ปริศนาการหายไปของหลุมดำมวลมหาศาลแห่งหนึ่งยังคงซับซ้อนมากขึ้น
แม้ว่าจะมีการสำรวจหาด้วยหอสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทรา
และกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของนาซาแล้ว
นักดาราศาสตร์ก็ยังคงไม่เห็นหลักฐานว่าจะมีหลุมดำขนาดตั้งแต่ 3 พันล้านจนถึง 1 แสนล้านเท่ามวลดวงอาทิตย์อยู่
กระจุกกาแลคซี(galaxy cluster) เป็นโครงสร้างที่ยึดเกาะกันด้วยแรงโน้มถ่วงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอกภพ
โดยปกติ พวกมันจะเป็นกลุ่มของกาแลคซีหลายร้อยจนถึงหลายพันแห่งที่มาเกาะกลุ่มกัน
โดยมีกาแลคซีที่สว่างมากขนาดมหึมาแห่งหนึ่งอยู่ใกล้กับใจกลางกระจุก ซึ่งเรียกกาแลคซีสว่างนี้ว่า
BCG(Brightest cluster galaxy) และแม้แต่ในบรรดา
BCGs ด้วยกันเอง BCG
ของกระจุก Abell 2261 ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2.6 พันล้านปีแสงก็มีความโดดเด่น
เมื่อมันมีความกว้างถึง 1 ล้านปีแสง
ใหญ่เป็นสิบเท่าของทางช้างเผือก และมีแกนกลางขนาดมหึมาที่ปุกปุยด้วยความกว้าง 1
หมื่นปีแสง
เป็นแกนกลางกาแลคซีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา
ในกาแลคซีขนาดใหญ่แทบทุกแห่งในเอกภพ
จะมีหลุมดำมวลมหาศาลในใจกลาง
ซึ่งมีมวลตั้งแต่หลายล้านจนถึงหลายพันล้านเท่าดวงอาทิตย์
เนื่องจากมวลของหลุมดำในใจกลางมักจะอยู่ในแนวโน้มเดียวกับมวลของกาแลคซีเอง
นักดาราศาสตร์จึงคาดว่ากาแลคซีในใจกลางกระจุก Abell 2261(ซึ่งเรียกว่า A2261-BCG) นั้นสามารถคำนวณขนาดของหลุมดำได้
ซึ่งน่าจะเป็นปีศาจตัวมหึมาด้วยมวลระหว่าง 3 พันล้านจนถึง 1 แสนล้านเท่ามวลดวงอาทิตย์
ซึ่งทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในหลุมดำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด(หลุมดำมวลมหาศาลของทางช้างเผือกมีมวลราว
4 ล้านเท่าดวงอาทิตย์)
แต่แทนที่จะอุดมไปด้วยรังสีจากหลุมดำมวลสูงที่เปี่ยมด้วยกิจกรรม
เมื่อมันกวนและทำให้วัสดุสารรอบๆ ร้อนจัด หลุมดำของ A2261-BCG กลับเต็มไปด้วยกลุ่มหมอกฝ้าจากแสงดาวที่สว่าง
เครื่องมือหลายชิ้นก็ไม่พบร่องรอยใดๆ ของหลุมดำในใจกลางกาแลคซีแห่งนี้เลย
ด้วยการใช้ข้อมูลจันทราที่ได้ในปี 1999
และ 2004 นักดาราศาสตร์ได้สำรวจใจกลางของกาแลคซีขนาดใหญ่ในใจกลางกระจุก
Abell 2261 เพื่อหาสัญญาณของหลุมดำยักษ์
พวกเขามองหาวัสดุสารที่ร้อนยิ่งยวดเมื่อมันตกลงสู่หลุมดำและสร้างรังสีเอกซ์ขึ้นมา
แต่กลับไม่พบแหล่ง(รังสีเอกซ์) เช่นนั้นเลย
ขณะนี้ ด้วยการสำรวจจากจันทรางานใหม่จากปี 2018
ทีมที่นำโดย Kayhan Gultekin จากมหาวิทยาลัยมิชิกัน ที่แอนน์อาร์เบอร์
