ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
นักวิจัยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับดาวศุกร์ ดาวเคราะห์หินดวงที่สองจากดวงอาทิตย์ออกมา
ว่าอาจเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น
การศึกษาแบบจำลองได้แสดงว่าดาวศุกร์ในยุคโบราณมีมหาสมุทรขนาดใหญ่
และมีภูมิอากาศที่เป็นมิตรได้นานหลายพันล้านปี
แต่ทุกวันนี้ ดาวศุกร์ซึ่งมีมวลและขนาดพอๆ
กับโลกของเรานั้นไม่ต่างจากนรก
พื้นผิวของมันทั้งแห้งผากและร้อนมากพอที่จะหลอมตะกั่วได้
มีชั้นบรรยากาศหนาทึบอุดมไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์มีแรงดันที่พื้นผิวมากกว่าพื้นผิวโลกเกือบร้อยเท่า
และมีเมฆกรดกำมะถันซึ่งทำลายชีวิต
แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็อ้างว่าถ้ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์
ก็น่าจะอยู่รอดล่องลอยในเมฆที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 50 กิโลเมตร
ซึ่งจะมีอุณหภูมิและความดันคล้ายกับที่เราพบที่ระดับน้ำทะเลบนโลก
แต่การศึกษาใหม่ได้สาดน้ำเย็นดับความหวังเหล่านั้น
เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่ทั้งหมด
ดาวศุกร์เองก็เคยร้อนสุดขั้ว ร้อนเกินกว่าจะมีมหาสมุทรน้ำของเหลวได้ น้ำใดๆ
ที่ตามก็จะกลายเป็นไอเป็นทั้งหมด สร้างสภาพแบบซาวนาในระดับทั่วดาวเคราะห์
แบบจำลองก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตได้บอกว่าดาวเคราะห์เย็นตัวลงมากพอที่จะมีน้ำบนพื้นผิวได้
ต้องขอบคุณเมฆซึ่งสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์กลับออกสู่อวกาศ ดวงอาทิตย์เยาว์วัยที่ยังไม่ร้อนแรง(faint,
young Sun paradox) ก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน
ในช่วงต้นๆ ของระบบสุริยะนั้น ดาวฤกษ์แม่ของเรามีกำลังสว่างเพียง 70% ของที่เป็นในปัจจุบัน
ในการศึกษาใหม่ซึ่งเผยแพร่ออนไลน์วันที่ 13 ตุลาคม ในวารสาร Nature นักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Martin Turbet นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์เจนีวา
ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้จำลองภูมิอากาศดาวศุกร์โบราณโดยใช้แบบจำลองใหม่ และพวกเขาก็ได้ผลสรุปที่แตกต่างออกไปอย่างมาก
Turbet และทีมของเขาได้พบว่าสภาวะบนดาวศุกร์ที่ยังอายุน้อยนั้น
น่าจะจำกัดเมฆให้อยู่แค่ด้านกลางคืนของดาวเคราะห์(เนื่องจากดาวศุกร์ไม่ได้มีด้านกลางคืนถาวร
จึงหมายถึงซีกดาวเคราะห์ที่หันออกจากดวงอาทิตย์ในเวลาดังกล่าว) ยิ่งทำให้เรื่องราวแย่ลง
เมื่อไม่มีเมฆสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ออกไปในด้านที่รับแสงแล้ว
เมฆในด้านกลางคืนยังทำให้ดาวศุกร์อุ่นขึ้นด้วปรากฏการณ์เรือนกระจก
ซึ่งดักความร้อนได้จำนวนมาก ดังนั้นดาวศุกร์จึงไม่เคยเย็นตัวลงมากพอที่ไอน้ำจะควบแน่นเกิดฝนตก
และก่อตัวแม่น้ำ, ทะเลสาบและมหาสมุทรได้เลย
