ภาพซูมยูเรนัสแสดงดวงจันทร์รอบยูเรนัสรวมทั้งดวงจันทร์ที่อยู่ในวงแหวนด้วย รวมถึงขั้วหมวกขั้วเหนือที่สว่าง และมีวงสีมืดแผ่กว้างกว่า
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์เพิ่งหันไปสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่น่าพิศวงและไม่ปกติ
ยูเรนัสซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ที่หมุนรอบตัวแบบตะแคงล้ม เวบบ์ได้จับภาพพิภพแห่งนี้พร้อมทั้งวงแหวน,
ดวงจันทร์, พายุ และรายละเอียดอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งรวมถึงขั้วหมวกตามฤดูกาล
ภาพที่ได้ขยายจากภาพสองสี(1.4 และ 3.0
ไมครอน) ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนในปีนี้
โดยเพิ่มเติมครอบคลุมช่วงความยาวคลื่น 2.1 และ 4.6
ไมครอนที่จะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
ด้วยความไวที่สุดกู่
เวบบ์ได้จับภาพวงแหวนส่วนในและส่วนนอกที่มืดของยูเรนัส ซึ่งรวมถึง วงแหวนแซตา(Zeta
ring) ซึ่งสลัวและบางกริบมากๆ
ซึ่งอยู่ใกล้กับดาวเคราะห์มากที่สุด สว่างอย่างฉายฉาน
มันยังจับภาพดวงจันทร์กว่าครึ่งจากจำนวน 27 ดวงของยูเรนัส
กระทั่งมองเห็นดวงจันทร์ขนาดเล็กบางส่วนที่อยู่ภายในวงแหวนด้วย
ในช่วงความยาวที่ตาเห็นตามที่ยานวอยยาจเจอร์
2 สำรวจในทศวรรษ 1980
ยูเรนัสปรากฏเป็นลูกบอลสีฟ้าซีดที่ราบเรียบ
แต่เวบบ์ซึ่งสำรวจในช่วงอินฟราเรดได้เผยให้เห็นพิภพน้ำแข็งซึ่งประหลาดและเปี่ยมด้วยพลวัต
เต็มไปด้วยรายละเอียดในชั้นบรรยากาศที่น่าประหลาดใจ หนึ่งในรายละเอียดพิเศษเหล่านั้นก็คือ
หมวกเมฆเหนือขั้วเหนือ(polar cap)
ขั้วหมวกยูเรนัส
ไม่เห์มือนกับขั้วหมวกบนโลกและดาวอังคาร ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็ง
แต่ยูเรนัสเป็นวงกลดหมอกแอโรซอลที่ลอยสูงในชั้นบรรยากาศ
เมื่อเทียบกับภาพเวบบ์ที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็มองเห็นรายละเอียดขั้วหมวกบางส่วนได้ง่ายขึ้นในภาพใหม่เหล่านี้
ซึ่งรวมถึงขั้วหมวกส่วนในสว่างสีขาว และแถบสีมืดที่ก้นของขั้วหมวก
ที่แผ่ขยายสู่ละติจูดที่ต่ำลงไป
นอกจากนี้ ยังพบพายุสว่างอีก 7 ลูกใกล้และใต้รอยต่อทางใต้ของขั้วหมวก พายุเหล่านี้มีอุณหภูมิสูงกว่าสภาพรอบข้าง
จำนวนของพายุและความถี่ รวมถึงตำแหน่งที่พวกมันปรากฏในชั้นบรรยากาศยูเรนัส
อาจจะเกิดขึ้นจากการรวมผลจากฤดูกาลและจากอุตุนิยมวิทยาเข้าด้วยกัน
ขั้วหมวกดูจะปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเมื่อขั้วเหนือของดาวเคราะห์เริ่มหันเข้าหาดวงอาทิตย์
เมื่อมันเข้าใกล้ครีษมายัน
(solstice; วันที่มีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี)
และได้รับแสงอาทิตย์มากขึ้น
ยูเรนัสจะถึงครีษมายันในปี 2028 และนักดาราศาสตร์ก็กระหายที่จะได้เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงใดๆ
ที่อาจเกิดขึ้นในโครงสร้างของรายละเอียดเหล่านั้น
เวบบ์จะช่วยระบุผลจากฤดูกาลและอุตุนิยมวิทยา ที่ส่งผลต่อพายุของยูเรนัส
ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยนักดาราศาสตร์ให้เข้าใจชั้นบรรยากาศอันซับซ้อน
เนื่องจากยูเรนัสหมุนรอบตัวแบบตะแคงล้มด้วยองศาราว 98 องศาซึ่งน่าจะเกิดจากการชนครั้งใหญ่เมื่อหลายพันล้านปีก่อน
มันจึงมีฤดูกาลที่สุดขั้วที่สุดในระบบสุริยะ ในเกือบทุกๆ หนึ่งในสี่ของปียูเรนัส(หนึ่งปียูเรนัสยาวนาน
84 ปีโลก)
ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเหนือขั้วหนึ่ง
และทิ้งให้อีกขั้วตกอยู่ในความมืดมิดเป็นฤดูหนาวที่ยาวนาน 21 ปี
ด้วยความละเอียดและความไวในช่วงอินฟราเรดที่หาใดเปรียบของเวบบ์ ขณะนี้
นักดาราศาสตร์ได้เฝ้าดูยูเรนัสและรายละเอียดอันเป็นอัตลักษณ์ของมันด้วยความชัดเจน
รายละเอียดเหล่านี้โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้วงแหวนเซตา
มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนปฏิบัติการสู่ยูเรนัสในอนาคตซึ่งน่าจะส่งออกในปี 2030
แต่ยังรอคอยไฟเขียวจากนาซาอยู่
ยูเรนัสยังอาจเป็นตัวแทนในการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดใกล้เคียงกันอีกเกือบ
2 พันดวงที่พบในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลังนี้ด้วย
การมี “ดาวเคราะห์นอกระบบอยู่หลังบ้าน”
ดวงนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจว่าดาวเคราะห์ขนาดเท่านี้มีพลวัตอย่างไร,
อุตุนิยมวิทยาของมันจะเป็นอย่างไร และพวกมันก่อตัวได้อย่างไร
ซึ่งอาจจะช่วยเราให้เข้าใจระบบสุริยะของเราเองโดยรวม โดยมองจากบริบทที่ใหญ่ขึ้น
แหล่งข่าว webbtelescope.org
: NASA’s Webb rings in the holidays with the ringed planet Uranus
iflscience.com : a shiny
Uranus is JWST’s holiday gift for us all
space.com : the
rings of Uranus look positively festive in epic James Webb Space Telescope
holiday photo
No comments:
Post a Comment