Saturday, 11 February 2023

video HR 8799 system

 



     ดาวเคราะห์นอกระบบมวลใกล้เคียงกับดาวพฤหัสฯ สี่ดวงวิ่งไปรอบๆ ดาวฤกษ์แม่ของพวกมันในภาพเร่งเวลา(timelapse) ที่ใช้เวลาสิบกว่าปี เป้าหมายของวีดีโอที่เพิ่งปล่อยออกมา ก็เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นวงโคจรที่ยาวนานของดาวเคราะห์นอกระบบมวลสูงเหล่านี้

    Jason Wang นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าวในแถลงการณ์ว่า โดยทั่วไปเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นดาวเคราะห์โคจร ยกตัวอย่างเช่น ดูเหมือนว่าดาวพฤหัสฯ หรือดาวอังคารไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ของเราเพราะเราเองก็อาศัยอยู่ในระบบเดียวกัน และไม่ได้มีมุมการมองแบบบน-ล่าง เหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ถ้าเกิดขึ้นไม่ไวเกินกว่า หรือช้าเกินกว่าจะจับเป็นภาพยนตร์ไว้ได้ แต่วีดีโอนี้แสดงดาวเคราะห์กำลังเคลื่อนที่ในชั่วชีวิตมนุษย์ ผมหวังว่ามันจะช่วยให้ผู้คนได้ชื่นชมสิ่งมหัศจรรย์     

     ดาวฤกษ์ HR 8799 มีมวลสูงกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 50% และอยู่ห่างออกไป 133 ปีแสงในทิศทางกลุ่มดาวม้ามีปีก(Pegasus) เมื่อเทียบแล้ว ระบบดาวที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด อัลฟา เซนทอไร(Alpha Centauri) อยู่ห่างออกไปเพียง 4 ปีแสงเศษ เมื่อมีมวลสูงกว่าดวงอาทิตย์ราว 50 % HR 8799 กลับสว่างกว่าดวงอาทิตย์อย่างมาก มันมีความสว่างแท้จริงมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 5 เท่า และยังอายุน้อยมากๆ เพียง 30 ล้านปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ของเราซึ่งอยู่ในวัยกลางคน โดยมีอายุ 4.5 พันล้านปีแล้ว

     HR 8799 เป็นระบบดาวแห่งแรกที่ถ่ายภาพดาวเคราะห์ของมันได้โดยตรง ซึ่งประสบความสำเร็จและประกาศการค้นพบในเดือนพฤศจิกายน 2008 ภาพเร่งเวลาใช้ภาพที่ได้จากหอสังเกตการณ์เคก บนยอดเมานาคี ฮาวาย กล้องเคกมีความได้เปรียบสำหรับงานทางดาราศาสตร์ เมื่อมีระบบปรับกระจก adaptive optics เพื่อชดเชยความเบลอจากชั้นบรรยากาศโลก และโคโรนากราฟ(coronagraph) ซึ่งกันแสงจากดาวฤกษ์แม่ไว้เหมือนกับหน้ากาก ช่วยให้ได้เห็น “หิ่งห้อย” ดาวเคราะห์ สะท้อนแสงริบหรี่


video timelapse

     Wang และเพื่อนร่วมงาน สร้างภาพเร่งเวลาหลังจากใช้การสำรวจระบบแห่งนี้อย่างสม่ำเสมอตลอด 7 ปี ภาพเร่งเวลาที่เผยแพร่ใหม่เป็นฉบับปรับปรุง โดยใช้เวลาการสำรวจ 12 ปีตั้งแต่ที่ทีม Wang ใช้กล้องโทรทรรศน์นี้ เราไม่ได้อะไรในแง่วิทยาศาสตร์จากการเฝ้าดูระบบในวีดีโอเร่งเวลา 4.5 วินาทีนี้ แต่มันจะช่วยให้ผู้ชมคนอื่นๆ ได้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่ Wang กล่าว อาจเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนด้วยคำพูด แต่การโชว์วิทยาศาสตร์ให้เห็นช่วยให้เข้าใจถึงความสำคัญ

      ผลที่ได้แสดงจุดสลัว 4 จุดที่วิ่งไปรอบๆ ดาวฤกษ์แม่ของพวกมัน แม้ว่าพวกมันจะดูคล้ายหิ่งห้อยอยู่ไม่น้อย แต่แท้จริงแล้ว ดาวเคราะห์เหล่านี้เป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ขนาดใหญ่ Wang เปรียบเทียบว่า เป็นดาวพฤหัสฯ, ดาวเสาร์, เนปจูนและยูเรนัส ในเวอร์ชั่นที่ขนาดใหญ่ขึ้น ดาวเคราะห์ที่อยู่วงในที่สุดใช้เวลา 45 ปีโลกเพื่อโคจรครบรอบดาวฤกษ์ ในทางตรงกันข้าม ดาวเคราะห์ที่อยู่วงนอกสุด ใช้เวลาเกือบ 500 ปีในการโคจรครบรอบ

ดาวเคราะห์สามดวงในระบบ HR 8799 ดาวเคราะห์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่มีมวลสูงกว่าดาวพฤหัสฯ ถูกพบจากการถ่ายภาพโดยตรงในปี 2008



แหล่งข่าว space.com : exoplanets dance around distant star in stunning 12-year timelapse(video)

                phys.org : new time lapse video shows 12 years of exoplanets orbiting their star

No comments:

Post a Comment

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...