Thursday, 31 October 2019

Messier 57 : Ring Nebula



ภาพเสก็ทช์เอ็ม 57 เนบูล่าวงแหวนโดยผู้เขียน


“Among the curiosities of the heaven….
a nebula that has a regular concentric dark spot in the middle…
and is probably a ring of stars.”

“ ท่ามกลางสิ่งมหัศจรรย์ของสวรรค์….
เนบิวลาที่มีจุดมืดเป็นศูนย์กลางอยู่ตรงกลาง...
และอาจเป็นแหวนของดวงดาว”

-Sir William Herschel

ดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงดวงอาทิตย์ของเรา เมื่อแกนกลางใช้เชื้อเพลิงหมดจนไม่สามารถจุดปฎิกริยานิวเคลียร์ต่อไปได้ ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตขนาดของดาวจะขยายออกจนเกินกำลังที่ดาวจะยึดไว้ ผิวดาวและเนื้อสสารจะหลุดออกไปในอวกาศอันเวิ้งว้าง ทิ้งไว้แต่แกนคาร์บอนตรงกลางที่เรียกว่าดาวแคระขาว

ผิวดาวและสสารที่หลุดออกมานี้เรียกว่าเนบูล่าดาวเคราะห์หรือ Planetary Nebula ที่ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์แม้แต่น้อย ที่ได้ชื่อแบบนี้เพราะภาพที่เห็นจากกล้องดูดาวมักจะเป็นฝ้ากลมขนาดราวดาวเคราะห์ ในระยะแรกฟองกาซเนบูล่ายังเรืองแสงอยู่และจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนเย็นลงและจางหายไปในที่สุด

เอ็ม 57 หรือเนบูล่าวงแหวนเป็นตัวอย่างที่ดีของเนบูล่าดาวเคราะห์และมักเป็นออบเจคแรกๆที่นักดูดาวมือใหม่มองหา คนแรกที่พบเป็นนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Antonio Darquier ด้วยกล้องดูดาวขนาด 3 นิ้วในปี 1779 ก่อนหน้าแมสซายเออร์เพียงไม่กี่วัน วิลเลี่ยม เฮอเชลล์เป็นคนแรกที่มองเห็นเป็นวงแหวน

เนบูล่าวงแหวนอยู่ราวครึ่งทางจากดาวเบต้าไปแกมม่าไลเรในกลุ่มดาวพิณ ทั้งคู่เป็นดาวที่สว่างทำให้หาไม่ยาก กล้องดูดาวขนาด 3-4 นิ้ว ที่กำลังขยายต่ำจะมองเห็นเหมือนดาวที่ไม่ได้โฟกัส หากเพิ่มกำลังขยายจะเริ่มเห็นวงแหวนสีเทาขนาดจิ๋วที่สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนที่เห็น สำหรับกล้องสองตาถือว่าเป็น Challage object

ปลายกันยายนผมมีจังหวะได้ดูเอ็ม 57 อีกครั้งหลังในรอบหลายปี ฟ้ามีเมฆมาจากทางทิศใต้มีฟ้าแลบให้เห็นเป็นระยะ ตรงกลุ่มดาวพิณฟ้ายังเปิดอยู่ ผมมองไม่เห็นสัญญาณของเอ็ม 57 ในกล้องเล็ง ภาพจากกล้องดูดาวขนาด 8” ที่กำลังขยายต่ำเอ็ม 57 เหมือนดาวที่โฟกัสไม่ชัด

เมื่อเปลี่ยนกำลังขยายเป็น 133 เท่า เอ็ม 57 สว่างเด่นท่ามกลางหมู่ดาว เป็นวงรีที่มีขอบหนาและสว่างกว่าพื้นที่ตรงกลาง ขอบที่หนานั้นจะเปิดปลายทั้งสองข้าง ฝั่งทางเหนือจะสว่างกว่า สิ่งที่แปลกใจคือตัวเนบูล่ามีสีเทาอมเขียวนิดหน่อย ต่างกับสีขาวของดาวใกล้เคียง ได้ลองกรอกตาและขยับกล้องหลายครั้งก็ยังมองเห็นเป็นสีเทาอมเขียวเหมือนเดิม

