ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อกวาศเจมส์เวบบ์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ได้พบหลักฐานที่ดีที่สุดเป็นการเปล่งคลื่นจากดาวนิวตรอนดวงหนึ่ง
ที่พื้นที่ที่เพิ่งเกิดการระเบิดซุปเปอร์โนวาเหตุการณ์ล่าสุดที่มนุษย์มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ซุปเปอร์โนวาเหตุการณ์นี้ซึ่งเรียก SN
1987A เป็นซุปเปอร์โนวาแบบแกนกลางยุบตัว(core-collapse
supernova) ซึ่งหมายความว่า
ซากกะทัดรัดที่เหลืออยู่ในใจกลางอาจเป็นดาวนิวตรอน หรือหลุมดำก็ได้
มีการค้นหาหลักฐานของวัตถุกะทัดรัดนั้นมานานแล้ว
และในขณะที่เคยมีการพบหลักฐานโดยอ้อมแสดงการมีอยู่ของดาวนิวตรอนดวงหนึ่ง
แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ตรวจจับผลจากการเปล่งคลื่นพลังงานสูงจากดาวนิวตรอนที่อายุน้อยดวงนี้
ซุปเปอร์โนวา
ซึ่งเป็นการระเบิดจบชีวิตของดาวฤกษ์มวลสูงบางส่วน
สาดมวลสารออกมาในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
และความสว่างของการระเบิดจะขึ้นถึงระดับสูงสุดภายในเวลาไม่กี่เดือน
ซากของดาวที่ระเบิดจะยังคงวิวัฒน์อย่างรวดเร็วในอีกหลายทศวรรษต่อมา
ให้โอกาสอันหาได้ยากแก่นักดาราศาสตร์ในการศึกษากระบวนการทางดาราศาสตร์สำคัญๆ
ตามเวลาจริง
SN 1987A เกิดขึ้นไกลจากโลกออกไป 160,000 ปีแสงในเมฆมาเจลลันใหญ่(Large Magellanic
Cloud) ถูกพบเป็นครั้งแรกบนโลกในวันที่
23 กุมภาพันธ์ 1987
ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มีมวลราว
8 ถึง 10 เท่ามวลดวงอาทิตย์ระเบิด และความสว่างของมันก็ขึ้นถึงจุดสูงที่สุดในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน
มันเป็นซุปเปอร์โนวาเหตุการณ์แรกที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
นับตั้งแต่การสำรวจพบซุปเปอร์โนวาของเคปเลอร์(Kepler’s Supernova) ในปี 1604 หมายเหตุ นักดาราศาสตร์สามารถระบุดาวต้นกำเนิด SN
1987A ได้ในภาพก่อนการระเบิดเป็นดาวฤกษ์
Sanduleak-69 202(SK-69 202)
ราวสองชั่วโมงก่อนการสำรวจพบ SN 1987A ในช่วงแสงที่ตาเห็น
มีหอสังเกตการณ์สามแห่งรอบโลกที่ตรวจจับการปะทุนิวตริโน(neutrino) ที่คงอยู่เพียงไม่กี่วินาที
การสำรวจที่แตกต่างกันสองชนิดนี้เชื่อมโยงได้ถึงซุปเปอร์โนวาเหตุการณ์เดียวกัน
และให้หลักฐานสำคัญแก่ทฤษฎีที่บอกว่าซุปเปอร์โนวาแบบแกนกลางยุบตัวเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทฤษฎีนี้รวมถึงการคาดการณ์ว่าซุปเปอร์โนวาชนิดนี้น่าจะก่อตัวดาวนิวตรอนดวงหนึ่ง
หรือหลุมดำแห่งหนึ่ง ขึ้นมา
นักดาราศาสตร์สำรวจหาหลักฐานวัตถุกะทัดรัดเหล่านี้ในใจกลางซากวัสดุสารจากการระเบิดที่ขยายตัวออกมา
นับแต่นั้นมา
เพิ่งมีการค้นพบหลักฐานโดยอ้อมที่แสดงถึงการมีอยู่ของดาวนิวตรอนที่ใจกลางซากแห่งนี้เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้เอง
และการสำรวจซากซุปเปอร์โนวาที่เก่าแก่กว่ามาก เช่น เนบิวลาปู(Crab Nebula) เป็นต้น
