ภาพรวมประกอบนี้ประกอบด้วยภาพจากศิลปินแสดงดิสก์ก่อตัวดาวเคราะห์รอบ IRS 48 ดิสก์มีพื้นที่คล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในส่วนทิศใต้ของมัน ซึ่งดักเม็ดฝุ่นขนาดมิลลิเมตรเข้ามาเกาะกลุ่มกันเจริญขึ้นเป็นวัตถุขนาดกิโลเมตร การสำรวจล่าสุดด้วย ALMA ได้พบโมเลกุลอินทรีย์เชิงซ้อนหลายชนิดในพื้นที่นี้ รวมทั้งไดเมธิลอีเธอร์ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในดิสก์ก่อตัวดาวเคราะห์มา การเปล่งคลื่นแสดงการมีโมเลกุลนี้(การสำรวจจริงแสดงเป็นสีฟ้า) ชัดเจนมากขึ้นในกับดักฝุ่น
ด้วยการใช้ ALMA ในชิลี
นักวิจัยที่หอสังเกตการณ์ไลเดนในเนเธอร์แลนด์ส ได้ตรวจจับไดเมธิลอีเธอร์
ในดิสก์ที่กำลังก่อตัวดาวเคราะห์ได้เป็นครั้งแรก โมเลกุลซึ่งมี 9 อะตอมเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในดิสก์ลักษณะนี้มาจนถึงบัดนี้
มันยังเป็นสารตั้งต้นสำหรับโมเลกุลอินทรีย์ขนาดใหญ่กว่าที่อาจนำไปสู่การอุบัติของชีวิต
Nashanty Brunken นักศึกษาปริญญาโทที่หอสังเกตการณ์ไลเดน
อันเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยไลเดน และผู้เขียนนำการศึกษาที่เผยแพร่ใน Astronomy
& Astrophysics กล่าวว่า
จากผลสรุปเหล่านี้ เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกำเนิดของชีวิตบนดาวเคราะห์ของเรา
และยังได้มุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับศักยภาพของชีวิตบนระบบดาวเคราะห์แห่งอื่น
มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้เห็นว่าการค้นพบเหล่านี้สอดคล้องกับภาพใหญ่อย่างไรบ้าง
ไดเมธิลอีเธอร์(dimethyl ether; CH3OCH3)
เป็นโมเลกุลอินทรีย์ที่พบได้ทั่วไปในเมฆที่ก่อตัวดาวฤกษ์
แต่ไม่เคยพบในดิสก์ก่อตัวดาวเคราะห์มาก่อนเลย นักวิจัยยังได้พบเมธิลฟอร์เมต(methyl
formate; CH3OCHO) ซึ่งเป็นโมเลกุลเชิงซ้อนที่คล้ายกับไดเมธิลอีเธอร์
ซึ่งก็เป็นวัตถุดิบสำหรับโมเลกุลอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าด้วยเช่นกัน Alice
Booth ผู้เขียนร่วม
นักวิจัยที่ไลเดน เช่นกัน กล่าวว่า
มันน่าตื่นเต้นอย่างแท้จริงที่สุดท้ายก็ได้พบโมเลกุลขนาดใหญ่กว่าเหล่านี้ในดิสก์
เป็นเวลาเนิ่นนานที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจจับพวกมัน
โมเลกุลที่พบในดิสก์ก่อตัวดาวเคราะห์รอบๆ
ดาวฤกษ์อายุน้อย IRS 48(หรือเรียกอีกชื่อว่า
Oph-IRS 48) ด้วยความช่วยเหลือของ
ALMA(Atacama Large Millimter/submiilimeter Array) IRS 48 อยู่ห่างออกไป 444 ปีแสงในกลุ่มดาวคนแบกงู(Ophiuchus) เป็นหัวข้อในการศึกษาจำนวนมากเนื่องจากดิสก์ของมันมี
ช่องดักฝุ่น(dust trap) ที่ไม่สมมาตรรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์
พื้นที่นี้ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการมีดาวเคราะห์ที่เพิ่งเกิดขึ้น
หรือดาวข้างเคียงขนาดเล็กกว่า ซึ่งอยุ่ระหว่างดาวฤกษ์กับกับดักฝุ่น
เก็บรักษาฝุ่นขนาดมิลลิเมตรจำนวนมากไว้ซึ่งจะเกาะกลุ่มกันและเจริญกลายเป็นวัตถุขนาดกิโลเมตรเช่น
ดาวหาง, ดาวเคราะห์น้อย และอาจจะใหญ่ขึ้นถึงดาวเคราะห์ได้
คิดกันว่าโมเลกุลอินทรีย์เชิงซ้อนมากมายอย่าง ไดเมธิลอีเธอร์
จะเกิดขึ้นในเมฆที่ก่อตัวดาวฤกษ์ แม้แต่ก่อนที่ดาวฤกษ์จะถือกำเนิดขึ้นมาด้วย
ในสภาพแวดล้อมที่เย็นจัด อะตอมและโมเลกุลง่ายๆ อย่างคาร์บอนมอนอกไซด์
