มสูงด้วย ขอบส่วนนอกของโคโรนาก็จะขยายออกไป ช่วยให้พาร์กเกอร์มีโอกาสที่ดีขึ้นที่จะอยู่ภายในโคโรนาได้นานขึ้น นี่เป็นพื้นที่ที่สำคัญจริงๆ ที่ได้เข้าถึงเนื่องจากเราคิดว่าฟิสิกส์ทั้งหมดได้เริ่มขึ้นที่นี่ Kasper กล่าว และขณะนี้เรากำลังเข้าสู่พื้นที่นี่และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เริ่มเห็นฟิสิกส์และพฤติกรรมเหล่านี้บางส่วน


ที่มาของสวิตช์แบค

ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ปฏิบัติการยูลิสิส(Ulysses) ของนาซาและอีซา ได้บินผ่านขั้วดวงอาทิตย์ และพบร่องรอยประหลาดรูปตัว S จำนวนหนึ่งในเส้นแรงสนามแม่เหล็กของลมสุริยะ ซึ่งเป็นอนุภาคมีประจุที่วิ่งย้อนในเส้นทางยักไปมาเมื่อพวกมันหนีออกจากดวงอาทิตย์ และอีกหลายทศวรรษต่อมาที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสวิตช์แบคที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เกิดขึ้นจำกัดเฉพาะพื้นที่ขั้วดวงอาทิตย์เท่านั้น




ในปี 2019 จากระยะทาง 34 เท่ารัศมีดวงอาทิตย์ พาร์กเกอร์ได้พบสวิตช์แบคได้ไม่ยากแทบจะทั่วไปในลมสุริยะ ซึ่งนี่สร้างความน่าสนใจให้กับรายละเอียดเหล่านี้และสร้างคำถามขึ้นมา พวกมันมาจากไหน พวกมันถูกสร้างที่พื้นผิวดวงอาทิตย์หรือถูกตกแต่งขึ้นจากกระบวนการบางอย่างที่ส่งผลให้สนามแม่เหล็กในชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ผิดแปลกไป

การค้นพบใหม่ซึ่งรายงานใน Astrophysical Journal สุดท้ายได้ยืนยันจุดกำเนิดจุดหนึ่งว่า เกิดขึ้นใกล้กับพื้นผิวดวงอาทิตย์ เงื่อนงำมาจากเมื่อพาร์กเกอร์โคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นในการบินผ่านรอบที่หก ด้วยระยะทางไม่ถึง 25 เท่ารัศมีดวงอาทิตย์ ข้อมูลได้แสดงว่าสวิตช์แบคเกิดขึ้นเป็นปื้นและมีฮีเลียมไอออนในสัดส่วนที่สูงขึ้นมากกว่าธาตุอื่น(ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามาจากโฟโตสเฟียร์) กำเนิดของสวิตช์แบคยังสามารถระบุให้แคบลงเมื่อนักวิทยาศาสตร์พบอนุภาคเรียงตัวตามปล่องแม่เหล็ก(magnetic funnel) ที่ผุดขึ้นจากโฟโตสเฟียร์ ระหว่างโครงสร้างเซลส์พาความร้อน(convection cell) ขนาดยักษ์ที่เรียกว่า ซุปเปอร์กรานูล(supergranules)

ในขณะที่การค้นพบใหม่ได้ระบุพื้นที่ที่สร้างสวิตช์แบคขึ้นมา แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ยืนยันว่าพวกมันก่อตัวขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีหนึ่งบอกว่าพวกมันถูกสร้างขึ้นจากคลื่นพลาสมาที่ม้วนผ่านพื้นที่นี้เหมือนกับล่องในมหาสมุทร อีกทฤษฎีบอกว่าพวกมันเกิดขึ้นจากกระบวนการระเบิดแบบหนึ่งที่เรียกว่า แม่เหล็กเชื่อมต่อใหม่(magnetic reconnection) ซึ่งคิดกันว่าเกิดขึ้นที่รอยต่อเมื่อปล่องแม่เหล็กอยู่ใกล้กัน




ขณะนี้เมื่อนักวิจัยทราบว่าจะมองหาอะไร ยานพาร์กเกอร์ที่บินเข้าใกล้มากขึ้นก็อาจจะเผยเงื่อนงำมากขึ้นเกี่ยวกับสวิตช์แบคและปรากฏการณ์ประหลาดของดวงอาทิตย์อื่นๆ ข้อมูลที่จะมาจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีแง่มุมสู่พื้นที่แห่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำให้โคโรน่าร้อนจัด และผลักลมสุริยะออกมาด้วยความเร็วเหนือเสียง การตรวจสอบจากโคโรนาเหล่านั้นจะเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวดในการเข้าใจและทำนายสภาวะอวกาศ(space weather) แบบสุดขั้วที่สามารถรบกวนการสื่อสารโทรคมนาคม และสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมรอบโลกได้

Joseph Smith ผู้บริหารโครงการพาร์กเกอร์ที่สำนักงานใหญ่นาซา กล่าวว่า นี่มันน่าตื่นเต้นมากๆ ที่ได้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลจีที่นำยานพาร์กเกอร์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากกว่าที่เราเคยทำมา และก็สามารถส่งข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่งกลับมาได้ เราเฝ้าคอยที่จะได้เห็นว่าปฏิบัติการจะค้นพบอะไรอีกเมื่อมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...