Thursday 28 July 2022

กล้องเวบบ์สำรวจดาวพฤหัสฯ และดาวเคราะห์น้อย

 

ภาพซ้ายดาวพฤหัสฯ อยู่กลางภาพ กับดวงจันทร์ยูโรปา, ธีบี และเมทิส เมื่อมองผ่านฟิลเตอร์ 2.12 ไมครอนจาก NIRCam ของกล้องเวบบ์ ขวาดาวพฤหัสฯ กับยูโรปา, ธีบีและเมทิส เมื่อมองผ่านฟิลเตอร์ 3.23 ไมครอนของ NIRCam


     ใต้ความคึกคักจากการเผยแพร่ภาพชุดแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ขณะนี้ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลจากช่วงการทดสอบการทำงานของกล้อง(commissioning) จากคลังข้อมูลมิคัลสกี้ของสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ข้อมูลเหล่านี้รวมทั้งภาพดาวพฤหัสฯ และภาพและสเปคตรัมของดาวเคราะห์น้อยอีกหลายดวง ที่ทำเพื่อทดสอบเครื่องมือบนกล้องก่อนที่จะดำเนินงานทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 12 กรกฎาคม ข้อมูลที่ได้แสดงถึงความสามารถของกล้องเวบบ์ในการตามรอยเป้าหมายในระบบสุริยะและผลิตภาพและสเปคตรัมด้วยรายละเอียดที่สูงจนไม่น่าเชื่อ

     ผู้หลงใหลในดาวพฤหัสฯ คงสังเกตเห็นรายละเอียดที่คุ้นเคยบางอย่างบนดาวเคราะห์ดวงยักษ์ในภาพซึ่งมองผ่านสายตาของกล้องเวบบ์นี้ ภาพจากฟิลเตอร์ความยาวคลื่นสั้นของ NIRCam ได้แสดงแถบ(band) ต่างๆ ที่ล้อมรอบดาวเคราะห์ เช่นเดียวกับจุดแดงใหญ่(Great Red Spot) ซึ่งเป็นพายุขนาดใหญ่ที่ใส่โลกทั้งใบเข้าไปได้ จุดอันเป็นเอกลักษณ์ปรากฏเป็นสีขาวในภาพนี้ เนื่องจากกระบวนการทำภาพอินฟราเรดของเวบบ์

     เมื่อรวมกับภาพห้วงลึกที่เผยแพร่เมื่อหลายวันก่อน ภาพดาวพฤหัสได้แสดงให้เห็นศักยภาพเต็มๆ ที่กล้องเวบบ์จะสามารถสำรวจได้ ตั้งแต่กาแลคซีที่ห่างไกลที่สุดและสลัวที่สุดเท่าที่จะสำรวจได้ จนถึงดาวเคราะห์ในละแวกใกล้ๆ ที่คุณสามารถมองเห็นไดด้วยตาเปล่า Bryan Holler นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศในบัลติมอร์ มารีแลนด์ ซึ่งช่วยวางแผนการสำรวจ กล่าว

ดาวพฤหัสฯ(กลางภาพ) และดวงจันทร์ยูโรปา(ทางซ้าย) เมื่อมองผ่านฟิลเตอร์ 2.12 ไมครอนจาก NIRCam ของกล้องเวบบ์

      ที่เห็นได้ชัดเจนทางซ้ายก็คือ ยูโรปา(Europa) ดวงจันทร์ที่อาจมีมหาสมุทรอยู่ข้างใต้เปลือกน้ำแข็งหนาของมัน และเป็นปลายทางของปฏิบัติการยูโรปา คลิปเปอร์(Europa Clipper) ของนาซาที่จะออกบินในอนาคต ยิ่งกว่านั้น เงาของยูโรปายังทอดลงทางซ้ายของจุดแดงใหญ่ ดวงจันทร์อีกดวงที่เห็นได้ในภาพเหล่านี้ รวมถึง ธีบี(Thebe) และ เมทิส(Metis) ด้วย ฉันแทบไม่เชื่อว่าเราจะเห็นทุกอย่างชัดเจนมาก และสว่างมาก Stephanie Milam รองนักวิทยาศาสตร์โครงการเพื่อวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของกล้องเวบบ์ ที่ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด กล่าว มันน่าตื่นเต้นที่จะคิดว่าเราจะมีความสามารถและโอกาสที่จะได้สำรวจวัตถุลักษณะนี้ในระบบของเรา

      นักวิทยาศาสตร์กระหายที่จะได้เห็นภาพเหล่านี้เป็นพิเศษ เนื่องจากพวกมันจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าเวบบ์สามารถสำรวจดวงจันทร์บริวารและวงแหวนที่อยู่ใกล้วัตถุสว่างในระบบสุริยะเช่น ดาวพฤหัสฯ, ดาวเสาร์ และดาวอังคารได้ นักวิทยาศาสตร์จะใช้เวบบ์เพื่อหาคำตอบว่า เราจะมองเห็นพวยพุวัสดุสารที่พ่นออกจากดวงจันทร์อย่างยูโรปาและดวงจันทร์เอนเซลาดัส(Enceladus) ของดาวเสาร์ได้หรือไม่ เวบบ์อาจจะสามารถเห็นกระทั่งร่องรอยของวัสดุสารที่พวยพุทิ้งไว้บนพื้นผิวยูโรปาด้วย

     นอกจากนี้ เวบบ์ยังจับภาพวงแหวนดาวพฤหัสฯ บางส่วนไว้ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดในภาพผ่านฟิลเตอร์ความยาวคลื่นยาวของ NIRCam วงแหวนเหล่านั้นปรากฎในภาพแรกๆ จากระบบสุริยะจากกล้องเวบบ์นั้นอัศจรรย์และน่าทึ่งจริงๆ Milam กล่าว

