Tuesday, 31 March 2020

ติดอยู่บ้านทัวร์ดาวคู่

แม้จะต้องติดอยู่กับบ้านแต่เทวดายังสงเคราะห์ให้ฟ้าเปิดทุกวัน ท่ามกลางแสงสว่างจากเมืองและที่อยู่อาศัยตามชานเมือง ออบเจคอย่าง “ดาวคู่” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ

เมื่อเริ่มดูดาวผมไม่มองดาวคู่เลย เนบิวล่าหรือกระจุกดาวน่าสนใจกว่ามาก แต่เมื่อสถานะการณ์บังคับต้องมาดู “ดาว” จริงๆแบบนี้ ก็พบความประหลาดใจว่าดาวคู่มีดีกว่าที่คิด

เริ่มที่เท้าซ้ายของโอไรออนหรือ “ไรเจล” ดาวสีน้ำเงิน-ขาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวโอไรออน คู่ของไรเจลเรียกว่า ไรเจล บี สว่างแค่ 7 มัคนิจูดแตกต่างจากจากไรเจล เอ 500 เท่า ทำให้แยกได้ยาก ผมเริ่มเห็นเป็นสองดวงที่กำลังขยาย 85 เท่าจากกล้องหักเหแสงสี่นิ้ว เป็นภาพที่น่ารักดีเหมือนแม่กระเตงลูกตัวน้อยไว้ตลอดเวลา

ไรเจลหรือเบต้าโอไรออนนิสสเก็ทช์จากกล้องดูดาว 8" f5 @56x โดยผู้เขียน
ไรเจล บี ดวงจิ๋วอยู่ทางทิศใต้ของดาวหลัก
ภาพนี้จะใกล้เคียงจากกล้องหักเหแสง 4” ที่ 85x

ขยับไปที่ “32 อิริดานิ” ดวงนี้ถ้าไม่เห็นกลุ่มดาวแม่น้ำจะฮอบยากหน่อย คำแนะนำคือเริ่มจากดาวเคอร์ซ่าที่เป็นเหมือนตาน้ำข้างไรเจล แล้วไล่ตามแม่น้ำจนพบดาวเคอิดและเบอิด เป้าหมายของเราจะห่างออกไป 7 องศาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเบอิด ใครที่ใช้ goto จะง่ายกว่าแต่จะไม่ได้สัมผัสรสชาดของความสำเร็จเหมือนหาเองจนเจอครับ :)

“32 อิริดานิ เอ” มีสีเหลืองทอง สว่างมัคนิจูด 5 ส่วน 32 อิริดานิ บี สีฟ้าอมเขียว มัคนิจูด 6 เป็นคู่จิ๋วที่สีสดใส ผมดูด้วยกล้องหักเหแสง 4 นิ้ว ทางยาวโฟกัส 640 มม เริ่มแยกดาวออกเป็นสองดวงที่กำลังขยาย 36 เท่า ภาพที่เห็นน่ารักมาก คู่นี้ห่างกัน 7 อาร์คเซคั่น (ฟิลิปดา)


32 อิริดานิภาพสเก็ทช์จากกล้องหักเหแสง 4" f6.4 เป็นอีกดวงที่สีสวย

ต่ำลงไปใต้นายพรานในกลุ่มดาวลีปุสหรือกระตายป่า “แกมม่าลีปุริส” คู่นี้แยกง่ายระยะห่าง 95” ดวงหลักสีอมเหลืองเล็กน้อย ดวงรองสีอมส้ม หามองไม่เห็นกลุ่มดาวลีปุส ลองใช้กล้องสองตาสำรวจก่อนเพื่อหาจุดเริ่มต้นสำหรับฮอบ หรือไม่ก็เริ่มต้นจากไรเจลแม้จะฮอบไกลหน่อยแต่มองเห็นชัดเจนดี

ทางซ้ายมือของกระต่ายป่า “ซิริอุส” หรือดาวโจร สว่างสดใส ดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวคานิสเมเจอร์หรือสุนัขใหญ่และสว่างที่สุดบนฟ้า เป็นดาวคู่ที่ท้าทายที่สุดคู่หนึ่ง Sirius B หรือ “The Pup” ค่าความสว่าง 8.5 ปีนี้ห่างจาก Sirius A ประมาณ 11” ใกล้ถึงจุดที่ห่างกันที่สุดในอีกสองปีข้างหน้า

