ไกลออกไปในใจกลางกาแลคซีแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างไป 215 ล้านปีแสง มีแสงวาบสว่างจ้าปรากฏในความเวิ้งว้างของห้วงอวกาศ เป็นการเปล่งแสงสุดท้ายจากดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่กำลังจะตายเมื่อมันเพ่นพล่านเข้าไปใกล้และถูกหลุมดำมวลมหาศาลฉีกทึ้งเป็นชิ้น
นี่เป็นการแตกดับของดาวที่เกิดขึ้นใกล้ที่สุดเท่าที่เราเคยสำรวจพบมา
ได้ให้แง่มุมอันน่าเหลือเชื่อสู่กระบวนการที่รุนแรงนี้
แม้ว่าดาวที่แตกดับด้วยน้ำมือของหลุมดำจะเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก
แต่นักดาราศาสตร์ก็สำรวจเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้มากพอที่จะระบุภาพกว้างๆ
ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งวิ่งเข้าใกล้หลุมดำมากเกินไป แรงบีบฉีก(tidal
force) มหาศาลของหลุมดำซึ่งเป็นผลจากสนามแรงโน้มถ่วง
จะเริ่มยืดและจากนั้นก็ทึ้งดาวอย่างรุนแรงจนกระทั่งมันฉีกออกจากกันเป็นชิ้นๆ
เหตุการณ์ที่เรียกว่า TDE(Tidal
Disruption Events) นี้ได้สร้างแสงจ้าสว่างก่อนที่ชิ้นส่วนของดาวที่ถูกทำลายจะหายไปในขอบฟ้าสังเกตการณ์(event
horizon) ของหลุมดำ
แต่แสงวาบก็มักจะถูกปิดบังไว้บางส่วนโดยเมฆฝุ่น
ซึ่งทำให้การศึกษาในรายละเอียดที่สูงขึ้นนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ TDE ใหม่ซึ่งถูกพบครั้งแรกในเดือนกันยายนปีที่แล้ว
และมีชื่อว่า AT2019qiz ขณะนี้กำลังช่วยทีมนักดาราศาสตร์ซึ่งนำโดย
Matt Nicholl จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม
ในสหราชอาณาจักร เปิดช่องทางใหม่ๆ สู่กำเนิดของฝุ่นนี้
Samantha Oates นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กล่าวว่า
เราพบว่าเมื่อหลุมดำแห่งหนึ่งกลืนดาวดวงหนึ่งเข้าไป
มันก็อาจจะระเบิดมวลสารที่ทรงพลังออกมาซึ่งปิดบังการมองเห็นของเราไว้
นี่เกิดขึ้นเนื่องจากพลังงานที่หลุมดำเปล่งออกมาเมื่อกินวัสดุสารดาว
ได้ขับเศษซากดาวบางส่วนออกมา เมื่อมันเคลื่อนที่ออกไกลจากหลุมดำ
วัสดุสารนี้จะเย็นตัวลงกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการสำรวจ
TDEs ที่เกิดกับดาวเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ประหลาดในอวกาศเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำนาย
คุณแค่ต้องสำรวจท้องฟ้าอย่างต่อเนื่องและรอแสงวาบปรากฏขึ้น
และนั้นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ AT2019qiz และนักดาราศาสตร์ก็หันกล้องโทรทรรศน์ไปที่พื้นที่ขนาดเล็กแห่งหนึ่งบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวแม่น้ำ(Eridanus)
อย่างรวดเร็ว
และเป็นใจกลางของกาแลคซีกังหันแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป 215 ล้านปีแสง
การสำรวจท้องฟ้าหลายต่อหลายงานได้พบการเปล่งคลื่นจากเหตุการณ์การรบกวนด้วยแรงบีบฉีกครั้งใหม่ได้เร็วมากๆ หลังจากที่ดาวถูกฉีกออก Thomas Wevers นักดาราศาสตร์ ซึ่งขณะทำงานวิจัยนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร กล่าว เราหันกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและในอวกาศชุดหนึ่งได้แก่ กล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก(VLT) และกล้องโทรทรรศน์เทคโนโลจีใหม่ของหอสังเกตการณ์ทางใต้ของยุโรป(ESO), เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลกหอสังเกตการณ์ลาสคัมเปรส และดาวเทียมสวิฟท์ ไปในทิศทางนั้นในทันที เพื่อดูว่าแสงถูกสร้างได้อย่างไร
เมื่อดาวถูกฉีกทึ้งเป็นชิ้น
เศษซากที่เกิดขึ้นบางส่วนจะถูกยืดออกเป็นเส้นสปาเก็ตตี้(spaghettifies) กลายเป็นเส้นด้ายวัสดุสารยาวและบางที่ป้อนลงสู่หลุมดำ
แสงวาบที่เกิดขึ้นเป็นผลจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงและแรงเสียดทานที่รุนแรงมากในวัสดุสารที่สะสม(รอบหลุมดำ)
นี้ อิทธิพลเหล่านี้ทำให้วัสดุสารร้อนขึ้นจนมีอุณหภูมิสูงพอที่ TDE จะสว่างเกินแสงจากกาแลคซีต้นสังกัดของมันได้
จากแสงวาบช่วงต้น TDE ก็ค่อยๆ สลัวลงในช่วงเวลา 6 เดือนที่สำรวจ Nicholl และทีมสำรวจและตรวจสอบการสลัวลงของ AT2019qiz