ดาวพฤหัสฯ และดวงจันทร์บางส่วนเมื่อมองผ่านฟิลเตอร์ 3.23 ไมครอนของ NIRCam

      ภาพดาวพฤหัสฯ ในฟิลเตอร์ช่วงแคบๆ ถูกออกแบบมาให้ได้ภาพดิสก์ดาวเคราะห์ทั้งดวง แต่ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมจำนวนมากเกี่ยวกับวัตถุที่สลัวมากเช่น เมทิส, ธีบี, วงแหวนหลักๆ , ชั้นหมอก ในภาพเหล่านั้น โดยเปิดหน้ากล้องราว 1 นาที เป็นเซอร์ไพรส์ที่น่าพอใจมากๆ John Stansberry นักวิทยาศาสตร์หอสังเกตการณ์และผู้นำทีมทดสอบการทำงาน NIRCam ของกล้องเวบบ์ที่ STScI กล่าว

     เวบบ์ยังถ่ายภาพดาวพฤหัสฯ และยูโรปาเคลื่อนที่ข้ามพื้นที่สำรวจของกล้องในการสำรวจ 3 ครั้ง การทดสอบนี้แสดงให้เห็นความสามารถของกล้องในการค้นหาและตามรอยดาวไกด์ ในละแวกใกล้ดาวพฤหัสฯ ที่สว่าง แต่ว่ากล้องเวบบ์จะสามารถตามรอยวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วได้แค่ไหนและนิ่งแค่ไหน นี่เป็นคำถามสำคัญสำหรับนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง ในระหว่างการทดสอบการทำงาน เวบบ์ใช้ดาวเคราะห์น้อย 6481 Tenzing ซึ่งอยู่ในแถบดาวเคราะห์หลัก เพื่อเริ่มทดสอบขีดจำกัดความเร็วในการตามรอยวัตถุที่เคลื่อนที่

ดาวเคราะห์น้อยเทนซิง(6481 Tenzing) กลางภาพกำลังเคลื่อนที่เมื่อเทียบกับดาวที่พื้นหลัง ในภาพชุดนี้ซึ่งถ่ายโดย NIRCam

     เวบบ์ถูกออกแบบจากความต้องการให้ตามรอยวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วพอๆ กับดาวอังคาร ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 30 มิลลิอาร์ควินาทีต่อวินาที ในระหว่างการทดสอบการทำงาน ทีมเวบบ์ทำการสำรวจดาวเคราะห์น้อยหลายดวง ซึ่งทั้งหมดปรากฏเป็นจุดเนื่องจากพวกมันมีขนาดเล็ก ทีมได้พิสูจน์ว่าเวบบ์ยังใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทั้งหมดของมันเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ จากวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วได้ถึง 67 มิลลิอาร์ควินาทีต่อวินาที ซึ่งเป็นสองเท่าเศษของค่าที่วางไว้ Milam กล่าวว่า ทุกๆ อย่างทำงานได้ดีกว่าที่คิด


แหล่งข่าว phys.org : NASA releases Webb images of Jupiter
                blog.nasa.gov : Webb images of Jupiter and more now available in commissioning data  

Wednesday 27 July 2022

กล้องเวบบ์อาจพบกาแลคซีที่ห่างไกลที่สุดรายใหม่แล้ว

 

ภาพ GLASS-z13 


     เพียงหนึ่งสับดาห์หลังจากนาซาเผยแพร่ภาพชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ให้ชาวโลกได้ยล นักวิทยาศาสตร์ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลกล่าวว่า เวบบ์อาจจะได้พบกาแลคซีแห่งหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ที่ 13.5 พันล้านปีก่อน

      งานวิทยาศาสตร์ช่วงต้นของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์(James Webb Space Telescope) รวมโครงการหนึ่งที่เรียกว่า GLASS(Grism Lens-Amplified Survey from Space) จาก GLASS ในข้อมูลชุดแรก นักดาราศาสตร์ตรวจสอบกระจุกกาแลคซี Abell 2744 ซึ่งมีมวลสูงมากจนแรงโน้มถ่วงของมันสามารถรบกวนห้วงอวกาศรอบๆ มันและทำหน้าที่เป็นเลนส์ความโน้มถ่วงเพื่อขยายภาพจากกาแลคซีที่อยู่ห่างไกลที่สุดเบื้องหลังกระจุก  

     นักดาราศาสตร์ที่นำทีมโดย Rohan Naidu จากศูนย์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์(CfA)  ได้พบกาแลคซีเรียกกันว่า GLASS-z13 ปรากฏเมื่อ 3 ร้อยล้านปีหลังจากบิ๊กแบง ปรากฎเร็วกว่าสิ่งใดๆ ที่เคยจำแนกไว้ประมาณ 1 ร้อยล้านปี Naidu กล่าวว่า เราอาจจะได้มองดูแสงดาวที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่ใครเคยเห็นมา(ชื่อของกาแลคซีแห่งนี้มาจากความจริงที่ว่านักดาราศาสตร์ได้ตรวจสอบ “เรดชิพท์” ของมันที่ 13)   

     วัตถุที่ยิ่งอยู่ห่างไกลจากเราแค่ไหน แสงของพวกมันก็ใช้เวลาเดินทางมาถึงเรานานขึ้นไปด้วย ดังนั้นการมองไปในเอกภพอันห่างไกลก็เหมือนการมองย้อนอดีต แม้ว่า GLASS-z13 จะปรากฏในยุคแรกสุดของเอกภพ แต่ก็ยังไม่ทราบอายุที่แน่นอนของมัน เมื่อมันอาจก่อตัวขึ้นช่วงใดก็ตามในช่วง 3 ร้อยล้านปีแรกนี้

    GLASS-z13 ถูกพบในชุดข้อมูลที่เผยแพร่เบื้องต้น จากกล้องถ่ายภาพอินฟราเรดหลักของเวบบ์คือ NIRCam แต่การค้นพบนี้ไม่ได้เผยแพร่ไปกับภาพชุดแรกที่นาซาเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม

กาแลคซีที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เคยสำรวจและยืนยันแล้ว คือ GN-z11 อยู่ที่ z 11.1 หรือห่างออกไป 13.4 พันล้านปีแสง ในขณะที่มีผู้ท้าชิงรายใหม่ 

