งานวิจัยใหม่บอกว่า เถ้าฝุ่นจากการชนที่ชิคซูลูปที่ปกคลุมทั่วโลกนานเป็นสิบปี ทำให้ระบบนิเวศล่มสลาย จนนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 66 ล้านปีก่อน
เมื่อ 66 ล้านปีก่อน มีดาวเคราะห์น้อยขนาดราว 10 กิโลเมตรดวงหนึ่งพุ่งเข้าชนกับโลกที่บริเวณน้ำตื้นนอกคาบสมุทรยูคาตังของเมกซิโก
สร้างหลุมอุกกาบาตความกว้าง 200 กิโลเมตรบนผิวโลกและเหนี่ยวนำให้เกิด
ฤดูหนาวไปทั่วดาวเคราะห์ ซึ่งนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของไดโนซอร์กลุ่มที่ไม่ใช่นก(non-avian
dinosaurs)
ซึ่งครองพิภพมานานกว่า 160 ล้านปี
ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นไม่ได้ฆ่าไดโนซอร์ในคราเดียว
แต่เป็นนักฆ่าล่องหนที่จ้วงแทงครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยเหนี่ยวนำให้เกิดหายนะซึ่งนำไปสู่การตายของสปีชีส์ราวสามในสี่ที่มีบนโลกรวมถึงไดโนซอร์
Steve Brusatte นักบรรพชีวินวิทยา
ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่นี้ กล่าว
นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องโดยทั่วกันว่า
การชนที่ชิคซูลูป(Chicxulub) ได้กวาดล้างสปีชีส์ที่มีบนโลกในขณะนั้นไปถึงสามในสี่
แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศอย่างสุดกู่หลังจากการชนเป็นอะไร
ก็ยังเป็นคำถาม ขณะนี้ งานวิจัยใหม่ได้ระบุถึงอนุภาคฝุ่นซิลิเกตเนื้อละเอียดมากที่ระเบิดขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจากการชน
งานวิจัยก่อนหน้านี้มุ่งไปที่ตัวการอื่น 2
อย่างที่ทำให้เกิดฤดูหนาวที่ยาวนานและมืดหม่นหลังจากการชน(impact
winter) คือ เถ้า(soot)
และกำมะถัน มากกว่า
ซึ่งดูดกลืนและกันแสงอาทิตย์ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าฝุ่น อย่างไรก็ตาม
ตัวอย่างหินอายุ 66 ล้านปีที่ Senel
และทีมรวบรวมได้จากแหล่งฟอสซิลทานิส(Tanis
fossil site) นอร์ธดาโกตา
ห่างจากหลุมชิคซูลูปขึ้นไปทางทิศเหนือราว 3 พันกิโลเมตร
ได้พบอนุภาคฝุ่นละเอียดในจำนวนมากกว่าที่คาดไว้อย่างมาก
ซึ่งบอกว่าฝุ่นนี้มีบทบาทในหายนะมากกว่าที่เคยคิดกันไว้
ชั้นฝุ่นปกคลุมโลกอยู่นานถึง 20 ปี ซึ่งในช่วง 5 ถึง 8 ปีแรกนั้นสาหัสที่สุด
Cem Berk Senel นักวิจัยหลังปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์
ที่หอสังเกตการณ์หลวงแห่งเบลเจียม และทีมเขียนไว้ในการศึกษาใหม่
ในช่วงปีแรกหลังจากการชน อุณหภูมิทั่วโลกลดลงมากกว่า 10 องศาเซลเซียส Ozgur Karatekin นักวิจัยที่หอสังเกตการณ์หลวงแห่งเบลเจียม อีกคน
กล่าวว่า แนวคิดเดิมบอกว่ากำมะถันเป็นตัวการให้เกิดฤดูหนาวหลังการชน
ก็เพราะฝุ่นจากการชนไม่น่าจะอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานมากพอ
การเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ของโลก
ที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า ยุคครีเตเชียสสู่ยุคพาลีโอจีน(Cretaceous-Paleogene