มีบางจังหวะที่มองเห็น Central Star ด้วยการมองเหลือบ แต่ผมไม่ยืนยันว่าเป็น Central Star ของเอ็ม 57 ที่สว่างราวแมกนิจูด 15 อีกทั้งเป็น Challanging และเป็นที่ถกเถียงตามเวบบอร์ดต่างๆ ผมก็ไม่คิดว่าจะมองเห็นได้จากกล้องดูดาวตัวที่ใช้อยู่

แต่ว่าคืนนั้นผมยังสามารถเห็นสีของเนบูล่า ก็เป็นไปได้ว่า Central Star นั้นอาจจะมองเห็นจริงก็เป็นไปได้


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Ring Nebula
Catalog number: Messier57, NGC6720
Type: Planetary Nebula
Constellation: LyraVisual Magnitude: +8.8
Apparent Size: 1.4’x1.1’
Distance: 2300 ly
R.A. 18h 54m 18.95s
Dec. -33° 03’ 12.4”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
วิภู รุจิโรปการ, เอกภพ

Monday, 21 October 2019

Messier 22


ภาพสเก็ทช์เอ็ม 22 โดยผู้เขียน



“it was as if a globe had been filled with moon light
and hung before them in a net of woven of the glint of frosty stars”


“ราวกับโลกที่เปี่ยมด้วยแสงจันทร์และคลุมด้วยตาข่ายดวงดาว

ถักทอส่องประกายระยิบตา”


-J.J.R. Tolkien, The Hobbit, Ch 16, A Thief in the Night


เอ็ม22 เป็นหนึ่งในห้าราชาแห่งกระจุกดาวทรงกลมบนท้องฟ้า ด้วยความสว่างแมกนิจูดที่ 5.1 ทำให้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในที่ๆมืดดี และสว่างเป็นลำดับที่สามรองจากโอเมก้าเซนทอรี่และ 47 ทัคคาเน่ ส่วนเอ็ม13ในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิสเป็นลำดับที่สี่

ค้นพบในปี 1665 โดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันอับบราฮัม ฮิลล์ หลังจากนั้นมีนักดาราศาสตร์หลายคนได้บันทึกการสังเกตไว้ ในปี1764 แมสซายเออร์ได้บันทึกไว้ว่า “เนบูล่ากลม ไม่มีดาว ใกล้ 25 แซจิทารี”

เอ็ม22 เป็นกระจุกดาวที่มีขนาดปรากฎใหญ่กว่าพระจันทร์เต็มดวงเล็กน้อย ประกอบด้วยดาวประมาณ 500,000ดวง ทั้งหมดสว่างประมาณแม่นิจูด 11 ห่างจากเราประมาณ 10,400ปีแสง ไปในทิศทางกลุ่มดาวคนยิงธนู เป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่ใกล้โลกมากที่สุด และยังอยู่ใกล้เส้นสุริยวิถีทำให้มีดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้าบ่อยครั้ง

ตำแหน่งหาไม่ยากเพราะอยู่ห่างจากดาวคาอัสบอเรียริสหรือฝากาน้ำชาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือสององศาครึ่ง หากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าสามารถใช้กล้องสองตาช่วยได้

ภาพในเลนส์ตาผ่านกล้องดูดาวสะท้อนแสงขนาด 8” เอ็ม22 สว่าง มีขนาดใหญ่พอสมควร ที่กำลังขยายต่ำก็สามารถแยกดาวในกระจุกเป็นเม็ดได้แล้ว ที่กำลังขยาย133เท่า สว่าง มีรายละเอียดมาก มองเห็นดาวราว 100ดวง และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหากมองเหลือบ บางดวงจะสว่างเด่นกว่าดวงอื่น มีแถบมืดทางตะวันออกและตะวันตก