ความสว่างที่แตกต่างกัน 10,000 เท่าทำให้ The Pup ซ่อนอยู่ใต้แสงจ้าของ ซิริอุส เอ ผมพยายามหลายครั้งและไม่เคยสำเร็จสักที ใครมีนิวโตเนี่ยน 8 นิ้วขึ้นไปน่าลองครับ

145 คานิสเเจอริสดาวคู่ที่มีสีสันสดใสที่สุดดวงหนึ่งบนฟ้า
ภาพสเก็ทช์จากกล้องหักเหแสง 4" f6.4 @36x


“145 คานิสเมเจอริส” เขียนย่อว่า 145 CMa ดาวคู่ที่มีสีสดใสมากที่สุดคู่หนึ่งบนฟ้า แต่อาภัพนักเพราะคนมักมองข้ามไป อาจเพราะไม่สว่างเท่าไหร่ ดวงหลักสีแดงส้ม ดวงรองสีฟ้า สีใกล้เคียงกับดาวอัลเบอริโอ้หรือหัวหงส์มากจนได้ชื่อว่า “อัลเบอริโอ้แห่งฟ้าใต้”

ตำแหน่งหาไม่ยากห่างจากดาววีเซ่นหรือเดลต้าคานิสเมเจอริสที่มองเห็นด้วยตาเปล่าจากชานเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สามองศาครึ่ง ระยะแยก 26 ฟิลิปดาผมแยกได้ตั้งแต่กำลังขยาย 21 เท่า หากดูด้วยกล้องสองตาจะมองเห็นเป็นสีส้มแดงชัดเจน

แผนที่จาก SkySafari [คลิกภาพเพื่อขยาย]

ขอให้สนุกและมีความสุขกับการอยู่บ้านครับ :)


Thursday, 26 March 2020

NGC2175 : Monkey Head Nebula




ชายแดนระหว่างโอไรออนกับเจมินี่ ใกล้ปลายกระบองของนายพราน มีเนบิวล่าที่ผู้คนมักจะมองข้าม NGC2174/NGC2175 หรือ Monkey Head Nebula เนบิวล่าตัวนี้เป็นทรงกลมจางขนาดใหญ่ล้อมรอบดาวมัคิจูด 8 ดวงหนึ่ง หากฟ้าดีพอเราสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา

NGC2174 และ NGC2175 เป็นเนบิวล่าที่มีความสับสนในการระบุชื่อและชนิดของออบเจคตัวหนึ่ง หนังสือบางเล่มบอกว่า NGC2175 เป็นกระจุกดาว NGC2174 เป็นเนบิวล่า บางเล่มก็สลับกัน บางเล่มก็ให้ NGC2175 เป็นทั้งกระจุกดาวและเนบิวล่า โดยไม่กล่าวถึงอีกตัว

ในปี 1931นักดาราศาสตร์ชาวสวีเดน Per Collinder ตีพิมพ์รายการการะจุกดาวที่เรียกกันว่า Collinder Catalog ในนั้นมี Collinder 84 ตรงกับ NGC2175 ที่ทำให้เกิดความสงสัยเพราะพื้นที่ตรงนี้ดูไม่เหมือนกระจุกดาวไม่ว่าจากภาพถ่ายหรือดูด้วยตาจากกล้องดูดาว ซึ่งนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสับสน

ภาพถ่าย NGC2175 โดยคุณตระกูลจิตร จิตตไสยพันธ์

หากยึดตามนิตยสาร Sky&Telescope ปัจจุบันนั้น NGC2175 คือเนบิวล่าทั้งหมดและ NGC2174 เป็นปมแสงที่อยู่ทางทิศเหนือ ที่ตรงกับคำอธิบายของ Edouard Stephan ผู้ค้นพบว่า “จางมาก อยู่ระหว่างดาวจางมาก 3 ดวง” ส่วน Collinder 84 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน นอกจากนั้นทางทิศะวันตกของดาวที่ใจกลางยังมีปมแสงอีกจุดที่เห็นได้ชัดในภาพถ่าย มีชื่อว่า Sh2-252E

กลับมาที่สิ่งที่เห็นด้วยตาของเราเอง ภาวะโลกร้อนทำให้ยุคนี้เรามีปัญหาเรื่องหมอกควันมากขึ้นเมื่อรวมกับปัญหาเรื่องมลภาวะทางแสงแล้วทำให้เนบิวล่าที่จางอยู่แล้วมักจะจมหายไป แม้จะใช้กล้องหักเหแสงขนาดสี่นิ้วคุณภาพดี ก็ยังต้องอาศัยฟิลเตอร์ เป็นตัวช่วย