ได้ทำการสำรวจเชิงลึกเพื่อหาหลุมดำในใจกลางกาแลคซีแห่งนี้ พวกเขายังพยายามหาคำอธิบายทางเลือกอื่นว่าหลุมดำถูกผลักออกจากใจกลางกาแลคซีต้นสังกัด
เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้อาจจะเป็นผลจากการควบรวมของกาแลคซีสองแห่งเพื่อสร้างกาแลคซีที่สำรวจพบนี้
ซึ่งหลุมดำในใจกลางกาแลคซีแต่ละแห่งจะควบรวมกันก่อตัวเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ขึ้นแห่งเดียว
เมื่อหลุมดำควบรวมกัน พวกมันจะสร้างระลอกในกาลอวกาศที่เรียกว่า
คลื่นความโน้มถ่วง(gravitational waves) ถ้าคลื่นความโน้มถ่วงปริมาณมหาศาลที่ถูกสร้างในเหตุการณ์เช่นนี้
มีความไม่สมมาตรในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากกว่า
ทฤษฎีได้ทำนายว่าหลุมดำมวลสูงขึ้นแห่งใหม่ก็น่าจะกระดอนออกจากใจกลางกาแลคซีในทิศทางตรงกันข้าม
นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า หลุมดำกระดอนกลับ(recoiling black hole)
นักดาราศาสตร์ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดของหลุมดำกระดอนกลับนี้เลย
และก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ว่ามีหลุมดำมวลมหาศาลแห่งอื่นๆ
ที่เข้ามาใกล้กันและกันมากพอที่จะสร้างคลื่นความโน้มถ่วงและควบรวมหรือไม่
โดยรวมแล้ว นักดาราศาสตร์ระบุได้แค่เพียงการควบรวมจากหลุมดำที่มีขนาดเล็กกว่ามาก
การตรวจจับหลุมดำมวลมหาศาลที่กระดอนกลับน่าจะต้องให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นและพัฒนาหอสังเกตการณ์เพื่อมองหาคลื่นความโน้มถ่วงจากหลุมดำมวลมหาศาลที่ควบรวมกัน
รายละเอียดเหล่านี้ถูกจำแนกเป็นครั้งแรกโดย Marc
Postman จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศและเพื่อนร่วมงานในภาพจากฮับเบิลและซูบารุก่อนหน้านั้น
และชักนำให้พวกเขาเสนอแนวคิดหลุมดำที่ควบรวมใน Abell 2261 ขึ้นมา ในระหว่างการควบรวม หลุมดำมวลมหาศาลในแต่ละกาแลคซีจะจมเข้าหาใจกลางของกาแลคซีที่เพิ่งรวมตัวขึ้นใหม่
ถ้าพวกมันเชื่อมโยงกันและกันผ่านแรงโน้มถ่วงได้ และวงโคจรเริ่มสั้นลง
ก็คาดว่าหลุมดำน่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับดาวที่อยู่รอบๆ
และผลักพวกมันออกจากใจกลางกาแลคซี นี่น่าจะอธิบายแกนกลางขนาดใหญ่ของ Abell
2261 ได้
และยังอาจอธิบายว่าเพราะเหตุใด
กลุ่มของดาวที่อยู่กันอย่างหนาแน่นที่สุดจึงอยู่ไกลจากแกนกลางราว 2 พันปีแสง
แต่กระนั้น การกระจายตัวของดาวที่เอียงยังอาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์รุนแรงเช่น
การควบรวมของหลุมดำมวลมหาศาล 2 แห่งและการกระดอนกลับของหลุมดำยักษ์ที่ก่อตัวใหม่
ก็เป็นได้
แม้ว่าจะมีเงื่อนงำว่ามีการควบรวมของหลุมดำเกิดขึ้น