ก็ยืนยันว่าพบดาวนิวตรอนได้ในซากซุปเปอร์โนวาหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม
ไม่เคยพบหลักฐานโดยตรงของดาวนิวตรอนในซากจาก SN 1987A(หรือจากซุปเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ
นี้เลย) เหตุผลสำคัญก็คือ อนุภาคฝุ่นจำนวนมหาศาลที่ก่อตัวขึ้นหลังจากการระเบิด
Claes Fransson จากมหาวิทยาลัยแห่งสตอคโฮล์ม
และผู้เขียนนำการศึกษานี้ อธิบายว่า จากแบบจำลองทฤษฎีว่าด้วย SN 1987A มีการสำรวจพบการปะทุนิวตริโนนาน 10 วินาทีก่อนพบเห็นซุปเปอร์โนวา
ได้บอกว่ามีดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ ก่อตัวขึ้นในการระเบิดนี้
แต่เราไม่เคยสำรวจพบสัญญาณแน่ชัดใดๆ
ถึงวัตถุที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่จากซุปเปอร์โนวาใดๆ เลย ด้วยกล้องเวบบ์
ขณะนี้เราได้พบหลักฐานโดยตรงเป็นการเปล่งคลื่นที่เหนี่ยวนำโดยวัตถุกะทัดรัดที่เพิ่งเกิดใหม่
ซึ่งเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นดาวนิวตรอน
กล้องเวบบ์ซึ่งเริ่มทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในเดือนกรกฎาคม 2022 และการสำรวจของเวบบ์เบื้องหลังงานนี้ก็ทำในวันที่
16 กรกฎาคม
ทำให้ซาก SN 1987A เป็นซากซุปเปอร์โนวาแห่งแรกที่เวบบ์ทำการสำรวจ
ทีมใช้รูปแบบการทำงานสเปคโตรกราฟความละเอียดปานกลาง(MRS mode) ของอุปกรณ์อินฟราเรดกลาง(MIRI) ซึ่งสมาชิกของทีมได้ช่วยพัฒนา MRS เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่า integral
field unit(IFU)
IFUs สามารถถ่ายภาพวัตถุหนึ่งและเก็บสเปคตรัมของมันในเวลาเดียวกันด้วย
IFU จะทำสเปคตรัมแต่ละพิกเซลภาพ
ช่วยให้ผู้สังเกตการณ์ได้เห็นความแตกต่างของสเปคตรัมทั่ววัตถุนั้นๆ
การวิเคราะห์การเลื่อนดอปเปลอร์(Doppler shift) จากแต่ละสเปคตรัม
ยังช่วยให้ประเมินความเร็วของแต่ละตำแหน่งได้ด้วย
การวิเคราะห์สเปคตรัมแสดงสัญญาณรุนแรงที่เกิดจากอาร์กอนที่แตกตัวเป็นไอออน(ionized
argon)
จากใจกลางของวัสดุสารที่ถูกผลักออกมาซึ่งล้อมรอบพื้นที่ SN 1987A นี้ การสำรวจต่อมาโดยใช้ IFU ของสเปคโตรกราฟอินฟราเรดใกล้(NIRSpec) ของเวบบ์
ได้พบธาตุที่แตกตัวเป็นไอออนอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
อาร์กอนที่สูญเสียอิเลคตรอน 5 ครั้ง(อาร์กอนมี
18 อิเลคตรอน
สูญเสียไป 5 อิเลคตรอน)
ไอออนลักษณะดังกล่าวต้องใช้โฟตอนพลังงานสูงมากเพื่อก่อตัวขึ้น
และโฟตอนเหล่านั้นก็มาจากแหล่งบางอย่าง ในขณะที่ซุปเปอร์โนวากำลังขยายตัวด้วยความเร็วสูงถึง
1 หมื่นกิโลเมตรต่อวินาที
และกระจายครอบคลุมพื้นที่กว้าง
แต่อาร์กอนไอออนและกำมะถันไอออนที่พบอยู่ใกล้กับใจกลางอย่างมาก
เพื่อสร้างไอออนที่เราตรวจพบเหล่านั้น
ก็ชัดเจนว่าจะต้องมีแหล่งการแผ่รังสีพลังงานสูงที่ใจกลางซาก SN 1987A
Fransson กล่าว ในรายงาน
เราถกถึงความเป็นไปได้หลายประการ
และพบว่ามีลำดับเหตุการณ์ที่เป็นไปได้เพียงไม่กี่ทาง
และทั้งหมดก็เกี่ยวข้องกับดาวนิวตรอนที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่เอี่ยม
