Sunday 31 October 2021

การควบรวมในระดับกาแลคซีแคระ

 

กาแลคซีบริวารทางช้างเผือก คือ เมฆมาเจลลันใหญ่และเล็ก(Large and Small Magellanic Cloud) ปรากฎบนท้องฟ้าเหนือหมู่กล้องโทรทรรศน์ที่ VLT  


     นักดาราศาสตร์ทราบดีว่าทางช้างเผือกเจริญขึ้นจากการรวบรวมกาแลคซีขนาดเล็กกว่า แม้แต่ในตอนนี้ ทางช้างเผือกก็กำลังเขมือบกาแลคซีแคระคนยิงธนู(Sagittarius dwarf) แต่ขณะนี้ ทีมนักวิจัยอิตาเลียนกับดัตช์ ได้แสดงว่า กาแลคซีเพื่อนบ้านขนาดเล็กของทางช้างเผือกเอง ก็กลืนกาแลคซีที่มีขนาดเล็กกว่าไป นักวิจัยเผยแพร่การค้นพบในวารสาร Nature Astronomy

     จากทฤษฎีการก่อตัวแบบลำดับขั้น(hierarchical assembly) กาแลคซีขนาดใหญ่อย่างทางช้างเผือก ก่อตัวขึ้นจากการควบรวมกับกาแลคซีขนาดเล็กกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีหลักฐานเหตุการณ์เหล่านี้พบได้ในทางช้างเผือกต้องขอบคุณดาวเทียมไกอา(Gaia) ทีมนักวิจัยอิตาเลียน-ดัตช์ที่นำโดย Alessio Mucciarelli จากมหาวิทยาลัยโบโลญญาในอิตาลี ต้องการจะพิสูจน์สมมุติฐานว่ากาแลคซีขนาดเล็กเองก็เจริญขึ้นจากกาแลคซีที่มีขนาดเล็กกว่าด้วยเช่นกัน

     เพื่อทดสอบสมมุติฐาน นักวิจัยได้ศึกษาเมฆมาเจลลันใหญ่(Large Magellanic Cloud; LMC) ซึ่งเป็นกาแลคซีเพื่อนบ้านของทางช้างเผือก เมฆมาเจลลันใหญ่และเล็กอยู่ในการเต้นรำที่ซับซ้อนกับทางช้างเผือก บริวารทั้งสองก็โคจรรอบกันและกัน และทั้งคู่ก็มาโคจรรอบทางช้างเผือกอีกที LMC มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของ SMC และมีมวลรวมที่ 2.5 แสนล้านเท่ามวลดวงอาทิตย์ ซึ่งคิดกันว่ากาแลคซีแคระมวลขนาดนี้ก็น่าจะมีบริวารของมันเองด้วย

     ในความเป็นจริง LMC มีกาแลคซีที่สลัวมาก(ultra-faint galaxies) สี่ถึงหกแห่งเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะหมายความว่าครั้งหนึ่งอาจจะเคยมีมากกว่านี้ ในปี 2018 นักดาราศาสตร์พบว่ามีดาวจำนวนหนึ่งใน LMC ที่โคจรสวนทางกับดาวอื่นๆ รอบใจกลางกาแลคซี ซึ่งพวกเขาสรุปว่าน่าจะเป็นซากจากการควบรวมของกาแลคซีในอดีต

     ขณะนี้ ทีม Mucciarelli มุ่งเป้าไปที่กระจุกดาวทรงกลม(globular cluster) เป็นพิเศษ กระจุกดาวทรงกลมเป็นกลุ่มของดาวหลายพันจนถึงหลายล้านดวงที่เกาะกลุ่มกันอย่างแออัด โดยมีดาวอยู่อย่างหนาแน่นในใจกลางกระจุก แนวคิดก็คือแกนกลางของกระจุกทรงกลมสามารถดำรงอยู่ได้แม้จะผ่านไปหลายพันล้านปีที่เกิดการฉุดลากในกาแลคซี


ภาพรวมประกอบแสดง NGC 2005(ซ้าย) และเมฆมาเจลลันใหญ่(ขวา) องค์ประกอบเคมีของดาวในกระจุกดาวทรงกลม NGC 2005 แตกต่างจากดาวอื่นๆ ในเมฆมาเจลลันใหญ่ นี่เป็นหลักฐานแรกที่แสดงการควบรวมในกาแลคซีแคระนอกทางช้างเผือก

     นักวิจัยได้วิเคราะห์องค์ประกอบเคมีของกระจุกทรงกลม 11 แห่งจาก 60 แห่งของ LMC ซึ่งรวบรวมโดยกล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก(VLT) และกล้องโทรทรรศน์มาเจลลันในชิลี ในบรรดากระจุก 11 แห่งที่ศึกษาว่ามีอายุใกล้เคียงกัน พบว่ามีแห่งหนึ่งที่มีองค์ประกอบเคมีที่แตกต่างออกไปอย่างมาก เป็นกระจุกดาวทรงกลม NGC 2005 กระจุกแห่งนี้ประกอบด้วยดาวประมาณ 2 แสนดวงและอยู่ห่างออกไป 750 ปีแสงจากใจกลางของ LMC นอกจากนี้ มันยังมีสังกะสี, ทองแดง, ซิลิกอน และคัลเซียมในระดับที่ต่ำกว่าอีกสิบกระจุก

     จากองค์ประกอบเคมีของ NGC 2005 นักวิจัยสรุปว่ากระจุกจะต้องเป็นซากของกาแลคซีขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ก่อตัวดาวขึ้นอย่างช้าๆ จนเมื่อหลายพันล้านปีก่อน กาแลคซีขนาดเล็กแห่งนี้น่าจะควบรวมกับ LMC ที่ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก เมื่อเวลาผ่านไป กาแลคซีขนาดเล็กแห่งนี้ก็ถูกฉีกออกเกือบทั้งหมด และดาวของมันเกือบทั้งหมดก็ถูกกระจายออกไป เหลือแต่กระจุก NGC 2005 ไว้

