Friday, 29 December 2023

ดาวฤกษ์แท้งดวงจิ๋ว

 

ภาพจากกล้องอินฟราเรดใกล้(NIRCam) ของเวบบ์แสดงกระจุกดาว IC 348


     ดาวแคระน้ำตาล(brown dwarfs) เป็นวัตถุที่อยู่กึ่งกลางระหว่างดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์ พวกมันก่อตัวขึ้นมาเหมือนกับดาวฤกษ์ โดยบีบอัดตัวหนาแน่นมากพอที่จะยุบตัวลงภายใต้แรงโน้มถ่วง แต่พวกมันก็ไม่เคยมีความหนาแน่นและร้อนมากพอที่จะเริ่มหลอมไฮโดรเจนและเปลี่ยนเป็นดาวฤกษ์ที่แท้จริงได้(จึงเรียกแคระน้ำตาลอีกชื่อว่า ดาวฤกษ์แท้ง; failed star) ที่ปลายด้านเบาสุด ดาวฤกษ์มีมวลเบาที่สุดอยู่ที่ราว 80 ถึง 85 เท่าดาวพฤหัสฯ แต่ดาวแคระน้ำตาลบางดวงก็มีขนาดพอๆ กับดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ มีมวลเพียงไม่กี่เท่าดาวพฤหัสฯ เท่านั้น

     นักดาราศาสตร์กำลังพยายามตรวจสอบวัตถุที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะสามารถก่อตัวในวิถีที่คล้ายดาวฤกษ์ได้ ทีมนักวิจัยที่ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ได้จำแนกผู้ยึดครองสถิติใหม่ เป็นดาวแคระน้ำตาลดวงจิ๋วที่ล่องลอยเป็นอิสระ ซึ่งมีมวลเพียง 3 หรือ 4 เท่าดาวพฤหัสฯ เท่านั้น Kevin Luhman ผู้เขียนนำ จากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนียสเตท อธิบายว่า คำถามพื้นๆ ข้อหนึ่งที่คุณจะพบในหนังสือเรียนดาราศาสตร์ทุกเล่มก็คือ ดาวฤกษ์จะเล็กที่สุดได้แค่ไหน นี่คือสิ่งที่เรากำลังพยายามจะตอบคำถาม

      เพื่อค้นหาดาวแคระน้ำตาลที่เพิ่งพบใหม่นี้ Luhman และเพื่อนร่วมงาน ได้แก่ Catarina Alves de Oliveira ได้เลือกศึกษากระจุกดาว IC 348 ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 1 พันปีแสงในพื้นที่ก่อตัวดาวเปอร์ซีอุส กระจุกแห่งนี้มีอายุน้อยเพียง 5 ล้านปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ แคระน้ำตาลใดๆ น่าจะยังค่อนข้างสว่างในช่วงอินฟราเรด เรืองจากความร้อนที่เหลือจากการก่อตัว ทีมเริ่มต้นถ่ายภาพใจกลางกระจุกโดยใช้ NIRCam ของเวบบ์ เพื่อจำแนกว่าที่ดาวแคระน้ำตาลจากความสว่างและสีของพวกมัน จากนั้นก็สำรวจติดตามผลด้วย NIRSpec microshuttle array ของเวบบ์

การแบ่งดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์, ดาวแคระน้ำตาล และดาวฤกษ์แท้ แบบคร่าวๆ ตามมวล

      ความไวในช่วงอินฟราเรดของเวบบ์เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ช่วยให้ทีมได้ตรวจจับวัตถุที่สลัวมากกว่าที่กล้องภาคพื้นดินทำ นอกจากนี้ สายตาที่คมกริบของเวบบ์ช่วยให้ทีมได้ตรวจสอบว่าวัตถุสีแดงแห่งใดเป็นแคระน้ำตาล และแห่งใดเป็นกาแลคซีที่พื้นหลัง กระบวนการเหล่านี้นำไปสู่เป้าหมาย 3 ดวงที่มีมวล 3 ถึง 8 เท่าดาวพฤหัสฯ โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวตั้งแต่ 830 ถึง 1500 องศาเซลเซียส จากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ดวงที่เล็กสุดในกลุ่มนี้มีมวลเพียง 3 ถึง 4 เท่าดาวพฤหัสฯ เท่านั้น

      การอธิบายว่าแคระน้ำตาลที่มีขนาดเล็กเช่นนี้ก่อตัวได้อย่างไรเป็นเรื่องท้าทายในทางทฤษฎี เมฆก๊าซที่หนักอึ้งและหนาทึบจะมีแรงโน้มถ่วงมากพอที่ยุบตัวและก่อตัวดาวฤกษ์ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่อ่อนกว่า เมฆที่มีขนาดเล็กกว่าก็น่าจะยุบตัวลงเพื่อก่อตัวแคระน้ำตาลได้ยากกว่า และโดยเฉพาะกับแคระน้ำตาลที่มีมวลเพียงไม่กี่เท่าดาวเคราะห์ยักษ์ด้วย

     เป็นเรื่องค่อนข้างง่ายสำหรับแบบจำลองปัจจุบันที่จะสร้างดาวเคราะห์ก๊าซยักษืในดิสก์รอบๆ ดาวฤกษ์ Catarina Alves de Oliveira ผู้นำโครงการสำรวจจากอีซา กล่าว แต่ในกระจุกแห่งนี้ วัตถุนี้ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะก่อตัวในดิสก์ ซึ่งแทนที่จะก่อตัวอย่างดาวฤกษ์ แต่กลับมีมวล 3 เท่าดาวพฤหัส หรือเล็กกว่าดวงอาทิตย์ราว 300 เท่านั้น ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามว่า กระบวนการก่อตัวดาวทำงานในมวลที่น้อยอย่างนี้ได้อย่างไร

     นอกเหนือจากจะได้แง่มุมสู่กระบวนการก่อตัวดาวแล้ว แคระน้ำตาลดวงจิ๋วยังช่วยนักดาราศาสตร์ให้เข้าใจดาวเคราะห์นอกระบบ(exoplanets) ได้ดีขึ้น แคระน้ำตาลที่เบาที่สุดจะซ้อนทับกับดาวเคราะห์นอกระบบที่ใหญ่ที่สุด ก็คาดได้ว่าจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่คล้ายกัน อย่างไรก็ตาม แคระน้ำตาลที่ล่องลอยอย่างเป็นอิสระนั้นกลับศึกษาได้ง่ายกว่าดาวเคราะห์ยักษ์นอกระบบ เนื่องจากวัตถุแบบหลังจะถูกซ่อนอยู่ภายใต้แสงจ้าของดาวฤกษ์แม่