     หนึ่งในภารกิจสูงสุดของกล้องเวบบ์ก็คือความสามารถในการค้นหากาแลคซีแห่งแรกๆ สุดที่ก่อตัวขึ้นหลังจากบิ๊กแบง เมื่อ 13.8 พันล้านปีก่อน เนื่องจากพวกมันอยู่ห่างไกลจากเราอย่างมาก ในช่วงเวลาที่แสงเดินทางมาถึงโลก แสงจะถูกยืดออกจากการขยายตัวของเอกภพ และเลื่อนไปสู่ช่วงอินฟราเรด(redshifted) ในสเปคตรัมแสง ซึ่งกล้องเวบบ์ตรวจจับได้อย่างไม่มีปัญหา Naidu และเพื่อนร่วมงานได้กรองผ่านข้อมูลเอกภพอันห่างไกลในช่วงอินฟราเรดนี้ เพื่อมองหาสัญญาณร่องรอยของกาแลคซีที่ห่างไกลสุดขั้ว

     เมื่อแปลผลจากแสงอินฟราเรดเป็นแสงช่วงตาเห็น กาแลคซีแห่งนี้จะปรากฏเป็นก้อนสีแดงโดยมีใจกลางสีขาว Naidu และทีมเพื่อนร่วมงานรวม 25 คนจากทั่วโลก ยื่นเสนอการค้นพบในวารสารทางวิทยาศาสตร์ ในตอนนี้ งานวิจัยเผยแพร่บนเวบไซท์ก่อนตีพิมพ์ arXiv.org วันที่ 19 กรกฏาคม ดังนั้นจึงยังไม่ผ่านการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน(พิชญพิจารณ์; peer-reviewed) แต่ก็สร้างความฮือฮาให้กับประชาคมดาราศาสตร์แล้ว

     บันทึกสถิติทางดาราศาสตร์กำลังพังครืนและอีกหลายอย่างที่ถูกเขย่าบัลลังก์ Thomas Zurbuchen หัวหน้านักวิทยาศาสตร์นาซา ทวีตข้อความ แน่นอนว่าผมจะดีใจก็ต่อเมื่อผลสรุปทางวิทยาศาสตร์นี้ผ่านพิชญพิจารณ์ แต่ก็ดูมีแววมาก Naidu บอกว่ายังมีนักดาราศาสตร์อีกทีมที่นำโดย Marco Castellano ที่ใช้ข้อมูลเดียวกัน ได้บรรลุถึงข้อสรุปที่เหมือนกัน เลยช่วยให้พวกเรามั่นใจ

     ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรด จะมีช่วงเกณฑ์จำเพาะซึ่งต่ำกว่าค่าดังกล่าว โฟตอนทั้งหมดจะถูกดูดกลืนไว้โดยไฮโดรเจนที่เป็นกลางในเอกภพ ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างวัตถุกับผู้สังเกตการณ์ ด้วยการใช้ข้อมูลที่รวบรวมได้จากฟิลเตอร์อินฟราเรดที่แตกต่างกันที่หันไปที่พื้นที่เดียวกันบนฟ้า ทีมก็สามารถตรวจสอบตำแหน่งที่โฟตอนหายไปจนเกลี้ยงนี้ ได้ว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ใช้บอกถึงการมีอยู่ของกาแลคซีที่ห่างไกลมากที่สุด

     เราสำรวจข้อมูลเบื้องต้นจากกาแลคซีทั้งหมดเพื่อหาสัญญาณนี้ และก็มีระบบสองแห่งที่โดยรวมแล้วมีสัญญาณที่เป็นไปได้มากที่สุด Naidu กล่าว นอกจาก GLASS-z13 อีกแห่งคือ GLASS-z11 ไม่ได้เก่าแก่เท่า เป็นหลักฐานที่ชัดเจนแต่ก็ยังมีงานที่ต้องทำอีก เธอกล่าว

ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ แสดง กาแลคซี GLASS z-13 ว่าที่กาแลคซีที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยพบมา

     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมอยากได้เวลาในการสำรวจจากกล้องเวบบ์เพื่อทำการตรวจสอบสเปคตรัม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แสงที่เผยให้เห็นคุณสมบัติในรายละเอียด เพื่อตรวจสอบระยะทางที่แม่นยำของมัน สำหรับตอนนี้ การคาดเดาระยะทางของมันมีพื้นฐานจากสิ่งที่เรามองไม่เห็น จะดีมากที่จะได้คำตอบกับสิ่งที่เราได้เห็นนี้ Naidu กล่าว

    แต่กระนั้น ทีมก็พบได้คุณสมบัติที่น่ามหัศจรรย์แล้ว ยกตัวอย่างเช่น GLASS-z11 และ GLASS-z13 เป็นกาแลคซีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับทางช้างเผือกซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 แสนปีแสง อย่างไรก็ตาม ในยุคดังกล่าว ทั้งสองก็มีขนาดใหญ่โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 3000 ถึง 4500 ปีแสง และมีมวลรวมที่เป็นดาวเทียบเท่ากับ 1 พันล้านเท่ามวลดวงอาทิตย์ และเป็นดาวที่สว่างสูงจำนวนมาก

      การค้นพบที่น่าประหลาดใจอีกอย่างก็คือ GLASS-z11 ได้แสดงข้อบ่งชี้ว่ามันมีรูปร่างเรียว โดยมีดิสก์กังหันที่กำลังเติบโต ในขณะที่กาแลคซีที่ห่างไกลที่สุดที่ยืนยันแล้วในขณะนี้ GN-z11 ก็ดูเหมือนจะมีดิสก์ด้วยเช่นกัน ในขณะที่กาแลคซีเกือบทั้งหมดที่พบที่เรดชิพท์สูงๆ มักจะมีลักษณะเป็นขยุ้มก้อน แต่ GLASS-z11 และ GN-z11 แสดงว่าเป็นไปได้ที่โครงสร้างในกาแลคซีอาจจะพัฒนาขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว

      ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจอย่างมาก และเป็นเรื่องที่เราไม่เข้าใจเลยว่ามันก่อตัวไม่นานหลังจากบิ๊กแบงได้อย่างไร Naidu กล่าว พื้นที่ท้องฟ้าที่ GLASS ทำการสำรวจโดยรวมมีขนาด 50 ตารางอาร์คนาที(ดวงจันทร์มีความกว้าง 31 อาร์คนาที) และเฉพาะในพื้นที่นี้ก็พบกาแลคซีที่มีเรดชิพท์มากกว่า 11 แล้วถึงสองแห่ง จากจำนวนก็น่าจะบ่งชี้ว่ากาแลคซีที่ส่องสว่างในเอกภพยุคเริ่มแรกนั้นพบได้บ่อยกว่าที่เคยคาดไว้ การตรวจจับนี้ยังบอกเป็นนัยว่ากล้องเวบบ์จะพบกาแลคซีที่ห่างไกลอย่างนี้อีกมากมาย และบางทีอาจจะเป็นกาแลคซีที่ไกลออกไปอีก

     จากทฤษฎีการก่อตัวกาแลคซี นับตั้งแต่ที่เราได้เห็นภาพพวกมันเวลาได้ผ่านเลยไป ทั้ง GLASS-z11 และ GLASS-z13 จะต้องเจริญเติบโตต่อไปผ่านการควบรวม(merger) กับกาแลคซีแห่งอื่นๆ และบางทีอาจจะพัฒนากลายเป็นกาแลคซีทรงรี(elliptical galaxies) ยักษ์ แต่กระนั้น การขยายตัวของเอกภพก็ทำให้ GLASS-z11 และ GLASS-z13 อยู่ห่างเราออกไปอีก และทุกวันนี้ พวกมันก็อยู่ไกลจากเรามากกว่า 32 พันล้านปีแสงแล้ว ไกลเกินกว่าที่กล้องโทรทรรศน์ใดๆ จะไปถึง

 

แหล่งข่าว phys.org : Webb telescope may have already found most distant known galaxy
                space.com : James Webb Space Telescope discovers candidates for most distant galaxies yet

Monday 25 July 2022

ดาวที่โคจรรอบหลุมดำทางช้างเผือกในเวลาสั้นที่สุด

 

ภาพรวมประกอบจากอินฟราเรด และรังสีเอกซ์ แสดงรอบๆ หลุมดำในใจกลางทางช้างเผือก Sagittarius A* 


    นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคลน์และมหาวิทยาลัยมาซาริกในบรูโน สาธารณรัฐเชก ได้พบดาวฤกษ์ที่เคลื่อนที่เร็วมากซึ่งโคจรรอบหลุมดำแห่งหนึ่งครบรอบในเวลาเพียงสี่ปีเท่านั้น  

     ดาวฤกษ์ S4716 โคจรรอบหลุมดำคนยิงธนู เอ สตาร์(Sagittarius A*) หลุมดำในใจกลางกาแลคซีทางช้างเผือกของเรา ในวงโคจรที่รีในเวลาเพียง 4 ปีและมีความเร็วถึง 8000 กิโลเมตรต่อวินาทีเมื่อ S4716 อยู่ในช่วงเข้าใกล้มากที่สุดในระยะ 1.5 หมื่นล้านกิโลเมตร หรือเพียง 100 AU(astronomical unit; ระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงอาทิตย์) จากหลุมดำ ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นมากตามมาตรฐานดาราศาสตร์ การศึกษานี้เผยแพร่ใน Astrophysical Journal

     ในละแวกใกล้หลุมดำที่ใจกลางกาแลคซีของเรา เป็นกระจุกของดาวที่อยู่กันอย่างหนาแน่นกระจุกหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า S cluster เป็นที่อยู่ของดาวกว่าร้อยดวงที่มีความแตกต่างทั้งความสว่างและมวล ดาวเอสเคลื่อนที่เร็วเป็นพิเศษ Florian Peißker ผู้เขียนนำการศึกษาใหม่ จากมหาวิทยาลัยโคลน์ กล่าวว่า สมาชิกที่โดดเด่นดวงหนึ่ง S2 ทำตัวเหมือนคนตัวใหญ่ที่นั่งอยู่ด้านหน้าคุณในโรงหนัง มันบังคุณจนแทบไม่เห็นอะไรเลย มุมมองสู่ใจกลางของกาแลคซีของเรามักจะถูกบังไว้โดย S2 อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถสำรวจสภาพแวดล้อมของหลุมดำในใจกลางได้ในช่วงเวลาสั้นมากๆ

     S2 มีวงโคจรเป็นวงรียาวมากรอบๆ Sgr A* โดยมีหลุมดำอยู่ที่ปลายด้านหนึ่งของวงรียาว ที่ปลายดังกล่าว ในจุดที่ดาวเข้าใกล้หลุมดำมากที่สุด(periapse) และรูปแบบที่ดาวเปลี่ยนความเร็วเมื่อมันเคลื่อนเข้าสู่และออกจากจุดที่ใกล้หลุมดำมากที่สุด เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้เรา “ชั่งน้ำหนัก” หลุมดำนี้ได้ที่ 4 ล้านเท่าดวงอาทิตย์


ภาพใจกลางกาแลคซีในช่วง K-band ซึ่งสำรวจโดย NIRC2 บนกล้องเคกใน ภาพนี้ผ่านฟิลเตอร์หลายชนิดและแสดงตำแหน่งของดาวเอสหลายดวงที่อยู่ใกล้กับ Sgr A* ซึ่งระบุเป็นกากบาทสีดำ ดาวในวงกลมเส้นประสีขาว มีอันดับความสว่าง(magnitude) ในช่วง K-band ที่ 16.3 ในขณะที่ดาวในวงกลมสีฟ้ามีอันดับความสว่าง 17.0 อันดับความสว่างของดาวทั้งสองสอดคล้องกับระดับของ S62 ที่รายงานไว้โดย Peißker et al.(2020a) และสำหรับ S29 ที่รายงานโดย Gillesen et al(2017) และ Peißker et al.(2021b) ทิศเหนือคือด้านบนและทิศตะวันออกคือด้านซ้าย