     Davide Massari นักวิจัยที่ทำงานในอิตาลี และมหาวิทยาลัยกรอนิงเงน เนเธอร์แลนด์ส กล่าวว่า แท้จริงแล้วเรากำลังได้เห็นซากของการควบรวมก่อนหน้านี้ และขณะนี้เราก็ตระหนักเป็นครั้งแรกว่า กาแลคซีเพื่อนบ้านขนาดเล็กของทางช้างเผือก ก็อาจจะก่อตัวขึ้นจากกาแลคซีที่มีขนาดเล็กลงไปอีกเหมือนกัน การค้นพบนี้เป็นหลักฐานจากการสำรวจเป็นครั้งแรกว่า กระบวนการเจริญแบบลำดับขั้นก็เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านใกล้สุดของเราด้วยเช่นกัน


แหล่งข่าว phys.org : dwarf galaxy catches even smaller galaxy
                sciencealert.com : busted! Astronomers confirm the Large Magellanic Cloud totally ate another galaxy   


Friday 29 October 2021

ดาวศุกร์ที่ร้อนไม่เคยแผ่ว

 



     ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นักวิจัยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับดาวศุกร์ ดาวเคราะห์หินดวงที่สองจากดวงอาทิตย์ออกมา ว่าอาจเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาแบบจำลองได้แสดงว่าดาวศุกร์ในยุคโบราณมีมหาสมุทรขนาดใหญ่ และมีภูมิอากาศที่เป็นมิตรได้นานหลายพันล้านปี

     แต่ทุกวันนี้ ดาวศุกร์ซึ่งมีมวลและขนาดพอๆ กับโลกของเรานั้นไม่ต่างจากนรก พื้นผิวของมันทั้งแห้งผากและร้อนมากพอที่จะหลอมตะกั่วได้ มีชั้นบรรยากาศหนาทึบอุดมไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์มีแรงดันที่พื้นผิวมากกว่าพื้นผิวโลกเกือบร้อยเท่า และมีเมฆกรดกำมะถันซึ่งทำลายชีวิต แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็อ้างว่าถ้ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์ ก็น่าจะอยู่รอดล่องลอยในเมฆที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 50 กิโลเมตร ซึ่งจะมีอุณหภูมิและความดันคล้ายกับที่เราพบที่ระดับน้ำทะเลบนโลก แต่การศึกษาใหม่ได้สาดน้ำเย็นดับความหวังเหล่านั้น

     เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่ทั้งหมด ดาวศุกร์เองก็เคยร้อนสุดขั้ว ร้อนเกินกว่าจะมีมหาสมุทรน้ำของเหลวได้ น้ำใดๆ ที่ตามก็จะกลายเป็นไอเป็นทั้งหมด สร้างสภาพแบบซาวนาในระดับทั่วดาวเคราะห์ แบบจำลองก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตได้บอกว่าดาวเคราะห์เย็นตัวลงมากพอที่จะมีน้ำบนพื้นผิวได้ ต้องขอบคุณเมฆซึ่งสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์กลับออกสู่อวกาศ ดวงอาทิตย์เยาว์วัยที่ยังไม่ร้อนแรง(faint, young Sun paradox) ก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน ในช่วงต้นๆ ของระบบสุริยะนั้น ดาวฤกษ์แม่ของเรามีกำลังสว่างเพียง 70% ของที่เป็นในปัจจุบัน

      ในการศึกษาใหม่ซึ่งเผยแพร่ออนไลน์วันที่ 13 ตุลาคม ในวารสาร Nature นักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Martin Turbet นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์เจนีวา ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้จำลองภูมิอากาศดาวศุกร์โบราณโดยใช้แบบจำลองใหม่ และพวกเขาก็ได้ผลสรุปที่แตกต่างออกไปอย่างมาก Turbet และทีมของเขาได้พบว่าสภาวะบนดาวศุกร์ที่ยังอายุน้อยนั้น น่าจะจำกัดเมฆให้อยู่แค่ด้านกลางคืนของดาวเคราะห์(เนื่องจากดาวศุกร์ไม่ได้มีด้านกลางคืนถาวร จึงหมายถึงซีกดาวเคราะห์ที่หันออกจากดวงอาทิตย์ในเวลาดังกล่าว) ยิ่งทำให้เรื่องราวแย่ลง

      เมื่อไม่มีเมฆสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ออกไปในด้านที่รับแสงแล้ว เมฆในด้านกลางคืนยังทำให้ดาวศุกร์อุ่นขึ้นด้วปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งดักความร้อนได้จำนวนมาก ดังนั้นดาวศุกร์จึงไม่เคยเย็นตัวลงมากพอที่ไอน้ำจะควบแน่นเกิดฝนตก และก่อตัวแม่น้ำ, ทะเลสาบและมหาสมุทรได้เลย

     James Kasting และ Chester Harman นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท และศูนย์วิจัยเอมส์ของนาซา ตามลำดับ เขียนในรายงานความคิดเห็นคู่ขนานใน Nature เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกในทีมศึกษา กล่าวว่า ถ้าผู้เขียนมาถูกทาง ดาวศุกร์ก็เป็นนรกมาโดยตลอด