ฟิลเตอร์ UHC ช่วยให้เนบูล่าสว่างขึ้นมาก มีดาวสว่างมัคนิจูด 8 อยู่ตรงกลาง และมีอีก 4-5 ดวงอยู่ภายในเนบูล่าทางทิศตะวันออก ตัวเนบูล่ามีลักษณะเป็นวงกลมขอบฟุ้งขนาดใหญ่ มีความสว่างจากตรงกลางแล้วค่อยจางลงออกไปอย่างนุ่มนวล แถบมืดในตัวเนบูล่ามองเห็นได้ด้วยการมองเหลือบ ส่วนปมแสงอีกสองจุด NGC2174 และ Sh2-252E ต้องใช้กล้องดูดาวขนาด 10 นิ้วขึ้นไปครับ

NGC 2174 หรือ Monkey Head ตำแหน่งอยู่ห่างจากปลายกระบองของนายพรานหรือ ไคสอง (χ2) โอไรออนนิส ไปทางทิศตะวันออกราว 1.5 องศา และห่างจากเอ็ม 35 ไปทางทิศใต้ 4 องศา

คลิกภาพเพื่อขยาย


ข้อมูลพื้นฐาน
Name: Monkey Head
Catalog Number: NGC2175/2174
Type: Emission Nebula
Visual Magnitude: 7.6
Dimension: 40.0 x 30.0'
Constellation: Orion

Coordinates:
RA: 06h 10m 45.27s
DEC:+20°29' 36.9”

Wednesday, 11 March 2020

NGC2359 : Duck Nebula/Thor's Helmet




ดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าโลกราวร้อยเท่าเศษ มีมวลมากกว่าสามแสนสามหมื่นเท่า อุณหภูมิราวหมื่นองศาเซลเซียส เรียกว่าใหญ่มากแล้ว แต่ยังมีดาวฤกษ์ประเภทหนึ่งที่สุดขั้วกว่าดวงอาทิตย์มาก เราเรียกว่าดาว “วูลฟ์-ราเยท์ - Wolf-Rayet” ดาวประเภทนี้มีขนาดใหญ่ มวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 20 เท่าขึ้นไป สว่างกว่าล้านเท่า และมีอุณหภูมิสูงถึง 50,000 องศาเซลเซียส พบแล้วในทางช้างเผือกราว 500 ดวง

เมื่อมวลสูงปฎิกริยานิวเคลียส์ฟิวชั่นก็รุนแรงตาม เกิดกระแสดาราวาต (Stellawind) รุนแรงตามไปด้วย แรงจนเป่ามวลสารกระจายออกจากตัวดาว มองเห็นเป็นเนบิวล่าเรืองแสงล้อมรอบ

ในกลุ่มดาวคานิสเมเจอร์หรือหมาใหญ่มีเนบิวล่าที่เกิดจากดาววูลฟ์-ราเยท์เป่าออกมา เนบิวล่าตัวนี้พอมองเห็นจางๆจากกล้องสะท้อนแสง 8 นิ้ว แต่เมื่อดูผ่านฟิลเตอร์ OIII เนบิวล่าสว่างมากจนไม่น่าเชื่อ ส่วนดาว WR7 หรือ HD56925 ที่เป็นต้นกำเนิดเนบิวล่าพอมองเห็นเมื่อไม่ใช้ฟิลเตอร์

ความสว่างเมื่อดูผ่านฟิลเตอร์ ออกซิเจน III สอดคล้องกับข้อเท็จจริง มวลสารที่ดาราวาตเป่าออกมาส่วนมากเป็นออกซิเจน ที่เมื่อถูกกระตุ้นด้วยพลังงานจากตัวดาวก็แตกเป็นอิออนให้แสงโทนสีฟ้า-เขียว ดังที่ปรากฎในภาพถ่าย

NGC2359 ก็ตอบสนองกับฟิลเตอร์ UHC ได้ดีเช่นกันและภาพที่ได้ก็ดูง่ายกว่า ตัวเนบิวล่าแม้ไม่สว่างเท่าดูผ่าน OIII แต่ก็มีรายละเอียดมากกว่า รูปร่างของเนบิวล่าจากกล้อง 8 นิ้วดูเหมือนหอยทากมาก หากอยากเห็นเป็นหมวกของธอร์คงต้องใช้กล้องดูดาวขนาด 12-13 นิ้วขึ้นไป