แต่ข้อมูลจากทั้งฮับเบิลและจันทราก็ไม่แสดงหลักฐานของหลุมดำเลย Gultekin และเพื่อนร่วมงานเกือบทั้งหมดของเขาซึ่งนำโดย Sarah
Burke-Spolaor จากมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย
เคยใช้ฮับเบิลเพื่อมองหากลุ่มก้อนของดาวฤกษ์ที่หลุมดำที่กระดอนกลับอาจจะดึงติดออกไปด้วยกัน
พวกเขาศึกษากลุ่มก้อน 3 แห่งใกล้กับใจกลางกาแลคซี
และตรวจสอบว่าการเคลื่อนที่ของดาวในกลุ่มก้อนเหล่านี้มีความเร็วมากพอที่จะบอกว่าพวกมันมีหลุมดำมวลระดับพันล้านเท่าอยู่ภายในด้วย
แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดของหลุมดำในกลุ่มก้อนดาว 2 แห่ง
และดาวในอีกกลุ่มที่เหลือก็สลัวเกินกว่าจะสร้างผลสรุปที่เป็นประโยชน์ได้
พวกเขายังเคยศึกษาการสำรวจ Abell
2261 ด้วย VLA(Karl
G. Jansky Very Large Array) การเปล่งคลื่นวิทยุที่ตรวจพบใกล้กับใจกลางของกาแลคซี
ได้แสดงหลักฐานว่าเคยมีกิจกรรมของหลุมดำมวลมหาศาลเกิดขึ้นที่นั้นเมื่อ 50 ล้านปีก่อน แต่ไม่ได้บ่งชี้ว่าใจกลางของกาแลคซีในปัจจุบันมีหลุมดำเช่นนั้นอยู่
จากนั้น
พวกเขาก็หันไปหากล้องจันทราเพื่อมองหาวัสดุสารร้อนยิ่งยวดและสร้างรังสีเอกซ์เมื่อมันตกลงสู่หลุมดำ
ในขณะที่ข้อมูลจันทราได้เยผให้เห็นกลุ่มก๊าซร้อนที่หนาทึบที่สุดว่าไม่ได้อยู่ในใจกลางกาแลคซี
แต่พวกมันก็ไม่ได้เผยให้เห็นสัญญาณรังสีเอกซ์ใดๆ
ที่เป็นไปได้ว่าจะมาจากหลุมดำมวลมหาศษลที่กำลังเติบโต
ไม่พบทั้งแหล่งรังสีเอกซ์ในใจกลางกระจุก หรือในกลุ่มก้อนของดาวใดๆ
หรือในตำแหน่งที่มีการเปล่งคลื่นวิทยุใดๆ เลย
ผู้เขียนจึงสรุปว่า
อาจจะไม่มีหลุมดำอยู่ที่ใดเลย หรือ มันกำลังกลืนวัสดุสารช้าเกินกว่าจะสร้างสัญญาณรังสีเอกซ์ให้ตรวจจับได้
ปริศนาของตำแหน่งหลุมดำยักษ์ที่นั้นจึงยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าการสำรวจจะล้มเหลว
แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังมีความหวังว่าจะมองหาหลุมดำมวลมหาศาลแห่งนี้ในอนาคต
เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ น่าจะสามารถเผยให้เห็นการมีอยู่ของหลุมดำมวลมหาศาลในใจกลางกาแลคซี
หรือในกลุ่มก้อนดาวเหล่านั้นได้ ถ้าเวบบ์ยังหาหลุมดำไม่เจอ
คำอธิบายที่ดีที่สุดก็คือ หลุมดำกระดอนหลุดออกจากใจกลางกาแลคซีไปแล้ว
รายงานอธิบายผลสรุปเหล่านี้เผยแพร่ในวารสารของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน
และเวบไซท์ก่อนตีพิมพ์ arXiv.org
แหล่งข่าว phys.org
: on the hunt for a missing giant black hole
sciencealert.com :
somehow, a monstrous supermassive black hole has gone missing
iflscience.com : a
supermassive black hole appears to have gone missing
No comments:
Post a Comment