ปฏิทรรศน์ดวงอาทิตย์เยาว์วัยที่ยังไม่ร้อนแรง(faint young Sun paradox) เมื่อวัยเยาว์ดวงอาทิตย์มีกำลังสว่างน้อยกว่าอยู่ที่ราว 70% ของปัจจุบัน ทำให้ดาวศุกร์น่าจะมีน้ำของเหลวได้ แต่โลกน่าจะเป็นลูกบอลน้ำแข็ง งานวิจัยใหม่ไขปริศนานี้พร้อมกับบอกว่า ดาวศุกร์ไม่น่าจะเคยมีน้ำของเหลวได้เนื่องจากมันไม่เคยเย็นตัวลงจนไอน้ำควบแน่นเป็นของเหลวได้ 

     ทีมวิจัยไม่เพียงแต่แสดงว่าดาวศุกร์ไม่เคยเหมือนกับโลก แต่ยังพบคำตอบสำหรับปฏิทรรศน์ดวงอาทิตย์เยาว์วัย เมื่อโลกน่าจะเป็นพิภพน้ำแข็งเยือกแข็ง แต่เรากลับพบหลักฐานว่ามีน้ำของเหลวอยู่มาตั้งแต่โลกยุคต้น ด้วยปฏิทรรศน์นั้น โลกซึ่งน่าจะอุดมด้วยไอน้ำในช่วงต้นน่าจะเย็นตัวลงมากพอที่จะทำให้น้ำควบแน่นเป็นของเหลวได้

     การศึกษาพื้นผิวดาวศุกร์ในเบื้องลึกมากขึ้นน่าจะให้ความกระจ่างบางอย่างเกี่ยวกับภูมิอากาศโบราณของดาวเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่น Kasting และ Harman ชี้ไปที่ “พื้นที่ที่มีการแปรสภาพสูง” บนดาวเคราะห์ที่เรียกว่า tesserae ซึ่งคิดกันว่ามีองค์ประกอบคล้ายกับหินทวีปบนโลก บนดาวเคราะห์ของเรา หินเหล่านั้นก่อตัวขึ้นโดยกระบวนการแปรสภาพ(metamorphic) ซึ่งแร่ธาตุเปลี่ยนแปลงรูปแบบโดยปราศจากการหลอมละลาย ซึ่งเกิดขึ้นได้เนื่องจากการมีอยู่ของน้ำของเหลว ทั้งคู่เขียนไว้ ถ้า tesserae เหล่านั้นกลับกลายเป็นบะซอลต์อย่างที่พบที่พื้นทะเลโลก ก็ไม่น่าต้องใช้น้ำของเหลวเพื่อสร้างพวกมันขึ้น ยิ่งสนับสนุนสมมติฐานของ Turbet และทีม

     ปฏิบัติการ VERITAS(Venus Emissivity, Radio Science, InSAR, Topography and Spectroscopy) ของนาซาที่เพิ่งเลือกมา ซึ่งมีกำหนดส่งในปี 2028 จะศึกษา tesserae จากวงโคจร ถ้ามันได้บินตามแผน แต่ก็อาจต้องใช้แลนเดอร์ดาวศุกร์เพื่อให้ความเข้าใจที่หนักแน่นเกี่ยวกับรายละเอียดที่น่าสนใจเหล่านั้น Kasting และ Harman เขียนไว้ นอกจากนาซาแล้ว องค์กรอวกาศยุโรป(ESA) ก็จะส่ง 2 ปฏิบัติการไปดาวศุกร์ด้วยเช่นกัน

     การศึกษาใหม่ยังพบว่าโลกก็น่าจะใช้เส้นทางเดียวกันกับดาวศุกร์ ถ้าดวงอาทิตย์เคยสว่างกว่าที่คาดไว้ในอดีต คือถ้าดวงอาทิตย์อายุน้อยมีกำลังสว่าง 92% ของปัจจุบัน แทนที่จะเป็นเพียง 70% แบบจำลองที่พัฒนาโดย Turbet และทีมบอกว่า ก็อาจทำให้ดาวเคราะห์ของเรากลายเป็นซาวนาได้ด้วย ผลสรุปยังมีนัยยะต่อพิภพที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อื่นๆ และสำหรับนักวิจัยที่มุ่งเป้าเพื่อเข้าใจพวกมัน

    ดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรอยู่ใกล้ขอบในของเขตเอื้ออาศัยได้(habitable zone) ซึ่งอาจจะมีน้ำของเหลวอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์ แท้จริงแล้วอาจจะไม่เอื้ออาศัย ทั้งคู่เขียนไว้

 

แหล่งข่าว space.com : life on Venus may never have been possible
                sciencealert.com : there’s no way Venus could ever have had oceans, astronomers say
                phys.org : did Venus ever have oceans?    

Wednesday 27 October 2021

ชะตากรรมระบบสุริยะในอนาคต

ภาพจากศิลปินแสดงระบบดาวเคราะห์โบราณซึ่งดาวฤกษ์แม่ของมันได้กลายเป็นดาวแคระขาว ในระหว่างการแปรสภาพจากดาวฤกษ์เป็นดาวแคระขาว ทำให้ระบบเกิดความปันป่วนวุ่นวาย วัตถุในระบบชนกันจนกลายเป็นวงแหวนเศษซาก ในขณะที่เหลือดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ในวงโคจรไกลจากดาวฤกษ์แม่ไว้


     นักดาราศาสตร์ได้พบระบบดาวเคราะห์แห่งแรกที่ยืนยันแล้วว่าน่าจะเหมือนกับชะตากรรมที่คาดไว้สำหรับระบบสุริยะของเรา เมื่อดวงอาทิตย์ไปถึงจุดจบชีวิตในอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า

     นักวิจัยได้ตรวจจับระบบแห่งนี้โดยใช้หอสังเกตการณ์เคกบนเมานาคี ในฮาวาย มันประกอบด้วยดาวเคราะห์ที่คล้ายดาวพฤหัสฯ ในวงโคจรที่คล้ายดาวพฤหัสฯ ดวงหนึ่ง รอบดาวแคระขาว ที่อยู่ใกล้ใจกลางของทางช้างเผือก ห่างออกไปราว 6500 ปีแสง  