     ด้วยกระบวนการวิเคราะห์ที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสำรวจที่ครอบคลุมเวลาเกือบ 20 ปี ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกดาวดวงหนึ่งซึ่งเดินทางรอบหลุมดำยักษ์ในเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น การสำรวจดาวดวงนี้จากกล้องโทรทรรศน์รวมห้าแห่ง โดยสี่ในห้าตัวร่วมกันทำงานราวกับเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ตัวเดียว ซึ่งช่วยให้สำรวจได้อย่างเที่ยงตรงมากขึ้นและลงรายละเอียดได้มากขึ้น

     S4716 ไม่ใช่ดาวเอสที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือเคลื่อนที่เร็วที่สุดในละแวกใจกลางกาแลคซี ผู้ครองสถิติเป็นของดาวฤกษ์ S4714 ซึ่งก็ถูกพบโดย Peißker และเพื่อนร่วมงานของเขา ซึ่งเข้าใกล้ Sgr A* ในระยะทางเพียง 1.9 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีความเร็วสูงถึง 24000 กิโลเมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม S 4714 มีคาบการโคจร 12 ปี แต่เทียบกับ S 4716 ซึ่งมีคาบ 4 ปี มีระยะทางเฉลี่ย(mean distance) ตลอดวงโคจรที่ใกล้หลุมดำมากที่สุดในบรรดาดาวเอสใดๆ ที่พบจนถึงบัดนี้

     เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างสิ้นเชิงเมื่อได้พบดาวที่จะอยู่ในวงโคจรเสถียรใกล้และเร็วรอบๆ หลุมดำมวลสูงแห่งหนึ่ง และน่าจะเป็นขีดจำกัดที่สามารถด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบเดิม Peißker กล่าว ยิ่งกว่านั้น การค้นพบยังเปิดช่องทางใหม่สู่กำเนิดและวิวัฒนาการวงโคจรของดาวที่เคลื่อนที่เร็วในใจกลางทางช้างเผือก วงโคจรขนาดกะทัดรัดคาบสั้นของ S4716 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสร้างความมึนงง Michael Zajacek นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยมาซาริค ในบรูโน กล่าว

     ดาวไม่สามารถก่อตัวใกล้หลุมดำได้อย่างง่ายดาย S4716 จะต้องขยับเข้าข้างใน ยกตัวอย่างเช่น จากการผ่านเข้าใกล้ดาวฤกษ์อื่นหรือวัตถุอื่นใน S Cluster ซึ่งเป็นสาเหตุให้วงโคจรของมันหดตัวไปพอสมควร


    

แหล่งข่าว phys.org – 8000 kilometers per second: star with the shortest orbital period around black hole discovered
                sciencealert.com – we have a new record for the fastest star zooming around a supermassive black hole   

Saturday 23 July 2022

Len Flair

 

     การสำรวจที่น่าสนใจจากกล้องฮับเบิลนี้ แสดงกาแลคซีที่ถูกขยายด้วยเลนส์ความโน้มถ่วงแห่งหนึ่งโดยมีชื่อยาวๆ SGAS J143845+145407 เลนส์ความโน้มถ่วงเป็นผลให้เกิดภาพกาแลคซีเหมือนภาพในกระจกที่ใจกลางภาพนี้ สร้างเป็นชิ้นงามที่สวยงามจับตา




     ปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง(gravitational lensing) เกิดขึ้นเมื่อวัตถุมวลสูงเช่น กระจุกกาแลคซี ทำให้กาลอวกาศเกิดการบิดโค้ง เส้นทางเดินของแสงที่เกิดขึ้นใกล้วัตถุจึงเหมือนเลี้ยวเบนได้ ราวกับมันทำหน้าที่เหมือนเลนส์ วัตถุที่ทำให้แสงเลี้ยวเบน จะเรียกว่า วัตถุที่เป็นเลนส์(gravitational lens) และวัตถุที่พื้นหลังที่(แสง) ถูกบิดเบือนก็เรียกว่า วัตถุที่เกิดปรากฏการณ์เลนส์(lensed) เลนส์ความโน้มถ่วงอาจเป็นผลให้เกิดภาพซ้ำ(multiple images) จากกาแลคซีเดิม ดังที่เห็นในภาพนี้ หรือกับวัตถุที่พื้นหลังให้ปรากฏเป็นวงโค้ง(arc) เบี้ยวๆ หรือกระทั่งวงแหวน(ring) ผลสำคัญอีกประการของการเกิดเลนส์นี้ก็คือ การขยายแสง(magnify) ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้สำรวจวัตถุที่ปกติน่าจะอยู่ห่างไกลเกินไป หรือสลัวเกินกว่าจะเห็นได้

     กล้องฮับเบิลมีพันธกิจพิเศษในการตรวจจับกาแลคซีที่เกิดปรากฏการณ์เลนส์ ความไวและสายตาที่แจ่มแจ๋วของกล้องช่วยให้มันได้มองเห็นเลนส์ความโน้มถ่วงสลัวและห่างไกล ซึ่งไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน เนื่องจากชั้นบรรยากาศของโลกทำให้ภาพเบลอ ฮับเบิลจึงเป็นกล้องโทรทรรศน์ตัวแรกที่เปิดเผยรายละเอียดภายในภาพกาแลคซีที่ถูกบิดและขยายด้วยเลนส์ และยังสามารถถ่ายภาพทั้งรูปร่างและโครงสร้างภายในกาแลคซีนั้นๆ ได้

      กาแลคซีที่ถูกบิดขยายด้วยเลนส์ที่พิเศษมากแห่งนี้ มาจากการสำรวจของกล้องฮับเบิลชุดหนึ่งซึ่งใช้ประโยชน์จากการเกิดเลนส์ความโน้มถ่วงเพื่อเจาะหากาแลคซีในเอกภพยุคต้น การเกิดเลนส์เผยให้เห็นรายละเอียดของกาแลคซีที่ห่างไกลซึ่งไม่น่าจะได้เห็น และช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ตรวจสอบการก่อตัวดาวในกาแลคซียุคต้นเหล่านี้ ซึ่งจะให้แง่มุมแก่นักวิทยาศาสตร์ว่าวิวัฒนาการโดยรวมของกาแลคซี เป็นอย่างไร