     แคระน้ำตาลสองในสามดวงที่จำแนกได้ในการสำรวจนี้ แสดงสัญญาณสเปคตรัมของไฮโดรคาร์บอนที่ยังจำแนกชนิดไม่ได้ ปฏิบัติการคาสสินี(Cassini) ในชั้นบรรยากาศดาวเสาร์และดวงจันทร์ไททัน(Titan) ของดาวเสาร์ เคยจำแนกสัญญาณอินฟราเรดคล้ายๆ กัน และยังพบสัญญาณได้ในตัวกลางในห้วงอวกาศ(interstellar mecium) หรือก๊าซที่อยู่ระหว่างดาว

    นี่เป็

ภาพเต็มกระจุกดาว IC 348 ซึ่งมีการค้นพบดาวแคระน้ำตาลดวงจิ๋ว


นครั้งแรกที่เราได้พบโมเลกุลนี้ในชั้นบรรยากศของวัตถุนอกระบบสุริยะ Alves de Oliveira อธิบาย แบบจำลองชั้นบรรยากาศแคระน้ำตาลไม่ได้ทำนายการมีอยู่ของโมเลกุลชนิดนี้ไว้ เรากำลังได้พบวัตถุคล้ายๆ กันที่มีอายุน้อยกว่าและมวลเบากว่าที่เราเคยทำ และเรากำลังได้เห็นบางสิ่งที่แปลกใหม่และคาดไม่ถึง

     เนื่องจากวัตถุอยู่ในช่วงมวลของดาวเคราะห์ยักษ์ด้วย มันจึงสร้างคำถามว่า พวกมันเป็นแคระน้ำตาลจริง หรือเป็นดาวเคราะห์พเนจรที่ถูกผลักออกจากระบบดาวเคราะห์ กันแน่ ในขณะที่ทีมไม่สามารถกำจัดความเป็นไปได้ข้อหลังได้ แต่พวกเขาอ้างว่า เป็นไปได้มากกว่าที่จะเป็นแคระน้ำตาล เนื่องจากสองเหตุผล ประการแรก ดาวเคราะห์ที่ถูกผลักออกมาพบได้น้อยเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ที่มีมวลเบากว่า ประการที่สอง ดาวฤกษ์เกือบทั้งหมดเป็นดาวมวลต่ำ และดาวเคราะห์ยักษ์ที่พบได้ยากมากๆ รอบดาวฤกษ์มวลเบาเหล่านี้

     ด้วยเหตุผลทั้งหมด จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ดาวฤกษ์เกือบทั้งหมดใน IC 348(ซึ่งเป็นดาวฤกษ์มวลต่ำ) จะสามารถสร้างดาวเคราะห์ยักษ์ได้ นอกจากนี้ เนื่องจากกระจุกมีอายุราว 5 ล้านปี ก็ไม่น่ามีเวลามากพอที่จะก่อตัวดาวเคราะห์ยักษ์และจากนั้นก็ผลักออกจากระบบของพวกมัน

IC 348 โดยกล้องฮับเบิล

     การค้นพบวัตถุลักษณะนี้ให้มากขึ้นจะช่วยระบุสถานะของพวกมันให้ชัดเจนมากขึ้น ทฤษฎีบอกว่าดาวเคราะห์พเนจรนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะพบที่ชายขอบของกระจุกดาว ดังนั้นการขยายพื้นที่การสำรวจอาจจะจำแนกพวกมันได้ถ้ามีอยู่ในกระจุก IC 348 งานในอนาคตอาจจะรวมถึงการสำรวจที่ยาวขึ้นเพื่อจำแนกวัตถุที่เล็กกว่าและสลัวยิ่งกว่า การสำรวจระยะสั้นของทีมคาดว่าจะพบวัตถุที่มีมวลเบาได้ถึง 2 เท่าดาวพฤหัสฯ การสำรวจระยะยาวขึ้นก็อาจถึง 1 เท่าดาวพฤหัสฯ ได้ การสำรวจเหล่านี้เผยแพร่ใน Astronomical Journal


แหล่งข่าว webbtelescope.org : NASA’s Webb identifies tiniest free-floating brown dwarf
                 sciencealert.com : JWST discovers record-breaking brown dwarf so small it defies explanation
                 iflscience.com : new brown dwarf spotted by JWST is tiniest failed starever discovered  

Monday, 25 December 2023

ดวงจันทร์นอกระบบที่ยังคลุมเครือ

ภาพจากศิลปินแสดงระบบ Kepler-1708


     โดยรวมมีเพียงดาวเคราะห์นอกระบบสองดวงจากกว่าห้าพันดวงที่พบที่มีหลักฐานว่าอาจมีดวงจันทร์ในวงโคจร จากการสำรวจดาวเคราะห์ Kepler-1625b และ Kepler-1708b โดยกล้องเคปเลอร์และกล้องฮับเบิล นักวิจัยได้พบร่องรอยของดวงจันทร์รอบดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม การศึกษาใหม่กำลังตั้งคำถามกับการกล่าวอ้างข้างต้นนี้ 

     เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยระบบสุริยะ(MPS) และหอสังเกตการณ์ ซอนเนนแบร์ก ในเจอรมนีทั้งคู่ ได้รายงานในวารสาร Nature Astronomy ว่า การแปลผลว่าเป็นดาวเคราะห์อย่างเดียว สำหรับการวิเคราะห์ นักวิจัยใช้อัลกอริทึมที่พัฒนาขึ้นใหม่เอี่ยม Pandora ซึ่งใช้ในการค้นหาดวงจันทร์นอกระบบ(exomoons) นักวิจัยยังสอบสวนว่าดวงจันทร์นอกระบบแบบไหนที่จะพบในทางทฤษฎี ในการสำรวจทางดาราศาสตร์จากอวกาศ คำตอบที่ได้นั้นค่อนข้างช๊อค 