เมื่อดูไปสักพักเราจะเริ่มเห็นรายละเอียดมากขึ้น กระจุกดาวมีแขนขาระโยงระยางออกมาทุกด้านจนทำให้ภาพโดยรวมมองดูคล้ายแมลงอะไรสักอย่าง นับว่าเป็นออบเจคที่ห้ามพลาดสำหรับคนที่มีกล้องดูดาวและเป็นออบเจคที่เห็นด้วยตาเราเองจะงามกว่าดูจากภาพถ่ายครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


Catalog number: Messier22, NGC6656
Type: Globular Cluster
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +5.09
Apparent Size: 32’
Distance: 10,400 ly
R.A. 18h 37m 34.32s
Dec. -23° 53’ 13.2”



อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari

Thursday, 17 October 2019

Messier 11 : Wild duck cluster




บ้านเราอยู่ในเขตร้อนชื้น การชื่นชมทางช้างเผือกช่วงปลายฤดูฝนอย่างเดือนกันยายนถือเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ปีนี้โชคดีที่มีจังหวะท้องฟ้าเปิด แถมใกล้เดือนมืดไร้แสงจันทร์กวน 

ในกลุ่มดาวโล่หรือสคูตัมที่วางอยู่บนทางช้างเผือกติดกับกลุ่มดาวคนยิงธนูทางทิศเหนือ มีกระจุกดาวกระทัดรัดที่อัดแน่นไปด้วยดาวตัวหนึ่งคือแมสซายเออร์ 11 มีชื่อเรียกกันว่ากระจุกดาวเป็ดป่า (Wild Duck Cluster) ที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะมีดาวในกระจุกเรียงตัวเป็นตัวอักษร “V” เหมือนฝูงบินของเป็ดป่าหรือห่านป่าอพยพ ผู้ที่ตั้งชื่อคือนายพลเรือนักดาราศาสตร์แห่งราชนาวีอังกฤษ “วิลเลี่ยม สมิธ”

การมองหาเอ็ม11โดยอาศัยกลุ่มดาวนกอินทรีจะง่ายกว่า เพราะกลุ่มดาวโล่ค่อนข้างจาง เราจะเริ่มต้นที่ดาวที่เป็นหางนกอินทรีหรือแลมด้าอควิเล (λ Aquilae) ในฟิลด์กล้องสองตาจะเห็นดาวสว่างอีกสองดวงคือ ไอ อควิเล (i Aql) และอีต้าสคูติ ( η Sct)ทั้งสามดวงเรียงเป็นเส้นโค้ง ชี้ไปที่เอ็ม 11

ภาพในกล้องสองตากระจุกดาวเอ็ม 11 จะเป็นปื้นกลมเหมือนกระจุกดาวทรงกลม เมื่อย้ายมาที่กล้องดูดาวกำลังขยายปานกลางความงามจะถูกเผยออกมา จุดแสงละเอียดจำนวนมากเกาะตัวหนาแน่นเป็นรูปพัด ส่องประกายระยิบระยับคล้ายเกร็ดแก้วใต้ท้องทะเล

ในกระจุกดาวมีดาวสว่างสีแดงส้มโดดเด่น ทำหน้าที่คล้ายจ่าจูงเป็ดป่าท่ามกลางดาวที่จางและเล็กนับร้อย เมื่อใช้วิธีมองเหลือบจะเริ่มเห็นดาวเล็กๆจางๆเรียงตัวเป็นแนวอยู่ทางด้านแหลมของพัดเป็นตัววี ดาวดวงเล็กและจางกลุ่มนี้เองคือที่มาของชื่อเป็ดป่า เราจะมองเห็นชัดเจนเมื่อเพิ่มกำลังขยายให้สูงขึ้น

ยังมีแถบมืดที่วางอยู่ทางเหนือของดาวประธานไล่ไปทางตะวันตก ภาพที่กำลังขยายสูงกระจุกดาวจะฟิตพอดีกับฟิลด์ มองเห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้นแต่จะไม่ได้ความรู้สึกระยิบระยับเหมือนกำลังขยายปานกลาง