period)
ถูกบันทึกไว้ในหินหนา 1.3 เมตรซึ่งก่อตัวจากเหตุการณ์ชิคซูลูปดังกล่าว
หลังจากตรวจสอบขนาดอนุภาคฝุ่นในชิ้นหินนี้ Senel และทีมก็ใช้ข้อมูลเพื่อจำลองภูมิอากาศหลังการชนเกิดขึ้น
แบบจำลองได้ทำนายชั้นฝุ่นหนาทึบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง
0.8 ถึง 8 ไมครอนปกคลุมทั่วโลกในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการชน
ด้วยขนาดที่เล็กแบบนี้จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานกว่าสิบปี จากแบบจำลองยังพบว่าฝุ่นละเอียดเป็นฆาตกรตัวสำคัญที่สุด
เมื่อมีอุกกาบาตขนาด 10 ถึง 15 กิโลเมตรมาชนกับโลก
ในบรรดาวัสดุสารทั้งหมดที่ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหลังจากการชน
นักวิจัยประเมินว่าเป็นฝุ่น 75%, กำมะถัน
24% และเถ้าอีก 1%
อนุภาคฝุ่นละเอียดจะปิดกั้นแสงอาทิตย์โดยสิ้นเชิงไปเกือบ
2 ปีซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่พืชจะมีการสังเคราะห์แสง
ทำให้เกิดการล่มสลายของห่วงโซ่อาหาร Karatekin กล่าว
ลำดับเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นจากการชนที่ชิคซูลูป สร้างลูกไฟ, สึนามิ เถ้า ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนกวาดล้างไดโนซอร์
การศึกษาใหม่เน้นถึงความสำคัญของบทบาทอนุภาคฝุ่นที่ถูกมองข้ามไปในฤดูหนาวอันยาวนานหลังการชน
เราพบว่าโลกอยู่ในความมืดมิดและกิจกรรมสังเคราะห์แสงบนดาวเคราะห์ก็หยุดยาวนานถึง 1.7
ปี(620 วัน) จากฝุ่นซิลิเกต นักวิจัยเขียนไว้ในรายงาน
นี่จัดเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สร้างความท้าทายให้กับการดำรงชีวิตทั้งบนแผ่นดินและในมหาสมุทร
สัตว์และพืชที่ไม่สามารถปรับตัวอาศัยในความมืดมิดและความหนาวเย็นก็น่าจะถูกกวาดล้างไป
ส่วนพืชและสัตว์ที่มีแหล่งอาหาร, ที่อาศัย และวิถีชีวิตที่ยืดหยุ่นกว่า
ก็มีโอกาสอยู่รอดได้สูงกว่า
การชนยังสร้างสึนามิที่มีความสูงถึง 1.5
กิโลเมตรที่ซัดใส่ทุกทวีปบนโลก
และสร้างกิจกรรมแผ่นดินไหวที่มีพลังสุงกว่าแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะสุมาตราในปี 2004
ถึง 5 หมื่นเท่า ยังคงต้องทำงานอีกมากเพื่อให้เข้าใจ
กลไกการสังหาร หลังจากการชนที่ชิคซูลูป ได้ดีขึ้น Senel กล่าว การค้นพบสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลกครั้งล่าสุดมีความสำคัญไม่เพียงแต่เข้าใจอดีต
และยังรวมถึงอนาคตด้วย เราอาจจะทำนายการสูญพันธุ์ของเราเองได้ดีขึ้น งานวิจัยนี้เผยแพร่เป็นรายงานในวารสาร
Nature Geoscience วันที่ 30
ตุลาคม
แหล่งข่าว space.com
- Chicxulub asteroid impact created 2-year cloud of dust that may have killed
the dinosaurs
iflscience.com -
asteroid dust caused 15-year winter that killed dinosaurs: study
sciencealert.com –
ancient “black
box” hints at what really
killed the dinosaurs
No comments:
Post a Comment