      ในระบบของเรา ความจริงที่ว่าดาวเคราะห์มีดวงจันทร์หนึ่งดวงหรือมากกว่านั้น โคจรอยู่รอบๆ แทบจะเป็นกฎเลยทีเดียว นอกเหนือจากดาวพุธและดาวศุกร์แล้ว ดาวเคราะห์ที่เหลือทั้งหมดก็มีดวงจันทร์บริวาร ในกรณีของดาวเคราะห์ยักษ์อย่างดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์ นักวิจัยได้พบดวงจันทร์ถึงระดับหลักร้อยแล้ว(ดาวพฤหัสฯ 95, ดาวเสาร์ 146 ดวง) 

     นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ดาวเคราะห์ในระบบดาวอื่นก็จะมีดวงจันทร์อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว มีแค่เพียงหลักฐานของดวงจันทร์นอกระบบแค่ 2 กรณีเท่านั้นคือ Kepler-1625b และ Kepler-1708b ตัวเลขที่น้อยเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เมื่อดวงจันทร์ทั้งหมดโดยปกติจะมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์บ้านเกิดของพวกมันทั้งสิ้น และจึงค้นหาได้ยากกว่ามาก เป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองเวลาอย่างยิ่งที่จะกลั่นกรองข้อมูลจากการสำรวจดาวเคราะห์หลายพันดวงเพื่อหาหลักฐานของดวงจันทร์นอกระบบ
ภาพจากศิลปินแสดงดวงจันทร์ต้องสงสัยที่พบรอบ Kepler-1625b


     เพื่อทำให้การสำรวจเป็นไปได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น ผู้เขียนในการศึกษาใหม่จึงพึ่งพาอัลกอริทึมสำรวจที่พวกเขาพัฒนาและทำขึ้นเพื่อหาดวงจันทร์นอกระบบเป็นการเฉพาะ ทีมเผยแพร่วิธีการเมื่อปีที่แล้ว และอัลกอริทึมก็พร้อมให้นักวิจัยทุกคนใช้เป็นโอเพ่นซอร์ส เมื่อปรับใช้กับข้อมูลการสำรวจของ Kepler-1625b และ Kepler-1708b ผลที่ได้กลับน่าผิดหวัง Rene Heller นักวิทยาศาสตร์ที่ MPS ผู้เขียนคนแรกในการศึกษานี้ กล่าวว่า เราแค่อยากจะยืนยันการค้นพบดวงจันทร์นอกระบบรอบ Kepler-1625b และ Kepler-1708b เท่านั้น แต่โชคร้ายที่ การวิเคราะห์ของเราให้ผลตรงกันข้าม 


      Kepler-1625b ดาวเคราะห์ขนาดพอๆ กับดาวพฤหัสฯ กลายเป็นหัวข้อข่าวเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ค ได้รายงานหลักฐานชัดเจนของดวงจันทร์ยักษ์ดวงหนึ่ง ในวงโคจรของมัน ซึ่งทำให้ดวงจันทร์ทั้งหมดในระบบของเราดูแคระจิ๋วไปเลย นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องเคปเลอร์ ซึ่งสำรวจดาวฤกษ์มากกว่า 1 แสนดวงในระหว่างปฏิบัติการหลักระหว่างปี 2009 ถึง 2013 และพบดาวเคราะห์นอกระบบมากกว่า 2000 ดวง 

      อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่ปีหลังจากการอ้างการค้นพบ ว่าที่ดวงจันทร์นอกระบบก็ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องหัวปั่นกับการซ่อนหาในอวกาศ เริ่มแรกด้วย มันหายไปในข้อมูลเคปเลอร์เมื่อกำจัดสัญญาณรบกวนจากระบบ(systematic noise) แต่ก็พบร่องรอยอีกครั้งในการสำรวจด้วยกล้องฮับเบิล และจากนั้น เมื่อปีที่แล้ว ว่าที่ดวงจันทร์นอกระบบพิเศษดวงนี้ก็มีเพื่อน จากรายงานนักวิจัยนิวยอร์ค ได้พบดวงจันทร์ยักษ์อีกดวงที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกอย่างมาก โคจรรอบดาวเคราะห์ขนาดพอๆ กับดาวพฤหัสฯ อีกดวง Kepler-1708b 

     สมมุติว่า ดวงจันทร์นอกระบบเหล่านี้เป็นของจริง Kepler-1625b-I มีมวล 19 เท่ามวลโลก(ราว 6% มวลดาวพฤหัสฯ) ทำให้มันมีมวลใกล้เคียงกับเนปจูน และโคจรรอบดาวเคราะห์ก๊าซที่มีมวล 30 เท่ามวลโลก และเส้นผ่าศูนย์กลางราวครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัสฯ ส่วน Kepler-1708b-I ยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยมวลถึง 37 เท่าโลก และโคจรรอบดาวเคราะห์ก๊าซที่มีมวลสูงกว่าดาวพฤหัสฯ 4.6 เท่า ซึ่งท้าทายทฤษฎีจำนวนมาก ยากที่จะก่อตัวในแบบดวงจันทร์ปกติ ดังนั้นก็อาจเป็นดวงจันทร์ที่ถูกจับไว้ 

     โดยรวมแล้ว เราไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์นอกระบบได้โดยตรง แม้แต่ด้วยกล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่ที่ทรงพลังที่สุด Heller อธิบาย แต่กล้องจะบันทึกการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวที่ห่างไกลแทน เป็นสิ่งที่เรียกว่า กราฟแสง(light curve) จากนั้น นักวิจัยจะมองหาสัญญาณดวงจันทร์ในกราฟแสงเหล่านี้ ถ้ามีดาวเคราะห์นอกระบบโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์เมื่อมองจากโลก จะทำให้แสงจากดาวฤกษ์หรี่มืดลงเป็นส่วนน้อยๆ เหตุการณ์นี้เรียกว่า การผ่านหน้า(transit) และจะเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นวัฎจักรตามคาบการโคจรของดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ ดวงจันทร์นอกระบบที่พ่วงมาพร้อมกับดาวเคราะห์น่าจะให้ผลบังแสงที่คล้ายๆ กัน อย่างไรก็ตาม ร่องรอยในกราฟแสงก็ไม่น่าจะลดลงมาก
กราฟแสงจากการผ่านหน้าของดาวเคราะห์