     Joshua Blackman นักวิจัยหลังปริญญาเอกสาขาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทัสมาเนีย ในออสเตรเลีย และผู้เขียนนำการศึกษา กล่าวว่า หลักฐานนี้ยืนยันว่าดาวเคราะห์ที่โคจรในระยะทางที่ไกลมากพอจะสามารถดำรงอยู่ได้ หลังจากที่ดาวฤกษ์แม่ของพวกมันตายลง จากที่ระบบแห่งนี้คล้ายกับระบบสุริยะของเรา มันก็บอกได้ว่าดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์ น่าจะอยู่รอดผ่านสถานะยักษ์แดง(red giant) ของดวงอาทิตย์ เมื่อมันจะหมดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และเริ่มทำลายตัวเอง การศึกษาเผยแพร่ในวารสาร Nature

     อนาคตของโลกอาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเนื่องจากมันอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า(ดาวพฤหัสฯ-ผู้แปล) David Bennett ผู้เขียนร่วม นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโสที่มหาวิทยาลัยมารีแลนด์ และศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา กล่าว ถ้ามนุษยชาติต้องการจะย้ายไปที่ดวงจันทร์สักดวงของดาวพฤหัสฯ หรือดาวเสาร์ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะย่างโลก ในช่วงสถานะยักษ์แดง เราก็ยังคงอยู่ในวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไปได้ แม้ว่าเราจะไม่อาจพึ่งพาความร้อนจากดวงอาทิตย์ในฐานะดาวแคระขาว ไปได้นานนัก

     ดาวฤกษ์วิถีหลัก(main sequence star) อย่างดวงอาทิตย์จะกลายสภาพเป็นเมื่อพวกมันตายลงในช่วงบั้นปลายชีวิต ดาวจะหมดเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในแกนกลางลง และพองตัวกลายเป็นดาวยักษ์แดง ในกรณีของดวงอาทิตย์เมื่อพองตัวกลายเป็นดาวยักษ์แดง มันจะกัดและกลืนดาวพุธ และจากนั้นก็ดาวศุกร์ ส่วนโลกถ้าหนีจากการกลืนได้ก็แทบจะแน่นอนว่าคงถูกฉีกโดยแรงโน้มถ่วง ดาวอังคารอาจจะอยู่ไกลมากพอที่จะรอดไปได้ ในระบบสุริยะส่วนนอก ดาวเคราะห์ยักษ์ทั้งสี่จะถูกผลัก ซึ่งน่าจะถูกผลักออกไปไกลมากขึ้น หรือแม้แต่ถูกเหวี่ยงออกจากระบบไปอย่างสิ้นเชิง หรือวิ่งเข้าหาดวงอาทิตย์

วัฏจักรชีวิตของดาวฤกษ์มวลปานกลางอย่างดวงอาทิตย์ ซึ่งจะมีจุดจบชีวิตเป็นดาวแคระขาว เช่นเดียวกับดาวฤกษ์อีกราว 97% ในทางช้างเผือก ดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยจะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าอาจจะถึงระดับล้านล้านปี

     จากนั้นดาวยักษ์แดงจะสลัดเปลือกชั้นนอกเหลือแต่แกนกลางที่จะยุบตัวลงและหดตัวกลายเป็นดาวแคระขาว ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโลกแต่ร้อนและหนาแน่นสูงด้วยมวลราวครึ่งหนึ่งของดวงอาทิตย์ เนื่องจากซากดาวขนาดกะทัดรัดเหล่านี้มีขนาดเล็กและไม่มีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เพื่อเปล่งรังสีสว่างจ้าอีกต่อไป ดาวแคระขาวจึงสลัวมากและยากที่จะตรวจจับ คาดว่าจะมีดาวฤกษ์ประมาณ 97% ในทางช้างเผือกที่จะมีเส้นทางวิวัฒนาการแบบนี้

     ระบบดาวเคราะห์ที่เพิ่งพบใหม่นี้ถูกพบเห็นเป็นครั้งแรกในปี 2010 โดยนักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มความร่วมมือ Microlensing Observations in Astrophysics ทีมใช้เทคนิคที่เรียกว่า เลนส์ความโน้มถ่วงแบบจุลภาค(gravitational microlensing) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดาวที่อยู่ใกล้โลก เรียงตัวในแนวเดียวกับดาวที่อยู่ไกลกว่า นี่สร้างปรากฏการณ์ประหลาดเมื่อแรงโน้มถ่วงจากดาวที่พื้นหน้าทำหน้าที่เป็นเลนส์ขยายแสงจากดาวที่พื้นหลัง ถ้ามีดาวเคราะห์ใดๆ โคจรรอบดาวพื้นหน้าอยู่ มันก็จะบิดแสงที่ถูกขยายชั่วคราวเมื่อดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านด้วย

     รูปแบบที่ดาวเคราะห์ยักษ์และดาวแคระขาวบิดเบนแสงจากดาวที่พื้นหลัง ได้เผยให้เห็นคุณลักษณะสำคัญหลายอย่างของระบบแห่งนี้ รวมถึงการเคลื่อนที่บนท้องฟ้า, การมีอยู่ของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ และวงโคจรขนาดใหญ่ของดาวเคราะห์ การสำรวจยังช่วยนักดาราศาสตร์คำนวณมวลเปรียบเทียบของวัตถุทั้งสองที่เรียกว่า MOA-2010-BLG-477Lb ได้ แต่ต้องรอหลายปีเพื่อตรวจสอบ ในปี 2016 และอีกครั้งในปี 2018 ซึ่งไม่เห็นอะไรเลย แต่พวกเขาทราบว่าระบบนี้มีอยู่ที่นั้นจากแสงดาวพื้นหลังที่ถูกรบกวน เมื่อไม่สามารถมองเห็นอะไรก็บอก Bennett และเพื่อนร่วางานว่าอะไรก็ตามที่พวกเขากำลังค้นหาอยู่จะต้องมืดมากๆ จนแม้แต่เคกยังมองไม่เห็น

