ภาพจากศิลปินแสดงดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบดาวคู่
เรายังคงไม่ทราบว่าดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด
ระบบคู่อัลฟา เซนทอไร นั้นมีดาวเคราะห์ที่คล้ายกับโลกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม
ต้องขอบคุณงานทำแบบจำลองอันใหม่ ขณะนี้เรามีภาพในใจว่าดาวเคราะห์ถ้ามีอยู่
น่าจะมีสภาพอย่างไร และมันจะพัฒนาได้อย่างไร
การศึกษาใหม่ที่นำโดย Haiyang Wang นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จาก
สถาบันเทคโนโลจีกลางแห่งสหพันธรัฐสวิสในซือริค
(ETH Zurich) ในสวิตเซอร์แลนด์
ได้ศึกษาเคมีของดาวสองดวงในระบบอัลฟา เซนทอไร(Alpha Centauri) คือ ริจิล เคนทอรัส(Rigil Kentaurus) และโทลิแมน(Toliman) และใช้มันเพื่อประเมินองค์ประกอบเคมีของพิภพหินในทางทฤษฎีในเขตเอื้ออาศัยได้ของระบบดาวคู่นี้
เราได้นำเสนอการวิเคราะห์องค์ประกอบโดยรวมของดาวเคราะห์, ภายใน
และชั้นบรรยากาศ(ช่วงต้น) ของดาวเคราะห์จำลองขนาดพอๆ กับโลกในเขตเอื้ออาศัยได้ของ Alpha
Centauri AB นักวิจัยเขียนไว้ในรายงาน
การวิเคราะห์รายละเอียดได้ให้หนทางเข้าถึงสิ่งที่เราอาจจะคาดไว้สำหรับดาวเคราะห์ขนาดพอๆ
กับโลกในเขตเอื้ออาศัยได้ในละแวกเพื่อนบ้านดวงอาทิตย์
คุณลักษณะเหล่านี้ของดาวเคราะห์หินนอกระบบมีความสำคัญอย่างยิ่งในความเข้าใจวิวัฒนาการและความสามารถในการเอื้ออาศัยได้ในระยะยาวของพวกมัน
เราทราบจากการสำรวจวัตถุหินในระบบของเราและระบบดาวเคราะห์อื่นว่า
องค์ประกอบแร่ธาตุของพิภพหินนั้นสะท้อนออกมากับดาวต้นสังกัดของพวกมัน
เนื่องจาก Alpha Cen AB นั้นอยู่ใกล้กันมาก
เราจึงมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับองค์ประกอบเคมีของมันจากสเปคตรัม
เมื่อธาตุที่แตกต่างกันในดาวดูดกลืนและเปล่งแสงออกมาอีก
ก็จะสร้างรายละเอียดที่มืด(ดูดกลืน) และสว่าง(เปล่งคลื่น)
ในสเปคตรัมแสงที่มากระทบกล้องโทรทรรศน์ รายละเอียดเหล่านี้สามารถใช้เพื่อบอกองค์ประกอบเคมี
เราทราบว่าการวิเคราะห์สเปคตรัมว่าธาตุประกอบหิน อย่างเช่น มักนีเซียม, ซิลิกอน
และเหล็ก มีอยู่ในริจิล เคนทอรัส และโทลิแมน เช่นเดียวกับธาตุระเหยง่ายอย่างเช่น
คาร์บอนและออกซิเจน
การวิเคราะห์สเปคตรัมยังเผยคร่าวๆ ว่ามีแต่ละธาตุอยู่ที่ดาวเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งมีประโยชน์ในการคำนวณต่อไปถึงพิภพหินในทางทฤษฎีในเขตเอื้ออาศัยได้(habitable
zone) ซึ่งเป็นระยะทางที่เหมาะสมจากดาวฤกษ์แม่ที่ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป
เพื่อที่จะมีน้ำของเหลวบนพื้นผิวดาวเคราะห์ได้
นักวิจัยเรียกพิภพในทางทฤษฎีนี้ว่า
อัลฟาเซนเอิร์ธ(α-Cen-Earth) และตรวจสอบพบว่ามันน่าจะมีองค์ประกอบแร่ธาตุและโครงสร้างที่คล้ายกับโลกอย่างมาก
ซึ่งรวมทั้งแมนเทิลหิน, ที่มีความสามารถอุ้มน้ำคล้ายกับแมนเทิลของโลก
อุดมไปด้วยแร่ธาตุซิลิเกต แต่ก็ยังมีแร่ธาตุที่มีคาร์บอนเกาะเช่น เพชร และกราไฟต์
อยู่ในสัดส่วนที่พอประมาณ
ดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้อาจจะมีแกนกลางเหล็กที่ใหญ่กว่าแกนกลางโลกเล็กน้อย
แต่มีกิจกรรมทางธรณีวิทยาที่น้อยกว่า และบางทีอาจไม่มีการแปรสัณฐานแผ่นเปลือก(plate
tectonics) เลย
ซึ่งน่าจะทำให้มันคล้ายกับดาวศุกร์มากกว่า ซึ่งนี่จะส่งผลต่อศักยภาพความสามารถในการเอื้ออาศัยได้
ของมัน โดยรวมแล้ว ก็ยังดูดี แต่เนื่องจากยากมากๆ
ที่จะบอกถึงชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบโดยมีพื้นฐานจากองค์ประกอบดาวฤกษ์ได้
เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสองอย่างนี้ ไม่ได้แนบแน่นในกรณีของธาตุทีระเหยง่าย