     เนื่องจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์และดาวเคราะห์รอบจุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงร่วม การหรี่แสงเพิ่มเติมจากดวงจันทร์นี้ในกราฟแสงก็น่าจะเป็นไปในรูปแบบที่ค่อนข้างซับซ้อน และยังมีปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น คราสดวงจันทร์-ดาวเคราะห์, การแปรแสงโดยธรรมชาติของดาวฤกษ์ และแหล่งสัญญาณกวนอื่นๆ ที่เกิดจากการตรวจสอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ 

      อย่างไรก็ตาม เพื่อตรวจจับดวงจันทร์ นักวิจัยนิวยอร์ค และเพื่อนร่วมงานชาวเจอรมัน จึงเริ่มคำนวณกราฟแสงสังเคราะห์หลายล้านอัน ซึ่งครอบคลุมขนาด, ระยะทางร่วม และการเรียงตัวโคจรของดาวเคราะห์และดวงจันทร์ที่อาจมี จากนั้น อัลกอริทึมก็เปรียบเทียบกราฟแสงที่จำลองได้ กับกราฟแสงที่สำรวจพบจริง และมองหาส่วนที่สอดคล้องกันมากที่สุด นักวิจัยจากกอตติงเง่นและซอนเนแบร์ก ใช้ Pandora ซึ่งเหมาะสมที่สุดในการค้นหาดวงจันทร์นอกระบบ และสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าอัลกอริทึมก่อนหน้านี้หลายสิบเท่า 

      ในกรณีของ Kepler-1708b คู่หูนักวิจัยเจอรมันได้พบว่าลำดับเหตุการณ์แบบปราศจากดวงจันทร์ สามารถอธิบายข้อมูลจากการสำรวจ ได้เที่ยงตรงพอๆ กับแบบที่มีดวงจันทร์ จึงชัดเจนว่าความน่าจะเป็นของดวงจันทร์รอบ Kepler-1708b นั้นต่ำกว่าที่เคยรายงานไว้ Michael Hippke จากหอสังเกตการณ์ซอนเนแบร์ก ผู้เขียนร่วมการศึกษา กล่าว ข้อมูลไม่ได้บอกถึงการมีอยู่ของดวงจันทร์นอกระบบรอบ Kepler-1708b เลย 

     ส่วนในกรณีของ Kepler-1625b ก็ดูเหมือนจะไม่มีบริวารขนาดใหญ่เช่นกัน เคปเลอร์และกล้องฮับเบิลเคยสำรวจการผ่านหน้าของดาวเคราะห์หน้าดาวฤกษ์แม่ ซึ่งนักวิจัยเจอรมันบอกว่า การแปรแสงในฉับพลันทั่วดาวฤกษ์ ซึ่งเรียกว่า stellar limb darkening มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัญญาณดวงจันทร์นอกระบบที่เสนอไว้ ยกตัวอย่างเช่น ขอบของดวงอาทิตย์เอง ก็ดูจะมืดกว่าที่กลางดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าคุณตรวจสอบดาวฤกษ์แม่ของ Kepler-1625b ผ่านเคปเลอร์ หรือว่าฮับเบิล ปรากฏการณ์นี้ดูจะให้ผลแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะเคปเลอร์และฮับเบิลไวต่อช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน นักวิจัยจากกอททิงเง่นและซอนเนแบร์กบอกว่า แบบจำลองจากผลกระทบนี้อธิบายข้อมูลที่สำรวจพบ ได้ดีกว่าจากดวงจันทร์ขนาดใหญ่
ภาพจากศิลปินแสดงดวงจันทร์นอกระบบดวงหนึ่งที่โคจรรอบ Kepler-1625b ภาพจากศิลปินแสดงดวงจันทร์นอกระบบดวงหนึ่งที่พบรอบ Kepler-1708b มีหลายปัจจัยที่อาจสร้างสัญญาณคล้ายดวงจันทร์ในกราฟแสง แม้จะไม่มีดวงจันทร์อยู่จริงๆ 

     การวิเคราะห์ใหม่ของนักวิจัยยังแสดงว่าอัลกอริทึมที่สำรวจหาดวงจันทร์นอกระบบมักจะสร้างผลบวกลวงขึ้นมา ครั้งแล้วครั้งเล่าที่นักวิจัยได้ “พบ” ดวงจันทร์เมื่อแค่มีดาวเคราะห์สักดวงผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ ในกรณีกราฟแสงอย่าง Kepler-1625b อัตราสัญญาณลวงเกิดขึ้นราว 11% Heller กล่าวว่า การอ้างพบดวงจันทร์นอกระบบก่อนหน้านี้โดยเพื่อนนักวิจัยจากนิวยอร์ค ก็เป็นผลจากการสำรวจหาดวงจันทร์รอบๆ ดาวเคราะห์หลายสิบดวง จากการประเมินของเรา การค้นพบลวงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจโดยสิ้นเชิง แต่ก็แทบจะเป็นไปตามคาด 

     นักวิจัยยังใช้อัลกอริทึมเพื่อทำนายชนิดของดวงจันทร์นอกระบบจริงที่น่าจะตรวจจับได้ในกราฟแสงของปฏิบัติการอวกาศอย่างเคปเลอร์ จากการวิเคราะห์ มีแต่ดวงจันทร์ที่ใหญ่โตมากเป็นพิเศษที่โคจรรอบดาวเคราะห์ในวงโคจรที่กว้าง ที่จะตรวจจับได้โดยเทคโนโลจีปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับดวงจันทร์ที่เราคุ้นเคยกันในระบบสุริยะ ดวงจันทร์นอกระบบเหล่านั้นน่าจะเป็นตัวประหลาดซะทั้งหมด โดยมีขนาดอย่างน้อย 2 เท่าของกานิมีด(Ganymede) ที่เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และยังใหญ่เกือบเท่าโลกด้วย ซึ่งดูแทบจะเป็นระบบดาวเคราะห์คู่(binary) ซะมากกว่า 