การหาตำแหน่งไม่ง่ายนักเพราะดาวเยอะ จางและมองไม่เห็นเนบิวล่าในกล้องเล็ง อาจจะต้องใช้เลนส์ตาที่กว้างที่สุดแล้วฮอบไปช้าๆ เส้นทางที่แนะนำเริ่มจากแกมม่า คานิสเมเจอริส ไปกระจุกดาว NGC2360 ทางทิศตะวันออก จากนั้นขึ้นเหนือไปอีกราวสององศาครึ่งจะเจอเป้าหมาย ดาวบริเวณนี้ค่อนข้างเยอะและจางทำให้ฮอบยากสักหน่อยครับ

คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Duck Nebula/Thor’s Helmet
Catalog number: NGC2359
Type: Emission Nebula
Constellation: Canis Major
Visual Magnitude: +11.50
Apparent Size : 8’x6’
Distance: 1800 ly

Coordinates :R.A. 07h 19m 31.16s
Dec. -13° 14’ 14.8”

อ้างอิง
SkySafari
https://earthsky.org/space/wolf-rayets-are-the-most-massive-and-brightest-stars-known
https://www.facebook.com/ThaiStargazers/posts/614040439152407:0?__tn__=K-R

Tuesday, 10 March 2020

NGC253 : Sculpture Galaxy




วัตถุทุกชนิดต่างก็มีแรงดึงดูดเข้าหากันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมวล มนุษย์ อากาศ ดิน ดาวเทียม ดวงจันทร์ ต่างก็อยู่ใต้แรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงของโลก โลกกับดาวเคราะห์ทั้งหมดก็อยู่ใต้แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ ทำให้โคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่ลอยออกไปไหน

ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ทุกดวงที่เราเห็นต่างก็โคจรไปรอบแรงดึงดูดของหลุมดำขนาดยักษ์ที่ใจกลางทางช้างเผือก และยังไม่จบแค่นั้น ดาราจักรทางช้างเผือกและกาแลกซี่ใกล้เคียงคือ ดาราจักรแอนโดรเมด้า ดาราจักรไทรแองกูลั่ม และอีกกว่า 50 ดาราจักรต่างก็ดึงดูดซึ่งกันและกัน โคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลร่วมกัน

กลุ่มดาราจักรที่เราอยู่ด้วยนี้เรียกว่า “กลุ่มดาราจักรท้องถิ่น” และกลุ่มดาราจักรก็ไม่ได้มีแค่กลุ่มท้องถิ่นกลุ่มเดียว ยังมีอีกหลายกลุ่มฃ กลุ่มที่อยู่ใกล้กลุ่มท้องถิ่นของเรามากที่สุดคือ “กลุ่มดาราจักรสครับเจอร์” มี NGC253 เป็นดาราจักรที่สว่างที่สุด

กลุ่มกาแลกซี่ท้องถิ่น (Local Group) และกาแลกซี่ใกล้เคียง
ทางช้างเผือกอยู่ตรงกลาง Cr: Wiki Common [click]

ดาราจักรสครับเจอร์เป็นหนึ่งในดาราจักรที่สว่างและดูง่ายที่สุดตัวหนึ่งบนฟ้า มองเห็นได้จากกล้องสองตาหรือกล้องเล็ง ภาพจากกล้องหักเหแสงสี่นิ้วเหมือนใครเอาชอร์คมาขีดทิ้งไว้ตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตก จุดเริ่มต้นจางแล้วสว่างมากตรงกลางจากนั้นค่อยเบามือจางหายไป ขนาดที่เห็นยาวประมาณครึ่งองศาเท่ากับพระจันทร์เต็มดวง

รายละเอียดของตัวดาราจักรจะเริ่มเปิดเผยมากขึ้นเมื่อดูผ่านกล้องดูดาวขนาด 8 นิ้วขึ้นไป ผมก็เริ่มมองเห็นรายละะเอียดบางอย่างที่ใจกลางเป็นจุดสว่างกระจายทั่วไป ตัวดาราจักรสว่างมากในเลนส์ตา แม้ว่าคุณภาพท้องฟ้าคืนนั้นแค่ปานกลาง มองเห็นดาวจางสุดราวแมกนิจูด 4 กว่า แนะนำให้สังเกตเมื่ออยู่สูงใกล้กลางฟ้าจะดีที่สุด