 

แหล่งข่าว esahubble.org : lens flair   

Wednesday 20 July 2022

ไฮพาเทีย: หลักฐานจากซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่ง ชิ้นแรกที่พบบนโลก

ตัวอย่างหินไฮพาเทียขนาด 3 กรัม นักวิจัยได้พบรูปแบบธาตุ 15 ธาตุที่เกี่ยวข้องกันในหินนี้ รูปแบบนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งใดๆ ในระบบสุริยะของเราหรือละแวกใกล้เคียงระบบสุริยะ



      ข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์เคมีบ่งชี้ว่าหินที่มีชื่อว่า ไฮพาเทีย จากทะเลทรายอียิปต์น่าจะเป็นหลักฐานการระเบิดซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่งเอที่ชัดเจนครั้งแรกที่พบบนโลก นี่เป็นข้อสรุปจากการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Icarus โดย Jan Kramers, Georgy Belyanin และ Hartmut Winkler จากมหาวิทยาลัยโยฮันเนสเบิร์ก และคณะ

     ก้อนหินหนัก 30 กรัมที่ถูกพบในทะเลทรายซาฮาราใกล้พรมแดนอียิปต์-ลิเบีย ในปี 1996 ได้ชื่อตาม ไฮพาเทีย(Hypatia) นักคณิตศาสตร์ชาวอียิปต์ผู้ยิ่งใหญ่(คศ 360-415) ผู้ซึ่งถูกสังหารโดยพวกคลั่งศาสนา เพียงเพราะเป็นผู้หญิง   

      นับตั้งแต่ปี 2013 Belyanin และ Kramers ได้ค้นพบร่องรอยสารเคมีที่สูงอย่างไม่ปกติชุดหนึ่ง ในชิ้นส่วนขนาดเล็กชิ้นหนึ่งจากไฮพาเทีย ในงานวิจัยใหม่ พวกเขากำจัดแหล่งกำเนิดต้องสงสัยในอวกาศของหิน ซึ่งปะติดปะต่อไทม์ไลน์ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงต้นของการก่อตัวโลก, ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะของเรา

      สมมุติฐานของทีมเกี่ยวกับกำเนิดของไฮพาเทียเริ่มที่ดาวดวงหนึ่ง เมื่อดาวยักษ์แดงดวงหนึ่งยุบตัวกลายเป็นดาวแคระขาว(white dwarf) การยุบตัวน่าจะเกิดขึ้นภายในเมฆฝุ่นขนาดมหึมาที่เรียกว่า เนบิวลา(nebula) จากนั้น ดาวแคระขาวดวงนี้ก็บังเอิญไปอยู่ในระบบดาวคู่(binary system) กับดาวดวงที่สอง สุดท้าย ดาวแคระขาวก็ตอดกินดาวอีกดวง เมื่อเวลาผ่านไป ดาวแคระขาวผู้หิวโหยก็ระเบิดกลายเป็นซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่งเอ(Type Ia supernova) ภายในเมฆฝุ่นนี้

     หลังจากเย็นตัวลง อะตอมก๊าซที่เป็นซากจากซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอ ก็เริ่มเกาะติดกับอนุภาคในเมฆฝุ่น จะพูดได้ว่าเราจับซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอได้คาหนังคาเขา เพราะอะตอมก๊าซจากการระเบิดถูกจับไว้ในเมฆฝุ่นที่ล้อมรอบ ซึ่งต่อมาก็ก่อตัวเป็นวัตถุต้นกำเนิดของไฮพาเทีย Kramers กล่าว ของผสมก๊าซฝุ่นของซุปเปอร์โนวาแห่งนี้ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับเมฆฝุ่นอื่นๆ เลย จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายล้านปี ฟองก๊าซสุดท้ายก็ค่อยๆ แข็งตัวกลายเป็นก้อนฝุ่น วัตถุต้นกำเนิดของไฮพาเทียก็น่าจะกลายเป็นก้อนหินในช่วงต้นการก่อตัวระบบสุริยะ

ลำแสงโปรตอนพลังงานสูงแสดงธาตุน้อยนิด ชนิดในหินไฮพาเทีย และความเข้มข้นของพวกมัน เราจะเห็นกำมะถัน, เหล็กและนิกเกิล ใน target 1 และ ภายใน พื้นที่ตัวอย่างที่ 14 บนตัวอย่าง Georgy Belyanin ใช้ลำแสงโปรตอน ล้านโวลท์เพื่อวิเคราะห์ชิ้นส่วนน้อยนิดของไฮพาเทีย


     กระบวนการนี้อาจจะเกิดขึ้นที่ส่วนนอกของระบบสุริยะที่เย็น และไม่สม่ำเสมอ ในส่วนที่เรียกว่า แถบไคเปอร์(Kuiper Belt) หรือในเมฆออร์ต(Oort cloud) จากนั้น หินต้นกำเนิดของไฮพาเทียก็มุ่งหน้าเข้ามาที่โลก ความร้อนที่เกิดจากการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก รวมกับแรงดันจากการชนในทะเลทรายใหญ่(the Great Sand Sea) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิยิปต์ ได้สร้างเพชรไมโคร(micro-diamonds) ปริมาณสูงมาก และกระจายหินต้นกำเนิดออกไป ซึ่งหินไฮพาเทียที่ถูกเก็บจากทะเลทรายจึงเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนมากมายจากวัตถุที่พุ่งมาชนเดิม

     ถ้าสมมุติฐานนี้ถูกต้อง หินไฮพาเทียก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนชิ้นแรกบนโลกจากการระเบิดซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่งเอ เคยมีการรายงานหลักฐษนจากซุปเปอร์โนวาชนิดนี้บนโลกมาก่อน แต่ก็อยู่ในรูปของธาตุจำนวนน้อยนิด(trace element) ที่กระจายไปทั่วพื้นมหาสมุทร

