ภาพจากศิลปินแสดงดิสก์เศษซากจากสิ่งที่เคยเป็นระบบดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ เมื่อดาวฤกษ์มีการพัฒนาเมื่อมีอายุมากขึ้น เสถียรภาพในระบบดาวเคราะห์จะถูกสั่นคลอน วัตถุต่างๆ ชนกัน จนกระทั่งดาวฤกษ์กลายสภาพเป็นดาวแคระขาวในภาพ
ในที่สุด
นักดาราศาสตร์ก็สำรวจพบเศษซากที่เหลือจากดาวเคราะห์ที่ถูกทำลาย
ได้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวแคระขาวซึ่งเป็นแกนกลางเปลือยของดาวฤกษ์อายุมาก
สิ่งที่นักดาราศาสตร์เห็นนั้นเป็นการเปล่งรังสีเอกซ์เพื่อตรวจจับวัสดุสารหินและก๊าซที่เหลืออยู่ของดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง
หลังจากที่ดาวฤกษ์แม่ของมันตายลง
เมื่อชิ้นส่วนเหล่านั้นชนกันและถูกกลืนเข้าสู่พื้นผิวดาวแคระขาว รายงานที่เผยแพร่วันที่
9 กุมภาพันธ์
ในวารสาร Nature ผลสรุปที่ได้เป็นการตรวจสอบการสะสมมวลสาร(accretion)
วัสดุสารหินบนดาวแคระขาวได้โดยตรงเป็นครั้งแรก
และเป็นการยืนยันหลักฐานโดยอ้อมหลายทศวรรษของการสะสมมวลสารของดาวแคระขาวกว่าพันดวง
เหตุการณ์ที่สำรวจพบน่าจะเกิดขึ้นในอีกหลายพันล้านปีหลังจากการก่อตัวของระบบดาวเคราะห์
ชะตากรรมของดาวฤกษ์เกือบทั้งหมดซึ่งรวมถึงดวงอาทิตย์ของเรา(ราว 95%) จะกลายเป็นดาวแคระขาว(white
dwarf)
ซึ่งเผาไหม้เชื้อเพลิงของมันจนหมด และทิ้งเปลือกก๊าซชั้นนอกๆ ออกมา
เหลือแกนกลางที่ยังร้อนของดาวฤกษ์ซึ่งจะสว่างจากความร้อนที่เหลืออยู่เหมือนกับก้อนถ่านที่กำลังมอดดับ
ซึ่งก็คือ ดาวแคระขาว
การทิ้งเปลือกชั้นนอกของดาวฤกษ์อาจจะทำลายหรือรบกวนเสถียรภาพวัตถุใดๆ ในวงโคจร
วัสดุสารจากวัตถุเหล่านั้นถูกดึงเข้าหาดาวแคระขาวด้วยความเร็วมากพอ
มันจะพุ่งลงมาถึงพื้นผิวดาวแคระขาวและก่อตัวพลาสมาซึ่งร้อนขึ้นจากการกระแทก(shock-heated)
พลาสมานี้มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ระดับหนึ่งแสนจนถึงหนึ่งล้านเคลวิน
ซึ่งจะเปล่งรังสีเอกซ์ออกมาให้ตรวจจับได้
มีการค้นพบดาวแคระขาวมากกว่า 3 แสนดวงในทางช้างเผือกของเรา และเชื่อกันว่าหลายๆ
ดวงกำลังสะสมเศษซากจากดาวเคราะห์และวัตถุอื่นๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยโคจรรอบพวกมัน
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่นักดาราศาสตร์ได้ตรวจสอบสเปคตรัมในช่วงตาเห็นและอุลตราไวโอเลต
เพื่อตรวจสอบปริมาณธาตุบนพื้นผิวดาวแคระขาว
และหาให้ได้ว่าองค์ประกอบวัตถุเหล่านั้นมาจากไหน
นักดาราศาสตร์จึงมีหลักฐานโดยอ้อมจากการตรวจสอบสเปคตรัมว่าวัตถุเหล่านั้นกำลังสะสมมวลสาร
ซึ่งแสดงว่าดาวแคระขาวราว 25 ถึง 50%
มีธาตุหนักเช่น เหล็ก, คัลเซียม,
มักนีเซียม เจือปนในชั้นบรรยากาศของพวกมัน ซึ่งมันหนักมากพอที่จะหายไปโดยจมลงสู่ภายในดาวแคระขาว
ดาวแคระขาวเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า ปนเปื้อน(polluted) แต่กระทั่งบัดนี้ นักดาราศาสตร์ก็ไม่เคยได้เห็นวัสดุสารที่ถูกดึงเข้าสู่ดาวแคระขาวเลย
Tim Cunningham จากแผนกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยวอร์วิค กล่าวว่า
สุดท้ายเราก็ได้เห็นวัสดุสารที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศดาวแคระขาวจริงๆ
นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถหาอัตราการสะสมมวลสารโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาแบบจำลองรายละเอียดชั้นบรรยากาศดาวแคระขาวเลย
ที่ค่อนข้างน่าประทับใจก็คือมันสอดคล้องอย่างมากกับสิ่งที่เคยคำนวณได้ ก่อนหน้านี้
การตรวจสอบอัตราการสะสมมวลสารใช้การตรวจสอบสเปคตรัมและขึ้นอยู่กับแบบจำลองดาวแคระขาว
ซึ่งก็มีแบบจำลองจำนวนมากเพื่อคำนวณว่าธาตุหนึ่งๆ
กำลังหลุดออกจากชั้นบรรยากาศลงสู่พื้นผิวดาวแคระขาวเร็วแค่ไหน
และบอกเราได้ว่าจากอัตราการสะสมที่ได้จะมีปริมาณที่สะสมมากน้อยแค่ไหน
จากนั้นคุณก็คำนวณย้อนกลับไปแล้วดูว่ามีธาตุหนึ่งๆ บนวัตถุต้นกำเนิดมากแค่ไหน
จะเป็นดาวเคราะห์, ดวงจันทร์ หรือดาวเคราะห์น้อย
การตรวจจับรังสีเอกซ์จากการสะสมเศษซากเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากเมื่อจะมีโฟตอนจำนวนน้อยเดินทางมาถึงโลก
ซึ่งจะสูญหายไปท่ามกลางแหล่งรังสีเอกซ์สว่างอื่นๆ บนท้องฟ้า
นักดาราศาสตร์จึงใช้ข้อได้เปรียบของหอสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทรา
ซึ่งปกติจะตรวจจับรังสีเอกซ์จากหลุมดำและดาวนิวตรอนที่กำลังสะสมมวลสาร
เพื่อมาวิเคราะห์ดาวแคระขาวปนเปื้อน G29-38 ซึ่งอยู่ห่างออกไป 57 ปีแสงนี้ ซึ่งคิดกันว่ามีอายุค่อนข้างน้อย
เพิ่งยุบตัวเมื่อเพียง 6 ร้อยล้านปีก่อนเท่านั้น
การศึกษาก่อนหน้านี้ยังบอกว่าดาวแคระขาวดวงนี้ถูกล้อมรอบด้วยดิสก์เศษซาก
และมีธาตุหนักปนเปื้อนในชั้นบรรยากาศของมัน
ภาพจากศิลปินแสดงเศษซากวัสดุที่พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศดาวแคระขาวด้วยความเร็วสูง จนสร้างรังสีเอกซ์ออกมา จากปริมาณรังสีเอกซ์ที่ตรวจพบสามารถคำนวณอัตราการสะสมมวลสารเข้าสู่ดาวแคระขาว และทราบถึงปริมาณการปนเปื้อนธาตุต่างๆ ได้ credit: Mark Gallick/University of Warwick
ด้วยความละเอียดเชิงมุมของจันทราที่มีมากกว่ากล้องอื่นๆ
พวกเขาก็สามารถแยกดาวเป้าหมายออกจากแหล่งรังสีเอกซ์อื่นๆ
และมองเห็นรังสีเอกซ์จากดาวแคระขาวที่โดดเดี่ยวดวงหนึ่งได้เป็นครั้งแรก
มันช่วยยืนยันการสำรวจวัสดุสารที่สะสมเข้าสู่ดาวแคระขาวตลอดหลายทศวรรษซึ่งพึ่งพาหลักฐานจากการตรวจสอบสเปคตรัม
Cunningham กล่าวเสริมว่า
สิ่งที่น่าตื่นเต้นจริงๆ ในผลสรุปนี้ก็คือ
เรากำลังทำงานกับช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างออกไป คือรังสีเอกซ์
และมันก็ช่วยให้เราได้ตรวจสอบฟิสิกส์ชนิดที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงได้
การตรวจจับนี้เป็นหลักฐานโดยตรงครั้งแรกว่าดาวแคระขาวกำลังสะสมเศษซากจากระบบดาวเคราะห์เก่า
การตรวจสอบการสะสมมวลสารในแบบนี้จะเป็นเทคนิคใหม่ที่เราจะสามารถศึกษาระบบเหล่านี้ ได้ให้แง่มุมสู่ชะตากรรมที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับระบบดาวเคราะห์ต่างด้าวหลายพันแห่ง ซึ่งรวมถึงระบบสุริยะของเราด้วย แต่ยังไม่ต้องเป็นกังวล ดวงอาทิตย์ของเรายังไม่กลายเป็นดาวแคระขาวอีกหลายพันล้านปี
แหล่งข่าว phys.org
: final moments of planetary remnants seen for the first time
sciencealert.com : we have
the first direct evidence of a white dwarf violently ripping apart a
planet
iflscience.com :
fragments of a planet seen getting destroyed by white dwarf for first time
No comments:
Post a Comment