          ที่แปลกก็คือเมื่อทีมพยายามมองหาดาวฤกษ์แม่ของดาวเคราะห์นี้ พวกเขาก็ไม่คาดคิดว่าจะพบว่าแสงดาวไม่ได้สว่างมากพอที่จะเป็นดาววิถีหลักปกติ ข้อมูลยังปิดช่องทางการมีอยู่ของดาวแคระน้ำตาล(brown dwarf) เป็นดาวฤกษ์แม่ด้วย Jean-Phillippe Beaulieu ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยทัสมาเนีย และผู้อำนววยการวิจัย CNRS ที่สถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งปารีส ผู้เขียนร่วม กล่าวว่า เรายังสามารถปิดช่องความเป็นไปได้ที่เป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำด้วย นี่หมายความว่า ดาวเคราะห์กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ที่ตายแล้วเป็นดาวแคระขาวดวงหนึ่ง มันได้ให้แง่มุมว่าระบบสุริยะของเราจะมีสภาพอย่างไรหลังจากโลกหายไปเมื่อดวงอาทิตย์ดับสูญลง


เลนส์แบบจุลภาค

     ภาพช่วงอินฟราเรดใกล้ความละเอียดสูงที่ถ่ายด้วยระบบปรับกระจก(adaptive optics) ของกล้องเคก ซึ่งจับคู่กับกล้องอินฟราเรดใกล้(NIRC2) ได้เผยให้เห็นดาวแคระขาวที่เพิ่งค้นพบใหม่ซึ่งมีมวลราว 60% ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ที่เหลือรอดของมัน เป็นพิภพก๊าซยักษ์ที่มีมวลสูงกว่าดาวพฤหัสฯ ประมาณ 40% วงโคจรดาวเคราะห์นำมันออกไปไกลอย่างน้อย 2.8 เท่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ ทำให้มันอยู่ใกล้เคียงกับแถบดาวเคราะห์น้อย(asteroid belt) ของระบบของเรา

     ทีมวิจัยยังวางแผนจะรวมการค้นพบในการศึกษาทางสถิติเพื่อดูว่าจะมีดาวแคระขาวดวงอื่นๆ อีกหรือไม่ที่มีดาวเคราะห์เหลือรอดอยู่ในวงโคจร ปฏิบัติการกล้องโทรทรรศน์อวกาศโรมัน(Nancy Grace Roman Telescope ก่อนหน้านี้เรียกว่า WFIRST) ตั้งเป้าจะถ่ายภาพดาวเคราะห์ยักษ์โดยตรง จะช่วยในการเสาะหานี้ กล้องโรมันมีความสามารถในการสำรวจดาวเคราะห์รอบดาวแคระขาวที่อยู่ในทิศทางส่วนป่องทางช้างเผือกได้ครบถ้วนมากกว่า นี่ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ตรวจสอบว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับดาวเคราะห์ที่คล้ายดาวพฤหัสฯ ที่จะหนีจากวันสุดท้ายของดาวฤกษ์แม่หรือไม่ หรือมีพวกมันที่ถูกทำลายเพียงส่วนหนึ่งเมื่อดาวฤกษ์แม่กลายเป็นยักษ์แดง

     John O’Meara หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่หอสังเกตการณ์เคก กล่าวว่า นี่เป็นผลสรุปที่น่าตื่นเต้นอย่างสุดขั้ว มันน่าดีใจที่ได้เห็นตัวอย่างวิทยาศาสตร์ที่เคกจะทำเมื่อกล้องโรมันเริ่มปฏิบัติการของมันได้

 

แหล่งข่าว phys.org : a crystal ball into our solar system’s future
               iflscience.com : newly discovered giant exoplanet managed to survive the death of its star
               nationalgeographic.org : planet circling a burned-out star offers a glimpse at the solar system’s fate
  

Monday 25 October 2021

ร่องรอยดาวเคราะห์ที่ซ่อนในสัญญาณวิทยุดาวฤกษ์


 


     ด้วยการใช้เครือข่ายวิทยุที่ทรงพลังที่สุดบนโลก นักดาราศาสตร์ได้พบดาวฤกษ์ที่ปะทุคลื่นวิทยุอย่างคาดไม่ถึง บางทีอาจจะบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์ที่ซ่อนตัว

     Benjamin Pope จากมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ในออสเตรเลีย และเพื่อนร่วมงานที่หอสังเกตการณ์แห่งชาติดัตช์ ASTRON ได้สำรวจหาดาวเคราะห์โดยใช้ LOFAR(Low Frequency Array) กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ทรงพลังที่สุดบนโลกในเนเธอร์แลนด์ส เราได้พบสัญญาณจากดาวแคระแดงห่างไกล 19 ดวง สี่ดวงในนั้นอธิบายได้ดีที่สุดด้วยการมีดาวเคราะห์ในวงโคจรรอบพวกมัน Pope กล่าว

     เราทราบมานานแล้วว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราเองก็เปล่งคลื่นวิทยุที่ทรงพลังเมื่อสนามแม่เหล็กของพวกมันมีปฏิสัมพันธ์กับลมสุริยะ แต่ยังไม่เคยพบสัญญาณวิทยุจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเลย การค้นพบนี้จึงเป็นก้าวสำคัญสำหรับดาราศาสตร์วิทยุ และอาจจะนำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์ทั่วทั้งกาแลคซีได้

    ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์ทำได้เพียงตรวจจับการเปล่งคลื่นวิทยุที่คงที่จากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ที่สุด และทุกๆ สิ่งบนท้องฟ้าช่วงวิทยุก็เป็น ก๊าซในห้วงอวกาศ หรือที่พิสดารหน่อยก็เป็นหลุมดำ ขณะนี้ นักดาราศาสตร์วิทยุสามารถเห็นดาวฤกษ์อายุมากที่ดูไม่มีอะไร และด้วยข้อมูลการสำรวจที่มี เราก็สามารถสำรวจหาดาวเคราะห์ใดๆ ที่อยู่รอบดาวฤกษ์เหล่านั้นได้ ทีมมุ่งเป้าไปที่ดาวฤกษ์แคระแดง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์อย่างมาก และเป็นที่ทราบกันว่ามีกิจกรรมแม่เหล็กที่รุนแรงซึ่งผลักดันการลุกจ้าและการเปล่งคลื่นวิทยุ


กลไกการเกิดแสงเหนือ-ใต้บนโลก 

     แต่ดาวฤกษ์อายุมากซึ่งเฉื่อยในทางแม่เหล็กแล้วบางส่วน ก็ยังแสดงตัวออกมา ท้าทายความเข้าใจ Joseph Callingham จากมหาวิทยาลัยไลเดน และ ASTRON และผู้เขียนนำการค้นพบนี้ บอกว่าทีมแน่ใจว่าสัญญาณเหล่านี้มาจากความเชื่อมโยงในทางแม่เหล็กระหว่างดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์ในวงโคจรที่มองไม่เห็น คล้ายกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างดาวพฤหัสฯ กับดวงจันทร์ไอโอ(Io) ของมัน

     โลกของเราเองก็มีแสงเหนือ-ใต้(aurorae) ซึ่งก็เปล่งคลื่นวิทยุด้วยเช่นกัน นี่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ กับลมสุริยะที่เป็นโปรตอนและอิเลคตรอน อนุภาคถูกส่งไปตามเส้นแรงสนามแม่เหล็กสู่ขั้วโลก ซึ่งอนุภาคจะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลในชั้นบรรยากาศส่วนบน ทำให้โมเลกุลเหล่านี้แตกตัวเป็นไอออนแสดงสีสันออกมา Callingham กล่าว แต่ในกรณีออโรราของดาวพฤหัสฯ มีความรุนแรงมากกว่าเมื่อดวงจันทร์ภูเขาไฟไอโอกำลังระเบิดมวลสาร(กำมะถันไดออกไซด์) ออกสู่อวกาศ ซึ่งจะถูกดึงในทันทีโดยปฏิสัมพันธ์แรงโน้มถ่วงที่ซับซ้อนกับดาวเคราะห์ยักษ์, แตกตัวเป็นไอออน และก่อตัวเป็นวงแหวนก๊าซมีประจุ(พลาสมา) รอบๆ ดาวพฤหัสฯ ซึ่งจะส่งพลาสมาไปตามเส้นแรงสนามแม่เหล็กสร้างออโรรา

     แบบจำลองการเปล่งคลื่นวิทยุจากดาวฤกษ์ของเราก็คือปฏิสัมพันธ์ของดาวพฤหัสฯ กับไอโอในแบบที่รุนแรงกว่า โดยดาวเคราะห์ดวงหนึ่งถูกหุ้มไว้ในสนามแม่เหล็กของดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ซึ่งส่งวัสดุสารป้อนให้กับวงแหวนรูปโดนัท(torus) ขนาดมหึมาซึ่งส่งพลังให้เกิดออโรราที่สว่างทรงพลังอย่างมาก น่าจะตระการตาจนดึงดึดความสนใจของเราแม้จากระยะทางหลายปีแสง การเปล่งคลื่นวิทยุจากดาวแคระแดง GJ 1151 เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วก็สอดคล้องกับปฏิสัมพันธ์ชนิดนี้ด้วย

กลไกการสร้างออโรราบนดาวพฤหัสฯ ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าออโรราบนโลก

      ขณะนี้ ทีมวิจัยต้องการจะยืนยันว่าดาวเคราะห์ที่เสนอขึ้นมามีอยู่จริง Pope กล่าวว่า เราไม่สามารถแน่ใจร้อยเปอร์เซนต์ได้ว่าดาวฤกษ์ทั้งสี่ที่เราคิดว่ามีดาวเคราะห์อยู่นั้น จะเป็นที่อยู่ของดาวเคราะห์จริงๆ แต่เราก็สามารถบอกได้ว่า ปฏิสัมพันธ์ดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์ เป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดกับสิ่งที่เรากำลังได้เห็น การสำรวจติดตามผลปิดช่องที่จะมีดาวเคราะห์ที่มีมวลสูงกว่าโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดาวเคราะห์ขนาดเล็กจะทำแบบนั้นไม่ได้

      การค้นพบด้วย LOFAR ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แต่กล้องโทรทรรศน์ก็มีความสามารถในการจับตาดูดาวฤกษ์ที่อยู่ค่อนข้างใกล้ได้ถึงระยะทาง 165 ปีแสง ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุเครือข่ายตารางกิโลเมตร(SKA) ในออสเตรเลียและอาฟริกาใต้ ที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งน่าจะเริ่มการสำรวจได้ในปี 2029 ทีมทำนายว่าพวกเขาจะสามารถเห็นสัญญาณจากดาวหลายร้อยดวง ได้ไกลออกไปมากขึ้น งานวิจัยนี้เผยแพร่รายละเอียดใน Nature Astronomy

 

