TRAPPIST-1 เป็นระบบดาวเคราะห์ต่างด้าวที่น่าทึ่ง มีพิภพ 7
แห่งโคจรรอบดาวฤกษ์แคระแดงดวงหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง
40 ปีแสงเท่านั้น
พิภพทั้งหมดที่นั่นมีความใกล้เคียงกับโลกทั้งขนาดและมวล
และมีสามหรือสี่ดวงที่น่าจะเอื้ออาศัยได้
ลองจินตนาการถึงระบบที่มีพิภพที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิต
อยู่ในระยะที่เดินทางถึงกันและกันได้โดยง่าย เป็นความฝันที่น่าภิรมย์
แต่ตามที่การศึกษาใหม่บอกว่าไม่น่าจะมีชีวิตปรากฏในระบบดาวเคราะห์แห่งนี้
เป็นไปได้มากที่ดาวเคราะห์จะโล่งแล้งและไร้ชั้นบรรยากาศ
ระบบ TRAPPIST ได้รับความสนใจอย่างมากนับตั้งแต่ที่มันถูกพบในปี
2017 เนื่องจากเมื่อมองปราดแรก
มันดูจะเป็นระบบที่ดีเยี่ยมสำหรับสิ่งมีชีวิตต่างดาว มีพิภพหินอุ่นจำนวนมาก
ซึ่งคล้ายกับในระบบสุริยะส่วนในของเรา แต่คำถามหนึ่งก็คือว่า
ดาวแคระแดงนั้นค้ำจุนพิภพที่เอื้ออาศัยได้ จริงหรือ
แคระแดงนั้นเย็นกว่าดวงอาทิตย์อย่างมาก ดังนั้น พิภพที่เอื้ออาศัยได้ใดๆ
ก็น่าจะต้องโคจรรอบดาวฤกษ์แม่อย่างใกล้ชิดมาก
ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า
แคระแดงมีการลุกจ้าที่รุนแรง
ซึ่งสามารถเผาดาวเคราะห์ข้างเคียงด้วยรังสีเอกซ์และอันตรายอื่นๆ
แล้วชีวิตจะอยู่รอดพ้นภัยคุกคามเหล่านี้ได้นานหลายพันล้านปีหรือไม่ ถ้า TRAPPIST-1
เป็นระบบทั่วไป คำตอบก็คือ ไม่รอด
การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ใน Astronomy
& Astrophysics พิจารณาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ในระบบแห่งนี้
การสำรวจด้วยกล้องเวบบ์ ได้ยืนยันว่า ดาวเคราะห์วงในสุด 2 ดวงนั้นไม่มีชั้นบรรยากาศอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คาดไว้แล้ว ในระบบของเราเอง ดาวพุธก็ไม่มีชั้นบรรยากาศ
แต่ก็มักจะคิดว่าพิภพที่เย็นกว่าและอยู่ห่างไกลกว่าใน TRAPPIST-1 น่าจะรักษาชั้นบรรยากาศไว้ได้
ดังนั้นทีมจึงพิจารณาแบบจำลองเสมือนจริงคอมพิวเตอร์
จากการสำรวจ TRAPPIST-1 และดาวแคระแดงอื่นๆ
ผู้เขียนไว้คำนวณปริมาณการแผ่รังสีพลังงานสูงที่ดาวน่าจะเปล่งออกมา
จากนั้นก็จำลองผลกระทบของรังสีเหล่านั้นต่อชั้นบรรยากาศยุคต้นที่อาจมีบนดาวเคราะห์วงนอกใน
TRAPPIST-1 จากจุดนั้น
พวกเขาทำแบบจำลองอัตราการระเหยชั้นบรรยากาศ ดาวเคราะห์ทั้งหมดกระทั่งโลกเอง
ก็สูญเสียชั้นบรรยากาศจำนวนมากเมื่อเวลาผ่านไป
คำถามก็คือ สูญเสียเร็วแค่ไหนและมากน้อยแค่ไหน ทีมพบว่าพิภพใน TRAPPIST-1
คำตอบคือ มากและเร็ว
จากระดับการแผ่รังสีปัจจุบันของ TRAPPIST-1
แม้ว่าดาวเคราะห์วงนอกก็น่าจะสูญเสียชั้นบรรยากาศที่มีก๊าซคล้ายๆ
โลกในเวลาเพียงไม่กี่ร้อยล้านปี ดาวเคราะห์อย่างโลก, ดาวอังคาร และดาวศุกร์
มีชั้นบรรยากาศที่หนามากๆ ในช่วงวัยเยาว์ ดังนั้น เราจึงน่าจะสันนิษฐานว่าพิภพที่ TRAPPIST-1
เองก็น่าจะมีชั้นบรรยากาศแบบนี้ด้วย
แต่แคระแดงอายุน้อยจะแผ่รังสีพลังงานสูงที่รุนแรงกว่า
ดังนั้นชั้นบรรยากาศก็น่าจะระเหยด้วยอัตราที่สูงขึ้นไปอีก เนื่องจาก TRAPPIST-1
เก่าแก่กว่าดวงอาทิตย์ของเราเล็กน้อย(ราว
8 พันล้านปี)
ชั้นบรรยากาศใดๆ บนพิภพ TRAPPIST-1 ก็น่าจะหายไปจนหมดเมื่อนานมาแล้ว
ดังนั้นระบบ TRAPPIST-1 ก็น่าจะเป็นกลุ่มของก้อนหินโล้นแห้งมากกว่า
และนี่ก็อาจจะเป็นจริงสำหรับระบบรอบแคระแดงอื่นๆ เกือบทั้งหมด
ซึ่งส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตต่างด้าว
เมื่อแคระแดงพบได้มากถึง 75% ของดาวทั้งหมดในทางช้างเผือก
เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ที่พบเพียง 8% ถ้าแคระแดงกระชากชั้นบรรยากาศของพิภพของพวกมันออกไป
ดังนั้นแล้ว ระบบดาวเคราะห์เกือบทั้งหมดก็น่าจะไร้สิ่งมีชีวิต
แหล่งข่าว phys.org
: atmosphere in the TRAPPIST-1 system should be long gone
astrobiology.com : airy
worlds or barren rocks? On the survivability of secondary atmospheres around
the TRAPPIST-1 planets
No comments:
Post a Comment