James Kasting และ Chester Harman นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท
และศูนย์วิจัยเอมส์ของนาซา ตามลำดับ เขียนในรายงานความคิดเห็นคู่ขนานใน Nature
เช่นกัน
แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกในทีมศึกษา กล่าวว่า ถ้าผู้เขียนมาถูกทาง ดาวศุกร์ก็เป็นนรกมาโดยตลอด
ทีมวิจัยไม่เพียงแต่แสดงว่าดาวศุกร์ไม่เคยเหมือนกับโลก
แต่ยังพบคำตอบสำหรับปฏิทรรศน์ดวงอาทิตย์เยาว์วัย
เมื่อโลกน่าจะเป็นพิภพน้ำแข็งเยือกแข็ง
แต่เรากลับพบหลักฐานว่ามีน้ำของเหลวอยู่มาตั้งแต่โลกยุคต้น ด้วยปฏิทรรศน์นั้น
โลกซึ่งน่าจะอุดมด้วยไอน้ำในช่วงต้นน่าจะเย็นตัวลงมากพอที่จะทำให้น้ำควบแน่นเป็นของเหลวได้
การศึกษาพื้นผิวดาวศุกร์ในเบื้องลึกมากขึ้นน่าจะให้ความกระจ่างบางอย่างเกี่ยวกับภูมิอากาศโบราณของดาวเคราะห์
ยกตัวอย่างเช่น Kasting และ Harman
ชี้ไปที่
“พื้นที่ที่มีการแปรสภาพสูง” บนดาวเคราะห์ที่เรียกว่า tesserae ซึ่งคิดกันว่ามีองค์ประกอบคล้ายกับหินทวีปบนโลก
บนดาวเคราะห์ของเรา หินเหล่านั้นก่อตัวขึ้นโดยกระบวนการแปรสภาพ(metamorphic)
ซึ่งแร่ธาตุเปลี่ยนแปลงรูปแบบโดยปราศจากการหลอมละลาย
ซึ่งเกิดขึ้นได้เนื่องจากการมีอยู่ของน้ำของเหลว ทั้งคู่เขียนไว้ ถ้า tesserae
เหล่านั้นกลับกลายเป็นบะซอลต์อย่างที่พบที่พื้นทะเลโลก
ก็ไม่น่าต้องใช้น้ำของเหลวเพื่อสร้างพวกมันขึ้น ยิ่งสนับสนุนสมมติฐานของ Turbet
และทีม
ปฏิบัติการ VERITAS(Venus Emissivity,
Radio Science, InSAR, Topography and Spectroscopy) ของนาซาที่เพิ่งเลือกมา ซึ่งมีกำหนดส่งในปี 2028
จะศึกษา tesserae จากวงโคจร ถ้ามันได้บินตามแผน
แต่ก็อาจต้องใช้แลนเดอร์ดาวศุกร์เพื่อให้ความเข้าใจที่หนักแน่นเกี่ยวกับรายละเอียดที่น่าสนใจเหล่านั้น
Kasting และ Harman
เขียนไว้ นอกจากนาซาแล้ว
องค์กรอวกาศยุโรป(ESA) ก็จะส่ง 2
ปฏิบัติการไปดาวศุกร์ด้วยเช่นกัน
การศึกษาใหม่ยังพบว่าโลกก็น่าจะใช้เส้นทางเดียวกันกับดาวศุกร์
ถ้าดวงอาทิตย์เคยสว่างกว่าที่คาดไว้ในอดีต คือถ้าดวงอาทิตย์อายุน้อยมีกำลังสว่าง 92%
ของปัจจุบัน แทนที่จะเป็นเพียง 70%
แบบจำลองที่พัฒนาโดย Turbet และทีมบอกว่า
ก็อาจทำให้ดาวเคราะห์ของเรากลายเป็นซาวนาได้ด้วย
ผลสรุปยังมีนัยยะต่อพิภพที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อื่นๆ
และสำหรับนักวิจัยที่มุ่งเป้าเพื่อเข้าใจพวกมัน
ดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรอยู่ใกล้ขอบในของเขตเอื้ออาศัยได้(habitable
zone) ซึ่งอาจจะมีน้ำของเหลวอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์
แท้จริงแล้วอาจจะไม่เอื้ออาศัย ทั้งคู่เขียนไว้
แหล่งข่าว space.com
: life on Venus may never have been possible
sciencealert.com :
there’s no way Venus could ever have had oceans, astronomers say
phys.org : did Venus ever
have oceans?
No comments:
Post a Comment