Thursday 26 March 2020

NGC2175 : Monkey Head Nebula




ชายแดนระหว่างโอไรออนกับเจมินี่ ใกล้ปลายกระบองของนายพราน มีเนบิวล่าที่ผู้คนมักจะมองข้าม NGC2174/NGC2175 หรือ Monkey Head Nebula เนบิวล่าตัวนี้เป็นทรงกลมจางขนาดใหญ่ล้อมรอบดาวมัคิจูด 8 ดวงหนึ่ง หากฟ้าดีพอเราสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา

NGC2174 และ NGC2175 เป็นเนบิวล่าที่มีความสับสนในการระบุชื่อและชนิดของออบเจคตัวหนึ่ง หนังสือบางเล่มบอกว่า NGC2175 เป็นกระจุกดาว NGC2174 เป็นเนบิวล่า บางเล่มก็สลับกัน บางเล่มก็ให้ NGC2175 เป็นทั้งกระจุกดาวและเนบิวล่า โดยไม่กล่าวถึงอีกตัว

ในปี 1931นักดาราศาสตร์ชาวสวีเดน Per Collinder ตีพิมพ์รายการการะจุกดาวที่เรียกกันว่า Collinder Catalog ในนั้นมี Collinder 84 ตรงกับ NGC2175 ที่ทำให้เกิดความสงสัยเพราะพื้นที่ตรงนี้ดูไม่เหมือนกระจุกดาวไม่ว่าจากภาพถ่ายหรือดูด้วยตาจากกล้องดูดาว ซึ่งนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสับสน

ภาพถ่าย NGC2175 โดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธ์

หากยึดตามนิตยสาร Sky&Telescope ปัจจุบันนั้น NGC2175 คือเนบิวล่าทั้งหมดและ NGC2174 เป็นปมแสงที่อยู่ทางทิศเหนือ ที่ตรงกับคำอธิบายของ Edouard Stephan ผู้ค้นพบว่า “จางมาก อยู่ระหว่างดาวจางมาก 3 ดวง” ส่วน Collinder 84 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน นอกจากนั้นทางทิศะวันตกของดาวที่ใจกลางยังมีปมแสงอีกจุดที่เห็นได้ชัดในภาพถ่าย มีชื่อว่า Sh2-252E

กลับมาที่สิ่งที่เห็นด้วยตาของเราเอง ภาวะโลกร้อนทำให้ยุคนี้เรามีปัญหาเรื่องหมอกควันมากขึ้นเมื่อรวมกับปัญหาเรื่องมลภาวะทางแสงแล้วทำให้เนบิวล่าที่จางอยู่แล้วมักจะจมหายไป แม้จะใช้กล้องหักเหแสงขนาดสี่นิ้วคุณภาพดี ก็ยังต้องอาศัยฟิลเตอร์ เป็นตัวช่วย

ฟิลเตอร์ UHC ช่วยให้เนบูล่าสว่างขึ้นมาก มีดาวสว่างมัคนิจูด 8 อยู่ตรงกลาง และมีอีก 4-5 ดวงอยู่ภายในเนบูล่าทางทิศตะวันออก ตัวเนบูล่ามีลักษณะเป็นวงกลมขอบฟุ้งขนาดใหญ่ มีความสว่างจากตรงกลางแล้วค่อยจางลงออกไปอย่างนุ่มนวล แถบมืดในตัวเนบูล่ามองเห็นได้ด้วยการมองเหลือบ ส่วนปมแสงอีกสองจุด NGC2174 และ Sh2-252E ต้องใช้กล้องดูดาวขนาด 10 นิ้วขึ้นไปครับ

NGC 2174 หรือ Monkey Head ตำแหน่งอยู่ห่างจากปลายกระบองของนายพรานหรือ ไคสอง (χ2) โอไรออนนิส ไปทางทิศตะวันออกราว 1.5 องศา และห่างจากเอ็ม 35 ไปทางทิศใต้ 4 องศา

คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลพื้นฐาน
Name: Monkey Head
Catalog Number: NGC2175/2174
Type: Emission Nebula
Visual Magnitude: 7.6
Dimension: 40.0 x 30.0'
Constellation: Orion

Coordinates:
RA: 06h 10m 45.27s
DEC:+20°29' 36.9”

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...