Tuesday 10 March 2020

NGC253 : Sculpture Galaxy




วัตถุทุกชนิดต่างก็มีแรงดึงดูดเข้าหากันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมวล มนุษย์ อากาศ ดิน ดาวเทียม ดวงจันทร์ ต่างก็อยู่ใต้แรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงของโลก โลกกับดาวเคราะห์ทั้งหมดก็อยู่ใต้แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ ทำให้โคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่ลอยออกไปไหน

ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ทุกดวงที่เราเห็นต่างก็โคจรไปรอบแรงดึงดูดของหลุมดำขนาดยักษ์ที่ใจกลางทางช้างเผือก และยังไม่จบแค่นั้น ดาราจักรทางช้างเผือกและกาแลกซี่ใกล้เคียงคือ ดาราจักรแอนโดรเมด้า ดาราจักรไทรแองกูลั่ม และอีกกว่า 50 ดาราจักรต่างก็ดึงดูดซึ่งกันและกัน โคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลร่วมกัน

กลุ่มดาราจักรที่เราอยู่ด้วยนี้เรียกว่า “กลุ่มดาราจักรท้องถิ่น” และกลุ่มดาราจักรก็ไม่ได้มีแค่กลุ่มท้องถิ่นกลุ่มเดียว ยังมีอีกหลายกลุ่มฃ กลุ่มที่อยู่ใกล้กลุ่มท้องถิ่นของเรามากที่สุดคือ “กลุ่มดาราจักรสครับเจอร์” มี NGC253 เป็นดาราจักรที่สว่างที่สุด

กลุ่มกาแลกซี่ท้องถิ่น (Local Group) และกาแลกซี่ใกล้เคียง
ทางช้างเผือกอยู่ตรงกลาง Cr: Wiki Common [click]

ดาราจักรสครับเจอร์เป็นหนึ่งในดาราจักรที่สว่างและดูง่ายที่สุดตัวหนึ่งบนฟ้า มองเห็นได้จากกล้องสองตาหรือกล้องเล็ง ภาพจากกล้องหักเหแสงสี่นิ้วเหมือนใครเอาชอร์คมาขีดทิ้งไว้ตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตก จุดเริ่มต้นจางแล้วสว่างมากตรงกลางจากนั้นค่อยเบามือจางหายไป ขนาดที่เห็นยาวประมาณครึ่งองศาเท่ากับพระจันทร์เต็มดวง

รายละเอียดของตัวดาราจักรจะเริ่มเปิดเผยมากขึ้นเมื่อดูผ่านกล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไป ผมก็เริ่มมองเห็นรายละะเอียดบางอย่างที่ใจกลางเป็นจุดสว่างกระจายทั่วไป ตัวดาราจักรสว่างมากในเลนส์ตา แม้ว่าคุณภาพท้องฟ้าคืนนั้นแค่ปานกลาง มองเห็นดาวจางสุดราวแมกนิจูด 4 กว่า แนะนำให้สังเกตเมื่ออยู่สูงใกล้กลางฟ้าจะดีที่สุด

NGC253 อยู่ใกล้เขตติดต่อระหว่างกลุ่มดาวสครับเจอร์กับซีตัสทางท้องฟ้าซีกใต้ ห่างจากเบต้าเซติไปทางใต้ 7องศาครึ่ง เราเริ่มจากซีตัสเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าเพราะกลุ่มดาวสครับเจอร์จางมองยาก NGC253 ค้นพบโดย คาโรไลน์ เฮอร์เชลระหว่างกวาดหาดาวหางในคืนวันที่ 28 กันยายน 1783 ประมาณกันว่ามีขนาดราว 70,000ปีแสงใกล้เคียงกับทางช้างเผือก

คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Sculpture Galaxy
Catalog Number : NGC253
Type: Spiral Galaxy
Magnitude: 7.07
Dimension: 26.9’x4.6’
Constellation: Sculpture
Distance: 12 Mly

Coordinate:
RA: 00h 48m 30.44s
DEC:-25°10’56.2"

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...