แหล่งข่าว phys.org : radio signals from distant stars suggest hidden planets
              
sciencealert.com : mysterious radio signals from distant stars suggest the presence of hidden planets

Friday 22 October 2021

วัตถุลูกผสมดาวหางกับดาวเคราะห์น้อย

ไดอะแกรมแสดงวงโคจรของ (248370) 2005 QN173 พร้อมกับแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก(main asteroid belt) และวงโคจรของดาวพฤหัสฯ, ดาวเสาร์, ยูเรนัส และเนปจูน และดาวหางฮัลลีย์(Halley) เพื่อเปรียบเทียบแสดงว่าดาวหางตามขนบเดิมอย่างฮัลลีย์จะใช้เวลาส่วนมากอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ในพื้นที่ที่เย็นกว่า(248370) 2005 QN173 ซึ่งวงโคจรของมันจะนำมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นกว่าอย่างมากตลอดเวลา


      ดาวหางและดาวเคราะห์น้อยเป็นหินที่อยู่ในอวกาศทั้งคู่ แต่ความแตกต่างของพวกมันก็เป็นไปตามชื่อเรียก ดาวหางโดยปกติจะวิ่งมาจากระบบสุริยะส่วนนอกและมีวงโคจรที่ยาวนานและรี เป็นก้อนน้ำแข็งซึ่งจะเริ่มระเหิด(sublimate) เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ สร้างเป็นชั้นบรรยากาศฝุ่นที่พร่าเลือน(ซึ่งเรียกว่า โคมา; coma) และหางดาวหางที่เป็นที่มาของชื่อพวกมัน

     ส่วนดาวเคราะห์น้อยมักจะอยู่ในละแวกแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก(main asteroid belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคารและดาวพฤหัสฯ และมีวงโคจรที่คล้ายกับดาวเคราะห์มากกว่า ยังคิดกันว่าพวกมันค่อนข้างแห้งและเป็นหิน ดังนั้นจึงไม่น่าจะปล่อยก๊าซอย่างที่พบเห็นในญาติที่สวยงามน่าพิศวงมากกว่าได้

     อย่างไรก็ตาม หินอวกาศที่เพิ่งค้นพบใหม่ก้อนหนึ่ง ดูจะมีคุณลักษณะของวัตถุทั้งสอง (248370) 2005 QN173 อยู่ในแถบหลักเหมือนกับดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ อีกหลายล้านดวง วิ่งไปรอบดวงอาทิตย์ในวงโคจรที่เกือบกลมในสไตล์เดียวกับดาวเคราะห์

     แต่มันก็เหมือนกับดาวหาง เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้พบว่า 248370 แสดงสัญญาณการปล่อยก๊าซ เมื่อมันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด(เรียกจุดดังกล่าวในวงโคจรว่า perihelion) และหางดาวหางที่ยาว

     นี่น่าจะทำให้มันกลายเป็นลูกผสมซึ่งพบได้ยากของวัตถุทั้งสอง เป็นวัตถุชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่าดาวเคราะห์น้อยมีกิจกรรม(active asteroid) หรือดาวหางในแถบหลัก(main-belt comet) มีวัตถุในกลุ่มนี้เพียง 20 ดวงเท่านั้นท่ามกลางวัตถุในแถบหลักที่พบแล้วมากกว่าห้าแสนดวง และเป็นเพียงดวงที่ 8 ที่ยืนยันแล้วว่าเป็นกลุ่มนี้ ยิ่งกว่านั้น นักดาราศาสตร์ยังพบว่าวัตถุนี้มีกิจกรรมสูงกว่าดวงอื่นๆ

     พฤติกรรมนี้บ่งชี้อย่างรุนแรงว่ากิจกรรมของมันเกิดขึ้นเนื่องจากการระเหิดของวัสดุสารน้ำแข็ง Henry Hsieh นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ กล่าว สามารถนึกถึง 248370 ได้ทั้งเป็นดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง หรือจะให้จำเพาะกว่านั้น ก็คือ ดาวเคราะห์น้อยในแถบหลักดวงหนึ่งที่เพิ่งจะตระหนักเมื่อเร็วๆ นี้ว่าก็เป็นดาวหางด้วย มันตรงตามคำนิยามเกี่ยวกับดาวหางในทางกายภาพ ซึ่งมันน่าจะเป็นน้ำแข็งและกำลังผลักฝุ่นออกสู่อวกาศ แม้ว่ามันก็ยังมีวงโคจรแบบดาวเคราะห์น้อยอยู่

     พฤติกรรมทั้งสองด้านและเส้นแบ่งที่เลือนระหว่างสิ่งที่เคยคิดกันว่าเป็นวัตถุสองชนิดที่แตกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง(ดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง) น่าจะเป็นส่วนหลักที่ทำให้วัตถุเหล่านี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก

ภาพรวมประกอบแสดง (248370) 2005 QN173 ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์เฮลที่หอสังเกตการณ์พาโลมาร์ในคาลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2021 หัวหรือนิวเคลียสของดาวหางอยู่ทางมุมบนซ้าย ซึ่งมีหางพาดยาวเฉียงลงมาด้านขวา สลัวและยาวจากนิวเคลียสอย่างมาก ดาวในพื้นที่สำรวจปรากฏเป็นเส้นจุดสั้นๆ เนื่องจากการเคลื่อนที่ปรากฏของวัตถุในระบบสุริยะเทียบกับดาวที่พื้นหลังและกระบวนการซ้อนรวมภาพหลายภาพเพื่อเพิ่มการมองเห็นหาง 