จะเกาะกับเม็ดฝุ่น ก่อตัวเป็นชั้นน้ำแข็งและเกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้น
ซึ่งเป็นผลให้มีโมเลกุลซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
นักวิจัยเพิ่งได้พบว่ากับดักฝุ่นในดิสก์ของ IRS 48 ก็เป็นแหล่งน้ำแข็งด้วยเช่นกัน
โดยเม็ดฝุ่นที่มีถูกเคลือบด้วยน้ำแข็งซึ่งอุดมไปด้วยโมเลกุลเขิงซ้อนนี้
และก็เป็นพื้นที่นี้ในดิสก์ที่ ALMA ได้พบร่องรอยของไดเมธิลอีเธอร์
เมื่อความร้อนจาก IRS 48 ทำให้น้ำแข็งระเหิดกลายเป็นก๊าซ
โมเลกุลที่ดักไว้ในเมฆเย็น ก็ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระให้ตรวจจับได้ โมเลกุลอย่างไดเมธิลอีเธอร์ที่มีอยู่ในดิสก์ก็บบอกว่า
อาจจะมีโมเลกุลอินทรีย์เชิงซ้อนอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นกัน
ภาพจาก ALMA แสดงกับดักฝุ่นในดิสก์รอบดาวฤกษ์ IRS 48 กับดักฝุ่นเป็นที่ปลอดภัยในอนุภาคฝุ่นขนาดจิ๋วในดิสก์ ช่วยให้พวกมันเกาะเข้าหากันและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอยู่รอดได้ด้วยตัวมันเอง พื้นที่สีเขียวก็คือกับดักฝุ่น ซึ่งมีอนุภาคขนาดใหญ่สะสมอยู่ ขนาดวงโคจรของเนปจูนแสดงทางบนซ้ายเมื่อเปรียบเทียบ
สิ่งที่ทำให้น่าตื่นเต้นขึ้นไปอีกก็คือขณะนี้เราทราบว่ามีโมเลกุลเชิงซ้อนขนาดใหญ่ขึ้นเหล่านี้พร้อมที่จะป้อนให้มีการก่อตัวดาวเคราะห์ในดิสก์
Booth อธิบาย
เป็นสิ่งที่ไม่เคยทราบมาก่อนหน้าเมื่อโมเลกุลเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่ในน้ำแข็งในระบบเกือบทั้งหมด
และด้วยปริมาณเท่ากับที่พบในห้วงอวกาศ
การค้นพบไดเมธิลอีเธอร์ได้บอกว่ามีโมเลกุลเชิงซ้อนอื่นๆ
อีกมากที่ตรวจจับได้ในพื้นทีก่อตัวดาวฤกษ์
ก็อาจจะพบได้ในโครงสร้างน้ำแข็งในดิสก์ที่กำลังก่อตัวดาวเคราะห์ด้วย
โมเลกุลเหล่านี้เป็นสารตั้งต้นให้กับโมเลกุลก่อเกิดสารชีวภาพ(prebiotic
molecules) เช่น กรดอะมิโน
และน้ำตาล ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานบางส่วนสำหรับสิ่งมีชีวิต
ด้วยการศึกษาการก่อตัวและวิวัฒนาของพวกมัน
นักวิจัยจึงได้ความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าโมเลกุลก่อเกิดสารชีวภาพไปอยู่บนดาวเคราะห์รวมถึงโลกของเราได้อย่างไร
Nienke van der Marel นักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ไลเดน
กล่าวว่า
เราพอใจอย่างมากที่ขณะนี้เราสามารถเริ่มตามรอยการเดินทางตลอดเส้นทางของโมเลกุลเชิงซ้อนเหล่านี้
จากเมฆที่ก่อตัวดาวฤกษ์ สู่ดิสก์ที่กำลังก่อตัวดาวเคราะห์ และสู่ดาวหางได้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสำรวจที่มากขึ้น เราจะมีอีกก้าวที่เข้าใกล้การเข้าใจกำเนิดของโมเลกุลก่อเกิดสารชีวภาพในระบบของเราเอง
การศึกษา IRS 48 ในอนาคตด้วยกล้องโทรทรรศน์ใหญ่สุดขั้ว(ELT)
ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างในชิลี
และจะเริ่มดำเนินการสำรวจในทศวรรษนี้ต่อไป
จะช่วยให้ทีมได้ศึกษาเคมีของพื้นที่ส่วนในมากๆ ของดิสก์นี้
ซึ่งอาจมีดาวเคราะห์อย่างโลกก่อตัวขึ้นอยู่
แหล่งข่าว eso.org
: astronomers discover largest molecule yet in a planet-forming disc
skyandtelescope.com :
largest molecule yet found in planet-forming disk
iflscience.com : largest
ever molecule in a planet forming disk has been discovered
No comments:
Post a Comment