     ดวงจันทร์นอกระบบดวงแรกๆ ที่จะพบในการสำรวจในอนาคตเช่นจากปฏิบัติการ PLATO จะต้องไม่ธรรมดาและน่าตื่นเต้นมากๆ อย่างแน่นอน Heller กล่าว งานวิจัยเผยแพร่ใน Nature Astronomy 



 แหล่งข่าว phys.org : large exomoons unilikely around Kepler-1625b and Kepler-1708b, astronomers say
                  sciencealert.com : we thought we found alien moons, but they might not exist after all

Saturday, 23 December 2023

๋JWST holiday gift

 

ภาพซูมยูเรนัสแสดงดวงจันทร์รอบยูเรนัสรวมทั้งดวงจันทร์ที่อยู่ในวงแหวนด้วย รวมถึงขั้วหมวกขั้วเหนือที่สว่าง และมีวงสีมืดแผ่กว้างกว่า


     กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์เพิ่งหันไปสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่น่าพิศวงและไม่ปกติ ยูเรนัสซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ที่หมุนรอบตัวแบบตะแคงล้ม เวบบ์ได้จับภาพพิภพแห่งนี้พร้อมทั้งวงแหวน, ดวงจันทร์, พายุ และรายละเอียดอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งรวมถึงขั้วหมวกตามฤดูกาล ภาพที่ได้ขยายจากภาพสองสี(1.4 และ 3.0 ไมครอน) ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนในปีนี้ โดยเพิ่มเติมครอบคลุมช่วงความยาวคลื่น 2.1 และ 4.6 ไมครอนที่จะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดมากขึ้น

     ด้วยความไวที่สุดกู่ เวบบ์ได้จับภาพวงแหวนส่วนในและส่วนนอกที่มืดของยูเรนัส ซึ่งรวมถึง วงแหวนแซตา(Zeta ring) ซึ่งสลัวและบางกริบมากๆ ซึ่งอยู่ใกล้กับดาวเคราะห์มากที่สุด สว่างอย่างฉายฉาน มันยังจับภาพดวงจันทร์กว่าครึ่งจากจำนวน 27 ดวงของยูเรนัส กระทั่งมองเห็นดวงจันทร์ขนาดเล็กบางส่วนที่อยู่ภายในวงแหวนด้วย

     ในช่วงความยาวที่ตาเห็นตามที่ยานวอยยาจเจอร์ 2 สำรวจในทศวรรษ 1980 ยูเรนัสปรากฏเป็นลูกบอลสีฟ้าซีดที่ราบเรียบ แต่เวบบ์ซึ่งสำรวจในช่วงอินฟราเรดได้เผยให้เห็นพิภพน้ำแข็งซึ่งประหลาดและเปี่ยมด้วยพลวัต เต็มไปด้วยรายละเอียดในชั้นบรรยากาศที่น่าประหลาดใจ หนึ่งในรายละเอียดพิเศษเหล่านั้นก็คือ หมวกเมฆเหนือขั้วเหนือ(polar cap)

ภาพยูเรนัสจากกล้องเวบบ์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 


     ขั้วหมวกยูเรนัส ไม่เห์มือนกับขั้วหมวกบนโลกและดาวอังคาร ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็ง แต่ยูเรนัสเป็นวงกลดหมอกแอโรซอลที่ลอยสูงในชั้นบรรยากาศ เมื่อเทียบกับภาพเวบบ์ที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็มองเห็นรายละเอียดขั้วหมวกบางส่วนได้ง่ายขึ้นในภาพใหม่เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงขั้วหมวกส่วนในสว่างสีขาว และแถบสีมืดที่ก้นของขั้วหมวก ที่แผ่ขยายสู่ละติจูดที่ต่ำลงไป

     นอกจากนี้ ยังพบพายุสว่างอีก 7 ลูกใกล้และใต้รอยต่อทางใต้ของขั้วหมวก พายุเหล่านี้มีอุณหภูมิสูงกว่าสภาพรอบข้าง จำนวนของพายุและความถี่ รวมถึงตำแหน่งที่พวกมันปรากฏในชั้นบรรยากาศยูเรนัส อาจจะเกิดขึ้นจากการรวมผลจากฤดูกาลและจากอุตุนิยมวิทยาเข้าด้วยกัน

     ขั้วหมวกดูจะปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเมื่อขั้วเหนือของดาวเคราะห์เริ่มหันเข้าหาดวงอาทิตย์ เมื่อมันเข้าใกล้ครีษมายัน
(solstice; วันที่มีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี) และได้รับแสงอาทิตย์มากขึ้น ยูเรนัสจะถึงครีษมายันในปี 2028 และนักดาราศาสตร์ก็กระหายที่จะได้เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโครงสร้างของรายละเอียดเหล่านั้น เวบบ์จะช่วยระบุผลจากฤดูกาลและอุตุนิยมวิทยา ที่ส่งผลต่อพายุของยูเรนัส ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยนักดาราศาสตร์ให้เข้าใจชั้นบรรยากาศอันซับซ้อน

     เนื่องจากยูเรนัสหมุนรอบตัวแบบตะแคงล้มด้วยองศาราว 98 องศาซึ่งน่าจะเกิดจากการชนครั้งใหญ่เมื่อหลายพันล้านปีก่อน มันจึงมีฤดูกาลที่สุดขั้วที่สุดในระบบสุริยะ ในเกือบทุกๆ หนึ่งในสี่ของปียูเรนัส(หนึ่งปียูเรนัสยาวนาน 84 ปีโลก) ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเหนือขั้วหนึ่ง และทิ้งให้อีกขั้วตกอยู่ในความมืดมิดเป็นฤดูหนาวที่ยาวนาน 21 ปี ด้วยความละเอียดและความไวในช่วงอินฟราเรดที่หาใดเปรียบของเวบบ์ ขณะนี้ นักดาราศาสตร์ได้เฝ้าดูยูเรนัสและรายละเอียดอันเป็นอัตลักษณ์ของมันด้วยความชัดเจน รายละเอียดเหล่านี้โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้วงแหวนเซตา มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนปฏิบัติการสู่ยูเรนัสในอนาคตซึ่งน่าจะส่งออกในปี 2030 แต่ยังรอคอยไฟเขียวจากนาซาอยู่