     บางทีสิ่งที่สำคัญพอๆ กันก็คือ มันได้แสดงว่าอาจมี “พัสดุ” ก้อนฝุ่นจากห้วงอวกาศข้างนอก ที่สามารถมารวมกับเนบิวลาก่อตัวดวงอาทิตย์ที่ระบบสุริยะของเราจะก่อตัวขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผสมรวมเป็นอย่างดี ก็ได้ Kramers กล่าว นี่ค้านกับแนวคิดเดิมที่บอกว่าฝุ่นที่ระบบสุริยะของเราก่อตัวขึ้นนั้นถูกผสมด้วยทั่วถึง

     เพื่อปะติดปะต่อไทม์ไลน์ว่าไฮพาเทียอาจจะก่อตัวอย่างไร นักวิจัยได้ใช้เทคนิคมากมายเพื่อวิเคราะห์หินประหลาดก้อนนี้ ในปี 2013 การศึกษาไอโซโทปอาร์กอน ได้แสดงว่าหินก้อนนี้ไม่ได้ก่อตัวขึ้นบนโลก มันก็ต้องมาจากนอกโลก การศึกษาก๊าซมีตระกูลในปี 2015 ในชิ้นส่วนได้บ่งชี้ว่ามันอาจจะไม่ได้ก่อตัวขึ้นจากอุกกาบาตหรือดาวหางใดๆ ที่เรารู้จักเลย ในปี 2018 ทีมมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์กได้เผยแพร่การวิเคราะห์หลายอย่างที่รวมถึงการค้นพบแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่เรียกว่า นิกเกิลฟอสไฟด์(nickel phosphide) ซึ่งไม่เคยพบในวัตถุใดๆ ในระบบสุริยะของเรามาก่อน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์กพบว่าธาตุเกือบทั้งหมดที่พวกเขาวิเคราะห์ในไฮพาเทียนั้นสอดคล้องกับการทำนายจากแบบจำลองซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอ ข้อมูลลำแสงโปรตอนยังแสดงว่า ธาตุ จาก 15 ธาตุมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับระดับที่ทำนายไว้

     ในจุดนั้น ก็ยากที่จะวิเคราะห์ไฮพาเทียต่อไปได้ เมื่อโลหะจำนวนเล็กน้อยที่ Kramers และ Belyanin กำลังมองหานั้น เครื่องมือที่พวกเขามีอยู่ไม่สามารถเห็นรายละเอียดได้ พวกเขาต้องการเครื่องมือที่มีกำลังสูงกว่านั้นที่ไม่ทำลายตัวอย่างอันน้อยนิดไป Kramers เริ่มวิเคราะห์ชุดข้อมูลที่ Belyanin ได้ทำไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ในปี 2015 Belyanin ได้ทำการวิเคราะห์ชุดหนึ่งด้วยลำแสงโปรตอนที่ iThemba Labs ในตอนนั้นโดยใช้เครื่องมือระดับสามล้านโวลท์

     แต่แทนที่จะตรวจสอบความผิดปกติทั้งหมดที่ไฮพาเทียมี เราต้องการจะตรวจสอบถ้ามีความเหมือนอะไรที่ซ่อนอยู่บ้าง เราต้องการจะดูว่ามีรูปแบบทางเคมีในหินที่สอดคล้องบ้างหรือไม่ Kramers กล่าว Belyanin ได้เลือกเป้าหมาย 17 แห่งบนตัวอย่างขนาดจิ๋วเพื่อวิเคราะห์ ทั้งหมดเลือกโดยให้อยู่ห่างไกลจากแร่ธาตุบนโลกที่ก่อตัวในรอยแตกของหินเดิมหลังจากที่ชนกับทะเลทราย

      เราได้จำแนกธาตุที่แตกต่างกัน 15 ธาตุในไฮพาเทียด้วยความแม่นยำและเที่ยงตรงสูงมากขึ้น ด้วยเครื่องยิงโปรตอน นี่ช่วยให้เรามีองค์ประกอบเคมีที่ต้องการ เพื่อที่ Jan(Kramers) จะเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในขั้นตอนต่อไปได้ Belyanin กล่าว เงื่อนงำใหญ่สิ่งแรกจากการวิเคราะห์ด้วยลำแสงโปรตอนก็คือระดับของซิลิกอนในไฮพาเทียที่ต่ำจนน่าประหลาดใจ ซิลิกอนพร้อมทั้งโครเมียมและมังกานีส นั้นมีไม่ถึง 1% ของที่คาดไว้สำหรับวัตถุที่ก่อตัวภายในระบบสุริยะส่วนใน

     ยิ่งกว่านั้น ระดับเหล็กที่สูง, กำมะถันสูง, ฟอสฟอรัสสูง, ทองแดงสูง และวาเนเดียมที่สูง ก็น่าสงสัยและน่าประหลาดใจ Kramers กล่าวเสริม เราได้พบรูปแบบที่สอดคล้องกันของธาตุที่มีปริมาณน้อยนิดเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวัตถุในระบบของเราไม่ว่าเป็นวัตถุดั่งเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงไป วัตถุในแถบดาวเคราะห์น้อยและดาวตกก็ไม่สอดคล้องเช่นกัน ดังนั้น ต่อไปเราจึงมองไปนอกระบบสุริยะ

      จากนั้น Kramers ก็เปรียบเทียบรูปแบบความเข้มข้นธาตุในไฮพาเทีย กับสิ่งที่คาดว่าน่าจะพบในฝุ่นระหว่างดวงดาวในแขนกังหันของทางช้างเผือกที่ดวงอาทิตย์อาศัยอยู่ เราพิจารณาว่ารูปแบบที่เราได้จากฝุ่นทั่วไปในห้วงอวกาศในแขนกังหันทางช้างเผือกของเรา สอดคล้องกับสิ่งที่เราเห็นในไฮพาเทียหรือไม่ และอีกครั้งที่มันไม่มีความคล้ายคลึงเลย

ตัวอย่างขนาดจิ๋วของหินไฮพาเทียวางไว้ใกล้ๆ กับเหรียญขนาดเล็ก ซุปเปอร์โนวาชนิดหนึ่งเอที่พบได้ยากเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทรงพลังที่สุดในเอกภพ