โดยอาร์กอนไอออน
และกำมะถันไอออนน่าจะเกิดขึ้นจากการแผ่รังสีอุลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์
จากดาวนิวตรอนร้อนที่กำลังเย็นตัวลง หรืออีกทาง
จากลมของอนุภาคสัมพัทธภาพที่ถูกเร่งความเร็วขึ้นโดยดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเร็วมากและมีปฏิสัมพันธ์กับวัสดุสารที่ซุปเปอร์โนวาสาดออกมารอบๆ
ซึ่งเรียกลำดับเหตุการณ์หลังนี้ว่า เนบิวลาลมพัลซาร์(pulsar wind nebula)
ส่วนถ้าเป็นลำดับเหตุการณ์แรก
พื้นผิวของดาวนิวตรอนน่าจะมีอุณหภูมิราว 1 ล้านองศา
ซึ่งเย็นตัวลงจากระดับ 1 แสนล้านองศาในช่วงที่ก่อตัวขึ้นที่แกนกลางของดาวที่ยุบตัวลงเมื่อกว่า
30 ปีก่อน จากการทำนายลำดับเหตุการณ์ทั้งสองแบบนี้ให้ผลสเปคตรัมที่เหมือนกัน
ซึ่งก็สอดคล้องกับการสำรวจจริง แต่ก็ยากที่จะแยกแยะ
การค้นพบนี้สอดคล้องกับทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับดาวนิวตรอน
แบบจำลองบอกว่าจะมีการสร้างอาร์กอนและกำมะถันจำนวนมากภายในดาวที่กำลังจะตายไม่นานก่อนระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา
และนักวิทยาศาสตร์ก็ทำนายมาหลายสิบปีแล้วว่า การแผ่รังสีอุลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์ในซากซุปเปอร์โนวาน่าจะแสดงถึงการมีดาวนิวตรอนที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่
แต่ไม่มีใครจะเดาได้ว่านี่จะเป็นหนทางที่เราได้พบมัน Josefin
Larsson นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากสถาบันเทคโนโลจีหลวงแห่งสวีเดน
กล่าวว่า ซุปเปอร์โนวามักจะสร้างเรื่องประหลาดใจให้กับเราอยู่เนืองๆ
ไม่มีใครทำนายว่าน่าจะตรวจพบวัตถุกะทัดรัดนี้ได้ผ่านเส้นเปล่งคลื่นรุนแรงมากจากอาร์กอน
นี่เป็นเรื่องประหลาดใจที่เราได้พบในข้อมูลจากเวบบ์
ยังมีแผนการการสำรวจเพิ่มอีกในปีนี้ด้วยกล้องเวบบ์และกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน
ทีมวิจัยหวังว่าการศึกษาอย่างต่อเนื่องจะบอกใด้ชัดเจนมากขึ้นถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ใจกลางของซาก
SN 1987A การสำรวจเหล่านี้จะกระตุ้นการพัฒนาแบบจำลองรายละเอียดใหม่ๆ
ซึ่งสุดท้ายจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจไม่เพียงแค่ SN 1987A ได้ดีขึ้น
แต่ยังรวมถึงซุปเปอร์โนวาแบบแกนกลางยุบตัวทั้งหมดด้วย การค้นพบเผยแพร่ในวารสาร Science
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ครบปีที่ 37 ที่พบซุปเปอร์โนวานี้
แหล่ง webbtelescope.org
: Webb finds evidence for neutron star at heart of young supernova remnant
phys.org : astronomers find
first strong evidence of neutron star remnant of exploding star
sciencealert.com : in 1987, we
saw a star explode. JWST finally found evidence of its remains.
space.com : James Webb Space
Telescope spots neutron star hiding in supernova wreckage