อย่างไรก็ตาม Wang ได้ใช้เวลาในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแบบจำลองเชิงปริมาณที่เชื่อมโยงองค์ประกอบของดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์
เข้ากับองค์ประกอบของดาวเคราะห์นอกระบบของพวกมัน ทั้งกรณีธาตุที่ทนไฟ(refractory
element) และธาตุระเหยง่าย
นี่ช่วยให้ทีมได้สร้างชั้นบรรยากาศของอัลฟาเซนเอิร์ธ น่าสนใจที่ในช่วงปีแรกๆ
ของดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้ มันน่าจะมีชั้นบรรยากาศที่คล้ายกับโลกยุคต้นอย่างมาก
ในบรมยุคอาร์เคียน(Archaeon eon; 4 ถึง 2.5
พันล้านปีก่อน) ที่ชีวิตเริ่มอุบัติขึ้น จากการคำนวณของทีม ชั้นบรรยากาศโบราณนี้น่าจะอุดมไปด้วยมีเธน,
คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ
ถ้าพิภพลักษณะนี้มีอยู่จริง
มันก็น่าจะให้เงื่อนงำสู่อนาคตของโลก Alpha Centauri AB นั้นมีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราราว 1.5
ถึง 2 พันล้านปี ซึ่งหมายความว่าดาวเคราะห์นอกระบบใดๆ
ที่สังกัดกับ ริจิล เคนทอรัส และโทลิแมน ก็น่าจะเก่าแก่มากกว่าด้วยเช่นกัน
และเราก็กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่จะค้นพบพิภพทฤษฎีเช่นนี้ได้ในไม่ช้า
วิธีการและเทคโนโลจีการตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบของเรากำลังมีความไวมากขึ้นเรื่อยๆ
ในไม่ช้า นักดาราศาสตร์จะสามารถตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดเล็กลงซึ่งอยู่ห่างไกลจากดาวฤกษ์ของพวกมัน(ในระยะทางเท่าโลก)
และหนีรอดการตรวจจับมานาน
ในมุมมองของเรา ริจิล เคน และโทลิแมน
จะอยู่ห่างจากกันและกันมากขึ้นในวงโคจรของพวกมัน นับตั้งแต่ปีนี้
ระยะห่างซึ่งจะคงอยู่จนกระทั่งราวปี 2035 หมายความว่าแสงจากดาวก็น่าจะรบกวนการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบน้อยลง
นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบร่องรอยดาวเคราะห์นอกระบบขนาดค่อนข้างเล็กดวงหนึ่ง(3.3
ถึง 7 เท่าขนาดโลก) โคจรรอบ ริจิล เคนทอรัส แล้ว
เรากำลังเฝ้ารอที่จะได้เห็นว่าจะมีอะไรรออยู่รอบดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้มากที่สุดอีก
งานวิจัยนี้เผยแพร่ใน Astrophysical Journal
ภาพจากศิลปินแสดงมุมมองในระยะประชิดของ Proxima d ว่าที่ดาวเคราะห์ที่เพิ่งพบรอบดาวฤกษ์แคระแดง Proxima Centauri ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรามากที่สุด เชื่อกันว่าดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นหินและมีมวลราวหนึ่งในสี่ของโลก ว่าที่ดาวเคราะห์อีกสองดวงที่พบว่าโคจรรอบพรอกซิมา เซนทอไร ก็เห็นได้ในภาพนี้เช่นกัน Proxima b ดาวเคราะห์ที่มีมวลพอๆ กับโลกในวงโคจรที่มีคาบ 11 วันแลอยู่ในเขตเอื้ออาศัยได้ และว่าที่ดาวเคราะห์นอกระบบ Proxima c ซึ่งอยู่ในวงโคจร 5 ปี
แหล่งข่าว sciencealert.com
: what if there’s an Earth-like planet at one of our closest stars?
phys.org : imagining an
Earthly neighbor
space.com : what would an
alien “Earth” look like around the star next door?
หมายเหตุ
ระบบดาว อัลฟา เซนทอไร นอกจากจะประกอบด้วย ดาวคู่ Alpha CentauriAB แล้ว ยังมีดาวดวงที่สามที่โคจรห่างออกมา Alpha
Centauri C ซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าดาวคู่
ที่ระยะทาง 4.24 ปีแสง
มันจึงมีอีกชื่อว่า Proxima Centauri เป็นดาวฤกษ์แคระแดง
ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่พบได้มากที่สุดในระบบสุริยะ รอบพรอกซิมา
พบว่าที่ดาวเคราะห์นอกระบบแล้ว 3 ดวง
No comments:
Post a Comment