     ในจุดนี้ ข้อมูลจากลำแสงโปรตอนได้กำจัดแหล่งต้องสงสัย 4 แห่งที่ไฮพาเทียอาจจะก่อตัวขึ้น คือ มันไม่ได้ก่อตัวบนโลก, ไม่ได้เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหาง, ไม่ได้ก่อตัวจากฝุ่นทั่วไปในระบบสุริยะส่วนใน และไม่ได้มาจากฝุ่นทั่วไปในห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว ด้วยเช่นกัน

    คำอธิบายที่เป็นไปได้ที่เรียบง่ายที่สุดอันดับต่อไปสำหรับรูปแบบความเข้มข้นธาตุที่พบในไฮพาเทีย ก็น่าจะเป็นดาวยักษ์แดงดวงหนึ่ง ซึ่งพบได้ทั่วไปในเอกภพ แต่ข้อมูลลำแสงโปรตอนก็กำจัดการปลดปล่อยมวลจากดาวยักษ์แดงด้วยเช่นกัน เมื่อไฮพาเทียมีเหล็กสูงเกินไป, ซิลิกอนน้อยเกินไป และมีธาตุหนักที่หนักกว่าเหล็กน้อยเกินไป

     ผู้ต้องสงสัยลำดับถัดไปก็น่าจะเป็นซุปเปอร์โนวาชนิดสอง(Type II supernova) ซึ่งจะสร้างเหล็กจำนวนมาก และเป็นซุปเปอร์โนวาชนิดที่พบได้ค่อนข้างบ่อย อีกครั้งที่ข้อมูลลำแสงโปรตอนไม่สอดคล้อง เมื่อซุปเปอร์โนวาชนิดนี้ไม่สอดคล้องอย่างรุนแรงในฐานะแหล่งแร่ธาตุนิกเกิลฟอสไฟด์ในก้อนกรวดนี้ และในไฮพาเทีย ยังมีระดับเหล็กเมื่อเทียบกับซิลิกอนและคัลเซียม ที่สูงเกินไปมากด้วย

     ยังมีซุปเปอร์โนวาชนิดที่พบได้ยากกว่าอีกชนิดที่ก็ผลิตเหล็กในปริมาณสูงด้วย ซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอจะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งหรือสองครั้งต่อหนี่งกาแลคซีต่อหนึ่งร้อยปี แต่พวกมันเป็นผู้ผลิตเหล็กหลักในเอกภพ เหล็กกล้าบนโลกเกือบทั้งหมดครั้งหนึ่งก็เคยเป็นธาตุเหล็กที่ถูกสร้างในหนึ่งเอ และซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอกบางส่วนก็จะมีร่องรอยทางเคมีที่โดดเด่นด้วย นั้นเป็นเพราะรูปแบบการสร้างซุปเปอร์โนวาเหล่านี้

     เริ่มแรกด้วยดาวยักษ์แดงดวงหนึ่งในช่วงบั้นปลายชีวิต ได้ยุบตัวกลายเป็นดาวแคระขาวที่หนาแน่นสูง โดยปกติ ดาวแคระขาวจะมีความเสถียรอย่างมากเป็นเวลายาวนาน และไม่น่าจะมีการระเบิดใดเกิดขึ้นได้ ยกเว้นถ้าดาวแคระขาวเริ่มดึงวัสดุสารจากดาวข้างเคียงในระบบคู่ จนสุดท้ายดาวแคระขาวหนักเกิน, ร้อนเกินและไม่เสถียร มันจะระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอ

     การหลอมนิวเคลียสในระหว่างเกิดซุปเปอร์โนวาจะสร้างรูปแบบความเข้มข้นธาตุที่ไม่ปกติในปริมาณสูง นอกจากนี้ ดาวแคระขาวที่ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาชนิดนี้ไม่ใช่แค่ระเบิดเป็นชิ้นๆ แต่ระเบิดจนถึงระดับอะตอม สสารของซุปเปอร์โนวาชนิดนี้จึงกระจายออกสู่อวกาศเป็นอะตอมก๊าซ ในการสำรวจข้อมูลดาวและผลจากแบบจำลอง ทีมไม่พบสิ่งใดที่จะสอดคล้องกับเคมีของไฮพาเทียได้เหมือนซุปเปอร์โนวาหนึ่งเอ ชนิดที่จำเพาะ

     ข้อมูลหนึ่งเอและแบบจำลองทางทฤษฎีทั้งหมด ได้แสดงสัดส่วนของเหล็กเมื่อเทียบกับซิลิกอนและคัลเซียมในระดับที่สูงกว่าแบบจำลองซุปเปอร์โนวาชนิดที่สอง Kramers กล่าว โดยรวมแล้ว มีธาตุ 8 จาก 15 ธาตุที่ถูกวิเคราะห์ มีระดับปริมาณเทียบกับเหล็กตามที่ได้ทำนายไว้ ได้แก่ ซิลิกอน, กำมะถัน, คัลเซียม, ไทเทเนียม, วาเนเดียม, โครเมียม, มังกานีส เหล็กและนิกเกิล

     แต่ก็ยังมีอีก 6 จาก 15 ธาตุในไฮพาเทียที่มีสัดส่วนสูงกว่าที่ทำนายไว้จากแบบจำลองหนึ่งเอระหว่าง 10 ถึง 100 เท่า ได้แก่ อลูมินัม, ฟอสฟอรัส, คลอรีน, โพทัสเซียม, ทองแดงและสังกะสี Kramer กล่าวว่า เนื่องจากดาวแคระขาวก่อตัวมาจากดาวยักษ์แดง ไฮพาเทียก็น่าจะได้มรดกสัดส่วนธาตุทั้งหกนี้มาจากดาวยักษ์แดงด้วย ปรากฏการณ์ประหลาดนี้พบเห็นได้จากดาวแคระขาวในงานวิจัยอื่น


แหล่งข่าว phys.org : extraterrestrial stone brings first supernova clues to Earth
                iflscience.com : extraordinary meteorite is first earthly remnant of a rare type Ia supernova
                sciencealert.com : extraterrestrial stone found in Egypt may be first evidence on Earth of rare supernova  

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...