เอ็ม 11 ค้นพบโดยนัก ดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ก็อตฟรี่ย์ เคริชในปี 1681 ในปี 1733 วิลเลียม เดอร์แฮมได้ระบุว่าเป็นกระจุกดาวดาว และชาร์ล แมสซายเออร์เพิ่มเข้าไปในแคตตาล็อกของเขาในปี 1764 

ในกระจุกมีสมาชิกราว 3000 ดวง ในจำนวนนี้มี 500 ดวงที่สว่างกว่าแมกนิจูดที่ 14 มีขนาดปรากฎประมาณหนึ่งในสามของพระจันทร์เต็มดวง เป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่หนาแน่นและขนาดกระทัดรัดที่สุดตัวหนึ่ง จนทำให้ดูคล้ายเป็นกระจุกดาวทรงกลม

RJ Trumpler เคยคำนวณว่าถ้าโลกเราอยู่ในใจกลางกระจุกดาวเอ็ม 11 บนท้องฟ้าจะมีดาวสว่าง แมกนิจูดที่หนึ่งราว 200 ถึง 300 ดวงและอาจจะมีราว 40 ดวงหรือมากกว่าที่มีความสว่างตั้งแต่ 4 ถึง 50 เท่าของดาวซิริอุส! ท้องฟ้าแบบนั้นคงสว่างไสวน่าดู

ใครที่มีกล้องดูดาวแล้วไม่ได้ดูกระจุกดาวตัวนี้ถือว่าพลาดอย่างยิ่ง เอ็มสิบเอ็ดเป็นอัญมณีหรูหราราคาแพงบนทางช้างเผือกอีกตัวครับ


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Wild duck cluster
Catalog number: Messier11, NGC6705
Type: Star Cluster
Constellation: ScutumVisual Magnitude: +5.8
Apparent Size: 32’
Distance: 6100 ly
R.A. 18h 52m 07.42s
Dec. -06° 14’ 31.8”

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
Phillip Harrington, Cosmic Challenge
SkySafari
http://www.deepskywatch.com/Astrosketches/Wild-duck-cluster-M-11-sketch.html
Messier 11 sketch @ 111x http://www.asod.info/?p=7886

Wednesday, 9 October 2019

NGC6520 and Barnard 86



ภาพสเก็ทช์ NGC6520 กับ Barnard 86 - Inkspot โดยผู้เขียน

NGC6520 กระจุกดาวขนาดเล็กบนใจกลางทางช้างเผือกที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ห่างจากปลายพวยกาน้ำชาหรือดาวแกมม่าซาจิทารี่ (γ Sgt หรือ Alnasl) ไปทางเหนือแค่สององศาครึ่ง

จุดสังเกตของ NGC6520 คืออยู่ระหว่างดาวสามดวงเรียงเป็นเส้นตรงตามแนวทิศ SE-NW ใกล้กันมีฝ้ากลมอีกตัวมองเห็นได้จากกล้องเล็งในฟิลด์เดียวกัน ซึ่งอาจเป็นกระจุกดาวทรงกลม Djorgovski2 

ในกระจุกดาว NGC6520 มีดาวสว่าง ประกายสีแดงเด่นอยู่สองดวง มีอีกราว15-20 ดวงล้อมรอบ และมีดาวในกระจุกอีกจำนวนมากที่แยกออกมาเป็นเม็ดดาวไม่ได้มองเห็นเป็นแสงฟุ้งที่กลมสมมาตรดี

สีของท้องฟ้าในเลนส์ตาสว่างกว่าปกติและไม่ได้เนียนเสมอกัน เพราะพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยดาวคล้ายเม็ดทรายบนชายหาดอันกว้างใหญ่ แต่ดาวพวกนั้นจางเกินกว่าที่ตาของเราจะแยกภาพออกมาเป็นเม็ด จึงทำให้มองเห็นเป็นแสงสว่างจางเต็มพื้นที่