NGC253 อยู่ใกล้เขตติดต่อระหว่างกลุ่มดาวสครับเจอร์กับซีตัสทางท้องฟ้าซีกใต้ ห่างจากเบต้าเซติไปทางใต้ 7องศาครึ่ง เราเริ่มจากซีตัสเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าเพราะกลุ่มดาวสครับเจอร์จางมองยาก NGC253 ค้นพบโดย คาโรไลน์ เฮอร์เชลระหว่างกวาดหาดาวหางในคืนวันที่ 28 กันยายน 1783 ประมาณกันว่ามีขนาดราว 70,000ปีแสงใกล้เคียงกับทางช้างเผือก

คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Sculpture Galaxy
Catalog Number : NGC253
Type: Spiral Galaxy
Magnitude: 7.07
Dimension: 26.9’x4.6’
Constellation: Sculpture
Distance: 12 Mly

Coordinate:
RA: 00h 48m 30.44s
DEC:-25°10’56.2"

อ้างอิง
Robert Burnham, Burnham’s Celestial Handbook
SkySafari

Tuesday, 3 March 2020

NGC1514 : Crystal Ball Nebula




เมื่อเรามองเห็นแสงฟุ้งในเลนส์ตา สิ่งที่เป็นไปได้มีสองแบบคือเป็นกลุ่มกาซที่ในอวกาศที่เรียกว่าเนบิวลา หรือเป็นกลุ่มของดาวที่จางเกินกว่ากำลังของกล้องดูดาวจะแยกเป็นภาพ ต้องอาศัยกล้องดูดาวขนาดใหญ่ขึ้นถึงจะเริ่มแยกแสงฟุ้งออกเป็นดาวหลายดวงได้

ในช่วงแรกของการสำรวจท้องฟ้า วิลเลี่ยม เฮอร์เชลยังไม่รู้จักธรรมชาติของเนบิวล่าดาวเคราะห์ เขาคิดว่าเนบิวล่าที่ล้อมรอบเป็นแสงจากกระจุกดาวที่ไกลเกินกว่าจะมองเห็นเป็นดวง

จนกระทั่งในคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 1790 เฮอร์เชลพบ NGC1514 ความคิดเรื่องเนบิวล่าดาวเคราะห์ก็ได้รับการเปลี่ยนแปลง และถ้อยคำของเฮอร์เชลชวนให้ออกไปวางกล้องดูดาวเสียทันที

“สิ่งที่แปลกไม่เหมือนใคร! ดาวสว่างแมกนิจูดที่ 8 ล้อมรอบด้วยบรรยากาศเบาบางเป็นทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางราว 3 นาที ดาวดวงนั้นอยู่ใจกลางพอดี ชั้นบรรยากาศเบาบาง จางและสม่ำเสมอจนไม่คิดว่าจะเป็นดาว(ที่ไกลออกไป) และทำให้เกิดข้อสงสัยในความเกี่ยวข้องระหว่างชั้นบรรยากาศกับดาวฤกษ์ที่ใจกลาง”

NGC1514 แม้จะอยู่ในเขตของกลุ่มดาวทอรัสและไม่ไกลจากกระจุกดาวลูกไก่นัก แต่การฮอบเริ่มจากซีต้า (ζ) เพอร์เซอิดจะสะดวกที่สุด คริสตัลบอลห่างจากดาวดวงนี้ไปทางตะวันออกแค่สามองศาครึ่ง จุดสังเกตคือดาวสว่างมัคนิจูด 8 สามดวงที่เรียงเกือบเป็นเส้นตรง NGC1514 คือดวงกลาง

สำหรับกล้องดูดาวขนาดเล็กและขนาดกลางจำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ UHC หรือ OIII เป็นตัวช่วย ภาพจากกล้องหักเหแสงสี่นิ้วเป็นฝ้าขนาดเล็กกลม ล้อมรอบดาวดวงหนึ่ง เป็นตัวทีเหมาะกับกล้องดูดาวที่ใหญ่ตั้งแต่ 8” ขึ้นไปที่กำลังขยายสูง


คลิกภาพเพื่อขยาย


Name: Crystal Ball
Catalog number: NGC1514
Type: Planetary Nebula
Constellation: Taurus
Visual Magnitude: +10.89
Dimension: 2.3x2.0’
Distance: 2400 ly