     พฤติกรรมของ 248370 ถูกพบในวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 ในข้อมูลจากการสำรวจดาราศาสตร์ด้วยหุ่นยนต์ ATLAS(Asteroid Terrestrial-Impact Last Alert System) การยืนยันการสำรวจทำโดยกล้องโทรทรรศน์โลเวลล์ดิสคัฟเวอรี่ ได้แสดงสัญญาณของหางอย่างชัดเจน และการตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลจาก Zwicky Transient Facility ก็แสดงหางปรากฏมาตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ในระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคมถึง 14 สิงหาคม มีการสำรวจติดตามผลใหม่งานหนึ่งโดยกล้องโทรทรรศน์หลายตัวได้ยืนยันข้อมูลก่อนหน้านี้ ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักนี้เองที่พบว่า 248370 แสดงหางที่สวยงาม

     การตรวจสอบโดย Hsieh และทีมเผยให้เห็นว่านิวเคลียสดาวหาง ซึ่งเป็นก้อนหินที่หางโผล่ออกมา มีขนาดกว้างราว 3.2 กิโลเมตร ในเดือนกรกฎาคม หางก็ยาวไปมากกว่า 720,000 กิโลเมตร(หรือสามเท่าระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์) แต่กว้างเพียง 1400 กิโลเมตรเท่านั้น นี่แคบอย่างผิดเพี้ยนเมื่อเทียบกับความยาวของหาง ลองคิดว่าความยาวหางมีขนาดพอๆ กับความยาวของสนามฟุตบอล หางก็จะกว้างเพียง 10 เซนติเมตรเท่านั้น หางที่แคบอย่างสุดขั้วมากบอกเราว่าอนุภาคฝุ่นกำลังล่องลอยออกจากนิวเคลียสด้วยความเร็วที่ต่ำมากๆ และการไหลของก๊าซที่หนีออกจากดาวหางซึ่งปกติจะดันฝุ่นออกจากดาวหางสู่อวกาศก็อ่อนแออย่างสุดขั้วด้วย Hsieh อธิบาย

     ความเร็วที่ต่ำเช่นนั้นน่าจะทำให้ยากที่ฝุ่นจะหนีออกจากแรงโน้มถ่วงของนิวเคลียสด้วยตัวมันเองได้ ดังนั้นนี่บอกว่ามีสิ่งอื่นที่อาจจะช่วยให้ฝุ่นหนีออกมาได้ ยกตัวอย่างเช่น นิวเคลียสอาจจะกำลังหมุนรอบตัวเร็วมากพอที่จะช่วยเหวี่ยงฝุ่นออกสู่อวกาศซึ่งก็ลอยขึ้นมาแล้วจากก๊าซที่หนีออกมา ยังต้องมีการสำรวจต่อไปเพื่อยืนยันความเร็วการหมุนรอบตัวของนิวเคลียส

     การสำรวจต่อไปจะช่วยให้เราเข้าใจวัตถุชนิดนี้ได้ดีขึ้นด้วย จากการเข้าใจระบบสุริยะของเรา 248370 และดาวหางในแถบหลักอื่นๆ ไม่น่าจะมีอยู่ นั้นเป็นเพราะคิดกันว่าแถบดาวเคราะห์น้อยหลักอยู่มาตั้งแต่การก่อตัวของระบบสุริยะเมื่อราว 4.6 พันล้านปีก่อน แถบซึ่งอยู่ระหว่าง 2.2 ถึง 3.2 AU จากดวงอาทิตย์ ส่วนเส้นหิมะ(snow line) ของระบบสุริยะซึ่งเป็นจุดที่เย็นมากพอที่น้ำแข็งจะก่อตัวขึ้นในสูญญากาศได้ ก็อยู่ที่ราว 5 AU ดังนั้นจึงยังไม่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใด ดาวหางในแถบหลักจึงยังรักษาน้ำแข็งได้มากพอที่จะสร้างกิจกรรมการระเหิดแบบดาวหางได้



     นอกจากนี้ พวกมันอาจจะช่วยเราให้เข้าใจเกี่ยวกับโลกได้อีกไม่น้อยด้วยเช่นกัน ในช่วงต้นๆ ของระบบสุริยะ การชนจากดาวเคราะห์น้อยที่มีน้ำ น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำส่งน้ำมายังโลก ถ้าดาวหางในแถบหลักมีน้ำอยู่ เราก็อาจจะสามารถศึกษาแนวคิดนี้ต่อไปได้ ในระยะยาวแล้ว 248370 จะเป็นที่ที่ดีในการจับตาดูในระหว่างที่มันเดินทางเข้าใกล้จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดครั้งต่อไปในวันที่ 3 สิงหาคม 2026 นักวิจัยเขียนไว้ในรายงาน

     การจับตาดูในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีประโยชน์ล้ำค่าในการยืนยันธรรมชาติกิจกรรมของ248370 ที่อาจปรากฏซ้ำ(recurrent), ระบุวงโคจรที่กิจกรรมจะเกิดขึ้น(ซึ่งมีนัยยะต่อความลึกของน้ำแข็งบนวัตถุเช่นเดียวกับช่วงชีวิตของกิจกรรมนี้), ตรวจสอบอัตราการสร้างฝุ่น และเปรียบเทียบระดับกิจกรรมของวัตถุจากวงโคจรหนึ่งกับวงโคจรถัดไป เช่นเดียวกับกับดาวหางในแถบหลักดวงอื่นๆ ด้วย

     ดาวหางแถบหลักดวงแรกถูกพบในปี 2006 โดย Hsieh และ David Jewitt และพบอีกหลายดวงต่อมา งานวิจัยนำเสนอในการประชุมประจำปีครั้งที่ 53 ของแผนกวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ สมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน และเผยแพร่ใน Astrophysical Journal Letters


แหล่งข่าว sciencealert.com : weird space rock confirmed as super-rare hybrid of comet and asteroid
                phys.org : is new finding an asteroid or a comet? It’s both  

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...