ระหว่าง NGC6520 และดาวสว่างแมกนิจูด 7 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หากสังเกตให้ดีจะเห็นพื้นที่สีเข้มแตกต่างจากจุดอื่น ออบเจคนี้เป็นกลุ่มกาซกับฝุ่นที่เย็นและทึบแสงเรียกกันว่า “Dark Nebula” หรือเนบูล่ามืด

ค้นพบโดย E.E.Barnard เนบูล่ามืดตัวนี้มีชื่อว่า Barnard 86 หรือ Inkspot เราจะเห็นเนบูล่ามืดได้ก็ต่อเมื่อมีเนบูล่ามืดอยู่ด้านหน้าบังวัตถุที่มีแสงในตัว

ผมคิดว่าเนบูล่ามืดหรือ Dark Nebula เป็นออบเจคที่ดูยากเพราะไวต่อมลภาวะทั้งหมอกควันและแสงที่เกินพอดีจากเมือง แม้ท้องฟ้าที่มืดระดับที่พอมองเห็นทางช้างเผือกอย่างบ้านหมี่ ก็ยังไม่ดีพอที่จะเห็น Dark Nebula ได้ง่าย

ดาวในกระจุก NGC6520 มีดาวสีฟ้าขาวจำนวนมากเป็นเครื่องหมายว่าเป็นกระจุกดาวอายุน้อย ปกติกระจุกดาวเกิดใหม่จะมีดาวราวสองถึงสามพันดวง แต่การศึกษาทำได้ยากเพราะอยู่ในบริเวณที่มีดาวหนาแน่น คาดว่าตัวกระจุกดาวมีอายุราว 150 ล้านปี และทั้ง NGC6520 และ B86 น่าจะห่างจากเราประมาณ 6000ปีแสง

ดาว γ Sgt มีชื่อในแผนที่ว่า Alnasl
คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลทั่วไป
Name: Inkspot
Catalog number: Barnard86
Type: Dark Nebula
Constellation: Sagittarius
Apparent Size: 5’x3’
Distance: ~6000 ly
R.A. 18h 04m 11.46s
Dec. -27° 52’ 

Catalog number: NGC6520
Type: Star Cluster
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +7.6
Apparent Size: 2’
Distance: ~6000 ly
R.A. 18h 04m 37.47s
Dec. -27° 52’ 51.7”


อ้างอิง
Stephen O’mera, Hidden Treasure

SkySafari

Saturday, 5 October 2019

Messier 20 : Trifid Nebula


ภาพสเก็ทช์แมสซายเออร์ 20 โดยผู้เขียน

หัวค่ำปลายเดือนกันยายน ท้องฟ้าทิศใต้มีดาวพราวเต็มฟ้า แอสคลิปิอัสแบกงูเหยียบแมงป่องที่ตะแคงข้างไว้ใต้เท้าไม่ให้มีพิษสง ทางช้างเผือกพาดข้ามฟ้าผ่านระหว่างคนแบกงูและดาวเรียงรูปกาน้ำชาที่กำลังรินน้ำลงมาตรงหน้าเราพอดี

ที่ใจกลางของทางช้างเผือกบนฝาของกาน้ำชา สายตาของนักสำรวจท้องฟ้าที่ปรับดีแล้วจะเห็นกระจุกดาวและเนบูล่าเป็นปื้นสว่างน้อยใหญ่กระจายทั่วไป หนึ่งในนั้นก็คือเนบูล่าที่เป็นที่รู้จักกันดีตัวหนึ่ง “แมสซายเออร์หมายเลข 20” หรือ “ทริฟิดเนบูล่า”

เอ็ม 20 มีรายงานการค้นพบครั้งแรกในปี 1747 โดย Guillaume Le Gentil นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แมสซายเออร์เพิ่มเข้าไปในแคตตาลอคเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1764 โดยบันทึกว่าเป็นกระจุกดาว ไม่ใช่เนบูล่า ผู้ที่พบว่ามีเนบูล่าในเอ็ม 20 คือพลเรือเอกสมิธ (นายพลเรือและนักดาราศาสตร์แห่งราชนาวีอังกฤษ)

