Thursday, 14 December 2023

Giant Coma Stream

 



    มีสิ่งที่น่าประหลาดใจเมื่อทีมนักวิจัยนานาชาติได้พบกระแสธารดาวที่ยักษ์โตแต่สลัวสุดขั้วแห่งหนึ่งที่เชื่อมระหว่างกาแลคซี ในขณะที่ในกาแลคซีทางช้างเผือกและกาแลคซีเพื่อนบ้านของเรา ก็พบกระแสธารลักษณะนี้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่สำรวจพบกระแสธารที่ไหลท่ามกลางกาแลคซี และยังเป็นกระแสที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา นักดาราศาสตร์เผยแพร่การค้นพบในวารสาร Astronomy & Astrophysics

     การสำรวจเริ่มทำโดยนักดาราศาสตร์ Michael Rich ด้วยกล้องดูดาวขนาดเพียง 70 เซนติเมตร ในคาลิฟอร์เนีย ต่อมา นักวิจัยก็เล็งกล้องโทรทรรศน์เฮอร์เชลขนาด 4.2 เมตรไปที่พื้นที่ดังกล่าว หลังจากผ่านกระบวนการแต่งภาพ พวกเขาก็ได้เห็นกระแสธารที่สลัวอย่างสุดขั้วยาวกว่าทางช้างเผือกสิบเท่าเศษ(ที่ 1.7 ล้านปีแสง) กระแสธารนี้ดูจะไหลผ่านกลางกระจุก ไม่เกี่ยวข้องกับกาแลคซีใดๆ เลยเป็นพิเศษ นักวิจัยเรียกชื่อมันว่า กระแสธารโคมายักษ์(Giant Coma Stream)

     Javier Roman นักวิจัยนำ อธิบายว่า กระแสธารยักษ์แห่งนี้พาดมาทางเราโดยบังเอิญ เขาทำงานที่มหาวิทยาลัยกรอนิงเง่น ในเนเธอร์แลนด์ส และมหาวิทยาลัย ลา ลากูนา ในเตเนริเฟ สเปน เรากำลังศึกษาฮาโล(halo) หรือกลดของดาวที่อยู่รอบๆ กาแลคซีขนาดใหญ่

     กระแสธารดาวพบได้ค่อนข้างบ่อยในละแวกทางช้างเผือก ซึ่งคิดกันว่าเป็นเศษซากกระจุกดาวทรงกลม(globular cluster) ที่ถูกฉีกออก โดยแรงบีบฉีกของทางช้างเผือก แต่ก็ยากที่จะจำแนกได้ชัดเจนเนื่องจาก กลุ่มก้อนของดาวเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในทันที เนื่องจากค่อนข้างยากที่จะตรวจสอบระยะทาง และกระแสธารก็มักจะสลัว  

     การค้นพบกระแสธารโคมายักษ์เป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากมันเป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายของกาแลคซีที่ดึงดูดและผลักกันร่วมในกระจุกกาแลคซี โครงสร้างที่เบาบางอย่างนี้ไม่น่าจะคงอยู่ได้เป็นเวลานานมากๆ จากแบบจำลองเสมือนจริง ทีมพบว่า พบได้ยากที่กระแสธารลักษณะนี้จะสามารถก่อตัวในกระจุกกาแลคซีได้ จากที่ดาวในกาแลคซีแคระถูกแรงโน้มถ่วงของกาแลคซีที่ใหญ่กว่าดึงฉีกออกมา

Giant Coma Stream เส้นสีดำในกลางภาพ ซึ่งไหลอยู่ท่ามกลางกาแลคซีในกระจุกโคมา(Coma cluster)

     Reynier Peletier ผู้เขียนร่วม จากมหาวิทยาลัยกรอนิงเง่น เนเธอร์แลนด์ส อธิบายว่า ในขณะที่เราสามารถจำลองการไหลที่ใหญ่โตได้ในคอมพิวเตอร์ เราจึงคาดว่าจะพบพวกมันได้มากขึ้น ในกระจุกแห่งอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสำรวจมันด้วยกล้องโทรทรรศน์ใหญ่สุดขั้ว(ELT) ขนาด 39 เมตรในอนาคต และเมื่อยูคลิดเริ่มเก็บข้อมูล

     ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ในอนาคต นักวิจัยไม่เพียงแต่หวังว่าจะได้พบกระแสธารที่ใหญ่โตแห่งใหม่ๆ อีก พวกเขายังอยากจะตรวจสอบกระแสธารโคมายักษ์นี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นด้วย เราอยากจะศึกษาดาวแต่ละดวงภายในและใกล้กระแสธารนี้ และเรียนรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับสสารมืด Peletier กล่าว

     กระจุกโคมา(Coma cluster) เป็นหนึ่งในกระจุกกาแลคซีที่ถูกศึกษาเป็นอย่างดี ประกอบด้วยกาแลคซีหลายพันแห่ง ที่ระยะห่างจากโลกออกไปราว 3 ร้อยล้านปีแสง ในทิศทางกลุ่มดาวผมของเบเรนิซ(Coma Berenices) ในปี 1933 Fritz Zwicky นักดาราศาสตร์สวิส ได้แสดงว่ากาแลคซีในกระจุกนี้เคลื่อนที่เร็วเกินกว่าปริมาณสสารปกติที่จะรับมือไหว เขาบอกว่าจะต้องมีสสารมืดที่รักษากระจุกนี้ให้อยู่ด้วยกัน ซึ่งก็ยังคงไม่ทราบถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสสารมืด


แหล่งข่าว phys.org : astronomers spot giant stream of stars between galaxies
                sciencealert.com : scientists discover a stunning river of stars flowing through space   

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...