ภาพยูเรนัสภาพใหม่ในมุมกว้างจากกล้องเวบบ์ แสดงรายละเอียดวงแหวน และดวงจันทร์บางส่วน โดยเฉพาะดวงจันทร์ขนาดใหญ่ทั้งห้าของยูเรนัส

      ยูเรนัสยังอาจเป็นตัวแทนในการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดใกล้เคียงกันอีกเกือบ 2 พันดวงที่พบในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลังนี้ด้วย การมี “ดาวเคราะห์นอกระบบอยู่หลังบ้าน” ดวงนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจว่าดาวเคราะห์ขนาดเท่านี้มีพลวัตอย่างไร, อุตุนิยมวิทยาของมันจะเป็นอย่างไร และพวกมันก่อตัวได้อย่างไร ซึ่งอาจจะช่วยเราให้เข้าใจระบบสุริยะของเราเองโดยรวม โดยมองจากบริบทที่ใหญ่ขึ้น


แหล่งข่าว webbtelescope.org : NASA’s Webb rings in the holidays with the ringed planet Uranus
                 iflscience.com : a shiny Uranus is JWST’s holiday gift for us all
                
space.com : the rings of Uranus look positively festive in epic James Webb Space Telescope holiday photo   

Tuesday, 19 December 2023

ดาวที่เดินทางจากนอกทางช้างเผือก

 

 


     การศึกษาใหม่บอกว่าดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่พบอยู่ใกล้กับหลุมดำมวลมหาศาลในใจกลางทางช้างเผือก มีกำเนิดจากนอกทางช้างเผือก เป็นครั้งแรกที่ดาวที่มีกำเนิดจากนอกกาแลคซีได้พบในละแวกใกล้กับหลุมดำมวลมหาศาลแห่งนี้

     หลุมดำมวลมหาศาล(supermassive black hole) ซึ่งเรียกกันว่า คนยิงธนู เอ สตาร์(Sagittarius A*; Sgr A*) ในใจกลางทางช้างเผือกของเรามีฝูงดาวมากมายในละแวกใกล้ๆ(ซึ่งเรียกว่า S-stars) การเคลื่อนที่ที่เร็วช่วยให้นักดาราศาสตร์ตรวจสอบได้ว่าหลุมดำมีมวล 4.5 ล้านเท่าดวงอาทิตย์ แต่แรงโน้มถ่วงรุนแรงจากหลุมดำทำให้สภาพแวดล้อมรอบๆ ทารุณเกินกว่าที่ดาวจะก่อตัวขึ้นใกล้กับหลุมดำได้ ดาวที่สำรวจพบทั้งหมดจะต้องก่อตัวขึ้นในที่อื่นและอพยพเข้ามาใกล้หลุมดำ นี่สร้างคำถามว่า ดาวพวกนี้ก่อตัวขึ้นที่ไหน

     งานวิจัยโดยทีมนานาชาติที่นำโดย Shogo Nishiyama จากมหาวิทยาลัยการศึกษา มิยางิ เผยแพร่ใน Proceedings of the Japan Academy, Series B บ่งชี้ว่าดาวเหล่านี้บางส่วนอาจจะมาจากที่ไกลกว่าที่เคยคิดไว้ จากนอกทางช้างเผือกเลย ตลอด 8 ปีที่ทีมใช้กล้องโทรทรรศน์ซูบารุเพื่อสำรวจดาว S0-6 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะเพียง 0.04 ปีแสงจาก Sgr A*



     พวกเขาพบว่า S0-6 มีอายุราว 1 หมื่นล้านปี และมีองค์ประกอบเคมีที่คล้ายกับดาวที่พบในกาแลคซีขนาดเล็กนอกทางช้างเผือก เช่น เมฆมาเจลลันเล็ก(Small Magellanic Cloud) และแคระคนยิงธนู(Sagittarius dwarf) ทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะอธิบายองค์ประกอบเคมีของ S0-6 ก็คือ มันถือกำเนิดขึ้นในกาแลคซีขนาดเล็กแห่งหนึ่งซึ่งสาบสูญไปหลังจากที่ทางช้างเผือกกลืนมันไป เช่นเดียวกับกาแลคซีอื่นๆ ตลอดความเป็นมา 13.6 พันล้านปีของทางช้างเผือก

     นี่เป็นหลักฐานจากการสำรวจชิ้นแรกที่บอกว่า ดาวที่อยู่ใกล้ Sgr A* บางส่วนก่อตัวขึ้นนอกทางช้างเผือก ตลอดชีวิต 1 หมื่นล้านปีของมัน S0-6 จะต้องเดินทางกว่า 5 หมื่นปีแสงจากนอกทางช้างเผือกมาถึงละแวกใกล้กับ Sgr A* แทบจะแน่นอนเลยว่า S0-6 เดินทางไกลกว่าระยะทาง 5 หมื่นปีแสงอย่างแน่นอน โดยค่อยๆ หมุนวนลงรอบหลุมดำในใจกลางกาแลคซี แทนที่จะมุ่งหน้าดิ่งเข้ามา

     แต่ก็ยังคงมีคำถามอีกหลายข้อว่า แล้วจริงๆ แล้ว S0-6 มีกำเนิดจากนอกทางช้างเผือกจริงหรือ? หรือมันมีดาวคู่หูใด หรือมันเดินทางเพียงลำพัง ด้วยการสืบสวนเพิ่มเติม เราหวังว่าจะได้เผยปริศนาดาวใกล้หลุมดำมวลมหาศาล Nishiyama ระบุไว้ในแถลงการณ์

 

แหล่งข่าว phys.org : a 10-billion-year, 50,000-light-year journey to a black hole    
              
space.com : an extragalacticintruder may lurk among stars orbiting the Milky Way’s black hole
                iflscience.com : after 10 billion years, a star from outside the Milky Way reached its heart
                sciencealert.com : mysterious star at heart of Milky Way appears to be from alien galaxy

Thursday, 14 December 2023

Giant Coma Stream

 