วิลเลี่ยม เฮอร์เชลเป็นผู้ที่ระบุว่ามีแถบมืดที่แบ่งเนบูล่าออกเป็นสามส่วน และจอห์น เฮอร์เชลเป็นคนแรกที่เรียกชื่อเนบูล่าตัวนี้ว่า “Trifid” ซึ่งหมายถึง “แบ่งเป็นสามส่วน” ตามลักษณะที่มองเห็น

เอ็ม 20 หาไม่ยาก ภาพในกล้องสองตาจะเป็นฝ้าฟุ้งขนาดเล็กทางทิศเหนือของลากูนเนบูล่าหรือเอ็ม 8 มีดาวคู่เด่นสว่างเด่นตรงกลาง ระวังจะสับสนกับกระจุกดาวเอ็ม 21 ที่เลยออกไปอีกหน่อย

แต่หากมองไม่เห็นเอ็ม 8 ด้วยตาเปล่า เราก็เริ่มต้นจากฝากาน้ำชาหรือดาวที่ชื่อ “เคล้าส์ โบเรียลิส”​ จากนั้น "ฮอบ" ไปทางทิศตะวันตกราว 5 องศา จะพบเอ็ม 8 สว่างฟุ้ง ห่างออกไปหน่อยเดียวทางเหนือเอ็ม 20 จะเป็นจุดแสงฟุ้งที่เล็กกว่าในฟิลด์เดียวกัน


คลิกภาพเพื่อขยาย

ทริฟิดในกล้องสองตาเราจะเห็นว่าคล้ายเนบูล่าก็จริงแต่ไม่ใช่ ผมเห็นด้วยกับฟิลลิป แฮริ่งตันที่เขียนไว้ในหนังสือ Cosmic Challege ว่าสิ่งที่เห็นคือแสงฟุ้งจากกระจุกดาวในเอ็ม20 เพราะเมื่อพิจารณาให้ดีแล้วเนบูล่าของทริฟิดจางเกินกว่าจะมองเห็นได้จากกล้องสองตาหรือกล้องเล็ง และนั่นหมายความว่าเรากำลังเห็นสิ่งที่แมสซายเออร์ได้บรรยายไว้ในบันทึกของเขา

ภาพจากกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้วที่กำลังขยายต่ำ(33เท่า) เริ่มเห็นเนบูล่าเป็นฝ้ากลมรอบระบบดาวคู่ HN40 ด้วยการมองเหลือบ มองเห็นกระจุกดาวเปิดเอ็ม 21 อยู่ในฟิลด์เดียวกันได้ เป็นภาพที่สวยไปอีกแบบ

เมื่อผมเพิ่มกำลังขยายเป็น 56 เท่า เวลาที่ผ่านไปทำให้เนบูล่ารอบ HN40 เริ่มจมหายไปกับหมอกควันและแสงไฟจากตลาดบ้านหมี่ ทำให้ต้องใช้ฟิลเตอร์ UHC เป็นตัวช่วย เนบูล่าถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยแถบมืดที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเอ็ม 20

เนบูล่าทั้งสามส่วน ชิ้นทางทิศใต้สว่างที่สุด แถบมืดฝั่งนี้ก็ดูได้ง่ายกว่าทางทิศเหนือ ระบบดาวคู่ HN40 ดูไม่ชัดเจนว่าอยู่บนเนบูล่าชิ้นฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกกันแน่ ส่วนทางทิศเหนือมีเนบูล่าที่จางกว่ากระจายตัวไปรอบบริเวณดาวสว่างแมกนิจูดที่ 7 ดวงหนึ่ง