อย่างระมัดระวังในหลายความยาวคลื่นแสง
ซึ่งรวมถึงอุลตราไวโอเลต, คลื่นวิทยุ, ช่วงตาเห็นและรังสีเอกซ์
ซึ่งก็มีโชคดีอีกครั้งเมื่อ TDEs จะเรืองในช่วงตาเห็นและอุลตราไวโอเลตเป็นส่วนใหญ่
แสงเหล่านี้ช่วยให้ทีมได้คำนวณมวลที่เกี่ยวข้องใน AT2019qiz และเป็นครั้งแรกที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างวัสดุสารที่ไหลออกจากดาวฤกษ์และการลุกจ้าสว่างที่เปล่งออกมาเมื่อมันถูกกลืนโดยหลุมดำ
การสำรวจได้แสดงว่าดาวมีมวลพอๆ
กับดวงอาทิตย์ของเรา และมันเสียมวลราวครึ่งหนึ่งให้กับหลุมดำ ซึ่งมีมวลมากกว่า 1
ล้านเท่า Nicholl ซึ่งเป็นนักวิจัยเยี่ยมเยือนที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ
กล่าว นอกจากการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็วแล้ว ระยะทางที่ใกล้ และการสำรวจในช่วงสเปคตรัมที่กว้างกว่าปกติ
พวกเขายังได้ตรวจสอบพบว่าฝุ่นที่ปกคลุมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ TDE และมีความเกี่ยวข้องกัน
เนื่องจากเราพบมันตั้งแต่ต้น
เราจึงได้เห็นว่าม่านฝุ่นและเศษซากถูกปัดเป่าออกไปเมื่อหลุมดำได้ระเบิดวัสดุสารออกมาด้วยความเร็วถึง
1 หมื่นกิโลเมตรต่อวินาที
Kate Alexander นักวิจัยนาซาที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น
กล่าว การได้แง้มหลังม่านนี้
จึงเป็นโอกาสแรกที่ช่วยให้ระบุกำเนิดของวัสดุสารที่ปิดบัง
และตามรอยว่ามันปกคลุมหลุมดำอย่างไรในเวลาจริง
AT2019qiz เป็นเหตุการณ์การรบกวนด้วยแรงบีบฉีกที่เกิดขึ้นใกล้ที่สุดเท่าที่เคยพบมา
และยังสำรวจตลอดช่วงสเปคตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย
นี่เป็นกรณีแรกที่เราได้เห็นหลักฐานโดยตรงของก๊าซที่กำลังไหลออกมาในระหว่างที่เกิดกระบวนการการรบกวนและการสะสมมวลสาร
ซึ่งอธิบายได้ทั้งการเปล่งคลื่นช่วงตาเห็นและคลื่นวิทยุที่เราได้เห็นในอดีต Edo
Berger นักดาราศาสตร์จากศูนย์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์
กล่าว
ลำดับเหตุการณ์ TDE
กระทั่งบัดนี้
ธรรมชาติของการเปล่งคลื่นเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างหนักหน่วง
แต่ถึงตอนนี้เราได้เห็นว่าการเปล่งคลื่นทั้งสองส่วนมีความเชื่อมโยงผ่านกระบวนการเดียว
เหตุการณ์นี้กำลังสอนเราเกี่ยวกับกระบวนการทางกายภาพในรายละเอียดของการสะสมมวลสารและการผลักมวลจากหลุมดำมวลมหาศาล
งานวิจัยนี้จึงเป็นงานศึกษา TDEs ที่ทำลายสถิติใหม่ๆ
เมื่อต้นปีนี้
นักวิจัยทีมหนึ่งเพิ่งยืนยันว่าเศษซากจากดาวที่ถูกรบกวนดวงหนึ่งบางส่วนก็หมุนวนเข้าสู่ดิสก์มวลสารที่ป้อนเข้าสู่หลุมดำ
เหมือนกับน้ำที่ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำทิ้ง TDE เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้าก็เผยให้เห็นว่ามีไอพ่นพลาสมาถูกยิงออกจากหลุมดำนั้น
เป็นสัดส่วนโดยตรงกับมวลของดาวที่มันกลืนไป และดาวดวงหนึ่งที่หนีออกจากการรบกวนได้แสดงว่าหลุมดำสามารถปันส่วนอาหารของมัน
และเก็บส่วนที่เหลือไว้กินในอีกไม่กี่พันล้านปีได้
แต่สำหรับ AT2019qiz นักวิจัยบอกว่าเป็นกรณีพิเศษที่ยังคงช่วยเหลือความพยายามของเราในการเข้าใจเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อเหล่านี้
พวกเขาเขียนในรายงานว่า มีข้อมูลที่มากมายจากที่นี่ ซึ่งจะทำให้ AT2019qiz เป็นเสมือนหินโรเซตตา(Rosetta stone) ในการแปลผลการสำรวจ TDE อื่นๆ
ในอนาคตในยุคที่มีตัวอย่างกลุ่มใหญ่ที่คาดว่าจะได้จาก Zwicky Transient
Facility, หอสังเกตการณ์รูบิน(Vela
Rubin Observatory) และการสำรวจใหม่ๆ
อื่นๆ ต่อไป งานวิจัยเผยแพร่ใน Monthly Notices of the Royal Astronomical
Society
แหล่งข่าว sciencealert.com
: witness the very last scream of light from a star devoured by a black hole
spaceref.com : the last
moments of a star devoured by a black hole
ifscience.com : astronomers
catch closest star getting ripped apart by a black hole
No comments:
Post a Comment