    มีสิ่งที่น่าประหลาดใจเมื่อทีมนักวิจัยนานาชาติได้พบกระแสธารดาวที่ยักษ์โตแต่สลัวสุดขั้วแห่งหนึ่งที่เชื่อมระหว่างกาแลคซี ในขณะที่ในกาแลคซีทางช้างเผือกและกาแลคซีเพื่อนบ้านของเรา ก็พบกระแสธารลักษณะนี้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่สำรวจพบกระแสธารที่ไหลท่ามกลางกาแลคซี และยังเป็นกระแสที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา นักดาราศาสตร์เผยแพร่การค้นพบในวารสาร Astronomy & Astrophysics

     การสำรวจเริ่มทำโดยนักดาราศาสตร์ Michael Rich ด้วยกล้องดูดาวขนาดเพียง 70 เซนติเมตร ในคาลิฟอร์เนีย ต่อมา นักวิจัยก็เล็งกล้องโทรทรรศน์เฮอร์เชลขนาด 4.2 เมตรไปที่พื้นที่ดังกล่าว หลังจากผ่านกระบวนการแต่งภาพ พวกเขาก็ได้เห็นกระแสธารที่สลัวอย่างสุดขั้วยาวกว่าทางช้างเผือกสิบเท่าเศษ(ที่ 1.7 ล้านปีแสง) กระแสธารนี้ดูจะไหลผ่านกลางกระจุก ไม่เกี่ยวข้องกับกาแลคซีใดๆ เลยเป็นพิเศษ นักวิจัยเรียกชื่อมันว่า กระแสธารโคมายักษ์(Giant Coma Stream)

     Javier Roman นักวิจัยนำ อธิบายว่า กระแสธารยักษ์แห่งนี้พาดมาทางเราโดยบังเอิญ เขาทำงานที่มหาวิทยาลัยกรอนิงเง่น ในเนเธอร์แลนด์ส และมหาวิทยาลัย ลา ลากูนา ในเตเนริเฟ สเปน เรากำลังศึกษาฮาโล(halo) หรือกลดของดาวที่อยู่รอบๆ กาแลคซีขนาดใหญ่

     กระแสธารดาวพบได้ค่อนข้างบ่อยในละแวกทางช้างเผือก ซึ่งคิดกันว่าเป็นเศษซากกระจุกดาวทรงกลม(globular cluster) ที่ถูกฉีกออก โดยแรงบีบฉีกของทางช้างเผือก แต่ก็ยากที่จะจำแนกได้ชัดเจนเนื่องจาก กลุ่มก้อนของดาวเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในทันที เนื่องจากค่อนข้างยากที่จะตรวจสอบระยะทาง และกระแสธารก็มักจะสลัว  

     การค้นพบกระแสธารโคมายักษ์เป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากมันเป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายของกาแลคซีที่ดึงดูดและผลักกันร่วมในกระจุกกาแลคซี โครงสร้างที่เบาบางอย่างนี้ไม่น่าจะคงอยู่ได้เป็นเวลานานมากๆ จากแบบจำลองเสมือนจริง ทีมพบว่า พบได้ยากที่กระแสธารลักษณะนี้จะสามารถก่อตัวในกระจุกกาแลคซีได้ จากที่ดาวในกาแลคซีแคระถูกแรงโน้มถ่วงของกาแลคซีที่ใหญ่กว่าดึงฉีกออกมา

Giant Coma Stream เส้นสีดำในกลางภาพ ซึ่งไหลอยู่ท่ามกลางกาแลคซีในกระจุกโคมา(Coma cluster)

     Reynier Peletier ผู้เขียนร่วม จากมหาวิทยาลัยกรอนิงเง่น เนเธอร์แลนด์ส อธิบายว่า ในขณะที่เราสามารถจำลองการไหลที่ใหญ่โตได้ในคอมพิวเตอร์ เราจึงคาดว่าจะพบพวกมันได้มากขึ้น ในกระจุกแห่งอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสำรวจมันด้วยกล้องโทรทรรศน์ใหญ่สุดขั้ว(ELT) ขนาด 39 เมตรในอนาคต และเมื่อยูคลิดเริ่มเก็บข้อมูล

     ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ในอนาคต นักวิจัยไม่เพียงแต่หวังว่าจะได้พบกระแสธารที่ใหญ่โตแห่งใหม่ๆ อีก พวกเขายังอยากจะตรวจสอบกระแสธารโคมายักษ์นี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นด้วย เราอยากจะศึกษาดาวแต่ละดวงภายในและใกล้กระแสธารนี้ และเรียนรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับสสารมืด Peletier กล่าว

     กระจุกโคมา(Coma cluster) เป็นหนึ่งในกระจุกกาแลคซีที่ถูกศึกษาเป็นอย่างดี ประกอบด้วยกาแลคซีหลายพันแห่ง ที่ระยะห่างจากโลกออกไปราว 3 ร้อยล้านปีแสง ในทิศทางกลุ่มดาวผมของเบเรนิซ(Coma Berenices) ในปี 1933 Fritz Zwicky นักดาราศาสตร์สวิส ได้แสดงว่ากาแลคซีในกระจุกนี้เคลื่อนที่เร็วเกินกว่าปริมาณสสารปกติที่จะรับมือไหว เขาบอกว่าจะต้องมีสสารมืดที่รักษากระจุกนี้ให้อยู่ด้วยกัน ซึ่งก็ยังคงไม่ทราบถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสสารมืด


แหล่งข่าว phys.org : astronomers spot giant stream of stars between galaxies
                sciencealert.com : scientists discover a stunning river of stars flowing through space   

Monday, 11 December 2023

ท่วงทำนองสอดประสานในระบบดาวเคราะห์ HD 110067

 

ดาวเคราะห์ทั้งหกในระบบ HD 110067 สร้างรูปร่างทางเรขาคณิตที่สวยงามนี้อันเนื่องมาจากโซ่กำทอนของพวกมัน


     นักดาราศาสตร์ได้พบระบบสุริยะที่มีความพร้อมเพรียงที่หาได้ยาก โดยมีดาวเคราะห์หกดวงเคลื่อนที่ราวกับเป็นวงออร์เครสตราอวกาศ ปราศจากการรบกวนโดยแรงภายนอกนับตั้งแต่ที่ระบบก่อตัวขึ้นเมื่อหลายพันล้านปีก่อน