เอ็ม 20 อยู่ห่างออกไป 5,200 ปีแสง คาดว่ามีอายุราว 300,000 ปี นับว่าเป็นเนบูล่าและแหล่งอนุบาลดาวเคราะห์ที่อายุน้อยที่สุดจุดหนึ่งในทางช้างเผือก

ข้อมูลทั่วไป
Name: Trifid Nebula
Catalog number: NGC6514, Messier 20
Constellation: Sagittarius
Visual Magnitude: +6.3
Apparent Size: 29’x27’
Distance: 5200 ly
R.A. 18h 03m 46.67s
Dec. -23° 1’ 53.2”

อ้างอิง :
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
Phillip Harrington, Cosmic Challenge
SkySafari

Thursday, 3 October 2019

The Demon star : Algol

อัลกอลขณะความสว่างปกติ
ภาพโดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธุ์

มีดาวอยู่ดวงหนึ่งบนฟ้าที่เดี๋ยวหรี่เดี๋ยวสว่าง นักดาราศาสตร์ช่างสังเกตมองเห็นการเปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีแล้ว ดาวดวงนั้นคืออัลกอล - Algol ตาข้างขวาของหัวเมดูซ่าที่อยู่ในมือของเพอร์เซอุสบนฟากฟ้า

อัลกอลหรือเบต้าเพอร์เซอิ (β Persei) ดาวสว่างอันดับสองในกลุ่มดาวเพอร์เซอุสเป็นดาวแปรแสงชนิดคู่คราส การแปรแสงของดาวเกิดจากดาวในระบบดาวคู่เข้าคราสหรือบังซึ่งกันและกัน มีค่าความสว่างในเวลาปกติ 2.1 แมกนิจูดและ 3.4 แมกนิจูดเวลาเกิดคราส คาบการเกิดคราสทุก 2.87 วัน นับเป็นการเกิดคราสที่ไกลมากคือ 93 ปีแสง แถมยังมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

อัลกอลเป็นระบบดาว 3 ดวง ดาวหลักคือ Algol A ดาวสว่าง สีฟ้า-ขาว ส่วนคู่คือ Algol B สีส้มแดง จางกว่า A แต่มีขนาดใหญ่กว่า ดวงสุดท้าย Alcol C จางกว่ามาก มีสีขาว โคจรรอบคู่ AB อีกทีมีคาบการโคจร 1.86ปี

Algol B โคจรรอบ Allgol A ทุก 2 วัน 20 ชั่วโมง 49 นาที และคราสจะเกิดทั้งแบบ B บัง A และ A บัง B คราสหลักจาก B บัง A ความสว่างของอัลกอลจะลดลงเหลือ 3.4 แมกนิจูด คราสรองที่เกิดจาก A บัง B ความสว่างจะลดลงเล็กน้อยแค่ 1/10 แมกนิจูด


อัลกอล เอ ดวงสีเหลือง อัลกอล บี จางกว่าโคจรรอบอัลกอลเ อ
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada
กราฟความสว่าง A B C คือตำแหน่งของอัลกอล บี
คราสหลักกินเวลาราว 10 ชั่วโมง
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada

คราสหลักของอัลกอลแต่ละครั้งกินเวลาราว 10 ชั่วโมง ขาเข้า 5 ชั่วโมง ขาออก 5 ชั่วโมง การดูอัลกอล Bob King คอลัมนิสต์ Sky & Telescope แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเฝ้าดูตลอด 10 ชั่วโมง เพราะช่วงแรกความสว่างจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ช่วง 2 ชั่วโมงก่อนและหลังเวลาเข้าคราสเต็มดวง ความสว่างของอัลกอลเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ทำให้เราสามารถสังเกตความสว่างที่ใกล้กับจุดต่ำสุดได้โดยไม่ต้องรอนาน แต่หากเราพอมีเวลาผมว่ารอดูดีกว่า


ตารางวันและเวลา 2019 Algol Minima สำหรับไทย
Cr: Algol Minima site, Sky and Telescope Magazine