Coordinates :R.A. 04h 10m 31.93s
Dec. +30° 49’ 37.5”

อ้างอิง
http://spider.seds.org/spider/Misc/n1514.html
wikipedia.org

Monday, 2 March 2020

Ikeya-Seiki, The Great Comet of 1965






“ชาวบ้านบางคนเรียกว่าดาวไม้กวาด เพราะมีด้ามยาวและปลายบานหน่อยๆ...หลังจากนั้นไม่เห็นว่ามีดาวหางดวงไหนเป็นดาวหางอีกเลย แม้แต่ฮัลเลย์ก็ยังผิดหวัง”


คุณภูมิภาค เส็งสายเล่าให้ผมฟังในค่ำคืนหนึ่งที่ไร่เขาน้อยสุวณา ใกล้เขาใหญ่ แม้เวลาผ่านมา 55 ปีแต่ดาวหางอิเคยะ-เซกิยังชัดเจนในความทรงจำ

ดาวหางอิเคยะเซกิเป็นดาวหางคาบยาว 877 ปี ค้นพบโดยชาวญี่ปุ่นสองคนคือคาโอรุ อิเคยะและซึโตมิเซกิในเช้าวันที่ 18 กันยายน 1965 และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1965 เป็นดาวหางในกลุ่มที่เรียกว่า Sun-Grazing Comet

Sun grazing Comet เป็นดาวหางประเภทที่โคจรเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากจนน้ำแข็งและฝุ่นบนก้อนดาวหางโดนเป่าออกมาสว่างเป็นเป็นทางยาว ดาวหางกลุ่มนี้หลายดวงจะสลายแตกตัวไปเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เพราะทนแรงเค้นไม่ไหว มีไม่มากที่สามารถรอดออกไปได้ เพราะเหตุนี้ดาวหางสว่างเด่นมีหางยาวในอดีตเกือบทั้งหมดจะอยู่ในกลุ่มนี้

85%ของ Sungrazing comet จะวิ่งอยู่บนวงโคจรเดียวกัน เราเรียกดาวหางกลุ่มนี้ว่า Kreutz Sungrazers นักดาราศาสตร์คาดว่าในอดีตมีดาวหางขนาดใหญ่ดวงหนึ่งผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์แล้วแตกตัวออกเป็นก้อนดาวหางขนาดเล็กจำนวนมาก

“คืนนั้นอากาศร้อนผมออกมานอนที่ระเบียงบ้านทางทิศตะวันออก แม่ผมปลุกให้ตื่นมาดูดาวเห็นว่ามันสวยดี เป็นครั้งแรกที่รู้จักดาวหาง สว่างมาก หัวดาวหางอยู่ใกล้ขอบฟ้า หางยาวชี้ขึ้นไปบนฟ้าเกือบ 45 องศา ด้านบนส่วนปลายโค้งไปทางทิศเหนือหน่อยๆ” คุณภูมิภาคเล่าให้ฟัง

คุณภูมิภาคจำไม่ได้แน่ว่าเดือนอะไร แต่ผมคาดว่าน่าจะเป็นราวกลางเดือนถึงปลายเดือนตุลาคม 2508 เพราะอิเคยะเซกิเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือ 21 ตุลาคม แรกที่เห็นดาวหางจะอยู่สูงแล้วค่อยๆต่ำลงไปทางขอบฟ้าตามวันเวลาที่ผ่านไป

“มองเห็นอยู่เป็นเดือนๆด้วยตาเปล่า นานไปหัวหายไปแล้ว เหลือแต่หางที่ยังโผล่ให้เห็นจากขอบฟ้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น...” ผมเปิดแผนที่ดาวให้ย้อนเวลากลับไปพบว่า ทางทิศตะวันออกเวลานั้นมีกลุ่มดาวสิงโตขึ้นจากขอบฟ้าตามมาด้วยโคม่าเบเรนิซ หากได้เห็นด้วยตาตัวเองคงจะประทับอยู่ในใจเหมือนกับคุณภูมิภาคแน่นอน

เมื่อไหร่ถึงจะมี “The Great Comet” เช่นนี้กลับมาอีก เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบครับ



คุณภูมิภาค เป็นผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป Deep Sky Object
และเป็นคนไทยคนแรกที่ถ่ายรูปแมสซายเออร์ออบเจคครบทั้ง 110 ตัว


EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...