     การค้นพบนี้อาจช่วยอธิบายว่าระบบสุริยะที่พบทั่วทางช้างเผือกมีความเป็นมาอย่างไร ระบบแห่งนี้อยู่ห่างออกไปราว 100 ปีแสงในกลุ่มดาวผมของเบเรนิซ(Coma Berenices) ในปี 2020 ดาวเทียมนักล่าดาวเคราะห์นอกระบบ TESS(Transiting Exoplanet Survey Satellite) ของนาซา ได้ตรวจจับแสงดาวฤกษ์ที่หรี่ลง ซึ่งบ่งชี้ว่ามีดาวเคราะห์กำลังเคลื่อนที่ผ่านหน้าพื้นผิวดาวฤกษ์ เมื่อรวมข้อมูลจาก TESS และ คีออปส์(CHEOPs; Characterizing Exoplanet Satellite) ของอีซา ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลและพบการเรียงตัวอันละเอียดอ่อนนี้

     ในขณะที่ระบบพหุดาวเคราะห์(multi-planet system) พบได้ทั่วไปในกาแลคซีของเรา แต่พวกที่อยู่ในการเรียงตัวอันละเอียดอ่อนที่เรียกว่า กำทอน(resonance) กลับพบได้น้อย  

     ดาวฤกษ์แม่ซึ่งเรียกกันว่า HD 110067 มีระบบที่มีอัตลักษณ์เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งหกเคลื่อนที่ไปโดยพร้อมเพรียงซึ่งในทางเทคนิคเรียกว่า กำทอน ที่แม่นยำและเป็นระเบียบอย่างมาก Enric Palle ผู้เขียนร่วมจากสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์ แห่งหมู่เกาะคานารี่ กล่าว

     ดาวเคราะห์ดวงในสุดในระบบแห่งนี้ โคจรไปครบ 3 รอบในทุกๆ 2 รอบที่เพื่อนบ้านลำดับถัดไปโคจร(กำทอน 3/2) กำทอนรูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำกับดาวที่ใกล้ที่สุดเป็นลำดับสองและสาม และสามกับสี่ ส่วนอีกสองดวงนอกสุด มีคาบโคจร 41 และ 54.7 วัน ตามลำดับ(เป็นกำทอน 4/3) ในขณะที่ดาวเคราะห์ดวงในสุด จะโคจรไป 6 รอบในเวลาพอดิบพอดีกับที่ดาวเคราะห์วงนอกสุดโคจรครบหนึ่งรอบ

อินโฟกราฟฟิคแสดงการเรียงตัวของดาวเคราะห์ทั้งหกในระบบรอบ HD 110067

     คิดกันว่า ระบบสุริยะทั้งหมดรวมถึงระบบของเราเริ่มต้นจากสภาพนี้ แต่ประเมินว่าจะมีเพียงหนึ่งในร้อยที่จะสามารถรักษากำทอนนี้ได้ และสำหรับโซ่กำทอนก็ยิ่งพบได้น้อยลงไปอีก เมื่อกำทอนถูกรบกวนได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น มีดาวเคราะห์ยักษ์ที่สาดสรรพสิ่งที่ผ่านเข้ามาใกล้ กลายเป็นการระดมชนด้วยอุกกาบาต, การผ่านเข้าใกล้กับดาวฤกษ์เพื่อนบ้าน, การชนครั้งใหญ่ที่รบกวนสมดุลทั้งปวง และการรบกวนอื่นๆ

    ยังอาจจะมีดาวเคราะห์บริวารเพิ่มขึ้นอีกในระบบนี้ ทั้งหกดวงที่พบโดยรวมแล้วมีขนาดราวสองถึงสามเท่าโลก แต่มีความหนาแน่นใกล้เคียงกับดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ในระบบของเรา วงโคจรของพวกมันเรียงรายตั้งแต่ 9 ถึง 54 วัน ทำให้พวกมันทั้งหมดอยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่มากกว่าวงโคจรดาวศุกร์รอบดวงอาทิตย์ และทำให้พวกมันร้อนจัด

     นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังคงต้องทำการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าในชั้นบรรยากาศของพวกมันมีอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบมวลและวงโคจรของดาวเคราะห์เหล่านี้ให้แม่นยำมากขึ้น

     ในขณะที่นักดาราศาสตร์พบระบบสุริยะที่เคลื่อนที่พ้องแบบนี้ 40 ถึง 50 แห่ง แต่ไม่มีแห่งใดเลยที่มีดาวเคราะห์ในจังหวะที่พอดีอย่างนี้ หรือสว่างอย่างดาวฤกษ์แม่สีส้มดวงนี้ Palle กล่าว ส่วนสมาชิกทีมอีกคน Hugh Osborn จากมหาวิทยาลัยเบิร์น กล่าวว่า เป็นที่ช๊อคและน่ายินดีเมื่อพบว่าคาบการโคจรของดาวเคราะห์ในระบบแห่งนี้ใกล้เคียงกับที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำนายไว้ ผมอ้าปากค้างไปเลย นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีจริงๆ

https://www.youtube.com/watch?v=U8jQEnpQfBM

     ไม่มีดาวเคราะห์ใดเลยในการโคจรพ้องสมบูรณ์แบบนี้ ที่อยู่ในส่วนที่เรียกว่า แถบเอื้ออาศัยได้(habitable zone) ของดาวฤกษ์แม่ ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยก็ในรูปแบบที่เรารู้จัก Adrien Leleu จากมหาวิทยาลัยเจนีวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในทีมนานาชาติที่เผยแพร่ผลสรุปในวารสาร Nature กล่าวว่า ตอนนี้เรามีเป้าหมายมาตรฐานให้เปรียบเทียบแล้ว


แหล่งข่าว phys.org : a six-planet solar system in perfect synchrony has been found in the Milky Way  
              
phys.org : scientists discover rare six-planet system that moves in strange synchrony
                skyandtelescope.com : six sub-Neptunes discovered 100 light-years away 

EHT สำรวจสนามแม่เหล็กหลุมดำทางช้างเผือก

       ภาพใหม่จากกลุ่มความร่วมมือกล้องโทรทรรศน์ขอบฟ้าสังเกตการณ์ ได้เผยให้เห็นสนามแม่เหล็กที่รุนแรงและเป็นระเบียบรอบๆ ขอบของหลุมดำมวลมหาศาล ...