แผนที่อัลกอล พร้อมดาวสำหรับเปรียบเทียบความสว่าง
[คลิกภาพเพื่อขยาย]
จากนั้นก็เลือกวัน เวลาจากตาราง การสังเกตไม่ว่าด้วยตาเปล่า กล้องสองตา หรือกล้องดูดาว ควรจดบันทึกค่าความสว่างโดยเปรียบเทียบกับดาวดวงอื่นที่ใกล้เคียงเป็นจุดอ้างอิง อีกสองสามชั่วโมงค่อยมาดูความเปลี่ยนแปลง ดาวใกล้เคียงที่ใช้เปรียบเทียบได้ก็มีดาว Almach สว่าง 2.1, ρ (rho) Persei สว่าง 3.4, ε (epsilon) Persei 2.9, κ (kappa) Persei 3.8 ดูจากในแผนที่ครับ

คำว่า Algol มาจากภาษาอารบิก “Al Ra’s Al Ghul” แปลว่า “หัวปีศาจ” ในหนังสือ Celestial Handbook บอกไว้อีกหลายชื่อจากหลายอารยธรรม เช่น Caput Gorgonis - หัวกอร์กอน(หมายถึงเมดูซ่าและพี่น้อง), Rohn ha Satan -หัวซาตาน, Caput Lavae -หัวผี แม้กระทั่งเชื่อมโยงกับ “Lilith” ลิลิธภรรยาคนแรกของอดัมที่กลายเป็นปีศาจภายหลัง

คนในยุคก่อนมองดาวดวงนี้เป็นอันตรายคาดการณ์ไม่ได้เหมือนสิ่งชั่วร้าย คงเพราะดาวดวงนี้เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างอันเนื่องมาจากธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ล่าสุดมีคนพบสมุดปาริรัสอายุ 3200ปี ในยุคอียิปต์โบราณที่มีข้อมูลการแปรแสงของอัลกอลโดยระบุว่าคาบการแปรแสงคือ 2.85 วัน แปลว่ามนุษย์เราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัลกอลมานานแล้ว


ภาพอัลกอลแสดงความแตกต่างของความสว่าง
Cr: Larry Mcnish, Calgary Center, Royal Astronomy Society of Canada
แต่ผู้ที่พบว่าดาวดวงนี้เป็นดาวแปรแสงอย่างเป็นทางการตอนนี้คือมินิอาโน่ มอนทานารี่เมื่อปี 1667 และอีก115 ปีต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 1782 จอห์น กู๊ดริคที่ขณะนั้นมีอายุได้ 18ปี เป็นคนแรกที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของอัลกอล และนำเสนอคาบการสว่างคือ 2 วัน 20 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งใกล้เคียงกับการคำนวณในยุคปัจจุบันมาก

กู๊ดริคได้บันทึกความประทับใจไว้ในสมุดบันทึกว่า

“คืนนี้ผมดูเบต้าเพอร์เซอิ(อัลกอล) ประหลาดใจมากที่เห็นความสว่างของมันเปลี่ยนแปลง ผมตั้งใจสังเกตราวหนึ่งชั่วโมง ผมไม่อยากเชื่อว่ามองเห็นความสว่างของดาวที่เปลี่ยนไป เพราะผมไม่เคยได้ยินว่ามีดาวที่มีความสว่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างนี้มาก่อน”

อยากตามรอยและสัมผัสความรู้สึกเดียวกับจอห์น กู๊ดริคกันหรือเปล่า?
ดาวปีศาจรออยู่ครับ

อ่านเรื่องกลุ่มดาวเพอร์เซอุสเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://tsg2018.blogspot.com/2019/09/perseus-constellation.html


อ้างอิง
http://www.sci-news.com/astronomy/papyrus-cairo-calendar-astrophysical-information-variable-star-algol-03533.html
https://calgary.rasc.ca/algol_minima.htm
https://www.skyandtelescope.com/astronomy-blogs/behold-algol-star-secret/
https://www.facebook.com/groups/astroforfun/permalink/1410537989098335?sfns=mo

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...